การศึกษาวิถีชีวิตและการดูแลผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว


การศึกษาวิถีชีวิตและการดูแลผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี

สายัณห์   ตรีผล

พิณสิทธิ์  ภูมิพื้นผล

นพ.อภิรักษ์  พิศุทธ์อาภรณ์ 

โรงพยาบาลมะขาม  จันทบุรี

         ปัจจุบันผู้พิการในประเทศไทย มีประมาณ ร้อยละ 5 ของประชากรทั้งประเทศ ผู้พิการเหล่านี้ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมตามวิถีของตนเอง และไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากสังคมอย่างจริง ๆ เป็นระบบแบบแผนที่ดี จึงทำให้ขาดความรู้และความเข้าใจ เกี่ยวกับวิถีของผู้พิการ ส่งผลให้คนพิการไทยถูกกีดกันให้ออกจากสังคม ขาดสิทธิและขาดโอกาส ในการใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขตามอัตภาพ ทั้งทางด้านการประกอบอาชีพ การพึ่งพาตนเอง รวมถึงการหารายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว เมื่อพิจารณาการสนับสนุนของสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเอื้อประโยชน์สำหรับคนพิการนั้นยังขาดการบูรน่าการ เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นองค์รวม ทั้งทางด้านสุขภาพกาย  จิตสังคม และจิตวิญาณที่ดีจากการศึกษา ข้อมูลผู้พิการของโรงพยาบาลมะขามพบว่าผู้พิการส่วนใหญ่เป็นผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวร้อยละ 64.52 ซึ่งได้รับการดูแลตามนโยบายของรัฐบาล แต่ยังพบผู้พิการส่วนหนึ่งยังคงถูกทอดทิ้งและไม่ได้รับโอกาสทางสังคม  การศึกษาในครั้งนี้จึงมุ่งเน้นศึกษาวิถีชีวิต และบริบททางสังคมที่มีผลต่อผู้พิการ ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางในการดูแลผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว ในตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี

            การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ  เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก(In-depth Interview) การเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีเลือกแบบเจาะจง และวิธี Snowball Sampling ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 28 ราย  ได้แก่    ผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว  ผู้ดูแลผู้พิการ หน่วยงานสนับสนุนในชุมชน และบุคคลากรทางสุขภาพ  การสนทนากลุ่ม ( Focus Group Discussion )  จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่  กลุ่มผู้นำชุมชน  และกลุ่มผู้ดูแลผู้พิการ  นอกจากนี้ยังใช้การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม เมื่อได้รับข้อมูลแล้วจึงนำมาจัดกลุ่มและจัดเรียงข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์โดยใช้โปแกรม Excel  วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหาเชิงลึก (Content  Analysis)  และตรวจสอบข้อมูลโดยใช้เทคนิคแบบสามเส้า (Triangulation)

             สรุปผลการศึกษา : ด้านวิถีชีวิตของผู้พิการขึ้นอยู่กับระดับของความพิการได้แก่ 1) ผู้พิการที่มีความพิการไม่รุนแรงจะสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป 2) ผู้พิการที่มีระดับความพิการที่รุนแรง ส่วนใหญ่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากครอบครัว ญาติ พี่น้องและแหล่งสนับสนุนทางสังคม  ด้านบริบทของสังคมและชุมชนในการดูแลผู้พิการ ชุมชนในตำบลมะขามเป็นชุมชนชนบท คนในชุมชนยังไม่เห็นความสำคัญในการดูแลผู้พิการ  ไม่มีรูปแบบในการดูแลผู้พิการที่ชัดเจน   ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของสังคมผู้พิการเข้าไปมีส่วนร่วมน้อยมาก มีเพียงผู้พิการที่มีระดับความรุนแรงของความพิการน้อยเท่านั้นที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม ร่วมทำกิจกรรมตามประเพณีและวัฒนธรรมของท้องถิ่น และอาจมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเป็นครั้งคราว  แต่แหล่งสนับสนุนต่าง ๆ ในชุมชนก็ไม่เคยเสนอขอความช่วยเหลือจากแหล่งทุนต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สำหรับผู้พิการเลย ส่วนผู้พิการที่มีระดับความรุนแรงมากไม่มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม เพื่อนบ้านและคนในชุมชนส่วนใหญ่ให้การช่วยเหลืออย่างไม่เป็นทางการ เช่น การนำข้าวปลาอาหารไปให้ผู้พิการเป็นครั้งคราว  ไม่แสดงอาการรังเกียจผู้พิการ มีผู้พิการเพียงคนเดียวที่ถูกญาติพี่น้องดูถูกเหยียดหยาม  ด้านรูปแบบในการดูแลผู้พิการขององค์กรภาครัฐ  องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลสนับสนุนผู้พิการโดยให้เงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนๆ ละ 500 บาท โรงพยาบาลมีหน้าที่ออกใบรับรองความพิการ เยี่ยมบ้านและให้การรักษาพยาบาลผู้พิการเมื่อยามเจ็บป่วย  สถานีอนามัยมีหน้าที่ค้นหาและให้คำปรึกษาแก่ผู้พิการ หน่วยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีหน้าที่รับขึ้นทะเบียนผู้พิการ และให้การช่วยเหลือด้านเงินทุนในการประกอบอาชีพและการสร้างรายได้ให้แก่ผู้พิการ   หน่วยงานเอกชนที่มีส่วนร่วมในการดูแลผู้พิการที่ชัดเจนได้แก่ ชมรมคนพิการ สมาคมคนตาบอด ให้การดูแลผู้พิการที่ขาดโอกาสทางสังคม    ให้คำปรึกษาแนะนำและประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการหาเงินทุนช่วยเหลือผู้พิการ ปัญหาที่พบจากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้คือ 1.ขาดการบูรน่าการในการทำงานในรูปภาคีเครือข่าย 2.ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนผู้พิการซับซ้อนทำให้ผู้พิการบางคนเข้าไม่ถึงระบบบริการ 3.การดูแลขององค์กรภาครัฐเน้นทางกายแต่ขาดการดูแลทางด้านจิตใจ 4.หน่วยงานภาครัฐยังไม่มีการปรับปรุงอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด   จากการศึกษาครั้งนี้ทำให้สามารถเห็นความสำคัญของการดูแลผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวในส่วนของการจัดรูปแบบของการดูแลดังนี้คือ ครอบครัวหรือญาติควรให้ความสำคัญกับผู้พิการ ยอมรับและไม่ดูถูกคนพิการ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ผู้พิการรับรู้สมรรถนะในตนเองว่ามีความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ  และยังคงมีความสามารถในการทำประโยชน์ให้แก่สังคม นอกจากนี้ ควรปรับปรุงการดูแลผู้พิการให้เกิดเป็นภาคีในการสนับสนุนผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ซึ่งต้องอาศัยการบูรน่าการระดับนโยบายสาธารณะ ข้อมูลระดับชาติและข้อมูลระดับท้องถิ่น งบประมาณสำหรับการสนับสนุนผู้พิการ และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการมีส่วนร่วมและเพื่อประโยชน์ของผู้พิการโดยเฉพาะ ทั้งนี้จะช่วยให้ผู้พิการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีและเหมาะสมเท่าที่ครอบครัวและสังคมจะสนับสนุนได้

สนับสนุนทุนพัฒนานักวิจัย โดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบการสร้างเสริมสุขภาพในบริบทพยาบาลชุมชน

ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย


 

หมายเลขบันทึก: 63816เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 02:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท