พฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูง


พฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูง
ในชุมชนบ้านแม่พุง อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย

                         หทัยรัตน์  นิยมาศ 

โรงพยาบาลป่าแดด เชียงราย

               ปัจจุบันแนวโน้มของการป่วยและการตายจากโรคเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้นอาจเนื่องมาจากวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป  เกิดพฤติกรรมที่ทำให้ประชากรมีสุขภาพไม่ดีโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังที่กำลังเป็นปัญหาคุกคามชีวิตคนไทย เพราะโรคความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอัมพาตและยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ดีพอทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายอย่างเฉียบพลัน แต่ถ้าสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอย่างต่อเนื่องก็สามารถลดอัตราการเสียชีวิต และอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อน จากการตรวจสุขภาพประจำปีผู้เป็นความดันโลหิตสูงในคลินิกความดันโลหิตสูงในชุมชนบ้านแม่พุงพบว่ามีผลเลือดทางห้องปฏิบัติการสูงขึ้นจากเดิมเพิ่ม ขึ้นถึงแม้ว่า คลินิกความดันโลหิตสูงในชุมชนบ้านแม่พุงได้ให้บริการโดยการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคและการปฏิบัติตัวของผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงทั้งรายบุคคล ครอบครัวและชุมชนแล้วก็ตามการศึกษาครั้งนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดูแลตนเองของผู้เป็นความดันโลหิตสูงในชุมชนบ้านแม่พุง

            การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่มและการสังเกตจำนวน 29 รายได้แก่ผู้เป็นความดันโลหิตสูง ผู้ดูแลผู้เป็นความดันโลหิตสูง แกนนำสุขภาพในชุมชน ทีมสุขภาพในคลินิกความดันโลหิตสูงที่ชุมชนบ้านแม่พุง จัดกลุ่มข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรมExcelในการจัดเรียงข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหาเชิงลึก(Content Analysis)และตรวจสอบข้อมูลโดยใช้เทคนิคแบบสามเส้า (Triangulation)

              สรุปผลการศึกษาผู้เป็นความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการดูแลตนเองไม่ถูกต้องในเรื่อง การรับประทานอาหาร การปรุงอาหารสาเหตุจากความเคยชิน การที่ต้องรับประทานอาหารร่วมกันและความเกรงใจผู้ที่ทำอาหารให้ ในเรื่องการออกกำลังกายพบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้ออกกำลังกายสาเหตุจากต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เหนื่อย ไม่มีเวลา ส่วนน้อยอ่อนแรงเพราะสูงอายุ ในส่วนของภาวะเครียดพบว่าส่วนใหญ่ทุกคนจะมีภาวะเครียดสาเหตุจากภาระหนี้สิน และความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัวไม่ราบรื่นเป็นส่วนน้อย ส่วนปัจจัยที่เกี่ยวข้อง  ผู้เป็นความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในกลุ่มที่ควบคุมความดันโลหิตได้ดีมี ประวัติเป็นกรรมพันธุ์มากกว่ากลุ่มที่ควบคุมความดันโลหิตไม่ได้อีกปัจจัยที่ทำให้มีส่วนในการปรับพฤติกรรมการดูแลตนเอง คือการเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนของหมู่บ้านทุกคนจะช่วยงานกันและรับประทานอาหารร่วมกัน มีกลุ่มแม่บ้านเป็นผู้ปรุงอาหารโดยปรุงอาหารตามปกติไม่แยกปรุงเฉพาะโรค ข้อเสนอแนะจากการสนทนากลุ่มระหว่างผู้เป็นความดันโลหิตสูงและผู้ดูแลผู้เป็นความดันโลหิตสูงเพื่อให้สามารถดูแลตนเองได้ถูกต้องโดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเน้นให้ทุกคนในชุมชนตระหนักและเอาใจใส่ต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

สนับสนุนทุนพัฒนานักวิจัย โดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบการสร้างเสริมสุขภาพในบริบทพยาบาลชุมชน

ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 63822เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนคณาจารย์ผู้จัดทำวิจัยทุท่าน

เนื่องจากงานวิจัยของท่านมีความน่าสนใจมาก และดิฉันต้องการที่จะศึกษาวิจัยเรื่องนี้ดิฉันจึงใคร่ขอความกรุณารบกวนส่งวิจัยฉบับเต็มให้ดิฉันหน่อยได้ใหมค่ะเพื่อที่ดิฉันจะได้นำไปใช้เป็นต้นแบบ แบบอย่างในการทำวิจัยต่อไป

ขอบคุณล้างหน้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท