นักจัดการความรู้ท้องถิ่น ต.เชิงกลัด ค้นหาแกนนำชุมชน ร่วมสร้าง"พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นฯ"


            โครงการ พัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศูนย์กลางการเรียนรู้ ณ วัดพระปรางค์ ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ดำเนินงานโดยต่อยอดจากฐานทุนเดิมในระยะของโครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ภาคกลาง ที่ผ่านมา
            ทุนเดิมที่มีอยู่ ได้แก่ กลุ่มคณะกรรมการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจำนวน 22 คน ในพื้นที่ 13 หมู่บ้าน  โดยใช้สถานที่วัดพระปรางค์เพื่อจัดกิจกรรม นอกจากกลุ่มแล้วก็ยังได้ประสานงานกับส่วนราชการไว้บางส่วน เช่น อบจ. อบต. สภาวัฒนธรรม ส่วนในระยะนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ ความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ท้องถิ่น จึงได้ดำเนินงานต่อโดยเริ่มเฟ้นหาบุคคล หรือแนวร่วมเพื่อมาเป็นแกนนำชุมชน
            การเริ่มต้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยที่วัดพระปรางค์มีเทศกาลงานประจำปี และมีนักศึกษาจากม.ธรรมศาสตร์ ลงมาปฎิบัติงานภาคสนามในพื้นที่ ทางดิฉันกับคณะกรรมการจึงร่วมกับคณะนักศึกษาใช้เทศกาลนี้ ประชาสัมพันธ์การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ผ่านกิจกรรม "ป่าโป่ง" เพื่อหาทุนสมทบในการดำเนินงานจัดตั้งพิพิภัณฑ์ ช่วยกันโฆษณาและประชาสัมพันธ์ในงานทั้งกลางวันและกลางคืน จากกิจกรรมนี้ทำให้มีคนสนใจ สอบถามถึงความเป็นมา และเราก็ได้สมาชิกและแนวร่วมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เราได้เห็นถึงความจริงใจและจริงจังของแกนนำที่มีอยู่เดิมที่ให้ความร่วมมือและช่วยกันตลอดงาน คือท่านเจ้าอาวาสที่ให้ความสะดวกสบาย กำนันพยุง น้าชั๊ว น้าสด น้าฮวง น้องปราณี ซึ่งพาลูกไปช่วยด้วยอีก 2 คน รวมทั้งคณะนักศึกษาอีก 5 คน ซึ่งเป็นตัวหลักในการจัดงานครั้งนี้ ทำให้เราผู้เป็นนักจัดการความรู้ท้องถิ่น (นจท.) มีกำลังใจเพิ่มขึ้น เมื่อเสร็จสิ้นงานก็ยังมีการบอกต่อๆ กันไปอีก
            จากกิจกรรมที่ผ่านมาทำให้ชาวบ้านเริ่มสอบถามกันมากขึ้นเกี่ยวกับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชาวบ้าน ดิฉันจึงใช้โอกาสนี้จัดกิจกรรมขึ้นมาอีกคือ
            กิจกรรมในเทศกาลวันสงกรานต์ ในวันที่มีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ งานนี้ ผู้นำท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.จะต้องมาร่วมงานกันอย่างพร้อมเพียง ทางดิฉันจึงใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์โดยการจัดบอร์ดแสดงกิจกรรมที่ผ่านมาของโครงการฯ ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในครั้งนี้ บ่งบอกจุดประสงค์ และประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจากการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อย่างชัดเจน
            จากจุดนี้เอง ทำให้ชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นหันมาสนใจและร่วมกิจกรรมด้วย เพราะมองเห็นว่าประโยชน์ที่ชุมชนและลูกหลานจะได้รับในภายภาคหน้า ผลของการประชาสัมพันธ์ในครั้งนี้ ทำให้ นจท.เข้าหา อบต. ง่ายขึ้น และได้สมาชิก อบต. มาเป็นแนวร่วมอีก คือ ป้ากุหลาบ ซึ่งเป็น อบต.ของหมู่ 9 ลุงนิคม เป็นอบต.หมู่ 6 และลุงโกศล เป็นอบต.หมู่ 12 แถมท้ายด้วย นายก อบต. คุณเฉลียว ชัชวาลย์ ก็มาเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มด้วย
            ช่วงนี้เรื่องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์กำลังดังเปรียบเสมือนเหล็กกำลังร้อน เราจึงสร้างโอกาสจัดกิจกรรมขึ้นมาเองอีกครั้ง
            เป็นกิจกรรมทอดผ้าป่าสายสัมพันธ์สร้างพิพิธภัณฑ์ชาวบ้าน นำโดยพระครูวิริยโสภิต เจ้าอาวาสวัดพระปรางค์ และคณะกรรมการ ซึ่งเห็นว่า การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ชาวบ้านควรได้มีส่วนร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านปัจจัย สิ่งของ สมอง หรือแรงงาน จึงให้มีการทอดผ้าป่าขึ้น ( 19 เม.ย. 48) ซึ่งผลปรากฎก็คือ ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านและผู้นำชุมชนทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี  จะเห็นได้ว่า จากอาหารที่นำมาถวายพระและเลี้ยงคนมีมากมาย มาจากชาวบ้านที่นำมาด้วยความเต็มใจ หากคิดเป็นมูลค่าแล้วคงเกือบสองหมื่นบาทเลยทีเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีและความเข้มแข็งของชาวบ้านที่มีความศรัทธาต่อการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชาวบ้าน
            งานวันนั้น นอกจากมีการจัดบอร์ด แล้วยังมีการทำแผ่นพับแจกเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เพิ่มอีกทางหนึ่ง เพื่อเป็นการนำไปเผยแพร่ให้กับผู้ที่ไม่ได้มาร่วมงานในวันนั้น นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่จัดแล้วมีผู้คนมาร่วมงานมากมายเช่นนี้ และที่ดิฉันภาคภูมิใจที่สุดก็คือ ท่านอ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ (จากม.ธรรมศาสตร์) ได้สละเวลามาร่วมงาน ให้คำปรึกษา และแนวทางในเรื่องของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในครั้งนั้นด้วย ทำให้ดิฉันในฐานะ นจท. รู้สึกภูมิใจและมีกำลังใจเพิ่มขึ้นที่จะทำงานด้านนี้ต่อไป
            จากการจัดกิจกรรม ทั้ง 3 กิจกรรม ทำให้ดิฉันได้แนวร่วม และสมาชิกเพิ่มเป็น 45 คน รวมทั้งที่ปรึกษาด้วย นับเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการ ฯ ซึ่งดิฉันอาจจะต้องคัดเลือกเพื่อเป็นแกนนำ และเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก่อนสัก 20 คน เพื่อความคล่องตัวในการจัดกิจกรรมการออกแบบการเรียนรู้เพื่อให้ได้ความเหมาะสมและต่อเนื่อง...
                               

                         โดย ปราณีต นาคะเสโน ; นักจัดการความรู้ท้องถิ่นตำบลเชิงกลัด          อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น

หมายเลขบันทึก: 6419เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2005 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท