นจท.ลำพูนเรียนรู้เรื่องภายใน


     เวทีเสริมศักยภาพนักจัดการความรู้ท้องถิ่น จังหวัดลำพูน ครั้งที่ ๒ (วันที่ ๓๐ ก.ย.-๒ ต.ค.๔๘) การเรียนรู้เกิดขึ้น ณ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ท่ามกลางธรรมชาติที่งดงาม และท่ามกลางสถานการณ์ “ดอมเรย” แต่ถึงฝนจะตก น้ำจะท่วม  ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อ การเรียนรู้ของ นจท.ลำพูน ที่ลุยน้ำมาเข้าร่วมเวทีกันอย่าง พร้อมหน้าพร้อมตา (น่ารักแต้ๆ เจ้า)
     เราได้รับความเมตตาจากท่านพระอาจารย์ดุษฎี เมธงฺกุโร มาเป็นวิทยากรให้การเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของ “ภายใน” การเรียนรู้ที่ดีควรเริ่มจากการเรียนรู้ตัวเอง เพื่อเป็น พื้นฐานในการเข้าใจผู้อื่น
     บรรยากาศในเวทีนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข จาก สิ่งที่ได้รับทางใจ เช่น การได้ฝึกสติ สมาธิ และสิ่งที่ได้รับทางกาย เช่น การเดินจงกรม การฝึกโยคะ ล้วนเป็นสิ่งดีๆ ที่ พระอาจารย์มอบให้
ท่านพระอาจารย์ดุษฎี ใช้การสอนหลักธรรมะแบบ ประยุกต์เป็นการให้เราช่วยกันถอดความรู้จากการผ่านปฏิบัติ และท่านช่วยเสริมเพิ่มเติมให้ วิธีการเช่นนี้ ช่วยให้ผู้เข้าร่วม สนุก มีความสุข เกิดการเรียนรู้ได้ดี
     ท่านเริ่มต้นโดยการให้หลักแนวคิดของเรื่อง ๕ พลังทางใจ คือเรื่องของการมีศรัทธา ความเพียร มีสติ สมาธิ ปัญญา นอกจากนี้ ยังแนะนำเส้นทางคนดี ว่าควรรู้ ๗  อย่าง (สัปปุริสธรรม ๗) คือ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้ชุมชน และรู้บุคคล
     การเรียนรู้ผ่านเกมกิจกรรมที่ท่านนำมาครั้งนี้ ล้วน แต่เป็นเกมที่สนุกสนาน แฝงแง่มุมไว้อย่างมากมาย เช่น เกม จับคู่ตามองตา ถ้าใครยิ้มหรือหัวเราะก็แสดงว่า จิตยังคิด ปรุงแต่ง คิดไปตามอารมณ์แล้วนำผลมาสู่อาการ...เกมฝึกสติ ด้วยการท่องแม่สูตรคูณ (๒หนึ่ง๒, ๒สอง๔...) เวียนกันท่อง คนละ ๑ คำ เหมือนจะง่าย แต่ไม่ง่ายเลย เกมนี้ ต้องใช้สติ-สมาธิอย่างหนัก แต่ก็เรียกเสียงหัวเราะได้อย่างครื้นเครง (มีการลงโทษสำหรับผู้ที่ขาดสติด้วย : ก็โดนกันถ้วนหน้าจ้า) 
     อีกกิจกรรมหนึ่ง ให้นั่งจับคู่เล่าความล้มเหลวของ ชีวิตที่เกิดจากการขาดสติ และเล่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ เพราะมีสติ กิจกรรมนี้มิใช่แค่การแลกเปลี่ยนกันเล่า แต่ยัง มีการเล่ากลับสิ่งที่ได้ฟังจากเพื่อน แล้วให้เพื่อนฟังว่าสิ่งที่ เขาเล่ากลับมาตรงกับที่เราเล่าไปหรือเปล่า เป็นกิจกรรมที่ฝึก การรับฟัง และเป็นพื้นฐานหนึ่งของการเป็นกัลยาณมิตรที่ดี
     นอกจากนี้ ท่านยังให้ดูหนังวีซีดี เป็นวิถีชีวิตของครู บ้านนอกประเทศเกาหลีที่ต้องเข้าไปอยู่ในชุมชนทุรกันดาร  การเดินเข้ามาก้าวแรก ก็เห็นปัญหาของชุมชนเลย ชุมชน ขาดการพัฒนา เคยทำอยู่อย่างไรก็ทำอยู่อย่างนั้น ชาวบ้าน ไม่มีความสามัคคี ขาดผู้นำในการพาชาวบ้านลดทุกข์ เพิ่มสุข ครูนักพัฒนาที่เข้าไปก็พยายามทำทุกอย่าง เพื่อให้ชุมชน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกับเด็กน้อยที่เป็นอนาคต ของชาติ สิ่งที่ครูมี คือมีใจรัก มุ่งมั่น เพียรพยาม มีกำลังใจ ไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคคต่างๆ ที่เกิดขึ้น และที่สำคัญ ครูมีความสามารถในการจัดการความรู้ จัดการทุน หรือสิ่งที่ มีอยู่ในชุมชน มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดคุณค่า...สิ่งต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้ชุมชนเห็นคุณค่า และลุกขึ้นมาร่วมแรง ร่วมใจกันพัฒนาชุมชนของตนให้ดีขึ้น แบบอย่างนี้ เป็นการ เริ่มต้นจากตัวเรา จากจุดเล็กๆ นำผลกระทบไปสู่วงกว้าง เมื่อ ครูนักพัฒนามีความตั้งใจจริง  ชาวบ้านที่เคยรังเกียจความ จุ้นจ้านของครู ก็เปลี่ยนมาเป็นเกิดความศรัทธา ซึ่งความ ศรัทธาถือเป็นธรรมะข้อแรกที่สำคัญ
     เรื่องราวของครูบ้านนอกเกาหลี ยังมีแง่มุมความคิด ที่มีคุณค่าอีกมากมาย ให้เป็นตัวอย่างแก่ นจท.นักพัฒนา หรือผู้นำชุมชน ให้เกิดกำลังใจ ฮึดขึ้นสู้ อดทนต่อความยาก ลำบาก สักวันเราและชุมชนคงจะเห็นผลร่วมกัน
     ท้ายเวที ท่านนำเรื่อง “นพลักษณ์” มาให้เรียนรู้ ลักษณะของคน ๙ แบบ เมื่อนจท.ได้รับฟัง ก็ให้ความสนใจ กันอย่างยิ่ง (โดยเฉพาะอ้ายเจริญ...อ้ายบอกว่าเป็นเรื่องที่ดี มาก อยากรับรู้ให้ลึกซึ้งมากขึ้น) เพราะเป็นการได้รู้จักตัวเอง และยังทำให้รู้จักและเข้าใจผู้อื่น ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำรง ชีวิตที่ต้องอาศัยร่วมกันในสังคม และสามารถนำไปประยุกต์ ใช้ในการทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนเมื่อเราได้รู้จักลักษณะ ของเขา  เราก็จะได้คิดวิธีเข้าหาเขาได้แบบถูกที่ถูกทาง ก็คง เป็นจุดที่ดีที่จะนำไปสู่ผลสำเร็จ
     สิ่งที่เราได้เรียนรู้ในเวทีครั้งนี้ คงจะมีคุณค่ายิ่ง ถ้าเรา หมั่นฝึกเป็นประจำในชีวิต คงมิใช่แค่เพียงรู้ว่าดี แล้วก็ จบไป...พร้อมกับเวที.
คำสำคัญ (Tags): #เครือข่าย#ลำพูน
หมายเลขบันทึก: 6452เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2005 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท