ข้อสังเกตจากตลาดนัดความรู้ ศตจ.อุทัยธานี


     จากการสังเกตที่ดิฉันได้เข้าไปร่วมเวที "ตลาดนัดความรู้ ศตจ.อุทัยธานี" วันที่ ๑๓-๑๔ ก.ย. ๔๘ เวทีนี้ไม่ได้เน้นในเรื่องของผลที่ออกมา แต่จะเน้นในเรื่องของการฝึกคุณทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น 'คุณอำนวย' 'คุณเล่า' 'คุณกิจ' 'คุณบันทึก' 'คุณสังเกต' จะเห็นได้ว่า การฝึกหรือการพัฒนาคนนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญของกระบวนการเรียนรู้

     การทำงานครั้งนี้ ใช้เรื่องของการจัดการความรู้เข้าไปสู่กลุ่มแต่ละกลุ่มที่ตั้งขึ้นมา คือ ๑) กลุ่มเกษตรปลอดภัย ๒) กลุ่มจัดการน้ำ ๓) กลุ่มป่าชุมชน และ ๔) กลุ่มผ้าทอ

     ในวันแรกเป็นการเตรียมความพร้อมของคุณอำนวย คุณบันทึก และคุณสังเกต โดยวิทยากรนั้นให้คำแนะนำก่อนจะเข้าสู่กระบวนการฝึกด้วยวิธีการปฏิบัติจริง และอธิบายตามเป็นขั้นเป็นตอน โดยในช่วยแรก 'คุณทรงพล' ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของแต่ละคุณๆ เช่น

     คุณอำนวย ควรมีหน้าที่ ควบคุมบรรยากาศในการจัดกระบวนการ หรือการจัดการในวงพูดคุย ควรสร้างบรรยากาศไม่ให้กลุ่มเกิดความเครียด ความกลัว เกร็ง หรือการสงวนท่าที เพราะหากเกิดกรณีต่างๆ ด้งกล่าวเหล่านี้ อาจทำให้เราไม่ได้ข้อมูลที่มีความชัดเจนแม่นยำสำหรับทำงานต่อไปได้ และควรมีหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการโต้ตอบกันระหว่างในกลุ่ม จัดระบบความคิดของคนตอบ หรือซักให้ครบประเด็น

     ในการเป็นคุณอำนวยนั้นจะต้องฟังอย่างลึกซึ้ง เพราะคนเราบางครั้งฟังแล้วไม่ได้ยิน มัวแต่คิดอย่างอื่น ซึ่งคนตอบอาจไม่มีสมาธิ ซึ่งหากคุณอำนวยไม่จับประเด็นให้ดีอาจทำให้หลุดได้ ซึ่งกระบวนการที่ 'คุณทรงพล' สาธิตคือ

     ๑) ขั้นแรกทำความรู้จัก แนะนำตัว โดยอาจใช้วิธีการให้จับคู่คุยกันก่อนและให้เพื่อนแนะนำ  ๒) เปิดประเด็น อาจเป็นประเด็นความสำเร็จ โดยอาจถามถึงความรู้สึกก่อนว่า มีความรู้สึกอย่างไรเมื่อทำงานได้สำเร็จ ซึ่งการถามถึงความรู้สึกก่อนนั้นจะทำให้คลายความกังวลไปได้บ้างระดับหนึ่ง ๓) เมื่อเปิดประเด็นแล้ว หากมีประเด็นที่เป็นประเด็นร่วมน่าสนใจ น่าจะมีการตั้งคำถามแบบลงลึกในรายละเอียดของเรื่องเล่านั้นๆ เช่นหากเขาบอกว่า ได้เป็นต้นแบบ เราอาจถามลงลึกไปว่า ต้นแบบอะไร อย่างไร ถามให้ละเอียด แต่ในใจของคุณอำนวยนั้น จะต้องมีประเด็นที่ตั้งเป็นธงไว้ในใจว่า เราจะเอาละเอียดแค่ไหน อย่างไร ๔) การดึงประเด็นกลับมาสู่ธงก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะในบางครั้งการเล่าเรื่องแต่ละเรื่องนั้น คนเล่าอาจเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกมากเกินไป เราเอาจต้องดึงกลับมาสู่ธงของเราที่ตั้งไว้ โดยอาจใช้คำพูดที่นุ่มนวล เช่ร ประเด็นที่คุณเล่ามานั้น ก็น่าสนใจหากเรามีเวลาเราจะกลับมาสู่ประเด็นนี้ใหม่ และ ๕) สรุปประเด็น เป็นการสรุปว่าอะไรเป็นเรื่องหลักหรือธงใหญ่ที่เราต้องการ เพื่อให้กลุ่มได้มีความเข้าใจตรงกัน

     สำหรับคุณบันทึกนั้น ต้องรู้ว่าคุณอำนวยถามอะไร เพื่ออะไร และนั่นคือสิ่งที่จะต้องบันทึกไว้ เพราะสิ่งที่คุณอำนวยถามนั้นคือ เป้าหมายที่เราวางไว้ว่า เราคุยในครั้งนี้เราจะได้อะไร ซึ่งการจับประเด็นของคุณบันทึกนั้นก็จะคล้ายๆ กับคุณอำนวยคือ สิ่งที่ต้องทำคือ สมาธิ การฟังอย่างลึกซึ้ง ไม่ตัดสิน เพระในการบันทึกนั้นจะต้องบันทึกประเด็นที่สำคัญ และไม่แปลงสารอย่างเด็ดขาด เพื่อที่จะให้ได้ความรู้หรือประเด็นทีต้องการจริงๆ

     ส่วนคุณสังเกต มีหน้าที่จดบันทึกความรู้และดูบรรยากาศที่เกิดขึ้นภายในกลุ่ม เช่น ผู้เข้าร่วมมีปฏิกิริยาอย่างไร มีความกระตือรือร้นหรือไม่ ซึ่งความสำคัญก็ไม่แพ้คุณอำนวย และคุณบันทึกเลย เพระหากต้องการจัดเวทีครั้งต่อๆ ไป เราต้องอาศัยมุมมองของคุณสังเกต เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์

    นอกจากนี้ เวทีนี้ยังฝึกให้แต่ละคน คิดแบบลงรายละเอียด หรือฝึกแยกแยะส่วนประกอบต่างๆ เพื่อจะได้ให้แต่ละคนคิดแตกประเด็นได้มาก ๆ เพื่อในวันจริงจะได้ไม่ต้นในการตั้งคำถาม...

    มาถึงวันจริง (๑๔ ก.ย.๔๘) ดิฉันได้เข้าไปในกลุ่มหนึ่ง สิ่งที่สังเกตเห็นก็คือ ความเกร็งของคุณอำนวย ทำให้กลุ่มเกิดความตึงเครียด เพราะคำถามแรกที่คุณอำนวยเปิดประเด็นมาคือ "อะไรคือความสำเร็จ" ซึ่งตอนซักซ้อมนั้น เราควรเริ่มจากถามถึงความรู้สึก ความคาดหวัง หรือจัดสันทนาการเพื่อละลายพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมก่อน แต่เมื่อคำถามแรกเป็นคำถามที่หนักจึงทำให้ภายในกลุ่มเกิดความตึงเครียด ไม่เป็นกันเอง คุณอำนวยไม่สามารถคุมสถานการณ์ให้ไหลลื่นได้เท่าไหร่ ไม่มีประเด็นที่จะถาม เพราะคนตอบ ตอบแบบขอไปที ถามมาก็ตอบไป ซึ่งจะเห็นได้ว่า คุณอำนวยนั้นไม่มีประเด็นที่ต้องการอยู่ในใจ และไม่อาจจับประเด็นที่น่าจะลงลึกได้เพราะไม่มีสมาธิ และไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่ผู้ตอบ ตอบกลับมาด้วยซ้ำ...ส่วนคุณบันทึกนั้นจับประเด็นได้ แต่มักอาศัยประสบการณืเดิมของตัวเองเข้ามาตัดสินคำตอบของคุณเล่า และถามเองว่าเป็นอย่างนี้ใช่ไหม เป็นการตั้งคำถามเชิงชี้นำต่อกลุ่ม ซึ่งจะทำให้กลุ่มเกิดความเกรงใจ และคล้อยตาม เพราะคิดว่าวิทยากรมีความรู้มากกว่าตนเอง...ในด้านคุณสังเกต เห็นได้ชัดว่า ใช้ประสบการณ์เดิมของตนเองเข้ามาตัดสินเพราะไม่ได้มีการฟังอย่างลึกซึ้ง มีการเดินไปเดินมา แต่พอกลับมาถึงกลุ่มก็นำสิ่งที่ตัวเองรู้มาเขียนขึ้นกระดาษไว้ ซึ่งอาจทำให้กลุ่มเสียความรู้สึกได้ ที่คำตอบของตนไม่ได้รับความสนใจ

      โดยความรู้สึกส่วนตัวแล้ว ถือว่าการเข้าร่วมเวทีครั้งนี้ ตัวเองได้ประโยชน์มาก เพราะได้เห็นของจริง ก่อนที่จะไปใช้จริงในการจัดตลาดนัดความรู้ อปท.ภาคกลาง (วันที่ ๒๔ ก.ย.๔๘) และยังได้ฝึกการเป็นคุณอำนวย คุณบันทึก และคุณสังเกตไปในตัวด้วย และสิ่งที่ได้มากกว่านั้นก็คือ การได้จัดกิจกรรมสันทนาการร่วมกับเพื่อนๆ ถึงแม้ว่าจะไม่เคยแต่พอต้องทำจริงๆ ก็พอทำได้ เป็นการสะสมชั่วโมงบินให้กับตัวเอง.

โดย อัฒยา สง่าแสง ; นักจัดการความรู้ท้องถิ่นตำบลหลักแก้ว อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น

 

หมายเลขบันทึก: 6448เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2005 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 10:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท