เขียนบันทึกลงบล็อกอย่างไรให้น่าอ่าน


ไม่รู้จะเขียนเรื่องเล่าอะไรลงบล็อกของตัวเอง บางคนก็บอกว่ามีเรื่องที่ตัวเองทำอยู่เยอะแยะ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเล่าลงบล็อกอย่างไร
          ดิฉันเริ่มเปิดบล็อกครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 นับเวลาขณะนี้ร่วม 7 เดือนแล้ว ไม่ได้เขียนบันทึกทุกวัน แต่เขียนทยอยขึ้นมาบ่อย ๆ สม่ำเสมอ และตอนนี้เปิดบล็อกเป็นของตัวเอง 2 บล็อกแล้ว จึงพอจะมีประสบการณ์ในการเขียนบันทึกขึ้นบล็อกนำมาเล่าสู่กันฟังได้บ้าง เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับบุคคลหน้าใหม่ที่กำลังอยากจะเข้ามาใช้พื้นที่นี้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

          ดิฉันเองได้รับความรู้ในการสร้างบล็อกจากการอบรมของโครงการวิจัยพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรด้วยการจัดการความรู้ (
EdKM) โดย อ.โอฬาร คำจีน วิทยากรของโครงการ กลับมาเขียนบันทึกได้ไม่เท่าไร Gotoknow ก็เปลี่ยนโฉมไป สร้างปัญหาให้คนที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง IT เท่าที่ควรอย่างดิฉันไม่น้อย ประกอบกับมีปัญหา Internet Explorer ในเครื่องของตัวเองไม่สมบูรณ์ ต้องค่อย ๆ เรียนรู้และแก้ปัญหาไป

          มีปัญหาหนึ่งที่เพื่อนครูมักเปรย ๆ และบ่นให้ฟังว่า ไม่รู้จะเขียนเรื่องเล่าอะไรลงบล็อกของตัวเอง บางคนก็บอกว่ามีเรื่องที่ตัวเองทำอยู่เยอะแยะ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเล่าลงบล็อกอย่างไร บางคนเล่าขึ้นบล็อกไปบ้างแล้ว แต่ก็ไม่มีใครเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อท้ายบันทึกเสียที ทำให้รู้สึกว่าเขียนไปก็ไม่มีคนอ่าน พาลไม่อยากเขียนเรื่องขึ้นไปอีก

          ลองมาฟังประสบการณ์ของดิฉันบ้างนะคะ....แรก ๆ ที่ดิฉันเขียนบันทึกขึ้นมานั้น ก็ไม่ค่อยมีใครมาเขียนต่อท้ายบันทึกของดิฉันสักเท่าไรเหมือนกัน บังเอิญในช่วงที่ตัวเองมีปัญหาดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งเป็นผลให้ไม่ปรากฏ
Toolbar ดังนั้นจึงเลี่ยงจากการเขียนบันทึกยาว ๆ ที่ไม่สามารถตกแต่งตัวอักษรให้สวยงามน่าอ่านได้ ไปใช้วิธีเขียนแสดงความคิดเห็นสั้น ๆ ต่อท้ายเรื่องของคนอื่น ๆ ที่เราเข้าไปอ่านเรื่องของเขา

          วิธีนี้จะทำให้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และ ได้แนะนำคัวให้เจ้าของบันทึกนั้นรู้จักเราไปด้วย ซึ่งทุกครั้งที่เราเข้าไปแสดงความคิดเห็นนั้น ต้องเข้าระบบด้วย
Username และ Password ของเราเสียก่อนนะคะ เขาจะได้ตามตัวเราถูก และอย่ามัวเพลินเข้าไปพูดคุยแสดงความคิดเห็นกับเขาอยู่ฝ่ายเดียวนะคะ ต้องเขียนบันทึกของเราขึ้นไปใหม่เรื่อย ๆ ค่ะ

          ในการเขียนเรื่องนั้นต้องเป็นความรู้ในเรื่องราวที่เราปฏิบัติอยู่ เป็นความรู้จากการปฏิบัติที่เราเรียกว่า
Tacit Knowledge ไม่ควรไปคัดลอกมาจากหนังสือหรือเว็บไซด์ เพราะนั่นเป็นความรู้จากตำรา หรือ Explicit Knowledge ใครก็หาอ่านเองได้ แต่ความรู้จากการปฏิบัตินั้น เป็นเคล็ดลับหรือเทคนิคเฉพาะตัว ที่ใคร ๆ เข้ามาอ่านแล้วจะเกิดความสนใจ ซึ่งเราต้องเขียนให้เป็นประเด็นขั้นตอนเห็นวิธีการปฏิบัติโดยใช้ภาษาง่าย ๆ เข้าใจได้ง่าย ๆ

          โดยอาจมีโครงสร้างลำดับเรื่องราวเริ่มจากส่วน
บทนำ บอกสาเหตุของเรื่องหรือสิ่งที่ทำ ต่อด้วยส่วนของ เนื้อหา ซึ่งอาจเดินเรื่องโดยใช้หลักการ 5W1H (ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม อย่างไร) ข้อสำคัญต้องเขียนให้เป็นขั้นเป็นตอนอย่างชัดเจน และจบด้วยส่วน สรุป ทิ้งท้ายบอกผลของเรื่องที่ทำ ของเหตุการณ์นั้น ๆ หรือ ข้อคิด คำถามกระตุ้นให้คิดต่อก็ได้

          หลังจากบันทึกเรื่องขึ้นไปแล้ว ต้องจัดหน้า ตกแต่งตัวอักษรและข้อความให้สวยงามด้วยนะคะ จะได้น่าอ่าน และยิ่งถ้าเราสามารถนำรูปมาประกอบเรื่องได้ด้วย จะยิ่งน่าสนใจเพิ่มขึ้นด้วยค่ะ ...อ้อ...การตั้งชื่อเรื่องให้ชวนติดตามก็สามารถทำให้เพิ่มความน่าสนใจได้ด้วยเหมือนกันค่ะ

         ลองมาดูแนวทางการเขียนบล็อกที่ท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้เคยกรุณาชี้แนะไว้ให้เป็นแนวทางในการเขียนบล็อกสำหรับคุณครูที่ยังไม่รู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไร เขียนอย่างไร ดูบ้างนะคะ เผื่อผู้ที่พลาดการอ่านในบันทึกนี้ของท่าน จะได้อ่านอีกครั้งและเกิดไอเดียในการเขียนได้ค่ะ

คำแนะนำการเขียนบล็อกสำหรับครู
         

         
1. เขียนเล่าเรื่องวิธีออกแบบการเรียนรู้   วิธีการนั้นก่อผลอะไรต่อเด็กและต่อครู   มีเหตุการณ์อะไรมากระตุ้นให้คิดออกแบบเช่นนี้ได้   เวลาปฏิบัติ (จัดการเรียนรู้ของเด็ก) เกิดอะไรขึ้น   ต้องแก้ไขสถานการณ์อะไรบ้าง   เล่าให้เห็นความคิด   วิธีปฏิบัติและผลของการปฏิบัติ
          2. เขียนเล่าเรื่องความสำเร็จของนักเรียนที่ตนภาคภูมิใจและเล่าว่าความสำเร็จเกิดขึ้นได้อย่างไร
          3. เขียนเล่ากระบวนการกลุ่มของครู   ในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน
          4. เขียนเล่าเรื่องราวที่ครูช่วยเหลือเด็ก   เปลี่ยนเด็กจากเด็กเบื่อเรียนเป็นเด็กรักเรียน   เปลี่ยนจากเด็กเกเรเป็นเด็กช่วยเหลือ รร.  ช่วยเหลือเพื่อน   ทำประโยชน์ให้แก่ชุมชน ฯลฯ
          5. เขียนเล่าเรื่องราวความร่วมมือระหว่างครู (โรงเรียน) กับผู้ปกครองในการจัดการเรียนรู้   หรือแก้ไขปัญหาของเด็ก
          6. เขียนเล่าเรื่องราวของลูกศิษย์ที่จบไปแล้ว   และไปเรียนต่อหรือทำงานที่ครูภูมิใจ
          7. เขียนเล่าเรื่องราวความร่วมมือระหว่าง รร. และชุมชน
          8. ฯลฯ มีเรื่องราวความสำเร็จ 
เรื่องราวดี ๆ ที่ครูน่าจะนำมาเล่าได้เป็นพันเป็นหมื่นเรื่อง

                                                             
วิจารณ์
  พานิช
                                                              25 ก.ย.49

http://gotoknow.org/blog/thaikm/51691
          

         
ในส่วนตัวของดิฉันนั้น เมื่อเขียนบันทึกขึ้นไปแล้ว ก็จะต่อด้วยการเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นในแพลนเน็ตของเราสักพักหนึ่งเสียก่อนที่จะออกจากการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ถ้าบางเรื่องที่เราเข้าไปแสดงความคิดเห็น อยู่ในแนวทางเดียวกันกับเรื่องของเราได้ ก็ทำลิงค์ทิ้งไว้ในการแสดงความคิดเห็นนั้น ๆ เขาก็จะสนใจตามเข้ามาอ่านและแลกเปลี่ยนต่อท้ายบันทึกของเราบ้าง...เป็นวิธีการเพิ่มกัลยาณมิตรได้ดีค่ะ

          อย่าลืมนะคะว่า เราต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยสำนวนในทางบวก หากมีความเห็นต่าง ควรใช้ถ้อยคำที่สุภาพนุ่มนวล ให้เกียรติเจ้าของบันทึกและผู้ที่เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นในบันทึกนั้น...รวมถึงพร้อมที่จะกล้าเข้าไปแลกเปลี่ยนกับผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์มาก ๆ เป็นประจำหรือบ่อยครั้ง จะทำให้เราสามารถพัฒนาความคิด และวิธีคิดของตัวเองเพิ่มมากขึ้นได้เรื่อย ๆ

          บันทึกที่ดิฉันเขียนขึ้นมาใช่ว่าจะได้รับการแสดงความคิดเห็นในท้ายบันทึกทุกบันทึกไป บางบันทึกมีมาก บางบันทึกมีน้อย บางบันทึกก็ไม่มีเลย ซึ่งเราไม่ต้องกังวลค่ะ เราก็เขียนบันทึกใหม่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้าเป็นเรื่องที่ตรงกับความสนใจของผู้ใดเข้า เขาก็จะเข้ามาแลกเปลี่ยนกับเราเอง...อยู่ที่ลีลาและศิลปะในการนำเสนอเรื่องเหมือนกันนะคะ...ซึ่งตรงนี้ก็ถ่ายทอดกันยากค่ะ...เป็นลีลาเฉพาะตัวของแต่ละคน ต้องลองเข้าไปอ่านบันทึกของท่านที่เขียนอย่างมีคุณภาพ ติดตามไปยังท่านที่เคยได้รับรางวัลจาก สคส. ก็ได้ค่ะ

          เอ่ยถึงรางวัลแล้ว ก็นึกถึงรางวัลที่ สคส.กรุณามอบให้ดิฉัน ซึ่งคุณหญิงได้กรุณาบอกเหตุผลของการได้รับรางวัลนี้ไว้ ซึ่งดิฉันจะขออนุญาตนำเสนออีกครั้งเผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่กำลังหาลีลาในการเขียนบันทึกของตัวเองค่ะ


มอบรางวัลพิเศษ Blog ในดวงใจของภาคการศึกษา

     เห็นคุณอ้อ  สคส.  มอบรางวัลพิเศษ แด่  คุณศิริวรรณ  หวังดี  จากกรมส่งเสริมการเกษตร  ในฐานะที่เขียน Blog  เล่าเรื่องการไปเป็นวิทยากร KM  ได้อย่างดีและน่าสนใจ  Link     ผู้เขียนในฐานะที่ทำงานขับเคลื่อน  KM  ภาคการศึกษา  ไม่ขอน้อยหน้า  ขอเป็นกำลังใจให้กับ  Blogger  ภาคการศึกษาด้วย 

     
     โดย Blog  ที่จะได้รับรางวัลพิเศษนี้  เป็น  Blog   ที่มีการเขียนได้ดี  เร้าใจ  น่าติดตาม   เขียนแบบเล่าเรื่องได้สนุกสนาน  มองเห็นTacit  Knowledge  และเทคนิควิธีการเฉพาะตัวในการทำงานหรือเรื่องเล่านั้นๆ   อย่างชัดเจน  มีการเชื่อมโยงกับการทำงานของตัวเองได้เป็นอย่างดี  ที่สำคัญเป็นการเขียนที่ช่วยกระตุ้นเสริมแรง กำลังใจให้กับคนทำงาน  เป็นเรื่องเล่าดีๆ  ที่ควรมีการขยายเผยแพร่ในวงกว้าง     อ.วิจารณ์  และผู้เขียนมีความเห็นตรงกันที่จะมอบรางวัลพิเศษ  Blog  ในดวงใจของภาคการศึกษา  ให้กับ  คุณปวีณา  ธิติวรนันท์   ศึกษานิเทศก์  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เขต โดยสามารถเข้าไปอ่านเรื่องเล่า เรื่องดีๆ  ที่ท่าไชย  ได้เลยค่ะ     สคส. จะส่งมอบเสื้อยืด  สคส.  ให้ต่อไปค่ะ
     

                                                                         หญิง 
สคส.

ป้าย: กำลังใจ  ภาคการศึกษา  รางวัล  blogger  เรื่องเล่า  goodnews  โรงเรียน โดย yayaying   ลิงค์ที่อยู่ถาวร   ข้อคิดเห็น (3)   [ แก้ไข   ลบ ] สร้าง: จ. 11 ก.ย. 2549 @ 14:54   แก้ไข: จ. 11 ก.ย. 2549 @ 14:54

          นำเสนอมายืดยาว คงจะพอมองเห็นแนวทางการเขียนบันทึกให้น่าอ่านได้บ้างนะคะ ข้อสำคัญ...อย่ายอมแพ้...ท้อแท้ใจ...ในการเขียน หากจะเปรียบเทียบกันก็คงเหมือนการตั้งใจทำอะไรให้สม่ำเสมอเป็นประจำ เช่น การออกกำลังกาย การอดบุหรี่ การลดความอ้วน ฯลฯ อะไรประมาณนี้ พอปฏิบัติผ่านไปได้ระยะหนึ่ง ก็จะกลายเป็นสิ่งที่เราสามารถปฏิบัติได้เป็นประจำ แล้วตั้งเป้าหมายไว้ว่าเดือนนี้เราจะบันทึกเรื่องเพิ่มขึ้นสักกี่บันทึก ทยอยเขียนเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ เราก็จะสามารถเขียนบันทึกได้ถี่ขึ้นโดยปริยายค่ะ

          มาเริ่มต้นเขียนบันทึกกันนะคะ....และขอให้มีความสุขกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ
หมายเลขบันทึก: 64549เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2006 06:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (27)

ขอบคุณค่ะที่ให้คำแนะนำ   ดิฉันเองเข้ามาเหมือนคนเรียนลัด  แล้วค่อยย้อนกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ 

ไม่เคยอ่านเป้าหมาย  วิธีการใช้ Blog ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายหลักของ KM     ด้วยมีโฮมเพจเกี่ยวกับการเรียนการสอนของตัวเองอยู่ก่อนแล้ว

การเข้ามาสู่ go to know  ก็เพราะว่าเห็นเขาใช้บล็อก กัน  ก็จะลองมีกะเขาบ้าง   เรื่องที่นำเสนอจึงเป็นเรื่องที่ตนเองสนใจชอบ  ถนัดแต่เพียงอย่างเดียว

และคิดว่านี่ล่ะคือไดอารี่อีกเล่มหนึ่งของฉัน เผื่อว่า sever ของโรงเรียนล่ม  ก็จะมีคลังเก็บข้อมูลสำรอง ผลงานของดิฉันที่นำเสนอจึงมี อย่างน้อย ๒ สำเนาเสมอ  

ที่น่าเกลียดก็คือ  โพสท์บันทึกเสร็จก็ออกจากระบบไม่ได้ใส่ใจจะเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กะคนอื่นเลย  (ข้ออ้าง  ไม่มีเวลาต้องกลับบ้าน  ต้องเตรียมสอน)

เมื่อมีเพื่อน ๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  จึงเข้าใจและแกะรอยกลับไปอ่านผลงานของเพื่อน ๆ และพบอะไร ๆ อีกมากมาย

ซึ่งต่อจากนี้ก็จะได้นำความรู้ต่าง ๆ จากที่นี่ไปขยายให้กับเพื่อน ๆ ต่อค่ะ 

ขอบคุณค่ะ

ห้องเรียนสีชมพู

  • ดิฉันชอบผลงานการเขียนของคุณครูภาทิพค่ะ เข้าไปติดตามอ่านบทกวีในบันทึกของคุณครูบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่ได้เขียนต่อท้ายในความคิดเห็นทุกครั้งที่เข้าไปเหมือนกัน

  • ชื่นชมการถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ของคุณครูลงบล็อกค่ะ

  • และยินดีมากที่บันทึกนี้ของดิฉันเป็นประโยชน์สำหรับคุณครู...ที่จริงควรจะแบ่งเป็น...สัก...2 ตอน เพราะยาวเหลือเกิน แต่ด้วยความรีบร้อนเหมือนกันค่ะ ที่ทำให้ขึ้นเป็นบันทึกครั้งเดียว

  • เท่าที่ติดตามดูแล้วพบว่าคุณครูมี Tacit Knowledge เยอะมาก การบันทึกความรู้จากการปฏิบัติของคุณครูจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณครูคนอื่น ๆ ต่อไปค่ะ

  • และแน่นอนว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น จะยิ่งทำให้เกิดการต่อยอดได้ไม่รู้จบเช่นกันค่ะ ในขณะที่เราสามารถเผยแพร่ขยายผลการทำงานที่ประสบความสำเร็จของเราเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ เราก็สามารถรับประสบการณ์การทำงานที่สำเร็จของเพื่อนมาปรับใช้กับการทำงานของเราได้เหมือนกัน

  • ขอบคุณสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการต่อยอดไม่รู้จบเช่นนี้ค่ะ
  • สวัสดีครับ
  • ลงนามว่ามาอ่านแล้ว
  • ขอบคุณครับ
เก่งมาก มากค่ะ อ่านแล้วได้บรรยากาศและอรรถรส...ขออนุญาตนำไปเป็นเอกสารแนะนำ...นคราวที่ดิฉันเป็นวิทยากรแนะนำ blogger ใหม่ๆ นะคะ คุณปวีณา

มีอีกเรื่องหนึ่งค่ะ  ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ

คือดิฉันไปพบบล็อก   บันทึกที่เราสนใจ  ต้องการติดตาม    เช่นเรื่องราวของสุขภาพ   ดิฉันต้องการนำบล็อกนั้นมาเป็นเครือข่ายกับดิฉัน  เพื่อสะดวกในการอ่าน   แต่ไม่ทราบวิธีการดึงเข้ามาร่วมค่ะ  โปรดชี้แนะด้วย  ขอบคุณค่ะ

เพราะ คำ ที่ศน.บอกว่าดิฉันมี Tacit  เยอะมาก  ด้วยความไม่รู้   ไปเปิดดิคชันนารี  เขาก็แปล ความเป็นนัย  เงียบ  อะไรกันล่ะเนี่ย

จึงต้องไปที่ google  ก็ได้เจออะไรอีกมากมาย

สรุปว่า มันคือ ทักษะ ความถนัด+ประสบการณ์ = ภูมิรู้ ภูมิปัญญา   ?  ไม่มันใจ   ได้เจอกับ Flowchart

Knowledge  Spiral  ทำให้รู้ว่า  ครูภาทิพ ยังไม่รู้และไม่เข้าใจอะไรอีกมากมาย   จะขยายให้เพื่อนรู้ได้อย่างไรล่ะนี่ ?

Handy

  • ขอบคุณท่านอาจารย์พินิจค่ะ...
  • พอไปไหวมั๊ยคะ...มือใหม่อย่างนี้...ก็จะพยายามพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ ค่ะ
  • gotoknow ปรับเปลี่ยนวิธีคิด อารมณ์ ความรู้สึก ฯลฯ ของตัวเองหลายอย่างค่ะ...แต่เป็นไปในทางที่ดี เพราะมีผู้มากด้วยปัญญาและความสามารถทั้งหลายเป็นผู้ชี้แนะ หนึ่งในนั้น คือท่านอาจารย์พินิจค่ะ
  • ขอบพระคุณมากค่ะ

เมตตา

  • สวัสดีพี่เมตตาค่ะ...
  • เป็นปลื้มมาก....ที่พี่เมตตา (เมตตาเหมือนชื่อ) มาให้กำลังใจน้องใหม่แบบนี้ ดีใจจังที่บันทึกนี้เป็นประโยชน์สำหรับผู้อื่นค่ะ
  • มือใหม่คนนี้ขอฝากเนื้อฝากตัวให้พี่เมตตาช่วยชี้แนะด้วยนะคะ
  • ขอบคุณพี่มาก ๆ ค่ะ

ภาทิพ

  • สวัสดีคุณครูภาทิพอีกครั้งค่ะ ดีมากเลยนะคะที่คุณครูเปลี่ยนการแสดงตัวจากนามแฝง "ห้องเรียนสีชมพู" มาเป็น "ภาทิพ" แบบนี้ เพราะรู้สึกเหมือนได้สัมผัสตัวคุณครูภาทิพได้โดยตรงค่ะ

  • คำว่า "ดิฉันต้องการนำบล็อกนั้นมาเป็นเครือข่ายของดิฉัน" น่าจะหมายถึงการสร้างแพลนเน็ตนะคะ ก็ทำได้ง่าย ๆ ค่ะ
            1. เข้าใช้ gotoknow ด้วยชื่อผู้ใช้ (Uesername) และรหัสผ่าน (Password) ของเราเสียก่อน
            2. ไปที่ "แผงควบคุม" เลือก "สร้างแพลนเน็ตใหม่" ใส่ข้อมูลให้ครบ (คล้าย ๆ การสร้างบล็อกใหม่ ตรงชื่อแพล็นเน็ตอาจารย์อาจจะตั้งว่า "รวมเรื่องสุขภาพ" ก็ได้ จะชื่ออะไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสนใจของอาจารย์เองค่ะว่าจะนำบันทึกแนวไหนมาใส่รวมกันไว้) แล้วคลิ๊ก "สร้าง"
           
    3. จากนั้นเมื่อเราไปอ่านพบบันทึกของใคร ในหน้าเว็บจะปรากฏข้อความ [ นำบล็อก (สมุดบันทึก) เข้าแพลนเน็ต (ภาทิพ) ] คุณครูก็คลิ๊กที่ข้อความนั้น ระบบจะถามว่าต้องการนำไปไว้ที่แพลนเน็ตใด (ซึ่งคุณครูมีแพล็นเน็ต "ห้องเรียนสีชมพู" อยู่แล้ว) คุณครูก็คลิ๊กเลือกแพลนเน็ตที่ต้องการนำบันทึกนี้ไปไว้ค่ะ

  • ไม่ทราบว่าตอบตรงประเด็นหรือไม่คะ เพราะเห็นคุณครูก็มีอยู่แล้วแพลนเน็ตหนึ่ง

  • หากคุณครูมีสิ่งใดที่จะให้ดิฉันได้มีโอกาสช่วยเหลืออีก คุณครูสามารถใช้ช่องทาง "ถาม ปวีณา ธิติวรนันท์" ซึ่งอยู่ด้านขวามือ สอบถามมาที่ดิฉันได้โดยตรงค่ะ

  • ขอบคุณมากนะคะ
  • ข้อสรุปของคุณครูภาทิพนั้นถูกต้องแล้วค่ะ...จะขออนุญาตเสริมอีกนิดนะคะ...ดิฉันนำมาจากท่าน ผอ.อนุสรณ์ ฟูเจริญ ผอ.สพท.สุพรรณบุรี เขต 2 ของเรานี่เองค่ะ

              ท่านกล่าวว่า....ความรู้ในโลกนี้มี 2 ชนิด....ชนิดแรก
                    - เป็นวิทยาการ
                    - เป็น "หลักวิชา"
                    - มาจากการเรียน "ปริยัติ"
                    - อยู่ในสื่อต่าง ๆ
                    - เป็นความรู้ที่ "บันทึกได้"
                    - เห็นได้ค่อนข้างชัด
                เราเรียกว่า Explicit Knowledge

                ความรู้อีกชนิดหนึ่ง
                    - เป็นภูมิปัญญา
                    - เป็น "ประสบการณ์"
                    - ได้มาจากการ "ปฏิบัติ"
                    - อยู่ในตัวคน
                    - เป็นความรู้ที่ "ฝังลึก" ซ่อนเร้น

             
        เราเรียกว่า Tacit Knowledge

  • นอกจากนี้คุณครูสามารถเพิ่มเติมความรู้ที่เกี่ยวกับการจัดการความรู้ได้จากป้าย สคส. (KMI) ที่อยู่ด้านล่างของหน้าเว็บไซต์นี้ได้อีก...คลิ๊กเข้าไปเลยนะคะ ....อ้อ! แล้วยังสามารถหาความรู้ได้อีกอย่างไม่รู้จบจาก gotoknow นี่แหละค่ะ

คุณกุ้งคะ

  • ความจริงใจในการปฏิบัติงาน  ย่อมส่งเสริมให้ผลงานที่เกิดขึ้นได้เด่นชัด
  • ผลงานของคุณกุ้ง  จึงเป็นที่ประจักษ์  ทุกบันทึกที่ได้เข้ามาอ่าน

ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ

  • สวัสดีคุณครูอ้อยค่ะ....
  • ขอบคุณสำหรับกำลังใจที่มีให้กันเสมอมาค่ะ
  • คุณกุ้งยังมีประสบการณ์น้อย และยังต้องพัฒนาตัวเองไปอีกยาวไกล จะตั้งใจและพยายามทำงานให้ดีที่สุดเต็มตามความสามารถที่ตัวเองมีอยู่ค่ะ
  • ชอบคำว่า "ความจริงใจในการปฏิบัติงาน" นะคะ ฟังดูแล้วรู้สึกว่าเราได้เพิ่มระดับการทำงานจาก "จริงจังในการปฏิบัติงาน" มาเป็น "จริงใจในการปฏิบัติงาน" วาทะเด่นนี้ขอยืมไปใช้บ้างนะคะ...
  • ขอบคุณครูอ้อยมาก ๆ ค่ะ

เทคนิคให้คนตามอ่าน คือ เขียนบ่อยๆ เขียนใส่อารมณ์ขัน ตั้งชื่อบันทึกให้น่าสนใจแต่แฝงคำหลักไว้ด้วย :)

เรียนคุณปวีณา

   ดิฉันเพิ่งเริ่มเบียนบล็อกครั้งแรกวันที่ 21 พย.49 นี่แหละค่ะพอเห็นหัวเรื่อง เกี่ยวกับ"เขียนบันทึกลงบล็อกอย่างไรให้น่าอ่าน" คิดว่านี่แหละคงให้ความรู้เราจากผู้มีประสบการณ์จริง ๆ เพราะลองผิดลองถูกแหละค่ะ ไหนจะอายุมากแล้ว แต่คิดว่าวิธีไหนที่เป็นแหล่งหาความรู้  หรือครั้งหนึ่งก็เหมือนกับไดอารี่ส่วนตัวที่ได้บันทึกไว้  และสักวันหนึ่งคงจะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ร่วมกันก็จะพยายาม  ดิฉันทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน แต่คิดว่าทุกอาชีพสามารถแชร์ความรู้กันได้ และก็ไม่ผิดหวังค่ะ เพราะที่ดิฉันทำแลนเน็ตได้เพราะการต่อเติมคำถามของคุณภาทิพย์  จึงทำให้ได้ความรู้สามารถเติมเต็มความรู้ที่ขาดไป ขอเป็นกำลังใจและจะเข้ามาอ่านบ่อย ๆ ค่ะ

  • ตามมาจากบล็อกของพี่เมตตาครับ
  • บันทึกบอกเล่าวิธีการเขียนได้ดีมากครับ 
  • ในงาน NKM III เสียดายที่มีเวลา F2F น้อยเลยได้ ลปรร.กับคุณปวีณาเพียงช่วงสั้นๆ ครับ
  • ขอบพระคุณ อ.ดร.จันทวรรณค่ะ ที่กรุณาต่อยอดเติมเต็มความรู้ในเรื่องของการเขียนบันทึกให้น่าอ่าน
  • สิ่งที่อาจารย์กรุณาแนะนำเป็นเทคนิคที่ตัวเองยังปฏิบัติได้ไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะการเขียนบ่อย ๆ....ก็จะพยายามต่อไปค่ะ
  • ส่วนเรื่องอารมณ์ขันนั้น ดิฉันชื่นชมผลงานของคุณกฤษณา คนอะไรก็ไม่ทราบมีมุมขำขันในชีวิตประจำวันได้แทบทุกวันเลยค่ะ
  • ขอบพระคุณอาจารย์อีกครั้งค่ะ...ที่ช่วยกรุณาชี้แนะให้กับพวกเรา

นาง นวลน้อย สังขมี

  • ยินดีต้อนรับคุณนวลน้อย...เข้าร่วมบนพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ
  • คลังความรู้ใน gotoknow มีเสน่ห์มากกว่าที่หลายคนคิด เพราะมีบรรยากาศของมิตรภาพที่สวยงามประทับใจ เวลาอยู่ในพื้นที่นี้เรามักมีความรู้สึกอิ่มเอม สดชื่นเสมอ คุณนวลน้อยอย่าเพิ่งเชื่อดิฉันนะคะ ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเองค่ะ
  • หากมีสิ่งใดที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ และเป็นประโยชน์ต่อคุณนวลน้อย ... ดิฉันเองยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ
  • ยินดีที่ได้รู้จักมิตรใหม่ และขอขอบคุณที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในโอกาสนี้ และในโอกาสต่อ ๆ ไปด้วยค่ะ

สิงห์ป่าสัก

  • ดิฉันจะบอกคนอื่น ๆ อยู่เสมอค่ะว่า อ.วีรยุทธ เป็นแรงบันดาลใจและเป็นต้นแบบของการถ่ายทอดประสบการณ์ทำงาน การพัฒนางาน ลงบล็อกในฐานะคุณลิขิต

  • หลังจากได้ชื่นชมความสามารถของอาจารย์ขณะที่อยู่บนเวทีในห้องภาคราชการเมื่อปีที่แล้ว และได้ติดตามกันอีกในบล็อกของอาจารย์ จนถึงวันที่ได้มีโอกาสพบอาจารย์อีกครั้งที่ไบเทค แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ได้มีโอกาสพูดคุยกัน ก็รู้สึกอิ่มเอมประทับใจเป็นอย่างมาก

  • โดยเฉพาะคำพูดที่บอกว่า "เป็นกำลังใจให้" ในการทำงานขยายผลการจัดการความรู้ คำว่า "เครือข่าย" ก็ทำให้ตัวเองสะดุดใจด้วยเช่นกัน และชื่นชมการสร้างเครือข่ายการทำงานของอาจารย์ด้วย คำพูดสั้น ๆ ที่มีความหมาย ย้ำเตือนให้เห็นลักษณะการทำงานเฉพาะตัวของอาจารย์ ที่เราต้องเรียนรู้ และคำพูดที่ให้กำลังใจกัน จะสามารถสร้างพลังยิ่งใหญ่ในใจเพื่อให้ทำงานต่อไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ

  • ขอบพระคุณอาจารย์ผู้เป็น "ต้นแบบ" ให้กับดิฉันไว้ ณ โอกาสนี้เป็นอย่างมากค่ะ

มาอีกแล้วค่ะ  คุณกุ้ง

  • ครูอ้อยอยากเป็นคนเขียนเก่งๆแบบคุณกุ้งค่ะ 
  • คิดถึงจังค่ะ 
  • จะไปหาที่สุพรรณนะคะ 
  • ระวังตัวไว้  จะไปล้มทับค่ะ อิอิ

มีประโยชน์มากเลยค่ะคุณปวีณา จะขอนำไปปรับแนวการเขียนของตัวเองเพื่อให้บันทึกน่าอ่าน และขออนุญาตนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อแนะนำเพื่อน ๆ และน้อง ให้เริ่มต้นลงมือเขียนนะคะ

เรียน คุณปวีณาค่ะ... ขอบคุณที่ให้ข้อคิดค่ะ...แต่เนื่องจากแต่ละท่านมีความต่างในDNA...(ดิฉันเชื่ออย่างนั้น)..มันก็คงเป็นเทคนิคของใครของมันไปในการเจรจา...แต่เป้าหมายคงอย่างเดียวกัน..คือ "GotoKnow ค่ะ"...อยากจะเรียนรู้เรื่องอะไรอยู่ที่ความต้องการค่ะ...ขอบคุณที่ให้สิ่งที่ดีๆ...มีสาระมาโดยตลอด...ขอบคุณและเป็นเกียรติอย่างยิ่งจริงๆค่ะที่กล่าวถึง"ผลงานของคุณกฤษณา"...อาจมิใช่ตัวอย่างที่ดีในการบันทึก...แต่เจตนาเดิมเริ่มแรก...เพียงเพื่อให้นักวิชาการอารมณ์ดีบ้าง...ไม่อยากให้เพื่อนๆหงุดหงิดใจไปทำงาน...แม้ไม่มีความรู้ดีๆมาให้กัน...ก็เท่านั้นค่ะ...อาจใช้วาจาไม่สุภาพนักก็อย่าถือโทษนะคะ...เพราะฉันก็ยังเป็นฉันค่ะ...ปรับปรุงตัวคงยาก...แก่เลี้ยวค่ะ....ขอบคุณทุกท่านจริงๆค่ะ

สิริพร กุ่ยกระโทก

  • ว้าว! ครูอ้อยจะมาสุพรรณจริง ๆ หรือคะ มาเมื่อไร....ดีใจมากเลย
  • โทร.หาคุณกุ้งนะคะ 081-365-3805 ค่ะ เปิดสายรอรับ 24 ชม.เลยค่ะ
  • ไม่กลัวล้มทับค่ะ ล้มมาเมื่อไรจะกอดให้แน่นเล้ย.... ว่าแต่อย่าหลอกกันนะคะว่าเราจะได้เจอกัน แค่รู้ข่าวว่าจะมา ก็ดีใจจนหัวใจออกมานอกอกแล้วนะคะเนี่ย
  • โทร.บอกกันนะคะ....อยากพบครูอ้อยเสียทีค่ะ พลาดหวังมา 2 ครั้งแล้วนะคะ
  • แล้วก็มายอกันเองซะแล้ว ว่าเราเขียนเก่ง คุณครูอ้อยต่างหากที่เขียนเก่งมากกว่า มีตั้งหลายบล็อก แล้วก็เขียนบันทึกได้บ่อย แถมยังแฟนตรึมตามไปแลกเปลี่ยนกันเป็นหางว่าวเลย
  • เอาเรื่องจะมาสุพรรณก่อนดีกว่า....บอกหน่อยสิคะจะมาเมื่อไร แล้วเราจะมีโอกาสเจอกันไหม
  • คิดถึงมากค่ะ

คุณ รัตติยา เขียวแป้น

  • ขอบคุณคุณรัตติยาค่ะ...ที่เห็นประโยชน์ของบันทึกนี้
  • ยินดีและเป็นปลื้มมากที่คุณรัตติยาจะนำสาระของบันทึกนี้ไปบอกต่อ
  • เห็นภาพคุณกะปุ๋มกอดกับคุณรัตติยาในบันทึกของ อ.ดร.จันทวรรณ แล้วเสียดายที่งานนี้ตัวเองไม่ได้กอดคุณรัตติยาบ้าง...เอาไว้งานหน้าก็แล้วกันเนอะ

นาง กฤษณา สำเร็จ

  • คุณติ๋วทราบเร็วจังค่ะว่ามีคนพูดถึง
  • ก็เพราะชื่นชมคุณติ๋วจริง ๆ ค่ะ เลยอยากขยาย เพราะอารมณ์ขัน ช่วยสร้างรอยยิ้มและความสุขให้กับพวกเราเสมอ
  • อย่ากังวลกลัวว่าวาจาจะไม่สุภาพเลยค่ะ เพราะการเล่าเรื่องขำ ๆ บางทีก็ต้องสัปดนนิด ๆ กำกวมหน่อย ๆ หรือสองแง่...สามง่าม บ้างก็ไม่เป็นไรหรอกค่ะ ... เพราะมันทำให้ขำดีไม่ใช่หรือคะ... ยังไม่ถึงขนาดโจ๋งครึ่มสักกะหน่อย...
  • ดิฉันเองก็เคยนึกอยากจะเล่าบ้าง แต่เกรงว่าจะเป็นตลกฝืดนะค่ะ...เลยขอเป็นคนอ่านไปก่อนก็แล้วกัน
  • ขอบคุณที่แวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอยู่เสมอนะคะ
เข้ามาอ่านเรื่องการเขียนบล็อก ดีจังคะ ได้ข้อไปปรับปรุงเยอะเลยคะ
  • ขออภัยที่เพิ่งทราบว่าคุณดอกแก้วเข้ามาอ่านบันทึกนี้
  • ขอบพระคุณมากค่ะ ที่มาเรียนรู้ร่วมกัน บันทึกนี้มีความยาวอยู่พอควร อาจทำให้ความสนใจของผู้อ่านลดลง
  • ที่จริงแล้วถ้าจะให้ดี น่าจะมีจำนวนหน้าน้อยกว่านี้ โดยจัดแบ่งเป็น 2-3 ตอนค่ะ
  • ทำไปเรียนรู้ไป ปรับปรุงไปเรื่อย ๆ ค่ะ ไม่รู้จบ...

เขียน วิธีอ่าน blog ที่ผมเขียน   4 ตอนจบเสร็จแล้วถึงมาอ่านเจอครับ  ไม่งั้นก็คงไม่ได้เขียนแล้ว  เรื่อง KM ไม่เคยอบรมสัมนาแต่อ่านๆผ่านตาบ้าง   

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท