Regional Workshop on Use of ICT for Community Empowerment through NFE ตอนที่ 4


ICT for Community Empowerment

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2549 

รายการวันนี้เป็นการศึกษาดูงาน 3 แห่ง คือ
1 NFE and Youth development Center Regional III Center Java หรือศูนย์ กศน. ภาค 3 ชวากลาง
2 Non-formal Education Community of Grobogan หรือศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ Grobogan
3 NFE Community Center (จำชื่อไม่ได้)
ออกเดินทางจากโรงแรมตอน 7 โมงครึ่ง หลังจากกินข้าวเช้าแล้ว โดยเป็นโดยรถปรับอากาศอย่างดี พี่สุชินชวนขึ้นรถก่อน เพื่อจะได้นั่งด้านหน้าและมองเห็นทิวทัศน์ต่างๆ ได้ที่นั่งด้านขวามือหลังคนขับ พอได้เวลาประมาณเกือบ 8 โมง ก็เริ่มเดินทางออกจากโรงแรม ผ่านตัวเมือง
 
1 NFE and Youth development Center Regional III Center Java
     คณะไปถึงศูนย์พัฒนาการศึกษานอกโรงเรียนและกิจการเยาวชนภูมิภาคที่ ๓ ต่อไปจะเรียกสั้น ๆ ว่าศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาค ๓ ตั้งอยู่ที่เมืองเซมารัง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นชวากลาง ผู้อำนวยการศูนย์ซึ่งเคยพบกันในที่ประชุมนานาชาติ ๒-๓ ครั้งได้นำชมกิจกรรมของศูนย์ฯ เช่น แผนกผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ห้องจัดอบรมคอมพิวเตอร์ สอนเย็บจักรอุตสาหกรรม ตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี การพัฒนาเด็กปฐมวัย การผลิตวัสดุการศึกษาเพื่อจำหน่าย การสอนภาษาอังกฤษ ห้องสมุดสำนักงานที่มีบรรยากาศที่ดี ศูนย์ video conference ศูนย์บริการข้อมูล และการใช้กล้องติดตามดูเหตุการณ์ในบริเวณต่าง ๆ และแสดงผลทางหน้าจอมอร์นิเตอร์ที่ห้องผู้อำนวยการโดยตรง
 ผู้อำนวยการชี้แจงว่าศูนย์ฯ ภาค ๓ มีภารกิจสำคัญคือการพัฒนารูปแบบการศึกษานอกโรงเรียน การจัดฝึกอบรม การพัฒนาสื่อ การให้บริการข่าวสารข้อมูล และการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ทั้งประเทศมีศูนย์ฯ ภาค ๕ ศูนย์ด้วยกัน ปัจจุบันศูนย์ฯ ภาค ๓ มีเจ้าหน้าที่ ๑๒๓ คน ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิสัยทัศน์ขององค์กรคือ Best Service, Endless Innovation
 การบริหารจัดการในพื้นที่ที่รับผิดชอบทั้ง ๕ จังหวัดในชวากลางนั้นมีการจัดตั้งศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนในแต่ละจังหวัด ส่วนระดับชุมชนก็ให้การส่งเสริมศูนย์การเรียนชุมชน หน่วยงานแต่ละระดับต่างก็มีหน้าที่เฉพาะของตนเอง ศูนย์ฯ ภาค ๓ ให้บริการศูนย์การเรียนชุมชนทางด้านเอกสารแนะนำแนวทางการจัดการศูนย์การเรียนชุมชน ให้การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ จัดหาสื่อการเรียน และจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้ด้วย 
 ผลงานในรอบปีที่ผ่านมาคือ สร้าง web site ชื่อ www.bpplsp.com สำหรับใช้เก็บข้อมูลจากศูนย์การเรียนชุมชนต่าง ๆ รวมทั้งจากองค์กรอื่น ๆ นอกจากนั้นยังมีการจัดอบรมการสร้าง web site และการผลิตวีดิทัศน์ให้กับเจ้าหน้าที่ในระดับชุมชน เพื่อใช้สำหรับการพัฒนาชุมชน สร้าง cyber market สำหรับการจำหน่ายวัสดุการศึกษาที่ทำด้วยไม้ซึ่งมีโรงงานผลิตอยู่ในศูนย์ฯ พัฒนา e-learning เช่น จัดทำหนังสือเกี่ยวกับ e-learning เป็นต้น การจัดการเรียนการสอนครอบคลุมหลายเรื่อง เช่น การส่งเสริมการรู้หนังสือ การพัฒนาครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน การซ่อมเครื่องยนต์ การตัดเย็บเสื้อผ้า การดูแลเด็กปฐมวัย การแต่งหน้าสำหรับงานแต่งงาน เป็นต้น
 พันธมิตรที่สำคัญของศูนย์ฯ แห่งนี้ได้แก่ UNESCO, USAID บริษัทเอกชนต่าง ๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยในพื้นที่ มีความร่วมมือทางด้านการจัดอบรมเกี่ยวกับ ICT การพัฒนาทักษะชีวิต การจัดวิทยุชุมชน การผลิตสื่อ การพัฒนาชุมชน และการให้วุฒิบัตรสำหรับครูที่ผ่านมาอบรม เป็นต้น
 การใช้ ICT นั้นมีจุดเน้นที่สำคัญคือเพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูล การใช้ประโยชน์ทางด้าน e-learning การพัฒนาชุมชน และการตอบสนองหรือพัฒนานโยบาย ผู้เรียนการศึกษานอกโรงเรียนให้ความสนใจเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตกันมากขึ้นเป็นลำดับ
 ผลสำเร็จที่ผ่านมาได้แก่รางวัล Best Service for Community Award จากรัฐบาลในปี ๒๐๐๒, ISO 9001-2000, The Best Early Childhood Education Organizer
 ศูนย์ฯ จัดเลี้ยงอาหารกลางวันให้ โดยใช้ห้องครัวและห้องอาหารของศูนย์ฯ เอง ดูสภาพการจัดบริการต่าง ๆ ที่หลากหลาย มีอาคารสถานที่หลายหลัง เช่นนี้ทำให้หวลคิดไปถึงสภาพของศูนย์ฯ ภาคของการศึกษานอกโรงเรียนไทยในสมัยเมื่อกว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมา เราทำทุกอย่างเหมือนที่เห็นที่นี่ แต่เราก็ได้กระจายอำนาจไปยังศูนย์ฯ จังหวัดไปมากแล้ว
ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนและเยาวชน ภาค 3 ของชวากลาง เปรียบเทียบเหมือนกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเมื่อสมัยก่อนที่ใหญ่โต มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย ที่นี่ก็เหมือนกัน มีการเปิดการศึกษาสำหรับอนุบาล และการศึกษาสายอาชีพหลักสูตรต่างๆ อยู่ภายในศูนย์ นอกเหนือจากกิจกรรมต่างๆ ที่ทำในพื้นที่ หรือไปสนับสนุนระดับจังหวัด ดังนั้นภายในศูน์ภาคแห่งนี้ จึงมีอาคารต่างๆ มากมาย โดยภารกิจหลักของศูนย์แห่งนี้ มีดังนี้
1 NFE Model Development พัฒนารูปแบบการศึกษานอกโรงเรียน
2 NFE Human Resource Training พัฒนาบุคลากร
3 NFE Learning Material Development พัฒนาสื่อ
4 Informal Centers ศูนย์การศึกษาตามอัธยาศัย
5 Technical Assistance ให้การสนับสนุนทางวิชาการ
การใช้งาน ICT ทำใน 4 เรื่องคือ
1 ICT for data Collection. Make the web for data Collection (www.bpplsp.com)
2 ICT for Policy
3 ICT for Community Development
4 ICT for Learning (e-Learning)
 ในการศึกษาดูงานครั้งนี้ เมื่อเดินทางไปถึง
 เกี่ยวกับ ICT
 - e-Learning ของชั้นเด็กเล็ก ในห้องมีคอมพิวเตอร์ 5 เครื่อง ตั้งอยู่กับพื้น ขณะที่ไปดูงานกำลังใช้โปรแกรมให้เด็กเลือกสีและระบายสี   

2 Nomformal EducationCommunity of Grobogan
 ถ้าเปรียบเทียบกับบ้านเรา ก็เปรียบเหมือน ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐ (โครงสร้างเหมือนกับเลียบแบบประเทศไทยทุกประการ) โดยมีข้าราชการปฏิบัติงานประจำ ซึ่งเตรียมาการต้อรรับอย่างดี สังเกตจาก มีป้ายผ้าต้อนรับ แต่ละคนแต่งเครื่องแบบสีกากี มีผู้เรียนมาคอยตามห้องต่างๆ การต้อนรับเริ่มที่หอประชุมใหญ่ โดยมีข้าราชการระดับผู้ใหญ่ในพื้นที่มาให้การต้อนรับด้วย เหมือนบ้านเราไม่มีผิด (ชาวบ้านมาคอย เพราะไม่ใช่เป็นการจัดกิจกรรมตามปกติ แต่มาเพื่อการศึกษาดูงานในครั้งนี้)
การต้อนรับเมื่อเข้ามาในห้องประชุม ต้อนรับด้วยเครื่องดื่มประเภทนำผลไม้ในท้องถิ่น และขนมพื้นเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกแป้งคล้ายๆ บ้านเรา และบนโต๊ะมีพวกผลไม้ ที่เหมือนบ้านเราแต่มีในหน้านี้ คือ ลำไย และผลไม่อื่นๆ เช่น กล้วย

   การต้อนรับอย่างเป็นทางการเริ่มที่หอประชุมค่อนข้างกว้างขวาง มีการต้อนรับโดยผู้บริหารระดับผู้ใหญ่ของพื้นที่ เป็นภาษาอินโด แต่ก็มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษแจก ต่อจากนั้น ผู้แทน UNESOC กล่าวตอบเป็นภาษาอังกฤษและมีล่ามแปลเป็นภาษาอินโด ต่อจากนั้น ผู้แทนจีน กล่าวขอบคุณ ต่อด้วยผู้แทนของศูนย์นนำว่า มีกิจกรรมที่จัดในวันนี้ 7 กิจกรรมให้เราได้ศึกษา และพูดคุยกับชาวบ้าน คณะผู้ดูงาน ก็เริ่มเดินไปตามกิจกรรมต่างๆพูดคุยกับนักศึกษาและประชาชน
ไปถึงห้องแรก เป็นห้อง e-Learning มีคอนพิวเตอร์ตั้งอยู่ในห้อง ประมาณ 8 เครื่อง มีเยาวชนกำลังใช้อยู่ โดยแต่ละเครื่องสามารถเชื่อมต่อ Internet ได้ ขณะที่ไปดู บางคนก็เปิดโปรแกรม Microsoft Word บางคนก็กำลังเปิด website โดยคอมพิวเตอร์นี้ มีไว้บริการ สามารถเข้ามาใช้บริการโดยไม่เสียเงิน เพราะค่าใช้จ่ายต่างๆ ทางรัฐบาลออกให้แล้ว (ดูจากสถานที่ไม่ค่อยเหมาะสมเป็นห้องทึบ ไม่มีหน้าต่าง มีประตูเข้าเพียงช่องเดียว ตั้งคอมพิวเตอร์เข้าผนังสองด้าน) จากการสังเกต ที่บอกว่า เป็น e-Learning นั้น ความหมายน่าจะแตกต่างจากบ้านเรา สังเกตจากครั้งแรกที่เห็นจากห้อง e-Learning จากศูนย์ภาค ที่จัดสำหรับเด็กอนุบาล และที่นี่ ห้อง e-Learning จะเป็นห้องที่มีคอมพิวเตอร์ และ มีคนเข้ามาใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อการเรียนรู้เป็นหลัก แต่ของเรา จะหมายถึงกระบวนการเรียนการสอนผ่านทาง Computer โดยเฉพาะ Computer Online ที่มี Software ระบบ LMS และ LCMS เข้ามาจัดการเรื่องการเรียนการสอนการและการจัดการเนื้อหา แต่ที่ไปดูงาน ตรงไหนที่ใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อการเรียนรู้ไม่ว่า จะเป็นวิธฤการใดๆ จะเรียกว่า e-Learning ทั้งหมด (แต่ก็ไม่แน่ใจว่า เป็นทั้งหมดหรือเปล่า แต่เท่าที่พบจาก 2 แห่ง ที่ป้ายหน้าห้องเขียนว่า e-Learning จะเป็นแบบนี้
ห้องที่ 2  เป็นห้องฝึกภาษา (languet Laboratories)  ก็เหมือนกับห้อง Sound Lab ทั่วไป กำลังมีการสาธิตการสอน โดยมีผู้เรียนนั่งประจำแต่ละเครื่อง ดูเหมือนจะมีประมาณ 8-10 เครื่อง (จำไม่ค่อยได้) ไม่ได้เข้าไปพูดคุยด้วย เพราะเขากำลังสอน
ห้องที่ 3 เป็นห้องสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ สำผู้ไม่รู้หนังสือ ที่เป็นผู้ใหญ่ และเยาวชนนั่งรวมกันอยู่ (ผู้ใหญ่จะเป็นเกรด A หรือชั้น A ส่วนเยาวชนเป็น Grade B) หลักสูตรที่ใช้ก็เหมือน Functional Literacy ที่บ้านเราใช้ สำหรับผู้ใหญ่ แต่เยาวชน จะเป็นผู้พลาดโอกาสทางการศึกษา คือเคยเข้าเรียนมาแล้ว แต่ไม่ครบตามการศึกษาภาคบังคับโดยผู้เรียนมาเรียนโดยไม่เสียเงิน และสังเกตที่หน้าห้อง มี TV อยู่ด้วย ผู้เรียนในห้องนี้ จะพูดภาษาอังกฤษ ไม่ได้ ต้องมีล่ามจากศูนย์ภาค ช่วยแปล
ห้องที่ 4 เป็นห้องของกลุ่มผู้สอน หรือ อาสาสมัคร บางคนสามารถพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง บทบาทก็คล้ายๆ ครูอาสาในบ้านเรา คือได้รับเงินตอบแทน และทำงานอยู่ที่ศูนย์แห่งนี้ ในการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียน
ห้องที่ 5-7 ไม่ได้ไปดู เพราะต้องเดินทางกลับ (แต่สาเหตที่ไม่ได้ไปดูเพราะเจ้าหน้าที่ UNESCO ให้ไปพูดคุยสัมภาษณ์เป็นกลุ่มๆ จึงมีเวลาไปดูได้ไม่หมด และที่สังเกตอีกอย่างคือ มีคนมาต้องรับเยอะ เดินกันวุ่นวาย และเป็นเหมือนบ้านเรา ที่มีระดับผู้ใหญ่มาเยี่ยม เจ้านายเดินไปทางไหน ก้เดินทางกันเป็นขบวน และพอดีกับฝนตก จึงเดินไปตามที่ต่างๆ ไม่สะดวก ได้เวลาก็ออกเดินทางต่อ ตอนนี้สังเกตว่า ทั้งชาวบ้าน นักศึกษาต่างก็เดินทางกลับบ้านกัน ซึ่งแสดงว่า ผู้ที่มานี้ มาเพื่อต้อนรับ และให้ข้อมูลกับผู้ศึกษาดูงาน ไม่ใช่เป็นการเรียนตามปกติ และสรุปว่า ที่นี่ไม่ใช่ CLC เพราะเป็นสถานที่ราชการ เหมือนศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอของเรา ผู้มาปฏิบัติงานก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ครูอาสาก็ไม่ใช่อาสาสมัครจริงๆ เพราะมีค่าตอบแทนเหมือนบ้านเรา ทุกประการ
   ต่อจากนั้นก็เดินทางไกลอีกครั้งเพื่อไปเยี่ยมศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน ดูคล้ายกับศูนย์ฯ จังหวัดสมัยก่อนนั่นเอง ทางนายกเทศมนตรีได้กล่าวต้อนรับและเลี้ยงอาหารว่างเป็นอย่างดี แล้วนำคณะไปเยี่ยมชมห้องเรียนคอมพิวเตอร์ ห้องเรียนสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ ห้องเรียนสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ห้องเรียนสำหรับเด็กปฐมวัย และห้องเรียนวิชาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า ได้มีโอกาสสอบถามผู้เรียนวัยรุ่นที่เข้ามาเรียนคอมพิวเตอร์ปรากฏว่ามาเรียนสัปดาห์ละ ๓ วัน ในเวลาที่กำหนดให้ในตอนเข้ามาลงทะเบียน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากศูนย์ฯ เป็นผู้จัดค่าใช้จ่ายและเครื่องมืออุปกรณ์ให้ทั้งหมด รวมทั้งจัดครูฝึกให้สามารถใช้งานได้ในระยะสั้น ๆ เขาสนใจเรียนการใช้อินเตอร์เน็ต และใช้โปรแกรมประเภท word processing และ spreed sheet เขาเองได้สนองความสนใจของตนเองซึ่งเป็นไปตามวัย ส่วนประโยชน์สำหรับสมาชิกในครอบครัวนั้นยังมีจำกัด อย่างไรก็ตามศูนย์ฯ เปิดโอกาสให้เข้ามาลงทะเบียนเรียนได้ หากยังไม่สามารถเข้ามาใช้บริการได้ก็สามารถฝากเขาให้มาค้นหาข้อมูลไปให้ได้ด้วย ประโยชน์นอกเหนือจากนี้ยังมองไม่เห็นชัดเจน
 ผู้เรียนระดับการรู้หนังสือเบื้องต้นท่านหนึ่งให้ข้อมูลว่าที่สนใจเข้ามาเรียน เนื่องจากเป็นบริการที่รัฐบาลจัดให้ฟรี สามารถนำไปใช้ประโยชน์สำหรับตนเอง คือ สามารถอ่าน-เขียนได้ ใช้ช่วยสอนเด็ก ๆ ในครอบครัวได้ ผู้ชายส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้ามาเรียนได้เนื่องจากมีงานต้องทำตลอดทั้งวัน สำหรับเยาวชนที่ไม่ได้เรียนต่อในโรงเรียนจนจบระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หันมาเรียน Package B เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และเรียนเฉพาะตอนเช้า นอกเหนือจากนั้นก็ยังมีเวลาเรียนเรื่องอื่น ๆ หรือกลับไปทำงานของครอบครัวได้ มีความภูมิใจและเชื่อมั่นในคุณภาพของการศึกษาที่ได้รับด้วย เมื่อสอบถามเพื่อนที่เรียนต่อในโรงเรียนก็ไม่ได้เห็นว่าตนเองต่ำต้อยกว่าแต่อย่างใด นับเป็นแรงจูงใจที่มีพลัง จึงเห็นเยาวชนหันมาสนใจเรียนต่อในระบบการศึกษานอกโรงเรียนมากพอสมควรทีเดียว
 ในห้องการศึกษาปฐมวัยมีเครื่องมืออุปกรณ์พอสมควร มีคอมพิวเตอร์ ๒ เครื่องไว้ให้เด็กเล่น มีครูที่เอาใจใส่ให้เด็กน้อยนั่งตักและค่อย ๆ สอนการใช้คอมพิวเตอร์เปิดสิ่งที่เด็กสนใจมาเล่นกันอย่างสนุกสนานทีเดียว
 เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ภาคที่ร่วมเดินทางไปด้วย ได้รับคำตอบว่าแต่ละศูนย์บริการฯ จะต้องเสนอโครงการขอรับงบประมาณสนับสนุนไปยังศูนย์ฯ ภาคเป็นประจำทุกปี เจ้าหน้าที่จากศูนย์ฯ ภาคก็จะเข้าไปติดตามและให้คำแนะนำ แล้วนำข้อมูลภาคสนามมาตัดสินโครงการที่เสนอ
 เท่าที่เห็นปรากฏว่าการสนับสนุนเรื่องเงินเดือนครู สื่อ การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ยังเป็นการสนับสนุนของรัฐบาลผ่านมาทางศูนย์ฯ ภาค ส่วนอื่น ๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ให้การสนับสนุน จึงค่อนข้างมองเห็นการมีส่วนร่วมของชุมชนได้พอสมควร
 ครูที่ทำงานอยู่ในศูนย์บริการแห่งนี้มีเครื่องแบบให้ด้วย มีค่าตอบแทนให้บ้าง แต่เขาบอกว่ายังไม่เพียงพอนัก ซึ่งก็คงเป็นเรื่องปกติในทุกแห่ง อย่างไรก็ตามศูนย์ฯ ภาคก็ให้การสนับสนุนส่วนที่ไม่เป็นตัวเงิน เช่น โอกาสในการเข้ารับการอบรมเฉพาะเรื่อง การเดินทางไปศึกษาดูงานนอกพื้นที่ และสวัสดิการอื่น ๆ เป็นต้น

3 NFE Community Center
 เดินทางมาถึงค่อนข้างค่ำแล้ว เขาบอกว่า คอยเราตั้งแต่บ่าย บางส่วนจึงกลับไปแล้ว และเนื่องจากไม่มีการเรียนการสอนกลางคืน แต่ละห้องจึงไม่มีไฟฟ้า เราไปถึงในห้องจึงมือ เขาต้องเดินสายไฟชั่วคราว เอาหลอดไปมาติดไว้ 1 หลอด แต่ก็มืด สถานที่แห่งนี้ เป็นเหมือน ศรช บ้านเรา อาศัยอาคารของโรงเรียน ประถม จำนวน 3 อาคาร เป็นอาคารชั้นเดียวแต่แบ่งกันใช้ ตอนเช้าเป็นของโรงเรียนประถมตอนบ่ายการศึกษานอกโรงเรียนใช้ เป็นความร่วมมือที่ดีระหว่าง ในระบบและนอกระบบ
     ห้องเรียนแรกที่เข้าไป เป็นห้องเรียนเยาวชน grade B คือผู้พลาดโอกาส ส่วนผู้ไม่รู้หนังสืออยู่อีกห้องหนึ่ง ในห้องมือมาก มีไปติอยู่ 1 เพิ่งจะเอามาติด ผู้เรียนส่วนหนึ่งกลับไปแล้ว เพราะมาคอยตั้งแต่ตอนบ่าย การสอนก็จะมีครูผู้สอน (ซึ่งครูผู้สอนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และบางเรื่องก็จะไม่รู้ ต้องรอให้ Manager เข้ามาอธิบาย แต่เราก็ไม่ได้อยู่ที่ห้องนี้ นานนักเพราะ Manager พาไปที่ห้อง e-Learning เราจึงเดินตามไป พร้อมกับคระอีกบางท่าน
     ปรากฏว่า ห้อง e-Learning ก็คือห้องทำงานของ Manager เป็นห้องเล็กๆ ภายในนั้น มีคอมพิวเตอร์อยู่ 1 เครื่อง (เหมือนกับบ้านเรานั่นแหละ คอมพิวเตอร์ มักจะเอาไว้ใช้งานด้านธุรการมากกว่าการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเพียงเครื่องเดียว ไม่สามารถไปใช้ใสนการจัดการเรียนการสอนได้ แต่ที่แปลกคือ ในห้อง Manager ไม่มีไฟแสงสว่าง ถึงแม้จะใช้สอนเฉพาะกลางวัน ก็น่าจะมีไฟแสงสว่างบ้าง บ้านเราทุกห้องจะมีไป กลางวันยังเปิดไปเลย แต่นี้เป็นห้องเล็ก และค่อนข้างทึบ ถึงแม้จะเป็นกลางวัน ก็ไม่น่าจะเหมาะในการใช้เคอมพิวเตอร์
เดินต่อไปดูห้องเด็กเล็ก หรือเด็กอนุบาล  มีครูแต่ชุดสีฟ้าเข้มคอยอยู่แล้ว เป็นห้องสำหรับเด็กอนุบาล โดยแบ่งตามระดับ คือ 2-4 ขวบ 4-6 ขวบ ต่อจากนั้นก็ต้องไปเข้าโรงเรียนประถม โดยผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับเด็ก คนละประมาณ 80 บาท ต่อเดือน

     หลังจากนั้นจึงเดินทางไกลไปแวะเยี่ยมศูนย์การเรียนชุมชนแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษา ตอนกลางวันเด็กนักเรียนกับครูใช้ประโยชน์ ตอนบ่ายศูนย์การเรียนชุมชนเข้ามาเช่าใช้ห้องเรียน ๓-๔ ห้องเพื่อจัดการเรียนระดับการส่งเสริมการรู้หนังสือ การศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย แม้ว่าสถานที่จะจำกัด แต่ก็เป็นความร่วมมือที่ประหยัดค่าใช้จ่าย รัฐบาลยังเป็นฝ่ายให้การสนับสนุนเรื่องค่าตอบแทนสำหรับผู้จัดการและครูศูนย์การเรียนชุมชน จัดสื่ออุปกรณ์ให้ ส่วนการคัดเลือกผู้จัดการและครูนั้นท้องถิ่นเป็นฝ่ายเลือกเอง
 เท่าที่เห็นปรากฏว่าในห้องเรียนนั้นยังมีแสงสว่างไม่พอ ผู้จัดการบอกว่าปกติเขาจะไม่เรียนกันตอนเย็น มีชั้นเรียนเฉพาะตอนบ่ายเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า แต่คราวนี้เป็นวาระพิเศษ ในห้องผู้จัดการเห็นมีคอมพิวเตอร์อยู่เครื่องหนึ่ง ปรากฏว่าชุมชนเป็นฝ่ายจัดหามาให้ไว้ใช้สำหรับการบริหารจัดการ จัดส่งข้อมูลไปให้ศูนย์ฯ ภาคผ่านทางอินเตอร์เน็ต และอื่น ๆ ไม่ได้ใช้สำหรับการเรียนการสอนแต่อย่างใด ในขณะที่เข้าไปดูงานนั้นก็ไม่สามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ แสดงให้เห็นความบกพร่องในระบบโครงสร้างพื้นฐานซึ่งยังขาดแคลนอยู่มากในท้องถิ่นชนบท ความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิตอลจึงมีสภาพเหมือนกับที่พบในประเทศไทย
      กว่าจะเดินทางกลับได้ก็ค่ำแล้ว ถึงที่พักราว ๒ ทุ่ม ต่างหมดแรงไปตาม ๆ กัน ในขณะเดินทางแลกเปลี่ยนความเห็นกับอาจารย์ศรีเชาว์ว่า เท่าที่เห็นวันนี้ดูคล้ายกับสภาพที่บ้านเราแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นสภาพของศูนย์ฯ ภาค ศูนย์ฯ จังหวัด และศูนย์ฯ อำเภอในปัจจุบัน ส่วนที่ยังแตกต่างกันอยู่บ้างก็คือการพึ่งพารัฐบาลในการจัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชนอยู่เป็นอันมาก ยังมองไม่เห็นการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของชุมชนและองค์กรพันธมิตรอื่น ๆ มองไม่เห็นความรู้สึกเป็นเจ้าของ และจึงไม่อาจเห็นได้ว่าศูนย์การเรียนชุมชนจะมีส่วนช่วยเสริมพลังอำนาจของชุมชนได้อย่างไร ต่อไปมีปัญหาในการขยายงานและการดำรงศูนย์การเรียนชุมชนที่มีอยู่แล้ว เนื่องจากไม่สามารถจัดหางบประมาณได้อย่างเพียงพอ และการรู้สึกของชุมชนว่าตนเองไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องการเรียนรู้ของตนเองแต่อย่างใด

     ค่ำมากแล้ว จึงออกจากศูนย์การเรียนชุมชน และเดินทางกลับเมือง SOLO ซึ่งคำแล้ว และการเดินทางส่วนมากจะผ่านเขา และเส้นทางอันตรายมาก เพราะเป็นถนนแคบ พบรถบรรทุกสวนมากมาก หลบกันแทบไม่พ้น บางครั้งต้องหลบจนตกถนน รถวิ่งด้วนความเร็วประมาณ 40-50 กม.ต่อชั่วโมงเท่านั้น สัญญาณจราจรข้างทางไม่ค่อยเห็น ถนนไม่มีพื้นที่ที่เป็นไหลถนน ตกจากลาดยางก็เป็นลูกรังเลย และถนนบางช่วงกำลังสร้าง แต่ไม่มีไฟแสงสว่างบบอก เอาคนมาโบกรถ ยังสงสัยว่า จะโบกกันทั้งคืนหรือเปล่า มาถึงโรงแรมประมาณ 2 ทุ่ม จึงไม่ลงไปกินข้าว เพราะมีผลไม้ ที่แจกบนรถเก็บเอาไว้ และของว่างที่เขามาเลี้ยงตอนดูงานแต่ละที่ก็กินเข้าไปจนแน่นท้องแล้ว

คำสำคัญ (Tags): #ict#for#community#empowerment
หมายเลขบันทึก: 64399เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2006 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท