สัมภาษณ์ ศาสตรา โตอ่อน แจ็กไม่กลัวยักษ์ ? สิทธิ-หน้าที่ และความชอบธรรม


อ.หนุ่มแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐให้เพิกถอนสัมปทานชินคอร์ปต่อ "ศาลปกครอง"

  

ศาสตรา โตอ่อน แจ็กไม่กลัวยักษ์ ? สิทธิ-หน้าที่ และความชอบธรรม

29 ม.ค.2549 "ชินคอร์ป" แจ้งตลาดหลักทรัพยฯพร้อมแถลงข่าวปิดดีลซื้อขายหุ้นตระกูลชินวัตรให้กองทุนข้ามชาติ "เทมาเส็ก"เป็นดีลที่มีมูลค่าสูงถึง 7.3 หมื่นล้าน และจากนั้นเป็นต้นมาได้ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ และการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ "อภิมหาดีลประวัติศาสตร์" จากทั่วสารทิศส่งผลสะท้านสะเทือนต่อสถานะของนายกรัฐมนตรี "ทักษิณ ชินวัตร" ในฐานะอดีตเจ้าของและผู้ก่อตั้งกลุ่มชินคอร์ปอย่างหนักหน่วง...ต่อเนื่อง

20 มี.ค. "ศาสตรา โตอ่อน" อ.หนุ่มแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐให้เพิกถอนสัมปทานชินคอร์ปต่อ "ศาลปกครอง"

22 มี.ค. "ศาลปกครอง" มีคำสั่งไม่รับฟ้อง

26 มี.ค. "ศาสตรา" ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

"19 ก.ย." เกิดการปฏิวัติยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) "ทักษิณ ชินวัตร" กลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย

        ไม่มีใครคาดคิดว่า ผลพวงของอภิมหาดีล "ชินคอร์ป-เทมาเส็ก" จะส่งผลสะท้านสะเทือนถึงเพียงนี้ "เทมาเส็ก" และอดีตเจ้าของ-ผู้ก่อตั้งกลุ่ม "ชินคอร์ป" เองก็คงคาดไม่ถึงด้วยเช่นกัน

5 ต.ค.ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับคำฟ้อง !!! การฟ้องร้องของอาจารย์"ศาสตรากลายเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจขึ้นในบัดดล ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปดูลำดับเหตุการณ์ข้างต้น ยิ่งพบความน่าสนใจ

ทำไมครั้งที่แล้วศาลถึงยกฟ้อง ?

        เวลายื่นคดีไปที่ศาล ศาลต้องมานั่งดูก่อนว่าจะรับคำฟ้องหรือไม่รับ ประเด็นว่ารับหรือไม่รับ เป็นประเด็นว่าผู้ฟ้องคดีมีความเดือดร้อนเสียหายจากข้อพิพาทหรือเปล่า

ฐานในการฟ้องคดีนี้มี 2 ฐาน คือฐานเกี่ยวกับสัญญาการปกครอง และฐานละเลยปฏิบัติหน้าที่ ผมฟ้องในฐานละเลย เพราะเห็นว่าหน่วยงานรัฐมีอำนาจตรวจสอบ เมื่อพบว่าสัญญามีความขัดแย้งต่อกฎหมายต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด จะแก้ไข ยกเลิกเพิกถอนก็ว่ากันไป แต่กลับไม่ทำอะไรเลย ผมถึงต้องฟ้องฐานละเลย

ทีแรกศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง เนื่องจากบอกว่า เป็นประเด็นสัญญาการปกครองซึ่งผมไม่ใช่คู่สัญญา ผมเลยอุทธรณ์ไปว่าไม่ได้ฟ้องฐานสัญญาการปกครอง แต่ฟ้องฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งศาลท่านก็เห็นว่า คำอุทธรณ์ฟังขึ้น

พิจารณาคนละประเด็นกับที่ฟ้อง

ใช่ ซึ่งคำอุทธรณ์ก็ฟังขึ้น คดีก็เข้าสู่ศาล

ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนขั้วอำนาจการเมือง

        ถ้าดูในคำสั่งรับคำฟ้องของศาลปกครองจะเห็นว่า คำสั่งลงวันที่ 12 ก.ย. เกิดก่อนรัฐประหารแต่ยังไม่ได้อ่าน เพราะเป็นขั้นตอนภายใน

อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้ออกมาฟ้อง

       ผมออกไปต่อสู้กับความไม่ถูกต้องทางกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2544 ตอนยังเรียนปริญญาโท ก็เรื่องคดีซุกหุ้น ผมไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลขณะนั้น ก็ทำใบปลิวไปแจกที่ศาล ตั้งแต่นั้นก็ติดตามเรื่องนี้มาตลอด

ในฐานะนักกฎหมาย ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการปกครองประเทศคือหลักนิติรัฐ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาระบบทักษิณทำลายระบบนิติรัฐไปหมดเลย

ระบอบทักษิณเลียนแบบวิธีการของโลกาภิวัตน์ เลียนแบบวิธีการซิกแซ็กของนายทุน เพื่อแสวงหาผลกำไรสูงสุดโดยไม่คำนึงถึงอะไรเลย ไม่คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่คำนึงถึงวัฒนธรรม ไม่คำนึงถึงกฎหมาย

ระบอบนายทุนโลกาภิวัตน์มุ่งแสวงหากำไร ทำยังไงก็ได้ที่จะเข้ามาครอบงำด้วยอำนาจทุน

ผมขอเอาคำของ อ.เจริญ คัมภีรภาพ มาที่ว่า กระบวนการโลกาภิวัตน์เป็นระบบกฎหมายของโลกซึ่งกำลังเข้ามาทำลายระบบกฎหมายภายใน แต่เวลาเขาใช้จะใช้คำว่า เข้ามาเปลี่ยนแปลง คือมันดูดีไง ซึ่งจริงๆ กฎหมายภายในบางเรื่องก็มีขึ้นมาเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ

แต่กระบวนการโลกาภิวัตน์โลกไม่ได้สนใจกฎหมายภายใน เพราะโลกาภิวัตน์โลกคือความต้องการในการเคลื่อนย้ายทุนอย่างเสรี คือต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง กฎหมายคือสิ่งกีดขวางอย่างหนึ่ง สมมุติจะเข้ามาลงทุน มาซื้อที่ ต้องการเข้ามาแย่งทรัพยากร ถ้าติดกฎหมายที่ดิน กฎหมายเรื่องนั้นเรื่องนี้จะเข้ามาได้ไหม

กระบวนการที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันคือกระบวนการโลกาภิวัตน์ของทุน นักธุรกิจพูดจะบอกแต่ตลาดเสรี ซึ่งเป็นการมองแบบแยกส่วน

กรณีชินคอร์ปเป็นตัวแทนกระแสโลกาภิวัตน์

        ใช่ แต่ปัญหาคือธุรกิจชินคอร์ปมาจากการรับสัมปทาน ซึ่งรากเหง้าของสัญญาสัมปทานคือประโยชน์สาธารณะ แม้จะทำกำไรก็ต้องอยู่ในขอบเขต การโอนหุ้นชินให้เทมาเส็กไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะและผิดกฎหมายหลายฉบับ

ทุนโลกาภิวัตน์คนละขั้วกับเศรษฐกิจพอเพียง

        เศรษฐกิจพอเพียงเวลาคำนวณความสูญเสีย หรือจีดีพี ต้องบวกสิ่งที่สูญเสียไปด้วย ไม่ใช่พูดถึงแต่การผลิต หรือผลิตภัณฑ์มวลรวม ทุนโลกาภิวัตน์จะไม่พูดถึงของเสียที่ลงไปสู่พื้นดิน มูลค่าวัฒนธรรมที่ถูกทำลาย หรือกฎหมายที่ได้รับความเคารพนับถือน้อยลง

ถ้าบริษัทต่างๆ เลี่ยงกฎหมายได้ ทำไมชาวบ้านจะเลี่ยงกฎหมายไม่ได้?การเลี่ยง กม.กับทำผิดกฎหมายเหมือนกัน

        เหมือนกัน สมมุติ กฎหมายห้ามฆ่าคน ถ้าคุณเอามีดไปแทงเขา คุณผิด การเลี่ยงคือกฎหมายว่ายังงี้แต่ใช้สมองมากมาย ดูว่าจะทำยังไง ตีความตามตัวอักษรยังไงไม่ให้ออกมาแล้วให้เหตุผลในเชิงตรรกะได้ แต่ผลสุดท้ายเหมือนกัน คือนำไปสู่การกระทำที่ผิดกฎหมาย

จริงๆ คำว่าช่องว่างทางกฎหมายไม่มีหรอก เพราะกฎหมายเป็นสิ่งที่มีทั้งตัวอักษรและเจตนารมณ์ ซึ่งต้องไปด้วยกันตลอด การหลีกเลี่ยงกฎหมายคือการใช้ตัวอักษรมาบิดเบือนเจตนารมณ์  

กฎหมายภาษีก็เหมือนกัน การที่เราต้องเสียภาษีเป็นหน้าที่รับผิดชอบส่วนบุคคล เป็นความยุติธรรมทางสังคมที่รายได้ต่างๆ ต้องจัดสรรแบ่งปันไปสู่สังคมร่วมกัน เอาไปพัฒนาอะไรต่างๆ ร่วมกัน

ถ้าคุณมัวแต่เอาถ้อยคำมา แต่ไม่เข้าถึงความยุติธรรม คุณก็ไม่ใช่นักนิติศาสตร์ แต่เป็นแค่นักอักษรศาสตร์ เป็นแค่พวกเล่นแร่แปรธาตุที่ใช้แต่ถ้อยคำ

นักกฎหมายที่เป็นแบบนี้ คนไม่รู้กฎหมายบางทีเถียงเขาไม่ได้ แต่กับคนบางคนไม่ต้องเรียนกฎหมายก็สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ เป็นเซนส์ในความดีงามของมนุษย์

เห็นแง่มุมไหนถึงยื่นฟ้อง

        ผมสอนวิชากฎหมายปกครองก็รู้เรื่องสัญญาการปกครอง โดยหลักพื้นฐานเห็นชัดเจนว่า การเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นจากไทยมาเป็นสิงคโปร์ มีการเปลี่ยนตัวคู่สัญญา ดังนั้นต้องกระทบสัญญาสัมปทานแน่นอน ก็ต้องกลับไปเช็คว่า ขัดกฎหมายอะไรบ้าง

ประเด็นนอมินีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ปี 40 ซึ่ง 49 ก็ยังคุ้มครองเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน มาดู พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ก็เป็นกิจการที่ห้ามคนต่างด้าวทำ นี่ประเด็นแรกที่เห็น

เดือน มี.ค.ผมฟ้อง เพราะคิดว่าถ้ามีการยกเลิกสัมปทานจะปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติได้

ตัวกฎหมายมีปัญหา

        มันถูกแก้จาก 25% เป็น 49% เพื่อเปิดช่องให้ง่ายขึ้น ทีนี้วิธีการพวกนี้ที่ปรึกษากฎหมายชอบทำ คือตั้งบริษัทขึ้นมา เอาทนายความไปถือหุ้น ทำเยอะแยะเต็มไปหมด หวังผลอย่างเดียวคือกำไรสูงสุด ไม่รู้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบหรือเปล่า จริงๆ ปัญหาคือตัวกฎหมายมีดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาในการบังคับใช้และการตรวจสอบไม่ดีพอ

ดูแค่ชั้นเดียว

       ใช่ ก็อ้างแค่ตรงนั้น จริงๆ หลักการที่สำคัญ เจตนารมณ์ของกฎหมายคืออะไร ไม่ให้ต่างชาติเข้ามามีอำนาจในกิจการเหล่านั้น เพราะจะกระทบความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นจะมาดูแค่ชั้นเดียว หรือตีความตามตัวอักษรได้ยังไง

โอเค คุณคิดว่าบริษัทหนึ่งมี 100 หุ้น ต่างชาติถือ 40 คนไทย 60 เป็นรายย่อย ถามว่าใครมีอำนาจในการโหวต ต่างชาติใช่ไหม ดังนั้นต้องดูอำนาจในการกำหนดทิศทางบริษัท กฎเกณฑ์เหล่านี้ต้องมีการปรับปรุง

กฎเกณฑ์ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญอาจไม่มีการระบุ แต่ตัวรัฐธรรมนูญจุดสำคัญคือห้ามต่างชาติเข้ามามีอำนาจในตัวทรัพยากร ดังนั้นถ้าตีความตามรัฐธรรมนูญ เกณฑ์มันควรบัญญัติไว้ หลักในการพิจารณาต้องดูว่า ใครเป็นคนมีอำนาจ และต้องดูรัฐธรรมนูญด้วย เพราะรัฐธรรมนูญกว้างกว่า พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจ

เมื่อรัฐไม่ทำหน้าที่ก็ต้องฟ้อง

       ใช่ เพราะหน่วยงานรัฐต้องดูแล ผมเองไม่อยากเป็นคนทำหน้าที่นี้หรอก ถ้าเขาทำหน้าที่ของเขา ผมจะอยากทำ ทำไม เงินก็ไม่ได้ มีแต่ความเสี่ยงด้วย

ประเด็นนอมินี เทมาเส็กเองคงพยายามลดสัดส่วนหุ้น พอลดสัดส่วนหุ้นลงไปก็ไม่ผิดแล้ว แต่ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญต้องมาดูให้ชัดว่ามีอำนาจอยู่หรือเปล่า

ตอนยื่นฟ้องไม่ได้รวม กทช.

        พอศาลรับฟ้องก็จะใส่ประเด็นเพิ่มเติมไป ดีลเทมาเส็กกับครอบครัวชินวัตรมี กม.อีกตัวที่ต้องดูคือ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ที่กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีเปลี่ยนแปลง ต้องขออนุญาต กทช.ด้วย ยิ่งถ้าเป็นบุคคลต่างชาติต้องได้รับการอนุญาตจาก กทช.

จากข้อมูลการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ซึ่งตรวจสอบไว้ก่อนหน้ายุบสภาแป๊บเดียว และเอกสารนี้ไม่ได้เผยแพร่ พบว่าไม่มีการขออนุญาต กทช. เมื่อคุณโอนสิทธิตามสัญญาโดยไม่ขออนุญาต ก็ผิดสิ 
 ประเด็นนี้นอมินีหรือไม่นอมินีไม่เกี่ยวแล้ว ต่อให้คุณโอนให้คนไทยด้วยกันก็ต้องแจ้ง กทช. เพราะ กทช.มีอำนาจตรงนี้ชัดเจน

กทช.อ้างว่าขอข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ไป

       กทช.มีอำนาจในการตรวจสอบ การขออนุญาตเป็นเงื่อนไขก่อนโอน ไม่ใช่โอนแล้วให้ กทช.ไปตรวจ ก่อนโอนเขาต้องมาขออนุญาต เมื่อโอนแล้วมาขอก็ต้องโวยวาย ถามว่าเป็นแบบนี้ โอนไปแล้วจะทำยังไง ผิดกฎหมายไหม

ณ วันนี้สิงคโปร์ถือหุ้น พอมีปัญหา แล้วก็ออกมาประกาศว่าต้องการลดสัดส่วนหุ้น มันก็ทำผิดกฎหมายอีก เพราะไม่แจ้ง กทช. ถามว่ากิจการโทรคมนาคมเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะไหม ต้องการ การควบคุมผู้ประกอบกิจการ เพราะอำนาจของข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องของสังคมที่ต้องควบคุม ตรวจสอบ

คาดหวังอะไรจากสิ่งที่ทำบ้าง

    การยกเลิกเพิกถอนสัมปทานหรือเปล่าเป็นเรื่องของศาลที่ต้องพิจารณา แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือมีกฎหมายที่สามารถปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติได้ แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการ หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ปล่อยปละละเลย โดยเฉพาะประเด็นนอมินี เปรียบเสมือนเสือที่เอาหนังแกะมาหุ้ม เขากลายเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย มีสิทธิอะไรบ้าง มีสิทธิซื้อที่ดินได้ถูกไหม มีสิทธิในการใช้ทรัพยากรของประเทศ

นักธุรกิจบอกว่า ซื้อที่ดินไปก็เอาไปไม่ได้

        อำนาจหรือสิทธิไม่ได้อยู่ที่เอาไปได้ไหม เหมือนคุณมีสมบัติ มีที่ดิน ตายไปแล้วเอาไปได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่ถามว่าการมีที่ดินหมายถึงอะไร การปลูกพืช การได้กินได้ใช้ ได้ดำรงชีพใช่ไหม การให้ต่างชาติมาถือครอง ดินกินไม่ได้ แต่ได้สิทธิในการทำประโยชน์ ในการดำรงเลี้ยงชีพ

ต่างชาติชอบมาลงทุนในประเทศเราเพราะ ค่าแรงถูก แต่ที่สำคัญคือต้นทุนเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่มี หรือมีก็น้อยมาก ถามว่าปีๆ หนึ่งมีขยะพิษมาทิ้งในบ้านเราตั้งเท่าไร

นักธุรกิจมองแบบนี้ ผมไม่ได้ปฏิเสธว่า จะมาทำธุรกิจไม่ได้ หากำไรได้แต่ต้องมีระบบการควบคุม ต้องบาลานซ์ให้ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้ทำงานรับใช้ประโยชน์สาธารณะ แต่รับใช้ทุนโลกาภิวัตน์

สัมปทานไม่ได้ระบุเรื่องการเปลี่ยนเจ้าของ      

       นั่นเป็นหลักวิธีคิดแบบสัญญาทางแพ่ง ไม่ได้มีวิธีคิดเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตัวสัญญาต้องเป็นไปตามสัญญา แต่เมื่อคุณโอนไป มีกฎหมายอื่นต้องดูด้วยถูกมั้ย แต่ไปอ้างแต่สัญญา แต่อันนี้เป็นระบบสัญญาในกฎหมายมหาชน

เคสอื่นก็ทำแบบนี้

       หน่วยงานรัฐต้องไปตรวจสอบสิ วันก่อนสิงคโปร์ส่งจดหมายมาถึงผม จาก อเบอร์ดีน แอสเส็ท เมเนจเม้นท์ ส่งหลักฐานของเทเล นอร์มาให้ บอกให้ตรวจสอบกรณีนี้ด้วย ผมขอตอบผ่านสื่อมวลชนไปละกันว่า คุณไม่ควรเขียนมาหาผม ควรเขียนไปหาหน่วยงานราชการ ให้ทำหน้าที่นี้ และ 2.ต้องเขียนไปหาประธานาธิบดีคุณด้วยว่า จะมาทำธุรกิจประเทศอื่น หัดดูตาม้าตาเรือมั่ง ว่ามีผลประโยชน์ประเทศชาติอยู่

ส่งมาเมื่อไร

        จดหมายลงวันที่ 5 ต.ค. (วันเดียวกับที่ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำสั่งรับฟ้องคดี)

เลือกปฏิบัติ เพราะบริษัทอื่นก็ทำ

    ผมบอกแล้วไงว่า ไปบอกหน่วยงานราชการและฝากไปบอกประธานาธิบดี ลี เซียน ลุงด้วยว่า การทำธุรกิจในไทย โปรดระวังหน่อย คนไทยมีปัญญานะ 

ผลเรื่องศาลผมไม่ได้คาดหวังอะไร แต่คิดว่าสิ่งหนึ่งที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงคือบอกหน่วยงานราชการว่า คุณต้องทำงานมากขึ้น คือทำให้กลไกปกติทำงานมากขึ้น

ผมสอนวิชากฎหมายมหาชน กฎหมายปกครอง พอเห็นปุ๊บก็รู้ นักธุรกิจไม่เข้าใจระบบทางกฎหมายปกครอง สัญญาทางปกครอง สัญญาสัมปทาน โดยทฤษฎีกฎหมายปกครอง คือการกระทำของฝ่ายปกครองโดยหลักการแล้วจะไปขัดแย้งกับกฎหมายไม่ได้ ถ้าขัดแย้งต้องถูกยกเลิกเพิกถอน

ไม่ได้ปฏิเสธทุนโลกาภิวัตน์

        เป็นสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโลก แต่มองว่า ประเทศเราจะจัดระบบวิธีการอยู่ยังไงกับโลกาภิวัตน์

ทุนโลกาภิวัตน์ในตัวของมันเองไม่ได้เป็นสิ่งประเสริฐ มันวัดการเจริญเติบโตที่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การใช้อำนาจข้อมูลข่าวสารโดยการโฆษณา การสร้างความต้องการในการบริโภค ซึ่งท้ายที่สุดนำไปสู่ความยากจน ของโลก เพราะทรัพยากรในประเทศต่างๆ ถูกทำลาย 

นักธุรกิจอาจมองแค่กำไรและตลาดหุ้น 

    ในหลวงตรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งคือการลดการบริโภคลง จริงๆ แล้ว ถ้าดูปัจจัยแบบเชื่อมโยงกันทั้งหมด จะเห็นได้เลยว่าระบบเศรษฐกิจพอเพียงคือหนทางแห่งความมั่งคั่งร่ำรวย เพราะมันค่อยๆ กิน ค่อยๆ ใช้ กินไปนานๆ กินไปยาวๆ อยู่กันได้นานๆ แบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 

 ผมไม่ได้ปฏิเสธทุน แต่ทุนเองก็ต้องเข้าใจ และเป็นมิตรกับประชาชนมากขึ้น มีคุณธรรมมากขึ้น ไม่ใช่มีแต่ความโลภ

ในฐานะนักกฎหมาย ในฐานะนักวิชาการ ในฐานะคนไทย ได้แสดงบทบาทอะไรบ้าง

        ในแง่กฎหมาย การฟ้องคดีที่เกี่ยวกับสัมปทาน หัวใจของสัญญาสัมปทานคือประโยชน์สาธารณะ คือการปกป้องประโยชน์สาธารณะ ในแง่นักกฎหมายคิดว่าได้ทำหน้าที่แล้ว

ในฐานะนักวิชาการ ไม่ใช่แค่คนสร้างความรู้ หรือผลิตความรู้ ความรู้ทุกอย่างต้องนำไปใช้ และเกิดประโยชน์ได้ ในฐานะนักวิชาการก็ได้ทำหน้าที่ในการนำวิชาความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์

ในแง่ประชาชนก็คิดว่า ได้ทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ซึ่งหมายถึงปกป้องผลประโยชน์ของผมด้วย

นักศึกษาสนใจสิ่งที่อาจารย์ทำแค่ไหน

        ก็สนใจนะ แต่ผมไม่ได้คาดหวังว่า ตัวเองจะต้องเป็นอะไรที่เด่นดัง หรืออะไรเลย แต่คิดว่า ถ้าสิ่งที่ทำสร้างแรงบันดาลใจให้ใครได้ นักกฎหมายรุ่นใหม่ๆ คนที่กำลังละล้าละลังอยากเดินไปในเส้นทางที่เป็นอุดมคติ อุดมการณ์ ถ้าตรงนี้สามารถไปช่วยอะไรตรงนั้นได้ ก็คิดว่าทุกคนควรกล้าที่จะออกมาทำมากกว่า เพราะว่าในยุคนี้ ถ้าเรายังมัวมอมเมา หลงงมงาย ประเทศชาติเราจะอยู่ไม่ได้ เพราะทรัพยากรของเราจะถูกยึดไปหมด

 ---------------------------------------------

สิ่งที่เราวิเคราะห์ได้จากเรื่องนี้

   ก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้มีนักกฎหมายออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงให้เราเห็นว่ายังมีนักกฎหมายที่ดีอยู่อีกไม่น้อยที่จะต่อสู้เพื่อหาความถูกต้องให้สังคมไทยของเรานะครับ แต่ในเรื่องความชอบธรรมแล้วประเทศไทยก็ยังมีสิทธิในตัวดาวเทียมอยู่ และในปัจจุบันที่เป็นกระแสวิจารณ์ล่าสุด ณ ต้นปี 2550 จะเห็นได้ว่ามีการเคลื่อนไหวที่จะมีการดำเนินการยึดคืนสัมปทานดาวเทียมไทยคมกลับคืนมา แต่เมื่อผมได้พิจารณาหลายๆด้านแล้วทางท่านรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้-รัฐบาล ควรจะพิจารณาอย่างรอบคอบจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้

  1. หากได้สัมปทานคืนมาจะบริหารจัดการอย่างไรเมื่อในปัจจุบันความรู้ที่มาจากการพัฒนาดาวเทียมและการที่จะบริหารงานอย่างต่อเนื่องด้านทางเทคนิคจะเป็นไปในรูปแบบไหน เราต้องคำนึงด้วยเพราะว่าดาวเทียมนั้นมีอายุการใช้งาน หากผู้บริหารชุดใหม่มีความชำนาญด้านเทคนิคไม่ทันท่วงทีใช้เวลาศึกษามากเกินไป การบริหารจัดการอาจชะงักได้ ส่งผลต่อธุรกิจใต้สัมปทานได้
  2. เทคโนโลยีไอพีสตาร์นั้นได้ถูกจดลิขสิทธิ์โดยชินแซทแทลไลท์ไปแล้ว ถึงหากได้ตัวดาวเทียมคืนมา รวมถึง GATEWAY ควบคุมมาแล้ว อาจมีข้อพิพาททางกฎหมายลิขสิทิ์ต่อไปในวันข้างหน้าได้
  3. ปัญหา FTA ที่ตกลงเกี่ยวกับนานาประเทศไว้เพื่อแลกกับสิทธิ์ส่งเสริมไอพีสตาร์ของไทยที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้ทำไป จะไร้ทิศทาง ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน หรืออาจทำให้ประเทศคู่ค้าไม่มั่นใจทำให้ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยต่อไปได้ อาจดูได้จาก FTA ไทยกับออสเตรเลีย

     สิ่งเหล่านี้เองที่ยังจะเป็นที่น่าเป็นห่วงเพราะสิ่งที่รัฐบาลจะทำต่อไปไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ต่อไปอีกแล้วเนื่องจากว่าความดังของไอพีสตาร์ เทคโนโลยีใหม่นี่เอง ที่สื่อทั่วทั้งโลกยังจ้องมองกับท่าทีของรัฐบาลไทยอยู่

   สิ่งที่ผมคิดไปในทางสร้างสรรค์หากเป็นข้อเสนอแนะรัฐควรเจรจาตรงๆกับสิงค์โปรไปตรงๆ ก็คือแนวทางร่วมงานกันอย่างแฟร์ๆนั่นเองเป็นการที่จะลดข้อพิพาทและชื่อเสียงทั้ง 2 ประเทศได้ แต่จะต้องเคลียร์เรื่องสัดส่วนหุ้นให้เป็นไปตามข้อกำหนดก่อนก็คือ

  1. รัฐบาลไทย 51 %(ควรให้กระทรวงการคลังถือหุ้นแทน เพราะ TREND ของเทคโนโลยีจะไปได้ไกล ผลประโยชน์ควรอยู่ในมือรัฐมากกว่านายทุน) 
  2. สิงค์โปร 49 %

    จากนั้นก็ดำเนินการบริหารจัดการร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้ง 2 ประเทศ ทั้งเรื่องการขายช่องสัญญาณดิจิตอลของดาวเทียมเอง (ซึ่งผมคิดว่าสิงค์โปรเองน่าจะทำตรงนี้ได้ดีมาก เพราะปัจจุบันไทยเองยังคล่องตัวน้อยมากเรื่องการหาตลาดใหม่ๆเพราะการขัดกันของการเมื่องภายในของเรานี่เอง เมื่อขายช่องสัญญาณได้มากขึ้นไทยก็ได้รายได้เข้าประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย) รวมถึงการขายลิขสิทธิ์ในการนำเทคโนโลยีดาวเทียมแบบไอพีภาคพื้นดิน GATEWAY และตัวดาวเทียมเอง ให้ผู้อื่นนำไปใช้และรวมถึงการขายอุปกรณ์ภาครับด้วยที่จะทำรายได้มหาศาลให้กับประเทศเราได้ แต่สิ่งที่สำคัญของเรื่องนี้ก็คือความจริงจัง จริงใจและเอาใจใส่ของไทยและสิงค์โปรเอง ว่าจะสมานฉัน หรือว่าจะเอาแบบสมานนะแผลนะครับ อย่างไรก็คงต้องติดตามดูกันต่อไปนะครับว่าจะออกมาในรูปแบบไหน

 

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

http://www.ee-part.com/news/4671

http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02com01231049&day=2006/10/23











หมายเลขบันทึก: 63765เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท