การศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ ของผู้ป่วยเบาหวานในเขตตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่


บทคัดย่องานวิจัย ปี 2549 

การศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ ของผู้ป่วยเบาหวานในเขตตำบลสันมหาพน  อำเภอแม่แตง  จังหวัดเชียงใหม่                                                                                                       

ฉันทิกา  นามวงษา  และคณะ โรงพยาบาลแม่แตง  เชียงใหม่ 

              

             เบาหวานเป็นความเจ็บป่วยเรื้อรัง ที่เป็นปัญหาสำคัญของสาธรณสุข เนื่องจากมีจำนวน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  จากสถิติ ผู้รับบริการผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลแม่แตง  โรคเบาหวานมีมากเป็นอันดับ  2 ของทุกๆปี และจำนวนผู้ที่คุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี เกินเป้าหมาย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหา ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว สังคม  และเศรษฐกิจของประเทศ  การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ อธิบายถึงพฤติกรรมและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน  และพัฒนา ระบบบริการในคลินิกเบาหวาน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม              การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ  โดยเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก ( In-depth Interview ) จำนวน  19  รายได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวาน ที่คุมระดับน้ำ ตาลในเลือดไม่ได้    คุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี  และผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน  ทีมสหสาขาวิชาชีพ  ได้แก่  ผู้บริหารโรงพยาบาล  แพทย์  พยาบาลเวชปฏิบัติ  พยาบาลผู้รับผิดชอบคลินิกเบาหวาน  เภสัช  โภชนากรและแกนนำ  อสม.  การสนทนากลุ่ม ( Focus group  Discussion )   2 กลุ่ม  ผู้ที่เป็นเบาหวาน  ทั้ง  3 กลุ่มที่สัมภาษณ์เชิงลึก  อสม.  ผู้นำชุมชน  และเก็บข้อมูลจากการสังเกต  จากการทำกลุ่มและจากการไปสัมภาษณ์ที่บ้าน  จัดกลุ่มข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรม Excel  ในการจัดเรียงข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหาเชิงลึก ( Content  Analysis ) และตรวจสอบข้อมูล โดยใช้เทคนิคแบบสามเส้า (Triangulation)

                สรุปผลการศึกษา  : พบว่าพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานมีทั้งที่สามารถดูแลตนเองได้ดีและยังปฏิบัติตัวได้ไม่ถูกต้องบางส่วน  ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ 1 )  อาชีพจะเกี่ยวข้องกับการจัดเตรียมอาหารและเวลาในการรับประทานอาหาร  2) ภาระในครอบครัวและปัญหาด้านเศรษฐกิจ ภาระในครอบครัวมากและมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจส่งผลให้กาดูแลตนเองลดลง 3) ระยะเวลาที่ได้รับการวินิจฉัยโรค    รู้ว่าเป็นเบาหวานในระยะแรก จะมีปฏิกิริยาต่อการวินิจโรคต่างกันต่างๆกัน  ได้แก่ กลัว  วิตกกังวล  เฉยๆ  แต่พบว่าผู้ที่รู้ว่าเป็นเบาหวานครั้งแรกจะมีความกระตือรือร้นในการดูแลตนเองดี ส่วนผู้ที่เป็นเบาหวานมาเป็นระยะเวลานานและควบคุมโรคไม่ได้ พบว่าความกระตือรือร้นในการแสวงหาทางเลือกในการรักษาและแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดลดลง   4)  การรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน    การรับรู้ว่าโรคเบาหวานรักษาไม่หายขาดส่งผลต่อ   การดูแลตนเอง คือ ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดี  ปฏิบัติตัวสวนทางกับคำแนะนำ และพยายามหาทางเลือกในการรักษา   การรับรู้เกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน  ส่งผลต่อการดูแลสุขภาพดี  5) ระบบครอบครัว พบว่าบุคคลในครอบครัวมีส่วนช่วยเหลือในเรื่องการควบคุมอาหาร  การรับประทานยา การออกกำลังกาย  และบางครอบครัวก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับโรค เบาหวานที่ผู้ป่วยเป็น ให้ดูแลตนเอง  6 ) ระบบบริการสุขภาพ พบว่า  ปัญหาและอุปสรรคในการส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน คือ ขาดพยาบาลรับผิดชอบในการให้ข้อมูลและให้คำปรึกษากับผู้ป่วยโดยตรง เนื่องจากมีจำนวนผู้รับบริการมาก  แพทย์มีเวลาจำกัดในการตรวจรักษาผู้ป่วย  การรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานและการดูแลตนเองผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำเพียงผิวเผิน จากแพทย์ และทีมสหสาขาวิชาชีพ และบางรายไม่ได้รับคำแนะนำ 

สนับสนุนทุนพัฒนานักวิจัย โดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบการสร้างเสริมสุขภาพ ในบริบทพยาบาลชุมชน ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 63792เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท