ความร่วมมือระหว่าง สคส. และเนคเทค เพื่อมิติใหม่ของการ ลปรร. (ตอนที่ 1)


เนคเทค และ สคส. แลกเปลี่ยนประสบการณ์ KM โดยใช้ Wiki และ Blog

               วันที่  16  พฤศจิกายน  2549  สคส. มีการประชุมหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการความรู้ โดยใช้  Wiki และ  Blog  ร่วมกับ สวทช. เนคเทค   มีผู้เข้าร่วมประมาณ  30  คน  จากฟากของ  สวทช.-เนคเทค  นำทีมโดย  ดร.ทวีศักดิ์  กออนันตกูล  ส่วนฝั่ง  สคส. นำทีมโดย      ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช  ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด  และทีมงานของ  สคส.  รวมทั้งมี  ดร.จันทวรรณ    น้อยวัน และ ดร.ธวัชชัย  ปิยะวัฒน์  มานำเสนอประสบการณ์ในการพัฒนา  Gotoknow.org   เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสังคมไทย              บรรยากาศการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่าง สวทช.-เนคเทค  ดำเนินไปอย่างเข้มข้น ต่างฝ่ายต่างนำเสนอประสบการณ์ในการพัฒนาโปรแกรมหรือเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และจัดการความรู้อย่างน่าสนใจ  (ผู้เขียนฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง  เพราะแต่ละคนเก่งกาจด้าน IT  อย่างมาก  และพูดจาภาษา IT  ที่มีแต่ศัพท์ทางเทคนิค)  แต่เท่าที่รับฟัง  และลองเข้าไปศึกษาจาก Website  ของเนคเทค    ทำให้รู้ว่าเนคเทคพัฒนาโปรแกรมหรือ Software  หลายๆ  อย่างที่น่าสนใจ  ไม่ว่าจะเป็น                        

            Wiki  โดยเป็นการประยุกต์ใช้  Wiki เพื่อกิจการภายใน ซึ่งเป็นติดตั้งอยู่บน Intranet  เท่านั้น  แต่เท่าที่ผู้นำเสนอได้มีการ  Life  Demonstration  ให้ดู  ก็พอจะเห็นการช่วยกันสร้างและปรับปรุงความรู้ในประเด็นต่างๆ  ของบุคคลการของเนคเทค อยู่พอสมควร   

            สรรสาร  (http://www.sansarn.com)  หรือ  สรรสาร ลุ๊ค  ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับพัฒนาและจัดการระบบค้นคืนข้อมูลผ่าน Web Browser  โดยผู้ใช้สามารถสั่งให้โปรแกรมสร้างดัชนีจากไฟล์เอกสารที่อยู่บนฮาร์ดดิสก์ของเครื่องหรือจะเป็นเอกสารบนเว็บก็ได้ โปรแกรมจะทำงานโดยผ่าน Interface ของ Web Browser ดังนั้นจึงทำให้การจัดการข้อมูล การสั่งงาน รวมทั้งการตั้งค่าต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องกับระบบเป็นไปอย่างง่ายและสะดวก จุดเด่นของสรรสาร ลุ๊ค คือความสามารถในการค้นคืนภาษาไทยได้ถูกต้องและมีความครอบคลุมสูง รวมทั้งยังมีการเพิ่มคุณลักษณะต่างๆที่ทำให้การค้นคืนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่นการแนะนำคำที่ใช้ค้นคืน (Query Suggestion) เป็นต้น ที่ผ่านมาทางทีมสรรสารได้ช่วยพัฒนาระบบสืบค้นข้อมูลให้กับหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนต่างๆ แต่ความต้องการใช้งานของระบบสืบค้นข้อมูลก็ยังมีอยู่มาก ดังนั้นทางทีมจึงมีแนวทางที่จะพัฒนาระบบค้นคืนข้อมูล ในลักษณะต้นแบบรหัสเปิด (Open Source Search Engine) ทั้งนี้เพื่อให้ผู้พัฒนาโปรแกรมทั่วไปสามารถ นำเอาโปรแกรมไปใช้พัฒนาต่อยอดในระบบสารสนเทศต่างๆ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการใช้โปรแกรม (License Fee) ซึ่งจะช่วยให้การใช้งานเทคโนโลยีสืบค้นข้อมูลในประเทศไทยเป็นไปอย่างแพร่หลายมากขึ้น และยังช่วยลดการนำเข้าของซอฟต์แวร์ต่างประเทศได้อีกด้วย            

            พจนานุกรมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไทย <-> อังกฤษ LEXiTRON  (http://lexitron.nectec.or.th เวอร์ชัน 2.0   สร้างปรากฏการณ์ทางเลือกใหม่ในการช่วยชาวไทยและชาวต่างประเทศได้ศึกษา ค้นคว้าและเรียนรู้ภาษาไทยควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษ โดยสามารถค้นหาคำศัพท์และข้อมูลต่างๆ ของคำศัพท์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วทันใจและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น  นอกจากนี้ยังสามารถ Download  ฟรี! ทั้งโปรแกรมและข้อมูลไปติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้งาน LEXiTRON ได้โดยไม่ต้องผ่านอินเทอร์เนตอีกด้วย 

            พจนานุกรมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไทย <-> อังกฤษ LEXiTRON   นี้  คนใน สคส.  ก็ใช้บริการกันเป็นประจำคะ

            (ติดตามตอนต่อไป)

หมายเลขบันทึก: 63850เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท