PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๓ : โรงเรียนหนองโนประชาสรรค์โมเดล


วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๐  ผมลาป่วย แต่ก็ยังไปทำงานตามอุดมการณ์ด้านการศึกษา ด้วยเพราะรับปากท่าน ผอ.อำนาจ โพธิ์ศรี โรงเรียนหนองโนประชาสรรค์ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ไว้ตั้งแต่คราวไปช่วย ศน.เทวา ขับเคลื่อน PLC อบจ. ขอนแก่น (ผมบันทึกไว้ที่นี่ ) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครั้งนั้น ผอ.อำนาจ ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำ PLC ในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง และนำเอา Lesson Study มาใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของครูในแต่ละกลุ่มสาระ แสดงบนพื้นที่พื้นหลังสีฟ้าอ่อนในผังนี้

เมื่อได้ไปสัมผัสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูอาจารย์โรงเรียนหนองโนประชาสรรค์ พบว่า ท่านไม่ได้พูดเกินจริงครับ ท่านทำ PLC และ LS กันอย่างแข็งขัน คุยกันสัปดาห์ละอย่างน้อย ๑ ครั้งในกลุ่มสาระ (LS) และทำ PLC ระดับโรงเรียนกันเป็นประจำอย่างน้อย ๑ ครั้งต่อเดือน ... คุณค่าในการมาของผมในครั้งนี้คือ การเสริมความมั่นใจให้ครูเพื่อศิษย์ และแสดงให้เห็นว่า PLC ที่ดีควรทำอย่างไร และ PLC มีประโยชน์อย่างไร

อย่ายึดมั่นกับความหมายของคำว่า PLC มากเกินไป

PLC คือกระบวนการทำงานเป็นทีมของครูเพื่อศิษย์ (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เรียกว่า ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์)  ครูร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อพัฒนานักเรียนอย่างเต็มที่ หรือจะบอกว่า PLC คือ วัฒนธรรมความสามัคคีของครูก็ไม่น่าจะผิด อย่างไรก็ดี ครูไม่ควรจะไปสนใจหรือให้ความสำคัญกับความหมายของคำว่า PLC มากจนเกินไป จนบางครั้งเกิดความสงสัยที่ไม่จำเป็น เช่น PLC เหมือน LS ไหม?  LS คือ PLC ไหม? เป็นต้น

คำถามที่สำคัญไม่ใช่ "PLC คืออะไร? " แต่เป็น "ทำไมต้องทำ PLC ?" "กรณีใดที่ต้องเน้นใช้ PLC ?

PLC คือความหวังและพลังในการปฏิรูปการศึกษา  ถ้า PLC สำเร็จ หมายถึง ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะครูผู้อยู่ใกล้ชิดเด็กที่สุด เปลี่ยนจากการทำงานเดี่ยว ต่างคนต่างนำ หันมาทำงานเป็นทีม คุยกันเรื่องเด็กบ่อยขึ้น ใส่ใจ รัก เมตตา และปรารถนาต่อเด็กมากขึ้น

ความหมายและองค์ประกอบของ PLC มีมากมายหลายแบบ ผมเคยเขียนไว้ที่นี่ วิธีที่ดีคือไม่ต้องสนใจมากนัก ให้ตั้งใจว่าเราจะค้นหา PLC  ในรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทและวิถีวัฒนธรรมของเราดีที่สุด

วิธีการสร้าง PLC แต่ละโรงเรียนอาจมีวิธีที่แตกต่างกัน 

แม้ผมจะบอกว่า วิธีการสร้าง PLC ในแต่ละโรงเรียนอาจมีวิธีที่แตกต่างกัน แต่ผมคิดว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จประการสำคัญของ PLC อย่างน้อยต้องมี ๓ ประการ ได้แก่  ๑) ต้องมีครูเพื่อศิษย์ที่เปิดใจให้ความร่วมมือกับการทำ PLC ๒) ต้องทำ PLC อย่างต่อเนื่อง และ ๓) มีคุณเอื้อและคุณอำนวยการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง โรงเรียนหนองโนประชาสรรค์มีครบถ้วนทั้งสามประการนี้ โดยเฉพาะ ผอ.อำนาจ และทีมครูเพื่อศิษย์ สิ่งสำคัญอันเป็นปัจจัยคือการทำให้ต่อเนื่องแบบที่กำลังทำนี้อย่างต่อเนื่องจนเป็นวิถี ... ผมบอกท่านว่า โรงเรียนบ้านปะทายทำได้ และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสำเร็จได้ (อ่านได้ที่นี่)

ผมเรียนท่าน ผอ.อำนาจว่า ที่โรงเรียนหนองโนประชาสรรค์ ท่านสามารถเปิดใจครูได้เกือบทั้งหมดแล้ว (ผมประเมินจากการทำหน้าที่ผู้อำนวย ๑ วัน ท่าน ผอ.น่าจะรู้แล้วทุกจุด) เมื่อเปิดใจจึงพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตัว "L" (Learning) และตัว "C" (Community) เข้าที่และ "พอเพียง" พอสมควรแล้ว สิ่งที่ครูทุกท่านควรเดินหน้าเต็มที่คือตัว "P" (Professional) ในที่นี้หมายถึง ทักษะและศักยะในการช่วยเหลือและพัฒนานักเรียน ... ด้วยความเห็นดังนี้ ตลอดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูอาจารย์โรงเรียนหนองโนประชาสรรค์ ผมจึงมุ่งแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการนำทฤษฎี "ภูเขาน้ำแข็ง"  (อ่านละเอียดที่นี่) มาใช้


PLC ครู ต้องช่วยกันดำน้ำตามต้นตอของปัญหาลงไปให้ถึงเบื้องลึกที่สุด เช่น กรณีของครูกลุ่ม LS  วิทยาศาสตร์ ที่สะท้อนปัญหาว่า นักเรียนไม่สนใจเรียน ถามก็ไม่ยอมตอบ ไม่พูด อาจเป็นเพราะเขาทำไม่ได้ ตอบไม่ได้ คำถามหรือกิจกรรมครูยากเกินไป เมื่อทำไม่ได้ย่อมไม่ชอบ ไม่สนุก ไม่อยากรู้ ไม่อยากเรียน หรือลึกลงไปอีก อาจเป็นเพราะเขาไม่เห็นความสำคัญ หรือไม่เห็นประโยชน์ของการเรียน เป็นต้น

ผมเสนอคุณครูทั้งโรงเรียน ให้นำเอา "จิตวิทยาเชิงบวก" หรือ "ปฏิสัมพันธ์เชิงบวก" มาใช้อย่างจริงจัง เป็นวาระแห่งโรงเรียนไปเลยครับ ใช้ความรัก เมตตา ใส่ใจ ให้อภัย วางใจว่า นักเรียนเป็นเหมือนลูกหรือเหมือนน้องของเรา ใช้กระบวนการ PLC กับนักเรียน มีการสร้างเงื่อนไขและข้อตกลงหรือกติกาของห้องเรียนหรือของกลุ่ม  ใช้การสนทนาอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) และการสะท้อนการเรียนรู้เป็นประจำกับนักเรียน พูดโน้มน้าวให้เห็นความสำคัญและเห็นคุณค่าของตนเองและการมาทำกิจกรรมร่วมกัน การใช้กิจกรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง บ่อยซ้ำย้ำทวน และสม่ำเสมอ จะค่อย ๆ เปลี่ยนมุมมองของนักเรียน เขาจะเห็นว่าครูรักและใส่ใจเขา และเขาก็อยากจะทำเพื่อครูในที่สุด ... สรุปคือ ครูรักเด็กเป็นเหตุ เด็กรักครูเป็นผล นั่นเอง

กำลังใจของวัยรุ่น 

มีกรณีที่น่าสนใจของคู่บัดดี้ต่างวัยในการสร้างวงโปงลางของโรงเรียน ด้วยการเรียนการสอนวิชาดนตรีและนาฏศิลป์ อาจารย์นาฏศิลป์ท่านสอนฟ้อนรำ หลายปีที่ผ่านมาท่านสามารถสร้างลูกศิษย์ประสบผลสำเร็จได้รางวัลมามากมาย แต่ปัญหาที่กวนใจท่านตอนนี้คือ นักเรียนดูเหมือนจะไม่ค่อยมีวินัย ไม่ตั้งใจในการซ้อมนัก  เช่นเดียวกับอาจารย์สอนดนตรี ท่านบอกว่า นักเรียนมีปัญหาตั้งแต่พื้นฐานการจำโน้ตดนตรีไม่ได้ และที่น่าปวดหัวสุด ๆ คือการ "หลอย" หนีไปแบบไม่บอกกล่าวใด ๆ  ... ผมตีความว่า แท้จริงแล้ว การขาดวินัยที่กล่าวถึงนั้นคือการขาดความเกรงใจและเคารพศรัทธาต่อผู้ใหญ่

 

ผมวิเคราะห์ว่า นักเรียนกำลังขาดแรงบันดาลใจและพลังผลักดันให้อยากมีวงโปงลางเป็นของตนเอง หรืออาจไม่เห็นความสำคัญของการมีวงโปงลางของโรงเรียน คนที่อยากให้มีวงโปงลางไม่ใช่พวกเขา แต่เป็นผู้ใหญ่  หรือหากในใจอยากจะเป็นสมาชิกวงโปงลางหรืออยากมี  อาจจะขาดกำลังใจหรือสิ่งจูงใจระหว่างกลางของเส้นทางสู่ความสำเร็จ

จากการสนทนา ผมตีความว่า วิธีที่อาจารย์ใช้กระบวนการเชิงควบคุม สั่งการ ไม่ใช่การเสริมพลัง (Empowerment) จึงน่าจะไม่สนุกนักเวลาถูกบังคับว่าต้องมาซ้อม  โดยเฉพาะเมื่อต้องแยกซ้อมเฉพาะเครื่องดนตรี นานๆ ทีจะได้เล่นร่วมกับวงรำ  ผมเสนอว่า ควรจะซ้อมร่วมกันบ่อย ๆ ผมคิดว่า กำลังใจของวัยรุ่นหนุ่มสาว คือความสนใจจากเพศตรงข้าม  วิธีนี้ดูเหมือนจะเป็นคำแนะนำที่ไม่ดี แต่ความจริงเป็นโอกาสอันดีมากที่จะสอนให้พวกเขารู้จักการควบคุมตนเอง เรียนรู้ถึงขอบเขตและการแสดงออกหรือการวางตัวที่เหมาะสมตามธรรมเนียมไทยอีกด้วย

อีกข้อแนะนำหนึ่งคือ การสร้างโอกาสให้นักเรียนมีรายได้จากการแสดงวงโปงลาง หรือหาโอกาสให้พวกเขาได้แสดงบ่อย ๆ  การแสดงบนเวทีจริงหมายถึงการมีคนดู เมื่อมีคนดู ย่อมเสริมความมีตัวตนของพวกเขา คนเราต้องเรียนรู้ที่จะมีและรู้จักตัวตนของตนเองก่อน และคนทั่วโลกก็มีความสุขจากการมีตัวตนนั้น (ถึงแม้ว่าจะมีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะรู้ว่า ความสุขที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นจากการละความยึดมั่นนั้นในภายหลัง)

ผมเสนอว่า ควรจัดให้นักเรียนได้ฝึกทำบัญชีรับจ่าย เพื่อฝึกฝนให้เกิดอุปนิสัย "พอเพียง" ด้วย  ผมเล่าให้ท่าน ผอ.อำนาจ ฟังว่า ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เราเปิดรายวิชา  "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" และมีการออกแบบกิจกรรมให้นิสิตทุกต้องทำบัญชีรับ-จ่าย ที่เราออกแบบขึ้น (ดาวน์โหลดได้ที่นี่) ผมเคยเขียนคำแนะนำของ นพ.เกษม วัฒนชัย เกี่ยวกับวิธีปลูกฝังนิสัย "พอเพียง" ให้กับนักเรียนไว้ที่นี่

กระบวนการจิตอาสาคือวิธีที่กำลังใช้ในการแก้ปัญหาการอ่านการเขียน

เป็นครั้งที่สามแล้วที่ผมมีโอกาสได้พบกับ อาจารย์ธีระพันธ์ ครูเพื่อศิษย์ที่คิดและทำเรื่องการอ่านไม่ออกเขียนมไม่ได้มาอย่างต่อเนื่อง (เจอท่านครั้งแรกตามบันทึกนี้ และครั้งที่สองที่ตามบันทึกนี้) ในการนำเสนอก ท่านนำผลงานของนักเรียนพิการบกพร่องทางการเรียนมาเน้นให้ทุกคนเห็นตรงกันว่า พวกเขามีความสามารถ พวกเขาทำได้ พูดด้วยประกายสายตาที่เปี่ยมพลังเหมือนเดิม ... ขอบูชาคุณครูเพื่อศิษย์ครับ

ผมสังเกตว่า กระบวนการแก้ปัญหาแบบบันไดสามขั้นของท่าน (ดูรุปด้านบน) ท่านนำรูปแบบการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ด้วยการสร้างนักเรียนจิตอาสามาปรับใช้ (ซึ่งมีครูทำสำเร็จยิ่งแล้วโดยครูตุ๋มศิริลักษณ์) และนี่เป็นลัพธ์ของการขับเคลื่อนของท่าน ศน.เทวา ศน.อัญญารัตน์ และทีมจาก อบจ.ขอนแก่น


คุณค่าของ PLC ของ นปส.ขก.

คุณค่า ๕ ประการ ที่เกิดจากการนำ PLC และ LS มาขับเคลื่อนในโรงเรียนหนองโนประชาสรรค์ (เป็นการสังเกตในเวลา ๑ วัน ที่ไปร่วมเรียนรู้กับท่าน) และผมคาดว่าเกิดตามลำดับดังต่อไปนี้

๑) เป็นกันเอง (เปิดใจให้กัน (Open mind) สร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone))

ผมเห็นบรรยากาศของการเป็นกันเอง สนิทสนมกันระหว่างครูในโรงเรียน การพูดคุยเป็นไปอย่างผ่อนคลายด้วยถ้อยคำธรรมชาติ ไม่เก้อเขินข่มเกรงหรือเกร็งใดใคร เมื่ออยู่ต่อหน้า ผอ. ก็ไม่เห็นการอวยเกินจริง ผมคิดว่าบรรยายกาศลักษณะนี้จะมีเฉพาะในโรงเรียนที่บริหารจัดการเชิงระนาบ หรือมีส่วนร่วมเท่านั้น...  และสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มากคือ การรักษาพิธีการ งานที่เป็นมืออาชีพ กับการทำงานอย่างมีชีวิตชีวา บูรณาการกันได้ดีมาก ๆ เดิมผมคิดว่า ถ้าจะเป็นกันเองให้มากขึ้นจะต้องลดพิธีการลง ขอขอบพระคุณในเรื่องนี้



๒) ครูคุยกันเรื่องเด็ก (เล่าเรื่องนักเรียน (Story Telling))

จากที่ไม่เคยคุยหรือไม่ค่อยคุยเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนของเด็กนอกห้องเรียน กลายมาเป็นการนำเรื่องของเด็กมาปรึกษา พรรณนา หรือพิจารณากันมากขึ้น โดยเฉพาะในเวลาที่ "ตั้งท่าคุย" กันอย่างจริงจังในช่วงทำ LS สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ...  เป้าหมายของ PLC ในขั้นนี้คือ การคุยเรื่องการเรียนรู้ของเด็กจนกลายเป็นวิถีหรือวัฒนธรรมการทำงานของครู

๓) ครูแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์กัน (Sharing)

ในแต่ละกลุ่ม LS ซึ่งแบ่งเป็นรายกลุ่มสาระ ครูอาจารย์ต่างวัยได้เปิดใจยอมรับแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และมีการนำไปใช้ทั้งแบบที่ "ยกไปใช้" หรือ "ปรับใช้" แตกต่างไปหลากหลาย

ผมชอบวิธีการที่ครูศรราม (นามสมมติ) ใช้ในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาสุขศึกษา โดยใช้ทฤษฎี "๓ก" ได้แก่ ๑) เกมส์ ใช้เกมส์ในการนำเข้าสู่บทเรียนหรือวอร์มอัพ ๒) ใช้กิจกรรมนำสู่การเข้าใจเนื้อหา และ ๓) ใช้กิจกรรมพาสะท้อนการเรียนหรือวอร์มดาวน์และสรุป

กลุ่มภาษาอังกฤษ เพิ่มผลสัมฤทธิ์ด้วยการติวโดยใช้สื่อเทคโนโลยีและการออกแบบกิจกรรม

กลุ่มคณิตศาสตร์ สอนแบบ Open Approch และเอารูปแบบกระบวนการ Plan Do See มาเวียนเรียนกลับมาแก้ปัญหาแบบไม่รู้จบ

กลุ่มการงานอาชีพ ฯ เน้นนำฟักข้าว มะนาว มาใช้เป็นพืชนำในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

ส่วนกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ นำกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่หลาหลายมาใช้สร้างความสนุกและท้าทายในการเรียน

๔) เริ่มสอนเป็นทีม

ผมเข้าใจว่า การสอนเป็นทีมเป็นเหมือนท่าบังคับของการแข่งขันกีฬาที่นักกีฬาจะต้องทำ ฉันใดก็ฉันนั้น  LS หรือ PLC ครูจะต้องทำเพื่อยกระดับประสิทธิภาพของการสอนไปเรื่อย ๆ   ร่วมกันวิเคราะห์ตัวชี้วัดหรือเป้าหมาย ร่วมกันออกแบบหรือกำหนดแผนการสอน แล้วให้ครูคนหนึ่งสอนอีกคนสังเกตและมาสะท้อนป้อนกลับสู่การพัฒนา ... ตอนนี้ที่หนองโนประชาสรรค์เริ่มและ "รัน" กระบวนการนี้แล้ว

๕) แก้ปัญหาร่วมกัน (CoP, Cooperative of Practice)

ครูอาจารย์ที่โรงเรียนหนองโนฯ ชัดเจนกันแล้วว่า ปัญหาของนักเรียนก็คือปัญหาของครู  และทุกกลุ่ม LS กำลังศึกษาและแก้ปัญหาในชั้นเรียนร่วมกัน โดยมี PLC ระดับโรงเรียนคอยเสริมเติมพลัง สนับสนุน และยกระดับความสามารถทางวิชาการ ความสำเร็จของการแก้ปัญหานี้เองที่จะเป็นหลังหนุนให้เกิดวงจรการพัฒนา เกิดเป็นชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ที่แท้จริงต่อไป



ผลลัพธ์เชิงกระบวนงาน ๕ ประการข้างต้นนี้บอกว่า ผอ.และครูก้าวเดินมาถูกทางแล้ว และขอให้กำลังใจทุกท่านให้มุ่งมั่นต่อไป  เอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ตรงหน้า

หมายเลขบันทึก: 636757เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2017 21:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2017 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท