ปัจจัยในการพยายามฆ่าตัวตายของกลุ่มวัยทำงาน


บทคัดย่องานวิจัย ปี 2549 

ปัจจัยในการพยายามฆ่าตัวตายของกลุ่มวัยทำงาน 

พัชรี วิลาชัย , อมรรัตน์ หาญจริง ,รัดารัตน์ โกจะกัง และ อัจฉราลักษณ์ แก้วบัวดี

 โรงพยาบาลดอกคำใต้ พะเยา

            การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ทวีความรุนแรงและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น    จากสถิติของประเทศไทย   พบว่าภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด     อำเภอดอกคำใต้มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับ  3 ของจังหวัดพะเยา และพบว่ากลุ่มวัยทำงาน  (อายุ 23-50ปี)   มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด      การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ  มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาแนวทางในการลดอุบัติการณ์การฆ่าตัวตายของกลุ่มวัยทำงาน    พื้นที่ศึกษา  คือหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ใน อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา  คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง รวบรวมข้อมูลจากแบบรายงาน 506DS.และ เก็บข้อมูลโดย สัมภาษณ์เชิงลึกจำนวน 14 คนคือผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายที่มาบำบัดรักษาในโรงพยาบาลดอกคำใต้  , ญาติใกล้ชิด ,เจ้าหน้าที่ สอ.ในพื้นที่ , ผู้ใหญ่บ้าน วิธีการสนทนากลุ่ม 4 กลุ่มได้แก่ อสม., ผู้นำชุมชน, พ่อบ้านและแม่บ้าน นำข้อมูลมาวิเคราะห์เนื้อหาเชิงลึก   ใช้โปรแกรม Microsoft Excel ช่วยในการจัดเรียงข้อมูล และตรวจสอบข้อมูลโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์แบบสามเส้า ( Triangulation )
          ผลการศึกษาพบว่า ปัยจัยส่วนบุคคลที่ส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยทำงาน คือ มีบุคลิกภาพแบบแยกตัวเอง เก็บตัว    เก็บกดปัญหาและเรื่องทุกข์ใจไว้กับตัวเอง   มีอารมณ์รุนแรง     โมโหง่าย มีวิธีการเผชิญปัญหาแบบมุ่งปรับอารมณ์มากกว่าแก้ปัญหา  ก่อนลงมือฆ่าตัวตายจะมีความคิดแบบหาทางออกไม่เจอมืดมนไปหมด มีอารมณ์โกรธ และคับแค้นใจ มีความรู้สึกน้อยใจ ไร้คุณค่า สิ่งกระตุ้นที่ลงมือฆ่าตัวตายคือ การทะเลาะวิวาทและมีการดื่มสุรา มีการใช้คำพูดที่ท้าทายหรือนึกไม่ถึง คำพูดที่ให้ความรู้สึกด้านลบ   ปัจจัยด้านครอบครัว พบว่า วิถีครอบครัวเปลี่ยนไปจากการกลับบ้านหลังเลิกงานเป็นดื่มสุราก่อนกลับบ้าน ความสัมพันธ์ในครอบครัวบกพร่อง มีความขัดแย้งกัน ขาดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ขาดการประคับประคองอารมณ์ต่อกัน  ปัจจัยด้านสังคม พบว่ามีการใช้สุราในชีวิตประจำวันของชุมชนและในทุกๆเทศกาล    การฆ่าตัวตายเสมือนเป็นที่รับรู้ในชุมชนว่าหากคนเราทุกข์ใจหรือไม่มีทางออกก็อาจฆ่าตัวตายได้ และ เป็นการเลียนแบบกัน    แต่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจไม่ส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตาย  แนวทางในการลดอุบัติการณ์ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะจากครอบครัวและชุมชนได้แก่ การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว การลดการดื่มสุราในชุมชน ทุกฝ่ายควรมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง รวมทั้งมีการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ในสถานีอนามัย  นอกจากนี้ยังพบว่าเจ้าหน้าที่ในสถานีอนามัยขาดทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และหมู่บ้านแห่งนี้ ไม่เคยได้รับความรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตและการป้องกันการฆ่าตัวตาย หรือการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับครอบครัวอบอุ่น
                 จากผลการวิจัยครั้งนี้ กลุ่มผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายควรได้รับความช่วยเหลือเรื่องการสร้างความเข้าใจร่วมกันของคนในครอบครัวและได้รับความรู้เรื่องการจัดการปัญหาที่เหมาะสม   เครือข่ายสุขภาพจิตดอกคำใต้ ควรมีการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยได้รับการอบรมและฟื้นฟูการเป็นผู้ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต           และเปิดช่องทางการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ให้สถานีอนามัยและโรงพยาบาล    คัดเลือกอสม. หรือบุคคลที่ชุมชนยอมรับเข้าฝึกอบรมเป็นผู้ให้คำปรึกษา ในชุมชนในส่วนชุมชนควรให้การสนับสนุนในการจัดสรรงบประมาณของชุมชนเพื่อจัดกิจกรรมที่สำคัญ เช่นสร้างความเข้มแข็งอบอุ่นของครอบครัว หรือ การสร้างมาตรการของชุมชนเพื่อลดการดื่มสุรา 

สนับสนุนทุนพัฒนานักวิจัย โดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบการสร้างเสริมสุขภาพในบริบทพยาบาลชุมชน

ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 63796เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท