ตอนที่ 3 การวิจารณ์เรื่องความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (GATS) เกี่ยวกับธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย


GATS คือการค้าบริการระหว่างประเทศมีการขยายตัวภายใต้เงื่อนไขของความโปร่งใสและเป็นการเปิดเสรีแบบก้าวหน้าเป็นลำดับ

                  แนวทางการปฏิรูปธนาคารพาณิชย์มีดังนี้              

              1. ด้านการตรวจสอบและกำกับดูแล

                   ·        ปรับปรุงมาตรฐานการตรวจสอบและกำกับดูแลให้สอดคล้องกับ มาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้นและรองรับนวัตกรรมตลอดจนพัฒนาการของระบบธนาคารพาณิชย์

                   ·        เร่งจัดตั้งสถาบันเพื่อการคุ้มครองเงินฝากในวงเงินจำกัดเพื่อลดปัญหาแรงจูงใจในการกระทำผิดของสถาบันการเงินที่รับฝากเงินซึ่งรวมถึงธนาคารพาณิชย์

                   ·        พัฒนาและปรับปรุงกฎหมายกำกับดูแลสถาบันการเงินให้มีบรรทัดฐานเดียวกัน เพื่อลดความลักลั่นเกี่ยวกับการกำกับดูแลสถาบันการเงินแต่ละประเภท

                   ·        แยกหน้าที่ในการกำกับดูแลสถาบันการเงินออกจากธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพในการกำหนดนโยบายการเงิน

                   ·        จัดตั้งหน่วยงานอิสระเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลและการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับสถาบันการเงินทั้งระบบ ซึ่งจะช่วยให้ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น

                   ·        ปรับปรุงโครงสร้างระบบการเงินของประเทศโดยพัฒนาตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ให้มีบทบาทมากขึ้นในฐานะแหล่งเงินทุนอันจะช่วยสร้างความสมดุลแก่ระบบการเงินของประเทศไทยซึ่งปัจจุบันมุ่งเน้นการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากระบบสถาบันการเงินเป็นหลัก

                   ·        ส่งเสริมบทบาทของสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์เพื่อก่อให้เกิดการถ่วงดุลของระบบสถาบันการเงินในประเทศไทยที่ปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์เป็นสถาบันการเงินที่ทรงอิทธิพลมากกว่าสถาบันการเงินประเภทอื่นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในเกือบทุกด้าน             

               2. ด้านการให้บริการ

                  ·        ขยายขอบเขตบริการของธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับแนวโน้มธนาคารพาณิชย์แบบไม่จำกัดประเภทธุรกิจจะมีบทบาทและความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้น

                  ·        ขยายเวลาการให้บริการในช่วงวันหยุดหรือนอกเวลาทำการเพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ โดยอาจจะนำระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์มาช่วยในการขยายเวลาในการให้บริการ

                  ·        เพิ่มสัดส่วนของรายได้จากการให้บริการประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากการให้บริการสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถรองรับภาวการณ์ระดมเงินผ่านตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ที่มีแนวโน้มจะทวีบทบาทมากขึ้น  

                  ·        พัฒนาเครือข่ายและสร้างพันธมิตรในการให้บริการเพื่อให้เข้าถึงและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น               

              3. ด้านการบริหารองค์กร

                  ·        พัฒนาระบบการบริการความเสี่ยงให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ และเหมาะสมกับลักษณะการดำเนินธุรกิจขององค์กร

                  ·        พิจารณาให้สินเชื่อโดยคำนึงถึงศักยภาพที่แท้จริงของผู้ขอสินเชื่อมากกว่าหลักประกันหรือความสัมพันธ์ส่วนตัว

                  ·        ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อสร้างและรักษาฐานของลูกค้าในภาวะที่การแข่งขันของสถาบันการเงินทวีความรุนแรงมากขึ้น

                  ·        ลดระบบบริหารงานแบบครอบครัวและส่งเสริมระบบการบริหารงานแบบมืออาชีพโดบอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในการทำธุรกิจ ตลอดจนส่งเสริมระบบ ธรรมาภิบาลในองค์กร              

               4. ด้านเทคโนโลยี

                   ·        ปรับปรุงการบริหารองค์กรและการให้บริการโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัย เพื่อให้สอดรับกับยุคโลกาภิวัฒน์              

               5. ด้านโครงสร้างองค์กร

                   ·        เปิดโอกาสให้มีการควบรวมกิจการมากขึ้นเพื่อเพิ่มเงินกองทุนและพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินงานและการแข่งขันให้มากขึ้นเพื่อช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถรับมือกับกฎ ระเบียบ และเกณฑ์การกำกับดูแลที่มีความเป็นมาตรฐานสากลได้ดียิ่งขึ้น 

สรุปผลกระทบที่สำคัญของ GATS ต่อธุรกิจการธนาคารในประเทศไทย               

               ภายใต้ข้อผูกพันของ GATS ที่ประเทศไทยร่วมเจรจาย่อมส่งผลกระทบที่สำคัญต่อระบบการเงิน และธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยดังนี้               

               ผลดีของการเปิดเสรีระบบการเงินของประเทศคือ

              1. ทำให้เกิดการแข่งขันในระบบสูงขึ้นผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากบริการที่มีปะสิทธิภาพสูง และเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ทันสมัยและหลากหลาย

              2. ประเทศไทยมีอำนาจต่อรองมากขึ้น

              3. การเปิดเสรีการค้าบริการการเงินระหว่างประเทศทำให้ระบบการเงินของโลกมีความโน้มเอียงเชื่อมโยงเข้าหากันมากขึ้น

              ผลเสียของการเปิดเสรีระบบการเงินของประเทศคือ

             1. ข้อผูกพันการเปิดเสรีทางการเงินอาจมีผลกระทบต่อจังหวะ ขั้นตอน และความคล่องตัวในการดำเนินนโยบายทางการเงินในประเทศ

             2. การที่ระบบสถาบันการเงินในประเทศยังไม่พร้อมที่จะเปิดตลาด อาจเกิดปัญหาความมั่นคงขึ้นได้กิจการสถาบันการเงินในประเทศอาจถูกครอบงำกิจการโดยสถาบันการเงินจากประเทศพัฒนาแล้ว

             3. ในสาขาบริการที่ยังไม่มีการออกกฎหมายและระเบียบกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการปฏิบัติและควบคุมธุรกิจการเงินที่ประเทศไทยได้ผูกพันไว้ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่แล้ว แต่ไม่เป็นไปตามพันธกรณีที่ประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติในบางเรื่องที่แย้งกับกรอบของความตกลงฯ เพื่อให้มีความสอดคล้องกันและเป็นไปตามพันธกรณีที่ประเทศไทยผูกพันตนเองไว้ด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องยกเลิกกฎหมายและระเบียบต่างๆ ทั้งหมด เนื่องจากประเทศไทยมีข้อสงวนเพื่อเหตุผลความจำเป็นในด้านความมั่นคง 

              ดังนั้นการที่ประเทศไทยรับที่จะปฏิบัติตนเองตามข้อผูกพันในความตกลงฯ จึงมีทั้งผลดีและผลเสียบุคคลหรือหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมกับพันธกรณีตามความตกลงหรือข้อผูกพันเฉพาะที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม รวมทั้งบุคคลที่มีหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงต้องศึกษาถึงแนวทางและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่สมควรจะมีการกำหนดขึ้นหรือแก้ไขใหม่เพื่อให้ประโยชน์แก่ธนาคารพาณิชย์และประชาชนคนไทย ในส่วนของกระทรวงการคลังซึ่งผู้เขียนก็มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลธนาคารพาณิชย์ ในการพิจารณาเปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ก็ได้ศึกษากฎหมายและระเบียบกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสถาบันการเงินในรูปแบบต่างๆ เห็นว่า เรื่องของการค้าบริการทางด้านธนาคารพาณิชย์มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจมาก เนื่องจากเหตุผลตามที่กล่าวมาแล้ว อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศในด้านการค้า การลงทุน และการเงินระหว่างประเทศ เนื่องจากมีการทำ ธุรกรรมระหว่างคนไทยและคนต่างชาติจากการเปิดเสรีทางการเงิน  

              ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญทางเศรษฐกิจคือร่างพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ....ซึ่งเป็นการยกเลิกกฎหมายบางฉบับเพื่อรวมให้อยู่ในฉบับเดียวกันโดยมีรายละเอียดในการกำกับดูแลที่ชัดเจนและทันยุคทันเหตุการณ์มาก ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 ส่วนรายละเอียดในร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวหากเปิดเผยได้เมื่อไหร่จะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป 

หมายเลขบันทึก: 64535เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2006 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • มีประโยขน์มากครับผม
  • รออ่านอีกครับ
  • ขอบคุณที่แวะไปทักทาย

ได้ทราบข้อมูลหลากหลายดีค่ะ อ่านแล้วเข้าใจง่าย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท