หัวข้อที่ 2 บทวิจารณ์หนังสือ บทนำและเรื่องที่ 1 นโยบายการแข่งขันกับการค้าระหว่างประเทศ


การแข่งขันทางการค้าที่ดีควรต้องเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรมสำหรับทุกประเทศอย่างเท่าเทียม

2. บทวิจารณ์หนังสือ

·        เค้าโครงของหนังสือ

          บทหลักของหนังสือ แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นที่เป็นประเด็นในการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะกรอบการเจรจาพหุภาคี Millennium Round 2000 อันได้แก่ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization) คือ

ส่วนที่ 1 นโยบายแข่งขัน

ส่วนที่ 2 มาตรฐานแรงงาน

ส่วนที่ 3 สิ่งแวดล้อม               

 ทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ (Controversial Issues) เรื่องผลประโยชน์ (Interest) และความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกประเทศที่พัฒนาแล้ว กับกลุ่มประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนา จึงมีประเด็นว่าหากมีการกำหนดข้อกำหนดทางการค้าในทั้งสามเรื่องไว้ในความตกลงโดยตรงจะก่อให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมหรือไม่เพียงใด? เนื่องจากประเด็นใหม่ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องการค้าโดยตรง

          อย่างไรก็ตามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาการค้าพหุภาคีที่เมือง Seattle สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ค.ศ. 1999 หรือเรียกว่า Millennium Round 2000 นั้นก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าควรจะกำหนดไว้ในกรอบความตกลง WTO โดยตรงหรือไม่ แม้ว่าบางกรณีประเทศสมาชิกบางประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เช่น พยายามอ้างกฎหมายภายในประเทศตนที่เกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อมเช่น คือคดีปลาทูน่า-โลมาระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก ห้ามใช้อวนล้อมจับปลาทูน่า เพื่อมิให้โลมาติดมาด้วย มิฉะนั้นสหรัฐอเมริกาจะห้ามนำเข้าปลาทูนาจากประเทศดังกล่าวเนื่องจากปลาโลมาเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เข้าข้อยกเว้นทั่วไป (General Exceptions) ของ GATT Article XX

“(b)  necessary to protect human, animal or plant life or health; 

(g) relating to the conservation of exhaustible natural resources if such measures are made effective in conjunction with restrictions on domestic production or consumption;…” ซึ่งต้องตีความอย่างจำกัดโดยพิจารณากรณีเฉพาะในละ Subparagraph ที่เกี่ยวข้องประกอบกับ Chapeau และเฉพาะแต่ละกรณี (Case by Case) เท่านั้น อีกทั้งการใช้ข้อยกเว้นไม่ควรจะเปิดโอกาสให้ใช้กันอย่างกว้างขวางเพื่อมิให้ประเทศสมาชิกของ WTO อ้างข้อยกเว้นเพื่อกีดกันทางการค้าอย่างแอบแฝงอันจะก่อนให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันระหว่างประเทศได้ เป็นต้น นอกจากประเด็นทั้ง 3 ประการไม่ใช่ที่เกิดขึ้นประเด็นใหม่การเจรจาการค้าระดับพหุภาคี แต่ปรากฏมาตั้งแต่ร่างกฎบัตรฮาวาน่า (Havana Charter) เพื่อก่อตั้งองค์การการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Organization1948 : ITO ) แต่ก่อตั้งไม่สำเร็จอันเนื่องมาจากปัญหาทางการเมืองกล่าวคือ สหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศผู้ริเริ่มในการก่อตั้งไม่ได้ให้สัตยาบันร่างกฎบัตรฯดังกล่าว เนื่องด้วยสภาคองเกรสไม่เห็นชอบ จึงคงเหลือไว้เพียงข้อตกลงว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า(General Agreement on Tariff and Trade : GATT) ซึ่งในตอนแรก GATT เป็นเพียง Annexของร่างกฎบัตรฮาวานาเท่านั้น       

           นอกจากนี้ประเทศที่คัดค้านและต้องเสียผลประโยชน์จากการกำหนดประเด็นรอบ Millennium Round นั้นคือ ประเทศสมาชิกกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาที่ให้เหตุผลว่ายังไม่พร้อมที่จะผูกพันตามประเด็นทั้ง 3 ประการข้างต้น เนื่องจากยังขาดความเข้าใจและความพร้อมทางเศรษฐกิจและสังคม จึงต้องการใช้ระยะเวลาในการพิจารณาศึกษาผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศของตนหรือไม่อย่างไร 

·        เนื้อหาโดยสังเขปของหนังสือและบทวิจารณ์

ส่วนบทนำ  

          เป็นการกล่าวถึงประวัติความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาโดยเฉพาะประเด็นที่เกิดขึ้นในการเจรจาพหุภาคีในกรอบ WTO ใน Millennium Round (2000) เกิดประเด็นที่ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศสมาชิกอย่างสหรัฐอเมริกา หรือกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ต่างเคยผลักดันประเด็นเรื่องมาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อมมาหลายครั้งแล้วตั้งแต่การเจรจา GATT รอบอุรุกวัย (รอบที่ 8) แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากประเทศสมาชิกใน GATT ไม่เห็นด้วยการข้อเสนอดังกล่าวเพราะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศโดยตรง

          ประเด็นในรอบการเจรจา Millennium Round 2000 ที่เป็นประเด็นในหนังสือเล่มนี้คือเรื่อง นโยบายการแข่งขัน(Competition Policy) มาตรฐานแรงงาน(Labor Standards) และการค้ากับสิ่งแวดล้อม(Trade and Environment) แม้จะไม่ใช่ประเด็นที่เกิดขึ้นใหม่แต่ก็ยังมีความพยายามจากประเทศสมาชิกกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่จะผลักดันให้อยู่ในความตกลงของ WTO โดยให้เหตุผลว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศและส่งผลกระทบต่อสังคมระหว่างประเทศอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ กล่าวคือหากไม่กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการแข่งขันที่เป็นธรรมเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ(Comparative Advantage)แก่ประเทศใดประเทศหนึ่ง  มาตรฐานแรงงานขั้นต่ำเพื่อประกันและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงาน หรือมาตรฐานหลักด้านสิ่งแวดล้อมแล้วเพื่ออนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นแหล่งวัตถุดิบของอุตสาหกรรม ก็อาจเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และปัญหาเกี่ยวกับสภาพอากาศของโลกแปรปรวนหรือทรัพยากรธรรมชาติหมดลง ดังนั้นจึงควรมีกฎเกณฑ์ที่จะมาประสานประโยชน์แก่ทุกฝ่ายและรัฐควรจะลดอำนาจอธิปไตยของตนลงบ้างโดยการออกกฎเกณฑ์หรือดำเนินนโยบายภายในประเทศตามความตกลงระหว่างประเทศแบบพหุภาคีซึ่งจะใช้เป็นกฎเกณฑ์เดียวกันในสังคมระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมควบคู่กับเรื่องที่เป็นส่วนประกอบส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศดำรงอยู่ได้ มิใช่มุ่งที่จะเพิ่มปริมาณการส่งออกเพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศตนแต่เพียงอย่างเดียว

          ส่วนประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาต่างก็คัดค้านในประเด็นที่มีการเสนอในรอบการเจรจารอบดังกล่าวเนื่องจากเกรงว่าตนจะถูกจำกัดการนำเข้าสินค้าจะประเทศผู้นำเข้าเนื่องมาจากมาตรฐานต่างๆภายในประเทศตนยังต่ำอยู่ทั้งประเทศตนยังไม่มีความพร้อมทางสังคมและทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากความแตกต่างในด้านต่างๆ จึงเห็นว่าควรให้ระยะเวลาในการพิจาณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นที่จะนำมาเป็นหัวข้อในการเจรจาเสียก่อน  นอกจากนี้โดยหลักแล้วรัฐมีอำนาจอธิปไตยในการตราและบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายเหนือประชากรของรัฐ เมื่อต้องจำกัดอธิปไตยในการตราและบังคับใช้กฎหมายจึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดเสียก่อน และเหตุผลสำคัญอยู่ตรงที่ประเทศกำลังพัฒนาต่างเกรงว่าหากมีมาตรการดังกล่าวอาจเป็นการกีดกันทางการค้าแบบแอบแฝงโดยเอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศที่พัฒนาแล้วมากว่าภายใต้กฎเกณฑ์ของ WTO  

           เรื่องที่ 1 นโยบายแข่งขันกับการค้าระหว่างประเทศ             

             เป็นประเด็นที่เกิดจากความไม่ลงรอยด้านความคิดและผลประโยชน์ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาซึ่งต่างใช้เวทีของ                 WTO เนื่องจากประเด็นนโยบายการแข่งขันนั้นแท้จริงแล้วเป็นกฎเกณฑ์ที่รัฐสร้างขึ้นเพื่อคุ้มครองธุรกิจภายในประเทศ ในการเสนอหัวข้อในการเจรจาที่เอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ประเทศตนมากที่สุดกล่าวคือกล่าวคือในเรื่องนโยบายแข่งขันนั้นแม้ WTO จะไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ในการวางนโยบายแข่งขันระหว่างประเทศสมาชิกแต่ก็มีกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับอยู่แล้วว่าด้วยเรื่องการตอบโต้การทุ่มตลาด[1]และการตอบโต้การอุดหนุน[2]อันเป็นมาตรการของประเทศผู้นำเข้าโดยรัฐบาลของประเทศผู้นำเข้าสามารถออกมาตรการเพื่อตอบโต้ เช่น การเก็บภาษีเป็นการตอบโต้ เป็นต้นการกระทำดังกล่าวอันก่อให้เกิดความเสียเปรียบในการแข่งขันในตลาดโลก  นอกจากนี้กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วยังได้เสนอนโยบายที่ควรพิจารณาในการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยนโยบายการแข่งขัน อันได้แก่ข้อตกลงจำกัดการส่งออกด้วยความสมัครใจ หรือ Voluntary Export Restraints Agreement : VER การรวมหรือควบกิจการ(Merger and Acquisition) การบังคับใช้กฎหมายนโยบายการแข่งขัน เพื่อจัดระเบียบกฎเกณฑ์และข้อบังคับในเรื่องการกำหนดนโยบายการแข่งขันในระหว่างประเทศสมาชิกให้เป็นในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งนโยบายเกี่ยวกับการตอบโต้การทุ่มตลาดและการตอบโต้การอุดหนุนนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายการแข่งขันของรัฐซึ่งอาจไม่เพียงพอที่จะสร้างตลาดที่แข่งขันอย่างเป็นธรรมได้ และทิศทางที่กำหนดขึ้นในความตกลงระหว่างประเทศนั้นมีผลดีต่อประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นส่วนใหญ่ เช่น ช่วยขจัดปัญหาอันเกิดจากการตอบโต้การทุ่มตลาดและการตอบโต้การอุดหนุนของประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากมีกฎเกณฑ์ที่วางหลักให้ประเทศสมาชิกที่ต้องผูกพันตามพันธกรณีเดียวกันเป็นมาตรฐานกลางที่โดยฉันทามติจากประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เป็นต้น

          อย่างไรก็ตามการกำหนดนโยบายการแข่งขันที่WTO อนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถกระทำได้ เช่น มาตรการการตอบโต้การทุ่มตลาดเป็นการเลือกปฏิบัติด้านราคา (Price Discrimination) กล่าวคือสามารถเก็บภาษีตอบโต้ได้แต่มิใช่เป็นการลดราคาสินค้าที่ขายประเทศผู้ส่งออก แต่เป็นการขึ้นราคาสินค้านั้นในประเทศผู้นำเข้า และยังคำนึงถึงแต่ฝ่ายผู้ประกอบการภายในประเทศ อันส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคตรงในราคาสินค้านำเข้าที่สูงเกินไป อันอาจกระทบด้านการแข่งขันทางการค้ามากกว่าจะช่วยให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม รวมทั้งผลกระทบต่อราคาสินค้าต่อผู้บริโภคสินค้าที่นำเข้าจากผู้ส่งออก อีกทั้งยังไม่มีการกำหนดนโยบายที่จะคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศอย่างจริงจังอีกด้วย

          จากตัวอย่างดังกล่าวจึงเป็นข้อสนับสนุนของฝ่ายที่เสนอให้มีการกำหนดนโยบายการแข่งขันในกรอบ WTO เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ว่าประโยชน์ต่อฝ่ายประเทศผู้นำเข้า ประเทศผู้ส่งออก และผู้บริโภค ก็จะมีหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน และหลักการการตอบโต้การทุ่มตลาดและตอบโต้การอุดหนุนก็จะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

          ส่วนความเห็นอีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาต่างคัดค้านว่าไม่สมควรกำหนดนโยบายการแข่งขันไว้ใน WTO เนื่องจากแม้การมีความตกลงระหว่างประเทศเรื่องนโยบายการแข่งขันซึ่งส่งผลดีต่อประเทศกำลังพัฒนาโดยส่วนใหญ่ แต่สภาพตลาดภายในประเทศถูกครองงำด้วยกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ไม่กี่ราย แต่อาจใช้ชื่อแตกต่างกันไป ธุรกิจดังกล่าวจึงได้รับประโยชน์เสมอเนื่องจากไม่ค่อยมีการแข่งขันอย่างแท้จริงอยู่แล้ว อีกทั้งนโยบายของประเทศกำลังพัฒนานั้นนิยมใช้การส่งเสริมความสามารถของผู้ประกอบการภายในประเทศ กาให้สิทธิพิเศษแก่ธุรกิจในการจัดซื้อจัดจ้าง การอุดหนุน การให้สิทธิพิเศษทางภาษี การสิทธิพิเศษแก่ผู้ลงทุนภายในประเทศ การกำหนดโควตาการนำเข้า เป็นต้น  ดังนั้นหากมีข้อผูกพันตามบทบัญญัติในความตกลงระหว่างประเทศแบบพหุภาคี(Multilateral Agreement)ในกรอบ WTO ซึ่งประเทศสมาชิกทั้งหมดต่างต้องมีพันธกรณีระหว่างประเทศตามความตกลงกล่าวคือไม่มีสิทธิเลือกที่จะผูกพันหรือไม่ เนื่องจากได้บัญญัติความผูกพันของประเทศสมาชิกแล้ว[3]  นอกจากนี้ผลของความผูกพันของความตกลงระหว่างประเทศอาจสร้างข้อจำกัดพอสมควรในการใช้นโยบายอุตสาหกรรมดังกล่าวและความต้องการของประเทศกำลังพัฒนานั้นก็คือความพร้อมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างเพียงพอที่จะพิจารณาเพื่อผูกพันตามนโยบายการแข่งขัน โดยไม่ได้ผูกพันในลักษณะต้องถูกบังคับให้เข้าร่วมทุกประเทศในทันที

          นอกจากนี้ประเทศกำลังพัฒนายังเห็นว่าปัญหาที่ตามมาอีกประการหนึ่งคือการใช้กฎหมายในเรื่องเดียวกันแต่เป็นสองระบบกล่าวคือประเทศที่ให้สัตยาบันตามเรื่องดังกล่าวย่อมผูกพันตามหลักกฎหมายระหว่างระเทศว่าด้วยสนธิสัญญา ส่วนประเทศที่ยังไม่พร้อมที่จะผูกพันตามความตกลงฯ ย่อมอยู่ภายใต้บังคับของความตกลงระหว่างประเทศเดิมตามหลักที่ว่าด้วยการทุ่มตลาดและการอุดหนุน ส่วนประเทศที่ยอมผูกพันตนย่อมมีผลผูกพันภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่คือเป็นไปตามนโยบายการแข่งขัน  อันก่อให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับความตกลงแยกต่างหากหรือความตกลงเพิ่มเติม(Side Agreement or Supplement Agreement) ซึ่งในGATT 1974 ต้องการขจัดออกไป

          ข้อเสนอแนะตามหนังสือในการที่จะประสานประโยชน์และทำให้คนโยบายการแข่งขันมีผลผูกพันในทางระหว่างประเทศ ได้แก่

1. จัดทำความตกลงระหว่างประเทศนอกกรอบของ WTO เช่น ภายใต้กรอบองค์การความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) หรือ NAFTA เป็นต้น

2. จัดทำความตกลงระหว่างประเทศภายใต้กรอบ WTO โดยกำหนดข้อยกเว้นชั่วคราว (Special Waiver) ในการที่จะต้องปฏิบัติตามหลักการปฏิบัติอย่างชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง(Most Favor Nation: MFN) เพื่อประเทศสมาชิกจะได้เลือกที่จะไม่เข้าร่วมในความตกลงดังกล่าว โดยการกำหนดระยะเวลาพอสมควรเพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ปรับปรุงนโยบายหรือกฎหมายภายในประเทศตนให้สอดคล้องกับนโยบายการแข่งขัน หรือ การกำหนดพันธกรณีที่คำนึงถึงระดับการพัฒนาของประเทศ หรือ ประเทศพัฒนาแล้วต้องให้หลักประกันว่าจะไม่ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือตอบโต้การอุดหนุนต่อประเทศกำลังพัฒนาในระยะเวลาที่ประเทศดังกล่าวปรับตัว เป็นต้น               

          บทวิจารณ์               

           ตามความเห็นของดิฉันเห็นด้วยกับผู้เขียนที่ดึงเอาประเด็นนโยบายการแข่งขันที่เป็นสิ่งที่โต้เถียงในรอบเจรจาดังกล่าวมาแจกแจงรายละเอียดพอสมควรให้ผู้อ่านทราบโดยเท้าความถึงประวัติความเป็นมาและแนวคิดของแต่ละฝ่ายว่าเป็นอย่างไร รวมถึงผลดีกับผลเสียของการบัญญัติความตกลงดังกล่าวใน WTO เป็นอย่างไร ซึ่งทำให้ผู้อ่านทราบถึงความเป็นมาและสาเหตุของปัญหา อีกทั้งข้อเสนอแนะก็เป็นข้อเสนอแนะที่ดีที่กำหนดแนวทางในการประสานประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดความพร้อมในด้านกฎเกณฑ์ภายในประเทศ ซึ่งควรจะรอให้ประเทศดังกล่าวเตรียมพร้อมและปรับโครงสร้างทางนโยบายทางการค้าและการแข่งขันให้พร้อมก่อนที่จะยินยอมเข้าผูกพันตามพันธกรณีดังกล่าว    

          ลักษณะการเขียนของผู้เขียนค่อนข้างเป็นกลางไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไป แต่จะอธิบายในเชิงเปรียบเทียบแนวคิดระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งการเขียนในแนวนี้เหมาะสำหรับผู้อ่าน

          อย่างไรก็ตามผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้เขียนมุมมองของประเทศไทยต่อการกำหนดนโยบายการแข่งขันลงในความตกลงพหุภาคีในกรอบ WTO ว่าประเทศไทยมีแนวคิดและทิศทางในการดำเนินนโยบายทางการค้าเกี่ยวกับการแข่งขันไปในทางใดเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งหากเพิ่มเรื่องมุมมองของประเทศไทยต่อประเด็นดังกล่าวน่าจะเพิ่มความสมบูรณ์ของหนังสือมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้กล่าวถึงแนวโน้มในอนาคตของประเด็นนโยบายการแข่งขันว่าจะเป็นไปในทางทิศทางใดในการประชุมรอบต่อไปในกรอบเดิมหรือกรอบความร่วมมืออื่น พร้อมทั้งข้อดีข้อเสียของการนำประเด็นดังกล่าวไปกำหนดในกรอบความตกลงอื่น  จึงไม่ทราบแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นจากประเด็นดังกล่าว

          ตามความคิดเห็นของดิฉัน(ผู้วิจารณ์) เห็นว่าการกำหนดประเด็นนโยบายการแข่งขันลงกรอบความตกลงระหว่างประเทศของ WTO ต้องพิจารณาก่อนว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศโดยตรงหรือไม่ หรือถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการค้านั้นการกำหนดมาตรการนั้นจะเป็นการกีดกันทางการค้าแบบแอบแฝงหรือไม่เพื่อไม่ให้ขัดต่อหลักการห้ามเลือกปฏิบัติ (Non-discrimination)   ในประเด็นนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการภายในของรัฐเกี่ยวกับการแข่งขันซึ่ง WTO ก็ได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการแข่งขันบางส่วน อันได้แก่ หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาดและการตอบโต้การอุดหนุน   และกำหนดข้อยกเว้นของการทุ่มตลาด และการอุดหนุน ไว้ในความตกลงด้วย ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยต้องการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม

          นอกจากนี้ดิฉันอยากจะตั้งข้อสังเกตจากประเด็นนโยบายการแข่งขันดังกล่าวประเทศสหรัฐอมริกาเป็นประเทศแรกของโลกที่บัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับนโยบายการแข่งขันที่เรียกว่า"กฎหมายป้องกันการผูกขาด"(Antitrust Law)โดยเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่ ค.ศ. 1890โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์การการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรี และด้วยเหตุที่กฎหมายฉบับดังกล่าวมีบทบัญญัติเกี่ยวกับข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดทางการค้าที่จะเข้ามาแทนที่อุปสรรคทางการค้าที่รัฐเป็นผู้กำหดซึ่งอาจก่อให้เกิดการค้าที่ไม่เป็นธรรมได้ ดังนั้นหลักเกณฑ์ต่างๆที่เกิดขึ้นบางส่วนมีต้นกำเนิดจากกฎหมายภายในประเทศของสหรัฐอเมริกา จึงอาจเอื้อประโยชน์ให้แก่สหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศมหาอำนาจในการใช้และการตีความเพื่อประโยชน์แก่การค้าจนกลายเป็นการกีดกันทางการค้าแบบแอบแฝงหรือไม่และความพร้อมของประเทศกำลังพัฒนาอย่างเช่นประเทศไทยมีเพียงไร 



[1] การทุ่มตลาด(Dumping)หมายถึงการส่งสินค้าไปขายในประเทศผู้นำเข้าในราคาที่ต่ำกว่าที่ขายในประเทศผู้ส่งออก หรือต่ำกว่าทุน(Cost) สิ่งถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติด้านราและการขายสินค้าในลักษณะดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศของผู้นำเข้าตกปิดตัวลงอันเนื่องจากไม่อาจแข่งขันด้านราคาสินค้าของประเทศผู้ส่งออกได้ WTO อนุญาตให้ประเทศผู้นำเข้าเก็บภาษีตอบโต้ได้
[2] การอุดหนุน(Subsidies)หมายถึงการที่รัฐบาลประเทศผู้ส่งออกให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในการส่งออกสินค้าเพื่อให้มีความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยอาจให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ หรือลดค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงและหากประเทศผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันในประเทศผู้นำเข้าได้รับความเสียหายจากความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศผู้ส่งออก ประเทศผู้นำเข้ามีสิทธิในการเก็บภาษีตอบโต้ได้(Countervailing Duty)
[3] ต่างจากความตกลงหลายฝ่าย(Plurilateral Agreement) ประเทศสมาชิกสามารถได้ว่าตนมีความพร้อมที่ผูกพันหรือไม่  แต่มีข้อเสียตรงที่อาจเกิดปัญหาในการบังคับใช้หลักกฎหมายในเรื่องเดียวกันแต่ใช้หลักเกณฑ์ต่างกัน

หมายเลขบันทึก: 63994เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 20:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ไม่ทราบว่ามีตัวอย่างที่วิจารณ์แล้วบ่างหรือเปล่าค่ะ

ถ้ามีรบกวนช่วยส่งให้ดูเป็นแนวทางหน่อยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สำหรับบล็อกนี้เป็นงานวิจารณ์หนังสืออยู่แล้วค่ะ ยังไงลองอ่านดูนะคะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท