สิ้นยุคมหาวิทยาลัย



หนังสือ  The End of College : Creating the Future of Learning and the University of Everywhere  (2015) เขียนโดย Kevin Carey   ซึ่งมีคำอธิบายความคิดของผู้เขียนใน YouTube ที่นี่  

สิ่งที่ผู้เขียนสื่อคือ มหาวิทยาลัยในรูปแบบปัจจุบันจะสลายไป แทนที่ด้วย “มหาวิทยาลัยแห่งทุกแห่งหน” (The University of Everywhere)    ด้วยพลังของเทคโนโลยีสารสนเทศ    และ รายวิชาเปิดบริการสาธารณะออนไลน์ (MOOCs) ที่เวลานี้ก็มีแพร่หลายมากมาย

เขาให้ข้อมูลจุดอ่อนของมหาวิทยาลัยในสหรัฐ อ่านแล้วน่าตกใจ เช่น นักศึกษาที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย เรียนไป ๖ ปี สองในสามยังเรียนไม่จบ    และมีผลงานวิจัย ที่บอกว่าคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอเมริกันเป็นเวลา ๔ ปี ร้อยละ ๔๖ แทบจะไม่ก้าวหน้าในด้านวิชาความรู้  เป็นต้น     ความอ่อนแอในด้านการส่งมอบผลลัพธ์เช่นนี้ย่อมช่วยเร่งจุดจบ ของตนเองเร็วขึ้น     มหาวิทยาลัยไทยเป็นอย่างไร??? 

เขาบอกว่ามหาวิทยาลัยแรกของโลกก่อตั้งขึ้นที่เมืองโบโลนญา ประเทศอิตาลี เมื่อ ค.ศ. 1088    ผู้ก่อตั้งคือนักศึกษา     เป็นมหาวิทยาลัยของนักศึกษา    จัดการจ้างอาจารย์มาสอน    นักศึกษากำหนดกติกาข้อบังคับให้อาจารย์ต้องปฏิบัติตาม    เช่นจะยกเลิกชั้นเรียนตามอำเภอใจไม่ได้    ต้องมาสอนตรงเวลา ฯลฯ 

ต่อมาสถานการณ์ค่อยๆ เปลี่ยนไป นักศึกษากลายเป็น “ลูกค้า” ตามกติกา อุปสงค์-อุปทาน     ผู้ตั้งกติกา กลายเป็นอาจารย์    การจัดองค์กรเป็นไปเพื่อความสะดวกของอาจารย์    ไม่ใช่เพื่อความสะดวกของนักศึกษา   ในประเทศไทยนักศึกษาต้องถูกเคี่ยวเข็ญให้เรียน    ต่างจากนักศึกษาที่โบโลนญา เมื่อเกือบพันปีก่อน ที่ต้องการเรียน จึงร่วมกันตั้งมหาวิทยาลัย 

ที่จริงนักศึกษาสูญเสียอำนาจหลังการก่อเกิดมหาวิทยาลัยในโลกนี้ไม่นาน     เพราะมหาวิทยาลัยแห่งที่สองของโลก คือมหาวิทยาลัยปารีส  จัดองค์กรเพื่อความสะดวกของอาจารย์

สี่ร้อยปีต่อมา เกิดการปฏิวัติความรู้ครั้งใหญ่ เมื่อเกิดเครื่องพิมพ์กูเต็นเบิร์ก     แต่การเมืองเรื่องอำนาจระหว่าง อาจารย์-นักศึกษาไม่เปลี่ยน  อาจารย์ยังยึดกุมอำนาจไว้อย่างเหนียวแน่น    ในประเทศไทยเราผู้ยึดกุมอำนาจมหาวิทยาลัย คือรัฐ  แม้จะคุมแบบให้ความเป็นอิสระสูงกว่าหน่วยราชการทั่วไป 

มหาวิทยาลัยแพร่เข้าไปในอเมริกาในศตวรรษที่ ๑๗  และในที่สุดสถาปนา ๓ หลักการ    ซึ่งนำไปสู่มหาวิทยาลัย ๓ แบบ คือ (๑) Land grant university  (๒) Research university  และ (๓) Liberal Arts university

Land grant university ตั้งขึ้นตามกฎหมาย Morill Land-grant Act (1862) ที่กำหนดให้รัฐแต่ละรัฐสามารถ ใช้ที่ดินของรัฐ และรายได้จากที่ดิน ก่อตั้งมหาวิทยาลัยได้    มหาวิทยาลัยกลุ่มนี้เน้นอุดมศึกษาเพื่อการมีงานทำ

Research university ได้รูปแบบมาจากเยอรมนี  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดของ Wilhelm von Humboldt    ชื่อบอกชัด ว่าเน้นการวิจัยเพื่อความก้าวหน้าของประเทศ และของโลก

Liberal Arts University ได้แนวคิดจาก Cardinal Newman แห่งสหราชอาณาจักร  ซึ่งเป็นคนรุ่นเดียวกันกับ Humboldt    ที่มองมหาวิทยาลัยเป็นที่เรียนรู้ความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง 

มหาวิทยาลัยในโลกปัจจุบัน เป็นลูกครึ่ง หรือส่วนผสม ระหว่างสามแนวคิดนี้ 

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยกลายเป็นสถาบันที่บริการมีราคาแพง  แถมยังมีประสิทธิภาพต่ำ     คือหลักสูตร ปริญญาตรีสี่ปี  นักศึกษาไม่ถึงหนึ่งในสามเรียนจบตามกำหนดเวลา     และมีตกออกไปเลยจำนวนมาก   นี่ว่าตาม สภาพของสหรัฐอเมริกานะครับ

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ เอื้อให้เกิดการจัดบริการหลักสูตรออนไลน์  ให้บริการเรียนฟรี    แต่ถ้าต้องการสอบเพื่อประกาศนียบัตรต้องจ่ายค่าธรรมเนียม     ยิ่งนับวันยิ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นๆ     ข้อดีคือได้เรียนโดยไม่เสียเงิน เรียนที่ไหนเมื่อไรก็ได้    โดยผู้เรียนต้องกำกับการเรียนของตัวเอง

เขาจึงทำนายว่า ในไม่ช้าก็จะสิ้นยุคมหาวิทยาลัยในรูปแบบปัจจุบัน 



วิจารณ์ พานิช

๑๖ ส.ค. ๖๐


 

หมายเลขบันทึก: 636373เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2017 22:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2017 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท