นิทานเรื่องหนึ่ง...


ต้องเริ่มคิดออกนอกกรอบวิชาชีพการกู้ชีวิตคนจมน้ำที่ร่ำเรียนฝึกฝนมา อันเป็นความเชี่ยวชาญพิเศษของตน ไปสู่การแก้ที่สาเหตุของปัญหา ที่ต้องใช้ความรู้และความร่วมมือจากคนอื่น แต่การเปลี่ยนแปลงตนที่ยากที่สุดนี้ก็นำมาซึ่งผลการรักษาชีวิตคนได้มากที่สุด

ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมวิชาการที่เชียงใหม่....

ได้ความรู้สึกบรรยากาศวิชาการเก่าๆสมัยยังเรียนหนังสือกลับมา...

ลองอ่านนิทานเรื่องนี้นะครับ...เชื่อว่าหลายคนคงเคยอ่านมาบ้าง...แต่อาจจะมีผิดเพี้ยนไปบ้าง...ก็แล้วแต่ว่าจะฟังมาจากเวอร์ชั่นไหนนะครับ...ลองอ่านเวอร์ชั่นนี้ดูแล้วคิดตามนะครับ...

กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว ยังมีชุมชนริมแม่น้ำใหญ่ ที่ไหลเชี่ยวกรากแห่งหนึ่ง ผู้คนในชุมชนได้อาศัยแม่น้ำหล่อเลี้ยงความอุดมสมบูรณ์ในชีวิตประจำวันต่อเนื่องมาหลายชั่วอายุคน แต่ปัญหาใหญ่ที่ชุมชนนี้เผชิญอยู่และหนักหนาขึ้นในช่วงระยะหลังๆ คืออัตราการเสียชีวิตของคนในชุมชนจากการจมน้ำในแม่น้ำสายนี้
           
            เมื่อปัญหานี้ถูกหยิบยกขึ้นมาร้องทุกข์ต่อ “ทางการ” ก็ได้มีการจัดส่ง “หน่วยกู้ชีพทางน้ำ” ซึ่งประกอบด้วยทีมนักช่วยชีวิตคนจมน้ำ (life guard) ผู้ผ่านการฝึกอบรมเป็นนักวิชาชีพตามมาตรฐานสากล ในการช่วยชีวิตคนที่จมน้ำได้อย่างเชี่ยวชาญ หน่วยกู้ชีพนี้ได้อุทิศตนทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง และค่อยๆ ขยายจำนวนบุคลากรด้านต่างๆขึ้นตามลำดับ มีผลงานการช่วยชีวิตคนจมน้ำให้รอดตายได้เป็นจำนวนมาก


             อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป สถิติของคนที่จมน้ำตายในชุมชนก็ยังคงสูงอยู่ หน่วยกู้ชีพเริ่มทบทวนการทำงานของตน และพบว่า แม้จะทำงานกู้ชีพกันอย่างหนัก แต่หลายๆกรณีก็ได้รับแจ้งเหตุล่าช้า ทำให้ช่วยชีวิตคนไม่ทันจำนวนมาก จึงปรับให้มีการเพิ่ม “ยามเฝ้าระวังเหตุ” และสร้าง “หอเฝ้าระวัง” ขึ้นเพื่อคอยตรวจการณ์และรับเหตุให้ฉับไวขึ้น ซึ่งการดำเนินการนี้ได้ช่วยชีวิตคนจมน้ำได้เพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง

              อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป สถิติของคนที่จมน้ำตายในชุมชนก็ยังคงสูงอยู่ หน่วยกู้ชีพเริ่มทบทวนการทำงานของตน และเกิดแนวคิดใหม่ว่า แม้พวกตนจะทำงานกู้ชีพและเฝ้าระวังกันอย่างหนัก แต่ถ้าชาวบ้านในชุมชน สามารถว่ายน้ำเป็นมากขึ้น อย่างน้อยให้ประคองตัวรอรับการช่วยเหลือได้นานขึ้น ก็น่าจะทำให้คนเสียชีวิตน้อยลง หน่วยกู้ภัยเริ่มปรับการทำงานของตนมาสู่ “การสอนว่ายน้ำ” มากยิ่งขึ้น ทั้งสอนเองโดยตรง ทั้งสอดแทรกในหลักสูตรการสอนในโรงเรียนและโดยหอกระจายข่าว


               ยิ่งไปกว่านั้น ต่อมา ยังได้ดึงเอาคนที่ว่ายน้ำแข็งจำนวนหนึ่ง เข้ามาเป็นอบรมเป็น “อาสาสมัคร” ช่วยชีวิตชาวบ้านคนอื่นได้อีกด้วย ซึ่งการดำเนินการนี้ได้ช่วยชีวิตคนจมน้ำได้เพิ่มขึ้นจำนวนมากทีเดียว


               อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป แม้จะทำทุกอย่างข้างต้นแล้ว สถิติของคนที่จมน้ำตายในชุมชนก็ยังคงสูงอยู่ หน่วยกู้ชีพซึ่งก็ได้ปรับกระบวนการสอนของตนไปหลายรอบ ก็ทบทวนการทำงานของตน และเริ่มท้อใจ คิดไม่ออกว่าพวกตนจะลดการจมน้ำตายให้ได้ผลดีกว่านี้ได้อย่างไร? พวกเขาสัมมนาปรึกษากันหลายรอบ แต่คำตอบยังวนเวียนไปมา จนคราวหนึ่ง มีนักกู้ชีพคนหนึ่งถามขึ้นว่า
          “ทำไม คนในชุมชนนี้ถึงตกน้ำกันเยอะนักล่ะ?”
                 ไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ชัดเจนนัก พวกเขาจึงไปถามผู้เชี่ยวชาญในเมือง ซึ่งก็ตอบได้ตามหลักการแต่ก็ยังไม่ชัดนัก บางคนบอกพวกเขาให้ลองมาถามชาวบ้านในชุมชนดูจะดีกว่า
            ชาวบ้านหลายคนมาช่วยกันตอบคำถามนี้จากประสบการณ์ของตน คำตอบสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด นักกู้ชีพกลุ่มนี้ก็ประมวลสาเหตุหลักๆได้หลายประการ เช่น ชาวบ้านต้องลงไปใช้น้ำในแม่น้ำทุกวัน วันละหลายครั้ง ทั้งเพราะความเคยชินแต่ดั้งเดิม และเพราะไม่มีทางเลือกอื่น ด้วยชุมชนนี้ไม่มีประปาใช้ กรรมการชุมชนสนใจใช้งบประมาณไปทำเรื่องถนนและอื่นๆมากกว่า ทั้งตลิ่งของแม่น้ำนี้ก็ชันมากจนการหาบน้ำมาใช้ในครัวเรือนทำได้ลำบาก ตลิ่งชันนี้เองก็ทำให้คนลงไปใช้แม่น้ำลื่นจมน้ำไปก็มาก ท่าน้ำและสะพานที่มีก็แคบและชำรุด นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มอันธพาลในชุมชนชอบผลักคนที่ตกปลาริมตลิ่งตกน้ำเพื่อแย่งชิงปลาในข้อง ฯลฯ


            จากคำตอบเหล่านี้ นำมาซึ่งคำตอบที่ง่ายขึ้นสำหรับคำถามว่า เราจะลดคนตกน้ำในชุมชนได้อย่างไร
             นักกู้ชีพชวนผู้นำชุมชนให้ประชุมชาวบ้านมาระดมความคิดและกำลังในการแก้ไขปัญหาความเป็นความตายของพวกเขาเอง ความเป็นความตายที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเฉพาะน้ำมือของหน่วยกู้ชีพหรือหน่วยทางการอื่นใดอีกต่อไป
           
              ไม่นานต่อมา ระบบน้ำประปาของชุมชนถูกจัดสร้างขึ้นตามนโยบายใหม่ของสภาชุมชน ชาวบ้านถูกกระตุ้นให้ปรับวิถีการใช้น้ำและห้องน้ำใหม่ ซึ่งจากความสะดวกที่ได้รับจากน้ำประปาที่เข้ามาในบ้าน ทำให้ปรับตัวกันได้ไม่ยาก ตลิ่งที่ชันถูกปรับให้เป็นขั้นบันได มีรั้วกั้นในจุดที่จำเป็น ท่าน้ำและสะพานถูกปรับปรุง อันธพาลถูกชาวบ้านช่วยกันสอดส่องและปราบปราม ฯลฯ

              ในที่สุด จำนวนคนจมน้ำตายลดลงอย่างทันตา จนปัญหาการจมน้ำตายไม่เป็นปัญหาสำคัญสำหรับชาวชุมชนต่อไปอีก

              หน่วยกู้ชีพยังคงทำงานอยู่ในชุมชน ยังทำงานสอนคนว่ายน้ำ เฝ้าระวังเหตุ และลงมือช่วยคนตกน้ำ แต่งานลดลง ประสิทธิภาพสูงขึ้น มีความสุขในการทำงานมากขึ้น และไม่ต้องขยายหน่วยให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆต่อไป นักวิชาชีพบางคนใช้เวลาที่มีเหลือมากขึ้นมาช่วยชาวชุมชนแก้ไขปัญหาอื่นๆจากบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากปัญหาคนจมน้ำ

              หลายๆคนไปเรียนรู้ “กระบวนการพัฒนา” จากนักกู้ชีพกลุ่มนี้ บางคนถามเขาว่า ในกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมด ขั้นตอนไหนสำคัญและลำบากที่สุด?


               นักวิชาชีพผู้กลายเป็นนักพัฒนาตอบอย่างไม่ลังเลว่า ตอนที่จะต้องเริ่มคิดออกนอกกรอบวิชาชีพการกู้ชีวิตคนจมน้ำที่ร่ำเรียนฝึกฝนมา อันเป็นความเชี่ยวชาญพิเศษของตน ไปสู่การแก้ที่สาเหตุของปัญหา ที่ต้องใช้ความรู้และความร่วมมือจากคนอื่น แต่การเปลี่ยนแปลงตนที่ยากที่สุดนี้ก็นำมาซึ่งผลการรักษาชีวิตคนได้มากที่สุด 

                อ่านเรื่องนี้  นึกย้อนเปรียบเทียบกับวิวัฒนาการของสุขภาพได้ดีทีเดียว  เพราะมันได้สะท้อนถึงยุคที่เราพยายามทำตัวเป็นฮีโร่เข้าไปแก้ไขปัญหาสุขภาพของชาวบ้าน  แต่พอทำๆๆๆไปชักรู้สึกว่า  เอ...ปัญหามันไม่ยักลดแหะ...มันยังไม่หมดสักที   ก็เลยเริ่มมีการคิดจะสอนทันตสุขศึกษา...สอนแปรงฟัน   ต่อมาก็รู้ได้ว่ามันก็ไม่เวิร์คเท่าที่ควร   การป้องกันเช่น  การเครือบหลุมร่องฟัน  และฟลูโอไรด์ก็จึงเป็นมาตรการที่ถูกหยิบนำมาใช้  ซึ่งก็ทำได้ดีในระดับหนึ่ง  แต่ก็ไม่ถึง..คำว่า "สุขภาพที่ดี"  ดังนั้น  ปัจจุบัน  "แนวคิดการส่งเสริมสุขภาพ" จึงมาแรง....และอินเทรนเป็นอย่างมาก  ซึ่งหลักการ ก็คือพยายามทำให้คนส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตัวพวกเขาเอง  เราเป็นแค่ผู้กระตุ้น  ไกล่เกลี่ย ประสานความช่วยเหลือให้พวกเขาสามารถสร้างสุขภาพที่ดีให้เกิดขึ้นเอง

                ก็ลองอ่านอย่างพิจารณาดูนะครับ..ว่านักกู้ชีพอย่างเราๆที่ก้มหน้าก้มตารักษาฟันคนไข้นั้นน่ะครับ  เป็นคำตอบสุดท้ายของการแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปากหรือเปล่า  เรายังคงคิดว่าปัญหาสุขภาพยังเป็นของเรา  ที่เราต้องแบกเอาไว้อยู่เสมอหรือเปล่า....ถ้าไม่...มันเป็นปัญหาของใคร....และใครควรจะต้องเข้ามาแก้ไข....และควรจะแก้ไขอย่างไร..???

คำถามต่างๆเหล่านี้คงต้องกลับไปคิดหาคำตอบกันเองแล้วแต่ละคนนะครับ

หมอบอล,3 พ.ย.48

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 6366เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2005 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วรู้สึกดีๆที่นักกู้ชีพไม่หยุดคิดที่จะหาทางแก้ปัญหา

ในการทำงานของเราก็คงต้องมีผู้ที่พยายามหาทางแก้ไขปัญหา

ช่วยกันคิด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท