ชีวิตที่พอเพียง : 164. มหาวิทยาลัยชุมพรเขตรอุดมศักดิ์


         เย็นวันที่ ๒๘ ตค. ๔๙ ผมมีนัดที่ศาลากลางจังหวัดชุมพร      ไปคุยกันเรื่องการตั้งมหาวิทยาลัยชุมพรเขตรอุดมศักดิ์     ทางประชาคมจังหวัดชุมพร ร่วมกับทางรชการของจังหวัดร่วมกันคิด และผลักดัน     แกนนำของเขาเคยไปคุยกับผมที่กรุงเทพครั้งหนึ่ง  คราวนี้เห็นว่าผมจะมาบ้านก็นัดคุยกัน

        จังหวัดชุมพรมีวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษา ต่างๆ อยู่แล้ว ๗ วิทยาเขต     เดิมเขาคิดจะรวม ๗ วิทยาเขตเข้าเป็นมหาวิทยาลัยชุมพรเขตรอุดมศักดิ์     ผมแนะนำว่าขั้นแรกต้องร่วมกันคิดให้ชัดเสียก่อนว่า จังหวัดชุมพรต้องการมีมหาวิทยาลัยไว้ทำอะไร      คือต้องคิด function ก่อน   แล้วจึงค่อยคิด structure ให้สอดคล้องกับความต้องการในการทำ function ที่กำหนด

        ผมแนะนำว่า ในการคิด ต้องเข้าใจสภาพของการอุดมศึกษาไทยที่เปลี่ยนไปในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา     มีการขยายเชิงปริมาณ จนขณะนี้ที่เรียนมีมากกว่าจำนวนนักศึกษาที่จะเข้าเรียน     แต่ที่เรียนจำนวนมาก ไม่ตรงกับความต้องการของผู้เรียน    และไม่ตรงกับความต้องการของสังคม หรือท้องถิ่น/ชุมชน     การตั้งมหาวิทยาลัยชุมพรฯ เป็นสิ่งที่ดี มีความเหมาะสมที่จังหวัดชุมพรจะมีมหาวิทยาลัยของตนเอง     สำหรับไว้ตอบสนองท้องถิ่น     แต่ถ้าต้องการมหาวิทยาลัยที่ตอบสนองท้องถิ่นก็ต้องไม่ไปเลียนแบบมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ในกรุงเทพ     ต้องคิดเรื่องวิสัยทัศน์  พันธกิจ ที่จำเพาะของตนเอง    และต้องมีวิธีการจัดการที่ทำให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการแบบตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น    ในฐานะมหาวิทยาลัยประจำจังหวัด

         ก่อนหน้านี้ ๓ - ๔ วัน ผมส่งบทความเรื่อง  เศรษฐกิจพอเพียง "ภาคปฏิบัติ" การพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งจังหวัด (link) โดย ศ. นพ. ประเวศ วะสี ที่ตีพิมพ์ในมติชนรายวัน วันที่ ๒๒ ตค. มาให้ผู้ที่จะเข้าร่วมประชุมอ่านก่อน     เขาอ่านกันแล้วก็ชอบใจ ว่าชักมองเห็นช่องทางชัดขึ้น     ผมแจ้งที่ประชุมว่า เมื่อวันที่ ๒๖ ตค. ผมพบ อ. หมอประเวศ และเรียนท่านว่าจะไปคุยกับทีมก่อตั้งมหาวิทยาลัยชุมพรฯ และจะไปขายความคิดเรื่อง มหาวิทยาลัยในรูปใหม่ หรือมหาวิทยาลัยชีวิต ตามที่อาจารย์เขียนลงมติชน     ท่านบอกว่าดี  และรับปากว่าถ้าทางชุมพรสนใจดำเนินการจริงๆ ท่านยินดีมาพูดให้ฟัง      ผู้เข้าร่วมประชุมดีใจมาก     สรุปว่ามีแนวโน้มจะจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดชุมพร

        อ. หมอประเวศ ฝากไว้ว่าให้ประสานงานกับคุณดวงพร เฮงบุณยพันธุ์ ชาวอำเภอสวี จังหวัดชุมพร  กับ ดร. วณี ปิ่นประทีป     เพื่อจะได้ทำงานร่วมกัน   

        การประชุมครั้งนี้ มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายพินิจ เจริญพานิช เป็นประธานการประชุม     ท่านรองผู้ว่าฯ กับผมเป็นญาติกัน    คุณพ่อของท่านคืออาพูนผล     ลูกย่าทรัพย์     ย่าทรัพย์เป็นน้องสาวคนสุดท้องของย่าผม - ย่าคุ้ม

        ผมมีความสุข ที่จะได้รับใช้บ้านเกิด     ได้ช่วยแนะนำให้เกิดมหาวิทยาลัยในแนวใหม่  แนวขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัด     ซึ่งถ้าเกิดและดำเนินการได้สำเร็จ ก็จะเป็นนวัตกรรมของอุดมศึกษาของประเทศไทย

วิจารณ์ พานิช
๒๙ ตค. ๔๙
บนรถยนต์กลับกรุงเทพ

หมายเลขบันทึก: 63949เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
   ขอบพระคุณครับ
   อ่านแล้วมีความสุข  ได้เห็นภาพฝันที่งดงามไม่ผิดเพี้ยนอย่างภาพจริงของอุดมศึกษาหลายแห่งในปัจจุบัน หลักการดี แต่เอาเข้าจริงมักพบแต่สิ่งฉาบทาให้ดูดี แต่หาแก่นจริงๆได้น้อยลงเรื่อยๆ  วิญญาณอุดมศึกษาในอดีต ค่อยๆเลือนหายไป ด้วยพลังของ ธนานุภาพ แย่งกันหาเงินแบบไม่ลืมหูลืมตา หรือใครว่าไม่จริงครับ

ผมเป็นคนหนึ่งที่เฝ้าใฝ่ฝันที่จะมีมหาวิทยาลัยของจังหวัดชุมพร ผมรักการศึกษา รักบ้านเกิด อยากให้เด็กทุกคนเรียนหนังสือ ดีหรือไม่อย่างไร เขาก็ได้เรียนรู้ อย่างน้อยคือฐานกำลัง อีกอย่างหนึ่ง มหาวิทยาลัยฟรี และผู้ที่เข้าศึกษาไม่ต้องสอบเข้า เพียงแต่รับรองได้ว่า ตนเป็นคนดี นี้คือคุณสมบัติเฉพาะ (ได้แต่ฝัน) แต่ก็อดหวั่นใจไม่ได้ กับสิ่งที่เราเห็น...ตอนนี้อยากไปดูงานที่โรงเรียนสัตยาไส

ดีใจด้วยครับ

เมื่อไหร่จะสร้างหรอค่ะ อยากให้มีจัง คนชุมพรจะได้เรียนในจังหวัดตัวเองไม่ต้องเปลืองเงินไปเรียนที่ไกลๆ

อยากให้มีมหาลัยในจังหวัดนานแล้วจะได้ไม่ต้องไปเรียนไกลจากบ้านเกิดตัวเอง จะได้อยู่ใกล้ครอบครัว และเด็กจะได้ไม่เสี่ยงต่อการติดยเสพติดเพราะมีผู้ปกครองคอยดูแลอย่างใกล้ชิด และช่วยลดปัญหาครอบครัวในสังคมให้ลดน้อยลง และเพื่อเพิ่มทางเลือกให้เด็กรุ่นใหม่ได้มีตัวเลือกในการเรียนเพิ่มมากขึ้น ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท