เวทีชี้แจงโครงการฯกับ อบต.วัดดาว


พื้นที่ตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ถือเป็นพื้นที่หนึ่ง ที่โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น คาดหวังให้เป็นตำบลนำร่อง ในการประสานความร่วมมือกันเพื่อพัฒนา สถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น ให้ชุมชนอื่นๆ รวมทั้งสาธารณชน ได้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม...

 

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 48 ที่ผ่านมา ท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) วัดดาว คุณประทิว รัศมี เปิดโอกาสให้โครงการฯ บุกเยือนถึงพื้นที่ และได้พบปะกับผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ทำงานอยู่ใน อบต. เช่น รองนายก อบต. ปลัด อบต. ประธานสภา อบต. และสมาชิก อบต. และฝ่ายปกครองชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งสารวัตรกำนัน อสม. และกลุ่มแกนนำเกษตรกรตำบลวัดดาว ทางโครงการฯ จึงถือโอกาสนี้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ให้ชุมชนเกิดความตระหนักถึงคุณค่า เกิดความเข้าใจในเป้าหมายของการพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ในชุมชนร่วมกัน

 

อบต.วัดดาว เป็นสถานที่นัดพบ กับผู้นำชุมชนประมาณกว่า 40 คน ที่ได้นั่งรออยู่ก่อนแล้ว ทำให้ อบต.แคบไปถนัดตา แต่หัวใจของโครงการ ฯ กลับรู้สึกพองโต และรู้สึกปลื้มใจกับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเช่นนี้ การเริ่มต้นด้วย ท่านนายก อบต.ประทิว เกริ่นนำถึงความประสงค์ของท่านที่อยากให้ผู้นำชุมชนได้รับการพัฒนาศักยภาพ และนำความรู้ ความสามารถไปใช้ทำงานพัฒนาชุมชน ให้สมกับที่ชาวบ้านเลือกเขามา และได้ฝากความหวังไว้

 

จากนั้น คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการโครงการ ฯ ก็เริ่มต้นชี้แจงทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของสิ่งที่โครงการ ฯ และชุมชนจะทำร่วมกัน

 

สำหรับเรื่องวิธีการสื่อสารนี้ โครงการฯ ได้ประสบการณ์จากที่เคยเข้าไปพูดคุยกับผู้คนหลายๆ พื้นที่ ซึ่งพบว่า เรามี จุดอ่อนอยู่ที่วิธีการสื่อสาร คนฟังมีความรู้สึกว่าเป็นภาษาวิชาการ ยากต่อการทำความเข้าใจ ฟังแล้วเหมือนเป็นนามธรรม มองภาพไม่ออก อาจเนื่องจาก โจทย์ของเรา คือการพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ท้องถิ่นนั้น เป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่องใหม่ของสังคม ดังนั้นในเวทีนี้ โจทย์แรกของโครงการฯ คือ จะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจ และไม่เป็นแบบวิชาการ?

 

จากการสังเกต 'คุณทรงพล' พยายามสื่อสารแบบ การใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย และ การสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง โดยพยายามสร้างบรรยากาศให้ไม่เป็นทางการ ไม่พูดมุ่งเป้าไปสู่เป้าหมายเลย แต่พยายามเกริ่นนำเพื่อสร้างความคุ้นเคยก่อน การพูดคุยจากเรื่องใกล้ตัวของเขา เช่นเรื่องบทบาทของเขาใน อบต. ความคาดหวังของสังคมที่อยากให้ อบต.เป็นรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งหมายความว่า อบต.ต้องมีความสามารถในการรับถ่ายโอนอำนาจหน้าที่  พูดในสิ่งที่เป็นความต้องการของเขา เป็นประสบการณ์ที่จะเสริมความรู้ให้เขา เหล่านี้เป็นต้น

 

นอกจากการพยายามใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายแล้ว คุณสมโภชน์ นาคกล่อม (นักวิชาการโครงการ ฯ) ยังใช้วิธีการ สื่อด้วยภาพ โดยฉายหนังวีซีดีเสียงกู่จากครูใหญ่เป็นเรื่องราววิถีชีวิตของครูนักพัฒนาประเทศเกาหลี ที่มีความมุ่งมั่น อดทนต่อสู้ต่อความยากลำบาก จนวันหนึ่ง จากชุมชนที่ล้าหลัง ไม่มีความสามัคคี เห็นแก่ตัว ก็กลับมาเห็นคุณค่า ร่วมมือร่วมใจพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง จากกำลังของคนๆ เดียว สามารถผนึกเป็นพลังของกลุ่มชุมชน หนังตัวอย่างนี้ อย่างน้อย เราคาดหวังว่าภาพและเรื่องราวเหล่านี้จะสามารถช่วยกระตุ้นให้เขาเกิดแรงบันดาลใจ หลังฉายจบ 'คุณทรงพล' ก็ชวนคิดโดยตั้งคำถามว่ารู้สึกอย่างไรบ้างเมื่อได้ดูแล้ว?” ก็มีป้าผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นกลุ่มแกนนำเกษตรกรบอกว่า ดูแล้วน้ำตาแทบไหล นี่อาจเป็นการตั้งข้อสังเกตว่า เขามีความตั้งใจฟัง และเนื่องจากเขาเป็นกลุ่มแกนนำเกษตร ที่กล้าลุกขึ้นเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาสู่ชุมชน เขาจึงสามารถเข้าถึงการให้คุณค่าและความหมายได้ดี จากตรงนี้  มาสู่การตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า แล้วสำหรับคนอื่นที่ดู เขาจะลึกซึ้งถึงความหมายได้ดีแค่ไหน หรืออาจดูแล้วว่ายังเห็นเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องราวของประเทศเกาหลีไม่ใช่เรื่องของเรา ดังนั้น ทางโครงการ ฯ อาจจะต้องเฟ้นหาตัวอย่างการสร้างแรงบันดาลใจจากเรื่องใกล้ตัว จากเรื่องราวในประเทศไทยของเราเอง

 

ต่อจากนั้น 'คุณสมโภชน์' ก็นำภาพที่โครงการฯ ไปทำในพื้นที่อื่นมาฉายให้ดูเพื่อให้เห็นรูปธรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเอาภาพจากการที่ไปทำร่วมกับ อบต.ปากพนังฝั่งตะวันตก จ.นครศรีธรรมราช มาให้ดูพร้อมอธิบายภาพตามไปด้วย เพราะโครงการ ฯ ตระหนักแล้วว่า ชาวบ้านทั้งหลาย หรือกระทั่งตัวผู้นำชุมชนเอง เขาต้องเรียนรู้จากรูปธรรมจริง การคิดที่จะทำอะไรใหม่ๆ ถ้าเขามองไม่เห็นรูปธรรม เขาก็จะไม่เข้าใจและไม่กล้าทำแต่ถ้าเขาพบว่า มีที่อื่นที่เริ่มทำแล้ว ก็ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเขา

 

จากบรรยากาศการพูดคุยที่สังเกตเห็น  การที่ 'คุณทรงพล' พยายามโยนคำถามเป็นระยะๆ เขาก็ยังไม่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอะไร อาจเนื่องจาก ยังไม่คุ้นชินกับเรา ดังนั้น ในการสร้างสัมพันธภาพของการเจอกันครั้งแรกก็เป็นเรื่องสำคัญที่โครงการฯต้องคำนึงถึง ถ้าเรามีกิจกรรมสันทนาการให้เล่นร่วมกันก่อน ก็อาจจะช่วยทลายกำแพงระหว่างกัน การพูดคุยกัน โต้ตอบกัน ก็อาจดีขึ้นมากกว่านี้ จากประเด็นตรงนี้ ก็เชื่อมโยงถึงเรื่องการจัดสถานที่ประชุมให้เหมาะสม กับจำนวนคนขนาดนี้ สถานที่ใน อบต. อาจดูคับแคบไป ไม่โล่งโปร่ง การจัดเก้าอี้นั่งถ้าจัดแบบให้เห็นหน้ากันก็จะช่วยให้บรรยากาศดีมากขึ้น  ดังนั้น การจัดการประชุมครั้งต่อไป ทางโครงการฯ ควรต้องสื่อสารไปกับทางผู้จัดสถานที่ ให้เขาเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของเรา และทางโครงการฯ เองก็จะคิดถึงเรื่องการจัดการล่วงหน้า ถ้ามาเจอกับสถานการณ์เช่นนี้  แต่เท่าที่ดูสีหน้าของเขาแล้ว คิดว่าอย่างน้อยที่สุด เขาเข้าใจว่า เรากำลังจะทำอะไร เขาจะได้อะไร เป็นประโยชน์กับเขาอย่างไร แต่ถ้าเรานึกย้อนไป หลังจากที่ได้ชี้แจง ถ้ามีโอกาสได้ถามกลับไปว่า สิ่งที่โครงการฯ พูดไปนั้น คิดว่าดีไหม? เป็นประโยชน์ไหม? ก็น่าจะเป็นวิธีการประเมินที่ดีได้

 

ในระหว่างที่ 'คุณทรงพล' กำลังชี้แจง ท่าน 'นายกประทิว' ก็ได้ช่วยเติมเต็มในประเด็นต่างๆ เช่น การที่ไม่ได้พูดพาดพิงถึงผู้นำชุมชน หรือฝ่ายปกครอง อาจทำให้เขาเข้าใจว่า เรื่องที่ฟังอยู่ไม่เกี่ยวกับเขา ตรงนี้เป็นจังหวะดี ในการสื่อความหมายให้รวมถึงบทบาทของผู้นำชุมชน หรือแกนนำท้องถิ่น มิใช่เพียงแต่บทบาทของผู้ที่มีหน้าที่อยู่ใน อบต.เท่านั้น

 

จากประเด็นเรื่องการสื่อสารนี้ ทำให้ได้ความชัดเจนขึ้นเมื่อหลังจากจบเวที ทางท่านนายก ฯ ปลัด อบต. กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ก็ได้มานั่งคุยกับ 'คุณทรงพลและทีมงานโครงการฯ  เพื่อวางแผนการทำงานต่อ ทางกำนันก็ได้สะท้อนให้ทราบว่า มีผู้นำชุมชนสายบริหาร เขามีความคาดหวังว่าเมื่อเข้ามาเวทีนี้แล้วเขาจะได้ฝึกพูด ซึ่งตรงนี้ที่ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องการสื่อสารมีปัญหา ทั้งภายในชุมชนด้วยกันเอง ระหว่างนายก อบต.ไปสู่ชุมชน หรือระหว่างผู้นำไปสู่ชุมชน และเกี่ยวเนื่องมาถึง ปัญหาการสื่อสารระหว่างโครงการฯ กับทางท่านนายกฯ หรือกับทางชุมชน

 

ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่โครงการฯ ควรตระหนักและพึงระวังไว้เสมอว่า  สำหรับการจัดเวทีในครั้งต่อไป หรือการจะสื่อสารเรื่องอะไรก็ตาม อาจต้องมีเอกสารจากโครงการฯ ชี้แจงวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรจัดส่งไป พร้อมกับการพูดคุยติดตาม และพยายามปรับปรุงหาวิธีการสื่อสารกับพื้นที่ให้เข้าใจ เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

ในกระบวนการทำงานร่วมกัน ระหว่างโครงการฯ กับชุมชน เราพยายามจะผลักดันให้ชุมชนมี กลไกลการติดตาม ด้วยคนในองค์กร หรือคนในชุมชนเอง เพื่อเขาจะได้สามารถเรียนรู้ และเข้าใจ จากประสบการณ์โดยตรง และทำอย่างต่อเนื่อง ให้เขาเกิดความรู้สึกว่าเป็นของเขาไม่ใช่ของโครงการฯ ไม่มายึดติดที่เรา โครงการฯ เป็นเพียงผู้มาหนุนเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมไปกับชุมชน  ชุมชนเองควรค่อย ๆ มาเรียนรู้ จับเอากระบวนการไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่และสถานการณ์ต่อไป เมื่อถึงเวลาที่โครงการฯ ถอยออกมา ชุมชนก็สามารถจัดการการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยกระบวนการเหล่านี้ต้องอาศัยระยะเวลา และการฝึกฝน แต่สิ่งแรกที่ชุมชนควรมี ที่โครงการฯ พยายามมาสร้างแรงกระตุ้นและแรงบันดาลใจในวันนี้ ก็คือเรื่องของใจและการเห็นประโยชน์ต่อตนเอง ต่อครอบครัว ไปถึงสู่ชุมชน

 

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในวันนี้ เช่น การที่ อบต.ให้ความสนใจ นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการบริหารในงานส่วนนี้ โดยมีโครงการฯเข้าไปเป็นที่ปรึกษา มีการวางแผนงาน แผนการจัดสรรงบประมาณร่วมกัน ฯลฯ  ปัจจัยที่เอื้ออำนวยไปสู่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเหล่านี้ คงเนื่องมาจาก (1) ทุนของชุมชนที่มีอยู่ เช่น ตำบลวัดดาวมีฐานงานของกลุ่มเกษตรแกนนำ ชุมชนให้ความสำคัญ ร่วมมือกันฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม (2) ชุมชนมีฐานเรื่องการจัดการความรู้ โดยพื้นที่ตำบลวัดดาวมีนักจัดการความรู้ท้องถิ่น (นจท.) ที่ทำงานร่วมกับโครงการฯ มาก่อนแล้วหน้านั้น ชุมชนจึงมองเห็นบทบาทของ นจท. ที่เคยทำหน้าที่จัดการความรู้ในชุมชน  การนำพาชาวบ้านจัดกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกัน (3) ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้ทางโครงการฯ มีข้อมูลของตำบลวัดดาว ได้เห็นสภาพ และเข้าใจสถานการณ์ของตำบลวัดดาวได้ดีระดับหนึ่ง (4) จากการที่โครงการฯ พยายามสื่อสารกับ อบต.อยู่หลายครั้ง และติดตามอย่างต่อเนื่อง และ (5) ที่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง คือ ชุมชนเปิดโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายก อบต. ที่ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัส ได้เข้าไปเห็นการทำงานของโครงการฯ เห็นกระบวนการเรียนรู้ที่โครงการฯ จัดขึ้น ให้ท่านเกิดความมั่นใจกับเรา และในความโชคดี ที่นายก อบต.เป็นคนมีวิสัยทัศน์กว้างไกล อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในชุมชน ลุกขึ้นสู่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือว่าเป็นคอขวดที่สำคัญ

 

สำหรับพื้นที่ตำบลอื่นที่ยังขาดปัจจัยที่เอื้อไปสู่ความสำเร็จเหล่านี้ จะทำอย่างไร? เป็นโจทย์ที่ทางโครงการต้องคิดค้นกันต่อไป!!!

 

บทเรียนที่สำคัญสำหรับโครงการฯ ในเวทีนี้คือ การจะทำอะไรก็ตาม ก่อนทำจะต้องมีความรู้ ถ้าเรามีข้อมูลเกี่ยวกับผู้เข้าร่วมประชุม รู้พื้นฐานของผู้เข้าร่วมประชุม และรู้ถึงความคาดหวังของเขา ความสำเร็จของโครงการฯ ในครั้งนี้จะชัดเจนมากยิ่งขึ้น.

 

( บันทึกโดย ปิยะวดี : เจ้าหน้าที่โครงการฯ )

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เครือข่าย#อบต.
หมายเลขบันทึก: 6417เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2005 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท