ข้อเสนอสำหรับแพทยศาสตร์ศึกษาแนวใหม่


หลายครั้งที่พบว่าแพทย์จบใหม่ไม่สามารถอยู่ในชนบทได้อย่างมีความสุขอาจเนื่องมาจากการขาดเครื่องมืออุปกรณ์ การไม่เข้าใจชาวบ้าน การไม่ชินอยู่กับชีวิตชนบทเพราะเติบโตและศึกษาในเมืองใหญ่มาตลอด

จากการที่ได้ทำงานในชนบทมาหลายปี ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมาพอสมควร ได้พบกับแพทย์ที่จบมาจากสถาบันต่างๆหลายแห่ง ได้เรียนรู้วิทยาการทางการแพทย์หลายอย่างที่หมุนกลับไปมาดั่งล้อเกวียน ผมมีความเห็นว่าการศึกษาแพทยศาสตร์เพื่อประชาชนไทยน่าจะมีการปรับปรุงมากขึ้น เราจะพบว่าความต้องการของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ความเชื่อมั่นต่อแพทย์เริ่มลดลง ปัญหาการฟ้องร้องแพทย์เริ่มมากขึ้น นั่นไม่ใช่เพราะหลักสูตรแพทยศาสตร์เดิมไม่ดี แต่สังคมเปลี่ยนไป หลายครั้งที่พบว่าแพทย์จบใหม่ไม่สามารถอยู่ในชนบทได้อย่างมีความสุขอาจเนื่องมาจากการขาดเครื่องมืออุปกรณ์ การไม่เข้าใจชาวบ้าน การไม่ชินอยู่กับชีวิตชนบทเพราะเติบโตและศึกษาในเมืองใหญ่มาตลอด ทำให้บริการสุขภาพในปัจจุบันจึงไปเน้นที่Hi tech มากกว่า Hi touch เน้นรักษาโรคมากกว่ารักษาคน ผมจึงได้ลองเสนอแนวทางการปรับเปลี่ยน ดังนี้

  1. สอนให้เป็นคนก่อนเป็นหมอ
  2. สอนให้รู้จักคนก่อนรู้จักไข้
  3. สอนให้รู้จักสังคมชุมชนก่อนรู้จักโรงพยาบาลหรือห้องผ่าตัด
  4. สอนให้รู้จักสุขภาวะก่อนรู้จักทุกข์ภาวะ
  5. สอนให้มองภาพรวมหรือองค์รวมก่อนแยกส่วน
  6. สอนให้สร้างก่อนซ่อม
  7. สอนให้รู้จักโรงพยาบาลที่ขาดแคลนก่อนโรงพยาบาลที่มีพร้อม

                เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้คน ครอบครัว สังคม ชุมชนก่อนเนื่องจากส่วนใหญ่เด็กเรียนเก่งก็มัวแต่อ่านตำราหรือกวดวิชาอยู่ในห้องเรียน กลับบ้านมืดค่ำ ทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์ กับชุมชนไป  ผมคิดว่าในปีแรกของการเป็นนักศึกษาแพทย์ น่าจะให้เรียนรู้เรื่องของสังคม ชุมชน คนปกติก่อนโดยให้อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนและเรียนรู้หมู่บ้านก่อนพร้อมทั้งเรียนรุ้แนวคิดเวชศาสตร์ชุมชนและเวชศาสตร์ครอบครัว สังคมศาสตร์ เป็นต้น  ส่วนความรู้Basic scienceก็ลดลงหรือหรือเปลี่ยนวิธีเรียนโดยให้ศึกษาจากตำราหรืออินเตอร์เน็ตแล้วให้จัดทำรายงานส่งในลักษณะของPBLก็ได้ เอาเวลามาเรียนรู้ชีวิตจริงก่อนที่จะขึ้นชั้นพรีคลินิกและชั้นคลินิกต่อไป ในปีที่ 2-6 ยังคล้ายๆแบบเดิมแต่พยายามเปลี่ยนเป็นการเรียนแบบบูรณาการหรือAction Learning และเพิ่มการเรียนรู้ชุมชนชั้นปีละ 1 เดือนเพื่อไม่ให้นักศึกษาห่างหรือลืมความเป็นชุมชน  

                ผมก็คงได้แต่เสนอเท่านั้นเพราะคงไม่ค่อยมีใครสนใจนักเพราะส่วนใหญ่ก็อยากจะให้เรียนแต่ตำราแพทย์ ตำราโรคกัน ซึ่งเรียนเท่าไหร่ก็จำไม่ไหว เพราะหลายอย่างที่เรียนไปไม่ได้ใช้ ที่ใช้ไม่ได้เรียนต้องมาหาอ่านเอง  ยิ่งความรู้ทางการแพทย์เพิ่มขึ้นทุกวันๆ  อีกหน่อยถ้าเรียนแบบนี้อาจต้องเรียนแพทย์ 9 ปี 10 ปีก็ได้

                ในโรงพยาบาลชุมชนจะเป็นแหล่งความรู้ในเรื่องต่างๆทางสุขภาพมากมาย ใกล้ชิดชุมชน วิชชาชีพต่างๆมีโอกาสได้ทำงานร่วมกันมาก หากมหาวิทยาลัยที่สอนทางด้านสุขภาพปรับการเรียนการสอนและใช้พื้นที่จริงในโรงพยาบาลชุมชนก็จะทำให้นักศึกษาได้นำทฤษฎีหลักการมาฝึกใช้จริงทำให้รู้ลึกและรู้รอบพร้อมทั้งรู้จักประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสภาพที่เป็นจริงของชุมชนและสังคมมากขึ้น เพียงแต่ว่าช่วยเสริมศักยภาพในด้านการเรียนการสอน การค้นคว้าวิจัยให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลชุมชนที่มีใจรักและพร้อมจะถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานจริงออกมา ในการฝึกงานของนักศึกษาหากเป็นไปได้ถ้ามีทั้งนักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด เภสัชหรืออื่นๆมาฝึกชุมชนร่วมกันในเวลาเดียวกันก็จะดีเพราะจะได้ให้เขาเรียนรู้การทำงานในชุมชนร่วมกันตั้งแต่เป็นนักศึกษา ทำให้คุ้นเคยและทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น

                ศาสตราจารย์นายแพทย์จอห์น เฟรเซอร์ จากออสเตรเลียได้มาดูงานที่โรงพยาบาลและบอกว่าที่ออสเตรเลียใช้โรงพยาบาลขนาดเล็กสอนแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวได้เลยและได้รับการยอมรับจากแพทยสภาของออสเตรเลียและทำให้แพทย์โรงพยาบาลเล็กๆอยู่ได้นาน รู้สึกมีศักดิ์ศรีเพราะได้ทำอะไรๆที่ท้าทาย ได้ถ่ายทอดความรู้ ได้ทำงานวิชาการควบคู่ไปกับงานบริการและอย่างโรงพยาบาลที่ท่านอยู่ก็เป็นแหล่งสอนนักศึกษาแพทย์ทั้งที่เป็นโรงพยาบาลเล็กๆ เพียงแต่ว่าแพทย์ที่เป็นพี่เลี้ยงจะได้ฝึกเทคนิคการสอน การเป็นพี่เลี้ยงก่อนและได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ หากแพทยสภาไทยมองให้ไกล ทำใจให้กว้างมากขึ้น  ก็อาจจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ได้เพราะเราให้นักศึกษาได้เรียนในชนบท ได้ใช้ชีวิตจริงตั้งแต่เรียน ไม่ใช่การเรียนและเติบโตอยู่ในเมืองใหญ่แต่พอเรียนจบต้องถูกบังคับออกมาทำงานในชนบทก็ทำให้เกิดความอึดอัด ไม่แน่ใจและปรับตัวเข้ากับชุมชนได้ยาก และยิ่งรัฐบาลจะมีโครงการหนึ่งแพทย์หนึ่งอำเภอ(ODOD) เราน่าจะอาศัยโอกาสตรงนี้สร้างแพทย์แนวใหม่ที่มีหัวใจของการสร้างเสริมสุขภาพ มองคนทั้งคน มองแบบองค์รวม  เป็นแพทย์ของชุมชนที่คัดเลือกโดยชุมชน เรียนอยู่กับชุมชนและจบออกมาทำงานกับชุมชน จะช่วยลดการเลือกทำงานที่กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่และการหมุนเวียนแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนที่เปลี่ยนบ่อยมากจนเกิดปัญหามากมายตามมาไม่รู้จบ และยิ่งในสังคมยุคปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่สังคมฐานความรู้ที่ต้องใช้การจัดการความรู้อย่างเหมาะสม ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้จากสถานศึกษาอย่างเดียว ควรจะเป็นลักษณะของทุกคนเป็นครู ทุกที่เป็นห้องเรียน มองความรู้ที่เป็นความรู้ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ที่มีทั้งความรู้ในตำรา ความรู้ในคนที่เป็นประสบการณ์ ทักษะ ไม่ใช่แค่การท่องตำรามาสอบตอบให้ตรงใจครูอย่างเดียวแล้ว เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงคำตอบที่ถูกไม่ได้มีแค่คำตอบเดียวและการเรียนรู้ก็ไม่ได้มีแค่วิธีเดียว  
หมายเลขบันทึก: 6413เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2005 08:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

การผลิตแพทย์เพิ่ม เพื่อชนบท  ในประเทศไทย สำเร็จยาก

เพราะงบประมาณ ต่อ หัว ไม่น้อย  ทำให้ใครๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องการ บริหาร เพื่อช่วยให้องค์กรได้ผลพลอยได้ และ ได้ผลิตบัณฑิตแพทย์ ตามเป้าเฉพาะหน้า คือ จบได้ตามเป้า

แต่คงไม่มีใครประเมินผลสำเร็จ หลังบัณฑิตจบไป 5ปี บัณฑิตแพทย์จะอยู่ เป็นหมอ ได้อย่างมีความสุขอย่างไร   วงจรประเมินผลปรับปรุงการทำงานจึงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ

นอกจากนี้ การเป็นพันธมิตรกันระหว่าง รพ.ชุมชน กับ รพศ.มีน้อยมากครับ    การสร้างสมดุลจึงเกิดยาก เพราะต่างก็ไม่คุ้นเคยกัน  การปรึกษาหารือ เพื่อบรรลุเป้าหมายแพทย์เพื่อชนบทจริงๆ  จึงไม่เกิดจริง

ความจริงแพทย์เพื่อชนบท ต้องเริ่มตั้งแต่ การคัดเลือก ซึ่งก็ยากอยู่แล้ว ว่า  เลือกให้ได้ เด็กที่มีคุณธรรม คุณภาพและ ให้คุณค่ากับ สังคมต่างอำเภอจริงๆ

ยุคสมัยเลือกนศพ. แบบ admission นี้ ก็เลือกไม่ได้ดังที่หวัง

โอกาสอาจจะมี หากได้ผู้นำ โครงการ นี้  ผุ้นำสถาบันการผลิต ที่เข้าใจ ความเป็นแพทย์ของ ชุมชน หรือ ชนบท และ เข้าใจ การเรียนรู้แบบศตวรรษที่ 21 และ เข้าใจแพทยศาสตร์ศึกษาอย่างดี

แรงกดดันของ รร.แพทย์ คือ บัณฑิตต้องผ่านการสอบประเมินเกณฑ์มาตรฐานแพทยสภา ซึ่งจะเป็นข้อสอบรวม   แต่แพทย์ชนบทส่วนใหญ่ก็มองว่า ไม่ใช่สาระใหญ่ ของการเป็นแพทย์ที่ดีในสังคมชนบท

จึงต้องช่วยกัน  KM ว่า  รร.แพทย์ใด  สร้างบัณฑิดแพทย์เพื่อชนบท ได้ดีจริงๆ ( best practice )    สถาบัน รร.แพทย์ใด กับ กลุ่มแพทย์ชนบท ได้แลกเปลี่ยนทัศนะกันได้บ่อย ก็มีสิทธิ์ Change ได้ครับ   แต่งานนี้ก็ ขาด คุณเอื้อ คุณอำนวย ไม่ได้เช่นกัน    แล้วเราจะหาพบมั้ยครับ  ยอดคุณเอื้อ

คุณหมอจะยอมเหนื่อยหลายๆครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะนี้ กับ ผอ.ศูนย์แพทย์ศาสตร์คลินิค เพื่อโน้มน้าว change นี้  ซึ่งบทบาท ผอ.รพ.ก็เหนื่อยสายตัวขาดอยู่แล้ว

ปัญหาขณะนี้ก็อย่างหนึ่งคือ การสอน นศพ.ที่ รพช. ก็ต้องเติมหมอ ที่ รพช.นั้น เป็นพิเศษ ซึ่งก็ไม่ไช่เรื่องง่าย  หาก input ไม่พอ ( แพทย์ผู้สอน ) แม้มีนศพ.ไป รพช.ก็จะเกิดปัญหาว่า  ไม่มี พี่เลี้ยง อีก  เหมือนสภาพปัจจุบัน ที่ส่ง extern ไป รพช. น้องๆก็ประเมินว่า แพทย์มีแต่เปิดโอกาสให้ทำงาน แต่การคุยสอนแนะนำกัน พี่ไม่มีเวลาให้ 

 

เรียน อาจารย์ หมอติ่ง และ ท่านอาจารย์ ผู้ไม่ประสงค์ จะออกนาม ซึ่งอ่านแล้วสำนวนคุ้นๆครับ

สิ่งที่ผมอยากจะ "ลปรร" ด้วยการได้ "แพทย์ที่ดี มีคุณธรรม ใฝ่เรียน ใฝ่รู้ คิดเป็น ทำเป็น คงต้องเริ่มที่ มีการผลิต นักเรียนขั้นพื้นฐานที่ดี" เป็น "คน" มาแต่กำเนิด อีกทั้งต้อง "ผลิตครู แพทย์ ทีดี" ปัจจัยทั้งสองเป็น Input ที่สำคัญ ทุกวันนี้ "เราเร่งแต่ การเพิ่มจำนวน" แต่ ไม่ได้ "คิดถึง คุณธรรม และ ความเป็น คน" ( บางแห่ง) จน ผมจัด KM ของจังหวัดหนึ่ง เมื่อเลิก ผู้เข้า สัมมนา เดินมาปรารถ ว่า "อาจารย์ ช่วยสอน ให้ หมอ พูดภาษาคน ให้รู้เรื่องหน่อย คะ"

เป็นกำลังใจให้ครับ สำหรับ "ครูแพทย์ที่ดี" "หมอที่ดี" "นิสิต และ นักศึกษาแพทย์ ที่ดี"

JJ

ประเทศที่ จริงจังกับการผลิตหมอเพื่อชนบท เขาจึงจริงจัง กับการให้หมอชนบท รุ่นพี่ ร่วมคัดเลือก นร.มัธยม หรือ นักวิชาชีพอื่น (เช่น พยาบาล เภสัชกร ) เพื่อมาเรียนต่อเป็นหมอที่ดีของชุมชน

เท่าที่พอจะทราบ อจ.หมอไพจิตร ปวะบุตร ได้กำลังฝึกอบรม แพทย์ แนวทางใหม่

Now I study about rural medical training in Australia.

It may be useful for Thai rural medical training.

อยากทราบเรื่องทุนแพทย์ นะครับ

ทุนแพทย์หนึ่งอำเภอ ตอนนี้เห็นว่ารับสมัครเฉพาะร.ร รอบนอกแต่ในตัวเมื่องไม่มีสิทธิ์จะสมัคร  แต่ทุนนี้หนึ่งอำเภอสามารถได้ทุน แค่ 1 คนใช่ไหมครับ อยากทราบว่า บางโรงเรียนเก่งม๊ากๆ สอบติตตั้งหลายคนแต่เวลาคัดทุนจริงๆแล้ว สามารถรับเกินได้ใหมครับผมสงสัย โรงเรียนที่รวยและใหญ่ เขามีเงินเด็กโรงเรียนเขามีเวลาไปติวหนังสือทุกเสาร์อาทิตย์ เด็กพวกนี้จะเก่งแต่โรงเรียน เล็กๆ ไม่เคยได้เรียนพิเศษเลยเพราะไม่มีเงิน แต่ในวิชาที่เรียนในหนังสือก็สามารถทำคะแนนได้ดี แต่ก็แพ้เด็กในเมืองอยุ่ดี

1 แพทย์ 1ทุนนี้ รับได้อำเภอ ละ1 คนใช่ไหมครับ

ร.ร เล็กๆจะได้มีโอกาสได้ติดแพทย์ ได้ไม่ไช่กระจุกอยสุ่แต่ โรงเรียนใหญ่ๆ  อยากทราบแค่นีแหละครับใครรู้ช่วยตอบหน่อยครับ

พยาบาลเวชปฏิบัติพอจะมีโอกาสได้เรียนต่อแพทย์ไหมคะ เพราะว่าตอนนี้ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายจากแพทย์ หนักคะ ผป.โรคเรื้อรังมีจำนวนมาก ออกเยี่ยมบ้าน งานทุกอย่าง ต้องอยู่ในความรับผิดชอบของ NP คนเดียว ในรพ.สต. ถ้ามีโอกาสเป็นไปได้น่าจะช่วยภาระการส่งต่อได้มากนะคะ ขอแสดงความคิดเห็น ขอบคุณคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท