สนามจริงใน ตลาดนัดความรู้ อปท.ภาคกลาง


     "ตลาดนัดความรู้ อปท.ภาคกลาง ครั้งที่ ๑" (วันที่ ๒๔ ก.ย. ๔๘ ณ วังยางริเวอร์ปาร์ค รีสอร์ท จ.สุพรรณบุรี) เป็นสนามจริงของนักจัดการความรู้ท้องถิ่น (นจท.) ทุกคน ที่จะต้องเป็นทั้งคุณอำนวย คุณบันทึก คุณสังเกต เพราะเป็นงานที่ โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น จัดเสวนาระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพืนที่ที่ นจท.ทำงานอยู่ และในพื้นที่ที่มีความสนใจ ซึ่งเป็นการใช้ "การจัดการความรู้" (Knowledge Management : KM) ในระดับเครือข่าย...(การใช้ KM ของโครงการฯ มีอยู่ ๓ ระดับ คือ ระดับชุมชนในพื้นที่ ระดับองค์กร และระดับเครือข่าย)

    เมื่อมาตลาดนี้แล้วเรารู้ว่า เราขาดอะไร จะหยิบอะไรกลับไปใช้ เพราะในตลาดนัดความรู้ฯ มีคนที่ทำเรื่องเดียวกัน สิ่งเดียวกัน จะต้องมีคนที่ทำเก่งทำดี ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นเราจะทำอย่างไร ให้คนทำเก่งทำดีนั้น เล่าประสบการณ์ของพวกเขาออกมาให้ได้

     การจัด KM ระดับเครือข่ายครั้งนี้ นำประเด็นเรื่อง "ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จ" มาเป็นการเรียนรู้จากระดับปัจเจก เพราะจะทำให้มีการเจาะลึกได้มากกว่า ซึ่งเงื่อนไขความสำเร็จนั้น จะมีปัจจัยที่เข้ามาประกอบคือ ทั้งของตัวเอง อาจเป็นเรื่องของนิสัย บุคลิกภาพ ความรู้ เรื่องของกลุ่ม หรือแม้กระทั่งเรื่องของครอบครัวที่มีส่วนสู่ความสำเร็จ/ความภาคภูมิใจนั้นๆ

     ถึงแม้ว่า จะเป็นงานแรกของพวกเรา นจท. แต่ก็เป็นงานที่เรียกได้ว่า มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะโจทย์ก็คือ จะทำอย่างไรให้คนที่เข้าร่วมทุกคนรู้สึกดี และติดใจที่จะเข้าร่วมกับการจัดตลาดนัดในครั้งต่อๆ ไป เพราะการบริหารความรู้สึกของผู้เข้าร่วมทุกคนนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่ายเลย การสร้างการมีส่วนร่วมในกลุ่มย่อยนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนจะต้องทำ

     การเตรียมคุณอำนวย คุณบันทึก การวางตัวสำหรับแต่ละกลุ่มนั้น จึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเราไม่ได้ทำเพียงครั้งเดียว หากต้องการทำต่อ ตำแหน่งไหนที่มีความสำคัญต่อการทำงานร่วมกับ อปท. จึงมีการพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกันว่า เราจะทำอย่างไร ตำแหน่งไหนมีบทบาทหน้าที่อะไร เพราะความรู้ของคนชวนคุยนั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากคนที่ชวนคุย ไม่รู้อะไรเลย ก็จะไม่สามารถที่จะมีประเด็นในการพูดคุยได้

     กระบวนการที่เราคิดว่าจะต้องทำคือ

     ๑) ก่อนเข้าสู่กระบวนการ เราต้องมีการละลายพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมก่อน เพราะพวกเขาอาจจะไม่เคยพบกันมาก่อนเลย เป็นการอุ่นเครื่อง โดยอาจใช้วิธีการให้แนะนำตัวทีละคน ก่อนเข้าสู่คำถามตามธงที่เรากำหนดกันไว้  

     ๒) ถามถึงความคาดหวังที่มาในครั้งนี้ เพื่อจะทำให้เราทราบว่าเขาต้องการอะไร ตรงกับเราหรือไม่ และจะเติมเต็มกันได้อย่างไร 

    ๓) ทำความเข้าใจกันก่อน จะมีในเรื่องของการตั้งกติการ่วมกัน ในเรื่องของเวลาที่เราได้รับมาว่าใช้เวลากลุ่มย่อยเท่าใด กติกาการฟังอย่างลึกซึ้ง หรือใช้ Dialogue ช่วยเพื่อไม่ให้มีการพูดแทรกกัน ไม่รับฟังซึ่งกันและกัน 

    ๔) เล่าความสำเร็จของแต่ละคนแต่ละตำแหน่งก่อน 

    ๕) ใช้มติกลุ่มเลือกประเด็นในการลงลึก โดยการทำ Training Need 

    ๖) จับประเด็นความรู้เป็นช่วงๆ  และ

    ๗) สุดท้ายคือการให้กลุ่มช่วยกันสรุป โดยจับความรู้จากเรื่องเล่า และช่วยกันตีความ เพื่อมิให้เป็นการตีความจากคุณอำนวย หรือคุณบันทึก

    ในเวทีช่วงแรก เป็นการบรรยายของ ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่อง "รัฐบาลท้องถิ่นกับสิทธิชุมชน" ท่านได้พูดถึงว่า อปท. เป็นจุดต่อในการพัฒนาบ้านเมืองซึ่งต้องอยู่ในกระแสโลกที่มีการขยายอำนาจอิทธิพล หรือในกระแสของโลกาภิวัตน์ ซึ่ง อปท.นั้นมีหน้าที่ต้องดูแลทรัพยากรในชุมชน ดังนั้น อปท.จึงต้องเรียนรู้จากปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ การจัดทรัพยากรเป็นหัวใจสำคัญของ อปท. ซึ่งการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืนนั้นน่าจะอยู่ที่การพัฒนาคน และการพัฒนาคนควรจะพัฒนาความรู้ โดยให้คนนั้นรู้จักตัวเอง เพื่อส่งเสริมตัวเอง ให้มีการจัดระบบการศึกษาของคนให้ดี ซึ่งการจัดระบบการศึกษาที่ดีนั้น ต้องสร้างการเรียนรู้ภายในให้ดี

    ช่วงบ่ายก็ให้แบ่งกลุ่มย่อย ตามตำแหน่ง คือจะมีกลุ่มของ นายก อบต. กลุ่มรองนายก อบต. รองประธานสภา  กลุ่มปลัด อบต. กลุ่มเลขานายกฯ เลขาประธานสภาฯ และกลุ่มสมาชิก อบต.ซึ่งก็เป็นช่วงประลองสนามของ นจท. บางคนมีหน้าที่เป็นคุณอำนวย บางคนเป็นคุณบันทึก ซึ่งตัวดิฉันตอนแรกนั้นต้องทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยให้แก่กลุ่มสมาชิก อบต. แต่พอแบ่งกลุ่มย่อยแล้ว มีสมาชิกฯ เหลือเพียง ๗ คน จึงต้องรวมกับอีกกลุ่มเป็นกลุ่มเดียว โดยมี 'พี่หนึ่ง' จากมูลนิธิข้าวขวัญทำหน้าที่เป็นคุณอำนวย ดิฉันเลยขอทำหน้าที่เป็นคุณบันทึก

    บรรยากาศในกลุ่มนั้น ถือได้ว่าเป็นกันเองมากๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้เข้าร่วมนั้น เป็นสมาชิกที่มาจากจังหวัดเดียวกันทั้งสิ้นคือจังหวัดอุทัยธานี จะมีมาจากสิงห์บุรี และอ่างทอง เพียงจังหวัดละ๑ท่านเท่านั้น การพูดคุยจึงเป็นไปอย่างสบายๆ มีส่วนร่วมมากๆ เพราะทุกคนช่วยกันซัก ช่วยกันถาม  มีประเด็นไหนน่าสนใจก็จะร่วมกันถาม มีการตั้งคำถามแบบลงลึกในรายละเอียดได้ดี

โดย อัฒยา สง่าแสง ; นักจัดการความรู้ท้องถิ่นตำบลหลักแก้ว อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น

หมายเลขบันทึก: 6450เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2005 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท