แนวทางที่เหมาะสมในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชร่วมกัน ระหว่างทีมสุขภาพ ครอบครัวและชุมชน


บทตัดย่องานวิจัย ปี 2549 

แนวทางที่เหมาะสมในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชร่วมกัน ระหว่างทีมสุขภาพ ครอบครัวและชุมชน

แจ่ม   กรกระโทก และคณะ โรงพยาบาลเสิงสาง  นครราชสีมา
  


       จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตปี 2541-2544 พบว่ามี ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ปี 2544 เป็นปีแห่งสุขภาพจิต โดยมีเป้าหมายให้ทุกประเทศทั่วโลก ให้ความสำคัญ ไม่ละเลยและทอดทิ้งผู้ป่วยกลุ่มนี้  คลินิกจิตเวชโรงพยาบาลเสิงสางเริ่มจัดตั้งเมื่อเดือน ตุลาคม 2547  จนถึงกันยายน 2548 จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจาก 143 รายเป็น  233 ราย ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ ขาดยา กินยาเกินขนาด จนมีอาการข้างเคียง  รวมทั้งมีอัตราขาดนัดที่สูงถึง  24.49 %  การศึกษาครั้งนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลตนเอง  บทบาทของทีมสุขภาพครอบครัวและชุมชนรวมทั้งหาแนวทางที่เหมาะสมในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชร่วมกัน 
   การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ  เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกจำนวน 7 รายในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขของโรงพยาบาล  6  รายในกลุ่มบุคลากรที่ปฏิบัติงานในหน่วยบริการปฐมภูมิและสาธารณสุขอำเภอ    18 รายในกลุ่มผู้ป่วยและครอบครัว  และ   12 รายในกลุ่มผู้นำชุมชน   และใช้การสนทนากลุ่มจำนวน 2 กลุ่มใน อสม.  และใช้การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วมในด้านสัมพันธภาพในครอบครัว  ลักษณะบ้าน ระหว่างกลุ่มผู้ป่วยที่รับรู้การเจ็บป่วยและครอบครัวให้การดูแลและมีส่วนร่วมในการดูแล และครอบครัวผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการดูแลตนเองและมีภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาและขาดนัดบ่อย อย่างละ 2  ครอบครัว  การสังเกตบันทึกเวชระเบียนของผู้ป่วยที่มีปัญหาขาดนัดและมีภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาจำนวน 4 ราย จัดกลุ่มข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรม  Excel  ในการจัดเรียงข้อมูล  วิเคราะห์ข้อมูล  โดยการใช้การวิเคราะห์เนื้อหาเชิงลึก ( Content Analysis ) และตรวจสอบข้อมูลโดยใช้เทคนิคสามเส้า ( Triangulation )
 สรุปผลการศึกษา : สาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตในเขตตำบลเสิงสาง มาจาก กรรมพันธุ์ สารเสพติด  และปัญหาครอบครัว  รวมทั้งยังพบว่าบุคคลที่มีพฤติกรรมแยกตัว ไม่ชอบเข้าสังคมจะมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยทางจิตได้ง่าย  ด้านพฤติกรรมการดูแลตนเองผู้ป่วยที่มีครอบครัวที่อบอุ่นและยอมรับการเจ็บป่วยจะมีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ดี จะพบปัญหาเรื่องการขาดยาหรือขาดนัดน้อย  ในผู้ป่วยที่ครอบครัว ขาดความรู้และมีทัศนคติในแง่ลบต่อการเจ็บป่วยทางจิต รวมทั้งครอบครัวที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจจะพบว่ามีปัญหาด้านการดูแลตนเอง ขาดยาและพบอัตราการขาดนัดสูง   ปัจจัยด้านนโยบาย ระบบบริการ และชุมชนผลการศึกษาพบว่า  ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนรวมทั้ง ยังไม่เข้าใจบทบาทในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช แต่ยินดีให้ความร่วมมือในการพัฒนาและดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุข  สำหรับนโยบายของหน่วยบริการสาธารณสุขเองให้นโยบายเป็นภาพรวมของการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยมีเป้าหมายคือการดูแลต่อเนื่องและผู้ป่วยสามารถอยู่ในสังคมได้  แต่ยังขาดระบบการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน  ด้านบุคลากรทั้งในระดับทุติยภูมิและปฐมภูมิยังขาดความรู้ความเข้าใจเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและแพทย์ยังให้ความสำคัญน้อย  ด้านระบบบริการ  พบว่า สถานที่ให้บริการยังไม่เหมาะสม เพราะเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง  และพลุกพล่าน จะมีปัญหามากถ้าฝนตกจะไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้   พื้นที่รอตรวจด้านบนอาคารยังแออัด ระยะเวลาการรอคอยนาน ข้อเสนอแนะ ควรมีการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ทั้งในหน่วยบริการทุติยภูมิและปฐมภูมิรวมทั้งการเพิ่มศักยภาพของ อสม .ในการดูแลในชุมชน และประสานการดูแลโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมโดยประสานผ่านองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  ด้านคลินิกบริการควรจัดให้มีพื้นที่บริการเฉพาะที่เงียบสงบและเป็นสัดส่วน  ข้อเสนอแนะเชิงระบบอื่น   ควรมีการร่วมมือจัดการหลักสูตรการศึกษาใหม่ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการโดยน่าจะมีการบรรจุหลักสูตรความรู้เกี่ยวกับโรคที่มีความซับซ้อนและสามารถป้องกันได้ลงไปในระบบการศึกษาแทนหลักสูตรสุขอนามัยเบื้องต้นทั่วๆไปซึ่งครอบครัวสามารถสอนเองได้ และที่สำคัญควรปลูกฝังเจตคติที่ดีต่อการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตแก่บุคลากรสาธารณสุขโดยเฉพาะแพทย์ควรมีการสร้างความตระหนักตั้งแต่ในโรงเรียนแพทย์

สนับสนุนทุนพัฒนานักวิจัย โดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบการสร้างเสริมสุขภาพ ในบริบทพยาบาลชุมชน ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย


 

หมายเลขบันทึก: 63794เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท