วินัย 5 ประการ (Five Disciplines) พื้นฐานสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้


แนวคิดในการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ จะครอบคลุมตั้งแต่ตัวบุคคลไปจนถึงตัวองค์กรที่จะต้องมีเป้าหมายและมีระบบงานในการพัฒนาทุกคนในองค์กรโดยมีการส่งเสริม และยกระดับการเรียนรู้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้พื้นฐานวินัย 5 ประการ ที่ทุกคนต้องร่วมกันถือปฏิบัติดังนี้

           การได้มาซึ่งประสิทธิภาพ (Efficiency) และประสิทธิผล (Effectiveness) ของงาน เป็นผลที่เกิดจากองค์กรแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการบริหารงานยุคใหม่ ให้เกิดเป็น องค์กรที่มีความเป็นเลิศ สามารถเผชิญภาวะการแข่งขันทุกรูปแบบ และมีความได้เปรียบที่ยั่งยืน ตลอดไป

            แนวคิดในการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ จะครอบคลุมตั้งแต่ตัวบุคคลไปจนถึงตัวองค์กรที่จะต้องมีเป้าหมายและมีระบบงานในการพัฒนาทุกคนในองค์กรโดยมีการส่งเสริม และยกระดับการเรียนรู้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้พื้นฐานวินัย 5 ประการ ที่ทุกคนต้องร่วมกันถือปฏิบัติดังนี้

วินัยประการที่ 1 การใฝ่ใจพัฒนาคน มุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Personal Mastery)

             องค์กรที่ประสบความสำเร็จต้องสร้างคนให้มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับสภาวะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัฒน์ บุคคลต้องพัฒนาตนเองให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้เพราะความรู้ที่เรียนมาในอดีตอาจล้าสมัยตกรุ่น บางคนเรียนเก่ง แต่มีปัญหาในการทำงาน เพราะไม่สามารถปรับใช้ในชีวิตจริงได้ เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อพัฒนางานในองค์กรให้บรรลุเป้าหมาย

          องค์กรในอนาคตจะเป็นองค์กรแห่งการแข่งขัน คนที่มีความรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลาจะเป็นผู้ที่สร้างความมั่นคงและความอยู่รอดขององค์กร โดยทุกคนต้องพัฒนาตนในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ รวมถึงอินเตอร์เนตและวัฒนธรรมนานาชาติ องค์กรที่ประสบความสำเร็จจะต้องเป็นองค์กรที่ลงทุนในการพัฒนาคน และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้นในการพัฒนาองค์กร ทุกคนในองค์กรจะต้องคิดเป็น ทำเป็น สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นตลอดเวลา เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning)

          แนวปฏิบัติในการมุ่งสู่ความเป็นเลิศของบุคคล ประกอบด้วย

            1) สร้างวิสัยทัศน์ส่วนตน (Personal Vision) คือความคาดหวังของแต่ละคนที่ต้องการจะให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นจริงแก่ชีวิตตน ได้แก่วิสัยทัศน์ในหน้าที่การงาน วิสัยทัศน์ด้านครอบครัว และวิสัยทัศน์เฉพาะตน เป็นต้น

            2) มุ่งสร้างสรรค์ (Creative Tension) ถือเป็นแรงใฝ่ดีที่จะช่วยเสริมส่งให้เรามีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา วิสัยทัศน์ส่วนตน จะเป็นจริงได้ จำเป็นที่จะต้องมีจิตสำนึกถึงแรงใฝ่ดี และมีการใช้เวลาอย่างคุ้มค่าแก่ตนเองอยู่เสมอ

            3) ใช้ข้อมูลเพื่อคิดวิเคราะห์และตัดสินใจ การใช้ข้อมูลและเหตุผล จะช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง ช่วยให้มีระบบวิธีการคิดและตัดสินใจที่ดี

           4) ฝึกใช้จิตใต้สำนึกในการทำงาน (Subconscious) ถือว่าเป็นการมีความชำนาญขั้นสูงสุด ช่วยให้การทำงานดำเนินไปโดยอัตโนมัติ และมีผลงานดี โดยจะต้องฝึกทักษะในงานแต่ละประเภทอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ

 วินัยประการที่ 2 รูปแบบวิธีการคิดและมุมมองที่เปิดกว้าง (Mental Models) 

           แนวความคิด มุมมอง วิธีการคิดและการเข้าใจของคนเรา เป็นประสบการณ์ที่ได้มาจากสิ่งแวดล้อม และการเรียนรู้ การสร้างความรู้และความเข้าใจแก่บุคคลในองค์กรมีความจำเป็นยิ่ง จะช่วยให้ทุกคนปรับรูปแบบวิธีคิดและมุมมองไปในทิศทางเดียวกัน วิธีการเหล่านี้ ได้แก่

           1) การบริหารโอกาส เป็นการให้การเรียนรู้แก่ทุกคนโดยใช้การประชุม สัมมนาเอกสารเวียน เกี่ยวกับข้อคิดในการทำงาน การปรับปรุงคุณภาพ หรืออื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง

            2) การพัฒนาผลผลิต ทุกคนในองค์กรต้องมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลผลิต เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายขององค์กร สามารถตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการได้เป็นอย่างดี

           3) ผลผลิตอัจฉริยะ นักบริหารที่ดีต้องตระหนักถึงการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพเป็นที่ถูกใจกับผู้รับบริการมากที่สุด

           4) โลกธุรกิจไร้พรมแดน โลกธุรกิจใหม่มีการพึ่งพาและกีดกันกันมากที่สุด ดังนั้นผู้บริหารโรงเรียนต้องตระหนักในความสำคัญของการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พยายามพัฒนารูปแบบความคิด ความเชื่อในการบริหารจัดการโรงเรียนของตน ให้สอดคล้องกับการแปรเปลี่ยนไปของโลก โดยเฉพาะการปรับตัวในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ยึดติดกับความเชื่อ แต่ต้องยึดหลักการบริหารโอกาส พัฒนาผลผลิตและการบริการให้มากที่สุด

 

วินัยประการที่ 3 การสร้างและพัฒนาวิสัยทัศน์ (Shared Vision)

              องค์กรจะพัฒนาให้มีความก้าวหน้า มีความเข้มแข็งเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้นั้น ทุกคนในองค์กรต้องช่วยกันสร้างภาพอนาคตของหน่วยงาน หรือที่เรียกว่าต้องสร้างวิสัยทัศน์ขององค์กรร่วมกัน วิสัยทัศน์ที่ดีต้องระบุภาพในอนาคตได้ชัดเจน สร้างแรงจูงใจหรือกระตุ้นให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรเกิดแรงบันดาลใจอยากปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ และสิ่งที่สำคัญคือ วิสัยทัศน์ต้องเกิดจากการกำหนดร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ปัญหาของการนำวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติมักจะเกิดจากการที่ผู้บริหารไม่สามารถสื่อสารข้อความวิสัยทัศน์ให้เข้าถึงจิตใจของผู้ร่วมงานได้ นอกจากนี้ วิสัยทัศน์ยังขาดการทบทวนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการใช้วิสัยทัศน์ของคนใดคนหนึ่งมากกว่าวิสัยทัศน์ขององค์กร แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญกว่าข้อความวิสัยทัศน์ คือกระบวนการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันของทุกฝ่าย ที่ประกอบด้วย การย้อนอดีต มองปัจจุบัน วาดฝันอนาคต และกำหนดวิสัยทัศน์ โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างวิสัยทัศน์ขององค์กร

          วิธีการพัฒนาวิสัยทัศน์องค์กร  จำเป็นต้องทำให้เป็นระบบ เป็นขั้นตอนและถูกวิธี จึงจะได้วิสัยทัศน์ที่ดี ถูกต้องและเหมาะสมกับเงื่อนเวลาในอนาคต ผู้บริหารโรงเรียนควรดำเนินการตามลำดับขั้นในการสร้างและสานวิสัยทัศน์ ดังนี้

           1) ตั้งคณะทำงานสร้างวิสัยทัศน์          

           2) สำรวจความคาดหวัง ความต้องการ ความคิดเห็น จากผู้ที่มีส่วนสำคัญต่อองค์กรทุกกลุ่ม         

           3) ทำการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมขององค์กร จุดแข็ง โอกาส และทางเลือกในอนาคต

           4) คัดเลือกวิสัยทัศน์ที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด เพื่อประกาศใช้และสร้างความเข้าใจกับทุกคนในองค์กร วิสัยทัศน์องค์กรนี้จะเป็นจุดมุ่งหมายร่วมกันของสมาชิกทุกคนที่จะต้องมุ่งมั่นไปให้ถึง นำไปเป็นเป้าหมายของแผนกลยุทธ์ จากนั้นจึงร่วมสานให้เป็นจริงด้วยแผนปฏิบัติการต่อไป

วินัยประการที่ 4 การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม (Team Learning)

           ผู้บริหารต้องส่งเสริมให้ทุกคนในองค์กร ได้ทำงานร่วมกันเป็นทีม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์และทักษะเพื่อพัฒนาภูมิปัญญาและศักยภาพของทีมงานโดยรวม ด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้แก่ การเสวนา การอภิปราย ใช้เทคนิคการบริหารงานเป็นทีม และใช้เทคนิคของการบริหารโครงการธุรกิจที่มีกระบวนการของการบริหารอย่างเป็นระบบ เช่น การประเมินงานโครงการ การวางแผนงานโครงการ เป็นต้น การทำงานเป็นทีมสามารถพัฒนาการเรียนรู้ตาม ขั้นตอนดังนี้ คือ บุคคลเรียนรู้ ทีมเรียนรู้ การเรียนรู้ข้ามสายงาน องค์กรเรียนรู้เรื่องภายใน องค์กรเรียนรู้ภาวะแท้จริงภายนอก องค์กรเรียนรู้อนาคตและโอกาส และองค์กรนำความรู้ไปปฏิบัติให้เกิดตามวิสัยทัศน์ขององค์กร

           การสร้างการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม บุคคลจะต้องได้รับการเรียนรู้และมีการพัฒนาพฤติกรรมที่พึงประสงค์ที่จะเกิดประโยชน์ต่อทีม ดังนี้

           1) มีความจริงใจ ให้ความจริงต่อกัน           
           2) รับฟังกันอย่างลึกซึ้งด้วยการเปิดตา เปิดใจ
           3) เน้นกระบวนการและระบบ
           4) ไม่ติดใจกับตัวบุคคล
           5) ร่วมกันสร้างกฏเกณฑ์กลุ่มในการเรียนรู้ร่วมกัน
           6) ยอมให้แก่กันและให้อภัยกัน 
7) การใช้บุคลากรภายนอกเป็นคนนำกลุ่ม




วินัยประการที่ 5 ความคิดความเข้าใจเชิงระบบ (System Thinking)
ผู้บริหารควรมีวิธีคิดและภาษาที่ใช้อธิบายพฤติกรรมความเป็นไปต่าง ๆ ในรูปแบบของความสัมพันธ์ ระหว่างเหตุผลที่สืบเนื่องกัน เพื่อให้องค์กรสามารถเปลี่ยนแปลงระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับกระบวนการ ความเป็นไปในโลกแห่งความเป็นจริง โดย ดำเนินการ ดังนี้


1) พัฒนาวิสัยทัศน์องค์กรอย่างเป็นระบบ


2) พัฒนาระบบการวางแผน

3) พัฒนาระบบการเรียนรู้ขององค์กร
4) พัฒนาระบบบริหารในรูปแบบต่าง ๆ


ในการพัฒนาองค์กรด้านต่าง ๆ ให้สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารควรมีกฎการคิดเชิงระบบ 10 ประการ ดังนี้


1) ปัญหาวันนี้มาจากวิธีแก้ปัญหาวันก่อน


2) แรงกระทำ = แรงสะท้อน


3) มีขึ้น มีลง / มีเกิด มีดับ


4) เลือกวิธีที่ง่ายที่สุด อาจกลับไปตั้งต้นที่ปัญหาเก่า


5) วิธีแก้อาจจะแย่กว่าตัวปัญหา


6) เร่งให้เร็วขึ้น อาจทำให้ช้าลง


7) เหตุสืบเนื่องที่สารพัน


8) เปลี่ยนน้อยอาจทำให้เปลี่ยนมากได้


9) ทำหลายอย่างพร้อมกัน ผลเกิดไม่พร้อมกัน


10) การแก้ปัญหาของแต่ละหน่วย อาจจะไม่แก้ปัญหาขององค์กร




   

 

 

คำสำคัญ (Tags): #kmclass
หมายเลขบันทึก: 64406เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2006 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท