ข้อสังเกตบางประการต่อที่มาของคำว่า ‘กรอม-ขอม’


 

ในงานเขียนคลาสสิกชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของ จิตร ภูมิศักดิ์ เรื่อง ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม เช่นเล่มที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2547 ได้รวมเอาต้นฉบับงานค้นคว้าเกี่ยวกับ ‘ขอม’ ที่ค้นพบใหม่และไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่ไหนมาก่อนเข้าไว้ในภาคผนวกด้วย ซึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ทำการสอบค้นเอกสารคำเรียก ‘กรอม’, ‘กะหลอม’ และ ‘ขอม’ ในย่านอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป ดังนี้

ตำนานสุวรรณโคมคำของพวกไท (ไต) บันทึกคำเรียกชาวเมืองอุมงคเสลาว่า ‘กรอม’ หรือ ‘กรอมดำ’; ตำนานสิงหนวัติกุมารของพวกไทเมืองเรียกชาวเมืองเดียวกันว่า ‘ขอม’ หรือ ‘ขอมดำ’; ภาษาของไทลื้อเรียก ‘กะหลอม’ หมายถึงพวกชาวใต้ มาจากทางใต้ ผิวคล้ำ ตัดผมสั้น นุ่งผ้าโจงกระเบน; ชาวไทลื้อสิบสองปันนาเรียกพวกไทสยามว่า ‘ก๋าหลอม’ เรียกพวกไทลานนาว่า ‘ยวน’ (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์); ไทใหญ่ในรัฐฉานใช้คำเรียกสำหรับพวกไทสยาม ไทลาว และผู้คนในการปกครองของไทสยามว่า ‘กล๋อม’ หากออกเสียงเรียกคล้ายพวกไทลื้อว่า ‘กะหลอม’ และไม่นับรวมพวก ‘ไต๊โย้น’ หรือไทลานนา (เสถียรโกเศศ); มูเซอเรียกคนไทลานนาว่า ‘กะหลอ’, ‘กะเลาะ’ หรือ ‘เกาะเลาะ’ อันแตกต่างจากพวก ‘ไทสยาม’ และ ‘ไทลาว’; พวกจีนห้อในยูนนานเรียกคนไทลานนาว่า ‘เกอหลอ’;

พวกมอญเขียนว่า ‘โกฺรม’ หรือ ‘โกฺรํ’ ออกเสียงเรียกว่า ‘กรอม’ เช่นปรากฏในพงศาวดารเมืองสุธรรมวดี และยังมีกล่าวถึง ‘กรอมเชียงใหม่’ หมายถึงพวกคนไทลานนา ที่ยกทัพเข้ามาตีเมืองหงสาวดีในปี พ.ศ. 2124 รวมถึงจารึกมอญที่กัลยาณีสีมา พ.ศ. 2022 เขียนถึง ‘โพฺวกสงเกฺราม’ คือคณะสงฆ์กรอม และอีกที่เขียน ‘มหา เถ ปฺษา เกฺราม’ คือมหาเถรตลาดกรอม ซึ่ง ‘กรอม’ ในที่นี้มีภาษาบาลีเขียนคู่ว่า ‘กัมโพช’ หากไม่ได้หมายถึงเขมรแต่หมายถึงพวกไทใหญ่เท่านั้น; พงศาวดารเมืองสุธรรมวดีตรงกับทางพงศาวดารฉบับหอแก้วของพม่า เขียนว่า ‘คฺยวน’ (คฺยวม) เรียก ‘จูน’ ซึ่งเป็นพวกกองทหารที่ยกทัพเข้ามาตีเมืองสุธรรมวดีในปี พ.ศ. 1599 จากอาณาจักรที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จดว่า ‘อรอซะ’ หรือ ‘อโยชะ’ หรือพวกไทสยามลุ่มเจ้าพระยา;

พวกไทลาวผู้ซึ่งถูกไทใหญ่หมายรวมว่าเป็น ‘กะหลอม’ เรียก ‘ขอม’ ด้วยนัยยะหนึ่งหมายถึงพวกเขมรที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นกัมพูชาในปัจจุบันนี้ เพราะรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดีและเรียกชื่อนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ กับอีกนัยยะที่กว้างกว่าหมายถึงข่าและเขมร; ไทลานนาผู้ซึ่งถูกมูเซอ, จีนห้อ และมอญเรียกว่า ‘กะหลอ’, ‘เกอหลอ’ หรือ ‘กรอม’ ก็เรียกพวกที่อาศัยอยู่ทางถิ่นใต้ว่า ‘กัมโพช’ ซึ่งแปลมาจากคำว่า ‘ขอม’ โดยที่ส่วนหนึ่งหมายถึงคนพูดภาษาเขมรที่อาศัยอยู่เมืองพระนครลงไปจนถึงปากแม่น้ำโขงเป็นการเฉพาะ และอีกส่วนใช้ในความหมายแบบเหมารวม ไม่ว่าจะเป็นพวกไหนที่อาศัยอยู่ในลุ่มเจ้าพระยา และไทสยามลุ่มเจ้าพระยาเรียกเขมรและเมืองเขมรว่า ‘ขอม’ เหมือนกับไทลาว ปรากฏหลักฐานในจารึกอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 เช่นในจารึกวัดศรีชุม ที่กล่าวถึงเรื่องเป็นร้อยปีก่อนหน้า เกี่ยวกับการต่อสู้แย่งชิงเมืองสุกโขไทระหว่างขอมสบาดโขลญลำพงผู้รักษาเมือง กับพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง

จิตร ภูมิศักดิ์ ได้สืบสาวความเป็นมาของคำเรียกที่แตกต่างกันในแต่ละพวก และสรุปว่าของเดิมควรเป็นคำว่า ‘กรอม’ โดยพวกที่ไม่ออกเสียงควบกล้ำ ร.เรือ หรือ ล.ลิง อย่างไทใหญ่และไทลื้อใช้การแยกเป็นสองคำแทนว่า ‘กะหลอม’ หรืออย่างพวกไทลาวและไทลานนาใช้วิธีเปลี่ยนเสียงอักษรเป็น ‘ขอม’ หรือพวกพม่าใช้ ย.ยักษ์ แทน ร.เรือ มานานแล้ว และไม่มีแม่กมใช้แม่กน จึงกลายเป็น ‘คฺยวน’ หรือพวกมูเซอไม่มีเสียงตัวสะกดปิดท้ายจึงออกเสียงเป็น ‘กะหลอ’ ยกเว้นพวกไทสยามลุ่มเจ้าพระยาที่ไม่เข้ากฎข้างต้น เพราะออกเสียงควบกล้ำได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังเรียก ‘กรอม’ ว่า ‘ขอม’ นอกจากนั้นยังมีข้อยืนยันจากวิธีการบันทึกตำนานเช่นเมืองสุวรรณโคมคำ คัดจากหนังสือเล่มเดียวกัน หน้า 17 มาดังนี้

เกี่ยวกับเรื่อง กรอม คือ ขอม นี้ ยังมีข้อที่ควรทราบเพิ่มเติมไว้อีกประการหนึ่ง, กล่าวคือ: ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำที่จดเรื่อง กรอม ไว้นี้ ต้นฉบับเดิมเป็นอักษรและภาษาไทยภาคเหนือ, ซึ่งในอักขรวิธีของอักษรไทยภาคเหนือนั้น มีกฎอยู่ข้อหนึ่งว่า ตัวอักษรที่เขียน กร กล้ำกัน (สังโยค) ให้อ่านออกเสียงเป็น ข, นั่นคือเขียน กราบ แต่ต้องอ่าน ขาบ. ที่เขียน กราบ นั้นเพื่อรักษารูปศัพท์เดิม, แต่เวลาออกเสียงให้ออกเสียงตามลิ้นพื้นเมือง.

เมื่อเช่นนี้ ชนพวกที่ตำนานเขียนชื่อว่า กรอม จึงเป็นการเขียนเพื่อรักษารูปศัพท์เดิม และเวลาอ่านต้องอ่านออกเสียงว่า ขอม ตามภาษาพูด (เหมือนเขียน ทรัพย์ แต่อ่าน ซับ ของไทยกลาง). นี่เป็นการยืนยันที่ดีว่า รากคำเดิมของขอม ก็คือ กรอม.  

และ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้สรุปแยกแยะเรื่อง ‘กรอม-ขอม’ ไว้ดังต่อไปนี้

  1. คำเรียกนี้เป็นการเรียกลงมาเป็นทอดๆ คือพวกที่อยู่ด้านเหนือเรียกพวกที่อยู่ทางด้านใต้ พวกที่อยู่ด้านใต้ก็เรียกพวกที่อยู่ด้านใต้กว่าจนถึงใต้สุดในทำนองเดียวกัน ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเผ่าพันธุ์ใดเผ่าพันธุ์หนึ่งเป็นการเจาะจง
  2. ตำนานพื้นเมืองไม่ว่าจะเป็นเมืองสุวรรณโคมคำหรือสิงหนวัติกุมาร ต่างชี้ว่าดินแดนแถบนี้เคยมีพวก ‘กรอม-ขอม’ อาศัยอยู่มาก่อนหน้า กินเขตแดนตั้งแต่ปากแม่น้ำโขงขึ้นมาจนถึงยูนนาน และจากเขตรัฐฉานไปจนถึงแม่น้ำดำในเวียดนามเหนือ มีทิศทางการขยายตัวจากใต้ขึ้นเหนือ มีพวกหนึ่งเป็นสายตรงของเขมรในปัจจุบัน
  3. เป็นเหตุที่ทำให้ทั้งมอญ, พม่า,ไทลานนา, ไทลื้อ และไทใหญ่เรียกผู้คนในแถบลุ่มเจ้าพระยาแบบเหมารวมกว้างๆ ว่า ‘กรอม-ขอม’ คือเคยเป็นดินแดนที่อยู่อาศัยหรือเขตอิทธิพลวัฒนธรรมมาแต่เดิมของพวก ‘กรอม-ขอม’ แม้มีพวกอื่นเช่นไทเข้ามาปะปนในภายหลัง อีกทั้งยังคลุกคลีผสมผสานจนแยกออกจากกันไม่ชัดเจน จึงยังคงเรียกอย่างต่อเนื่องด้วยความเคยชินว่า ‘กรอม-ขอม’
  4. และพวกไทในเขตประเทศไทย เช่น ไทลานนา, ไทอีสาน, ไทสยามลุ่มเจ้าพระยา และไทภาคใต้ ยังใช้คำนี้ในความหมายเฉพาะว่าเผ่าพันธุ์เขมรในอีกทาง เป็นต้น

จิตร ภูมิศักดิ์ ยังได้ตีความตั้งสมมุติฐานถึงที่มาของคำว่า ‘กรอม-ขอม’ ไว้ว่า อาจเป็นคำที่มาจากคำเขมรเดิมว่า ‘กรอม’ ซึ่งแปลว่าข้างล่าง ข้างใต้ หรือใช้เรียกผู้คนบ้านเมือง เช่น ชาวใต้, บ้านใต้, เมืองใต้, เมืองล่าง โดยคำโบราณเขียนในรูป ‘กโรม’ ออกเสียงเรียกว่า ‘กะรอม’ และได้ตั้งคำถามปลายเปิดที่หน้า143 ของหนังสือเล่มเดียวกันไว้ว่า

เปนไปได้หรือไม่ว่า เมื่อไทย, ลาว, ไตโยน ลงมาจากทางเหนือ ตั้งแต่ครั้งแรกเริ่มนั้น ได้มาพบพวกเขมรโบราณในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ แคว้นละโว้, ได้พบพวกเขมรในบ้านเมืองแถบอีสานบางส่วน บริเวณสองฟากแม่น้ำมูล, และได้พบพวกเขมรโบราณบางพวกที่คืบขึ้นไปสุโขทัยบางระยะ; ชาวเขมรโบราณเหล่านี้อาจจะเรียกตัวเองว่าเปนชาวใต้ คือเปนพวก “กรอม”, หรือเรียกพวกตนเองที่อยู่ทางใต้ลงมาว่า “กรอม”, อย่างใดอย่างหนึ่ง, แล้วคำกรอมหรือที่เสียงโบราณเปนกะรอมนี้เอง ที่ไทย, ลาว, ไตโยน รับเอามาเรียกเปนชื่อชนพวกที่มาจากใต้เหล่านี้, เปนกะหลอมสำเนียงหนึ่ง และขอมอีกสำเนียงหนึ่งตามวิธีที่ถนัดในภาษาของตนดังกล่าวแล้ว.   

และย้ำข้อเท็จจริงที่สอบค้นได้ คัดจากหนังสือเล่มเดียวกัน หน้า145 ดังนี้

เรื่องกล๋อม-ขอม-กรอม มาจากภาษาเขมรว่า “กะรอม” นี้เปนแต่เพียงสมมุติฐาน, ไม่จำเปนจะต้องเปนจริงตามนี้. แต่สิ่งที่เปนข้อเท็จจริงซึ่งเราสำรวจได้ก็คือ: กล๋อม-ขอม มีความหมายต่างกันในภาษาและถิ่นต่างกัน, และหมายถึงชนหลายชาติด้วยกัน.  

ซึ่งคำว่า ‘กล๋อม-ขอม-กรอม’ ที่มาจากภาษาเขมรว่า ‘กะรอม’ นี้ เป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะรูปคำ ‘กะรอม’ และความหมายที่ว่า ‘ข้างล่างและข้างใต้’ เพราะเมื่อเข้าไปค้นคำของพวกออสโตรเอเชียติกเพื่อสอบยันเทียบเคียงจาก A Mon-Khmer Comparative Dictionary โดย Harry Shorto ซึ่งรวบรวมตีพิมพ์ไว้โดย Pacific Linguistics ในปี ค.ศ. 2006 มี Paul Sidwell เป็นบรรณาธิการหลัก พบคำเรียกหมายเลข 1391 ‘underneath’ แปลว่าข้างใต้ ภายใต้ ข้างล่าง คัดมาดังนี้

A: (Khmer, Katuic, North Bahnaric, Palaungic, Central Aslian) Sre roum, Bahnar roːm area under house (GUILLEMINET 1959-63), Khasi rum lower part, south; ~ Old Khmer karoṁ, Modern Khmer kraom under, Stieng kruːm, Chrau kroːm area under house, Jeh krum underneath, Halang kruːm underside, Palaung krum under, Khasi khrum space under floor, Temiar kəroːp place beneath (BENJAMIN 1976B 157), Proto-Semai *krɔɔbm under (DIFFLOTH 1977); ~ (*knr- >) Kuy [kduːap] nthròːm, Bahnar kəroːm underneath, Kammu-Yuan kəntruːm, Praok grɯm, (*-um >?) Lawa Bo Luang ŋgraum, Lawa Umphai [ka]ŋgrum, Mae Sariang ŋgɯm under.

B: (Mon) ~ Old Mon kīnrom /kənrom/ (space) under.

(SCHMIDT 1905 64; SHAFER 1965 485; SMITH 1972 49; SKEAT & BLAGDEN 1906 B 165 (a).)

ซึ่งจะเห็นว่ามีการใช้คำนี้ในหลายพวก เช่น

พวก Bhanaric และ Khmer ที่เกาะกลุ่มอยู่ทางตอนกลาง-ใต้ของเวียดนามและในเมืองเขมร: Sre เรียก roum, Bahnar เรียก ro:m, Stieng เรียก kruːm, Chrau เรียก kroːm แปลเหมือนกันว่าพื้นที่ใต้ถุนบ้าน, Bahnar เรียก kəroːmแปลว่า ข้างใต้ ภายใต้, Jeh เรียก krum และ Halang เรียก kruːmแปลว่าข้างใต้, เขมรโบราณว่า karoṁ และปัจจุบันเรียกว่า kraom แปลว่าข้างล่าง ข้างใต้ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นคำเดียวกับ ‘กะรอม’ และ ‘กรอม’

พวก Khasi และ Palaungic ที่เกาะกลุ่มไปทางตอนเหนือของพม่าจนถึงแถวรัฐอัสสัมของอินเดีย: Khasi เรียก rum แปลว่าข้างใต้ หรือทางใต้ และ khrum แปลว่าใต้ถุนพื้นบ้าน, Palaung เรียก krum, Praok เรียก grɯm, Lawa Bo Luang เรียก ŋgraum, Lawa Umphai เรียก [ka]ŋgrum, Mae Sariang เรียกŋgɯm แปลเหมือนกันว่าข้างใต้

พวก Aslian ที่อาศัยอยู่บนคาบสมุทรมาลายา: Proto-Semai เรียก *krɔɔbm แปลว่าข้างใต้

พวก Katuic ที่อาศัยอยู่แถบลาวกลาง-ใต้จนถึงเวียดนาม อีสานและเขมร: Kuy เรียกnthròːm แปลว่าอยู่ข้างใต้ ข้างล่าง เป็นต้น 

และมอญโบราณเรียก kənrom แปลว่าที่ว่างข้างใต้

เป็นคำเรียกที่มีการสอดรับทั้งรูปคำและความหมายกับคำว่า ‘กะรอม’ และ ‘กรอม’ ของทางเขมร และใช้กันอย่างค่อนข้างกว้างขวาง ตั้งแต่พวกเหนือสุดแถบรัฐอัสสัมของอินเดียลงมาใต้สุดปากแม่น้ำโขง และข้ามไปยังคาบสมุทรมาลายา ซึ่งอาจหมายถึงว่าคำเรียกนี้เป็นคำที่ใช้กันทั่วไปในกลุ่มมอญ-เขมร ไม่ได้จำกัดวงเฉพาะพวกเขมรเท่านั้น เป็นคำที่ใครๆ ซึ่งพูดภาษานี้ควรต้องรู้จักเป็นอย่างดีว่าหมายถึงข้างใต้, ภายใต้ หรือข้างล่างที่อยู่ต่ำกว่า

ดังนั้นในภาษากลุ่มพวกเดียวกันเอง ถ้าใช้กับบ้านเรือนที่อยู่อาศัยก็หมายถึงใต้ถุนบ้าน ถ้าใช้กับชุมชนก็หมายถึงชุมชนล่างริมน้ำ ถ้าใช้กับต้นไม้ใหญ่ก็หมายถึงใต้ร่มใบ ถ้าใช้กับแม่น้ำก็หมายถึงภายในท้องน้ำ ถ้าใช้กับสภาพภูมิประเทศก็หมายถึงภายในพื้นที่ลุ่มต่ำกว่าพื้นที่ข้างเคียง และถ้าใช้กับผู้คนก็ควรกินความนัยถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบราบลุ่มต่ำ  

ดังนั้นคำเรียก ‘กรอม’ ในฐานะของ ‘ชาวใต้’ ตามที่ จิตร ภูมิศักดิ์ เห็นว่าเข้าเป็นอย่างดีกับคำของผู้เฒ่าผู้แก่ไทลื้อที่บอกกับเจ้าศักดิ์ประเสริฐ ณ จำปาศักดิ์ ว่า ‘กะหลอมคือชาวใต้’ จึงคือรูปธรรมชั้นบนสุดที่ขยายความหมายจากคำตั้งต้นว่า ‘กะรอม’ ในฐานะของสิ่งข้างใต้, ภายใน และข้างล่าง ผ่านใต้ถุนบ้าน ชุมชนริมน้ำริมตลิ่ง ร่มเงาของไม้ใหญ่ ท้องน้ำกว้าง และพื้นที่ลุ่มต่ำ ผ่านทิศทางของสายน้ำที่ไหลจากภูเขาสูงลงสู่ที่ราบลุ่ม ผ่านการเดินทวนกระแสน้ำของผู้คน และที่สำคัญผ่านเพรียวปากของเจ้าของภาษาก่อนใครๆ ในการเรียกลำดับสูง-ต่ำ หรือบน-ล่าง มากกว่าการระบุตัวตนว่าเป็น ‘ชาวใต้’ ก่อนที่ผู้มาเยือนจะข้ามเขาชันลงมาพานพบ และร้องเรียกตามด้วยท่วงท่าที่ถนัดในแต่ละพวก      

หากความสงสัยก็ยังไม่สิ้นสุดกระบวนท่า ถึงแม้คำว่า ‘กรอม’ จะถูกใช้อย่างกว้างขวางกันไปทั้งย่านของพวกมอญ-เขมร แต่เพราะรูปคำและความหมายแบบ ‘underneath’ ช่างสอดคล้องกับกลุ่มคำดั้งเดิมของพวกไท-กะไดและออสโตรนีเซียน ที่เกิดจากคำรากแก้วพยางค์เดียวว่า *ram/rum ผู้มีความหมายนามธรรมแรกเริ่มว่า ‘อยู่กับที่ตั้ง อยู่ภายใน และมืดทึบอับแสง’ (แสดงไว้ในเรื่อง ‘ผมเผ้าเกล้าร่มเงา’ ของ ‘คนพูดไท’) เป็นความต้องกันที่อาจมีนัยยะซ่อนเร้นบางอย่างที่สำคัญ จนไม่ควรปล่อยให้ผ่านเลยไปโดยง่ายดาย

ในพวกออสโตรนีเซียน โดยเฉพาะทางสายอินโดนีเซียปรากฏคำจำนวนมากที่คาดว่าแตกตัวออกไปจากรากคำนี้ อาทิ ‘aram’ (dim, dull) แปลว่ามืดมัว ทึบ, ‘beram/biram’ (dark red in color) แปลว่าสีแดงเข้ม, ‘buram’ (dull color) แปลว่าสีออกด้าน, ‘curam’ (deep inside) แปลว่าลึกล้ำ, ‘eram’ (to stay) แปลว่าอยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปไหนมาไหน, ‘geram’ (very angry) แปลว่าโกรธจนตัวแดงกล่ำ, ‘guram’ (gloomy) แปลว่าหมองมัว ไม่สดใส, ‘iram’ (to fade) แปลว่าสีตก เปลี่ยนสี ใช้กับผ้า, ‘karam’ (to sink) แปลว่าจมลงที่ก้นทะเล มักใช้กับเรือ, ‘keram’ (to stay) แปลว่าอยู่แต่ในบ้าน เฝ้าบ้าน, ‘laram’ (many) แปลว่าจำนวนมาก, ‘muram’ (dim, silent) แปลว่ามืดมัว เงียบเหงา, ‘peram’ (to hatch) แปลว่าเพาะบ่มให้สุก ใช้กับผลไม้ หรือเก็บความลับไว้ไม่เปิดเผยก็ได้, ‘rambai’ (fur) แปลว่าเส้นขนยาวละเอียด, ‘rambak’ (to heap) แปลว่าเติมสุมเข้าไปมากๆ, ‘rambang’ (to face down into water) แปลว่าล้างหน้าล้างตาด้วยการเอาหน้าจุ่มลงไปในน้ำ, ‘rambat’ (to fill in) แปลว่าเพิ่มเติมเข้าไป, ‘rambut’ (head hair) แปลว่าเส้นผม, ‘rampak’ (to heap) แปลว่ากิ่งก้านสาขามากมาย สุมรุมทับถมก็ได้, ‘rampung’ (to finish) แปลว่าทำเสร็จสิ้น, ‘seram’ (to fear) แปลว่าขนลุกตั้งชันเพราะความกลัว, ‘siram’ (to bath, to wash) แปลว่าล้างน้ำหรืออาบน้ำให้สะอาดก็ได้, ‘suram’ (blur, dark, dull) แปลว่ามืดมน ไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่ชัดเจน ตามัวก็ได้, ‘taram’ (dim, gloomy) แปลว่าอ่อนแรง มัวๆ สลัวๆ ใช้กับแสงจันทร์, ‘harum’ (fragrant) แปลว่าหอมหวน, ‘rumbu’ (no direction, to flood) แปลว่าไม่มีทิศทางแน่นอน หรือท่วมท้น, ‘rumput’ (grass, weed) แปลว่าหญ้า หรือวัชพืชที่งอกตามพื้นดิน

และ ‘rumah’ (house) เป็นคำที่โดดเด่นเป็นพิเศษของกลุ่ม แปลว่าบ้านเรือน ใช้กันอย่างกว้างขวางในหมู่ออสโตรนีเซียน (แต่ไม่ใช่ในพวกไท-กะได) เป็นคำเรียกบ้านเรือนที่ถูกตีความว่าพัฒนาสืบสานลงมาจากรากภาษาที่มีความใกล้ชิดกับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยน้ำมากกว่าคำเรียกบ้านเรือนของพวกไท-กะไดอย่างเห็นได้ชัด คำสืบสร้างในชั้น Proto-Austronesian คือ *ʀumaq (คัดจาก Kamus Besar Bahasa Indonesia ค.ศ. 2012 เป็นหลัก)

คำที่คัดยกมาข้างต้น แม้ต่างแสดงความหมายของตัวเอง หากเมื่อจับลงไปที่รากคำจะพบว่าทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่มีพื้นฐานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการฉ่ำแช่นิ่งอยู่ภายในที่ตั้ง ไม่เคลื่อนไหวไปทางไหน เอ่อท่วมท้นสุมรุมทับถมกันอยู่แต่ภายใน เป็นสภาพแวดล้อมแบบเชิงปิดเก็บตัวอยู่ภายใต้ความมืดทึมและหม่นหมองมากกว่าการเปิดโล่งรับแสงเจิดจ้าจากภายนอก เพาะบ่มฟูมฟักตัวตนแบบฤๅษีเฒ่าเครายาว ผู้ซุ่มสมาธิเงียบใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่ หรืออยู่ยามเฝ้าถ้ำที่เห็นเพียงแสงรำไร มีแต่ความสันโดษเข้าครอบงำระคนเงียบเหงา ซึ่งอาจสุ่มเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าในบางที

ในขณะที่พวกไท-กะได ก็พบคำลูกหลานแตกตัวออกไปจำนวนมากเช่นกัน โดยเฉพาะคำของพวกไทสยามลุ่มเจ้าพระยา ทั้งคำโดดพยางค์เดี่ยวและคำควบกล้ำ ซึ่งประกอบด้วยเสียงขึ้นต้นที่หลากหลาย แต่ไม่มากสระ และมักเกิดเกาะกลุ่มกันเป็นชุด ได้แก่ อำ, อา, อึ, อุ, โอะ, ออ และปิดท้ายด้วยแม่กมเท่านั้น เช่นคำว่า ‘กร่ำ/กรอม/กร่อม’, ‘ขำ/ขาม/ขุม’, ‘คร่ำ/คร้าม/คร่อม’, ‘งำ/ง้ำ/งม/งอม’, ‘จำ/จุ่ม/จม/จ่อม’, ‘ชำ/ช่ำ/ชุ่ม/ชอม’, ‘ซำ/ซึม/ซุ่ม/ซม’, ‘ถุม’, ‘ทึม/ทุ่ม’, ‘บ่ม’, ‘ผม’, ‘พำ/พรำ/พร่ำ/พึม’, ‘หมม/มอม’, ‘รำ/ร่ำ/รุม/รม/ร่ม’, ‘สุม/สุ่ม’ และ ‘อำ/อ่ำ/ออม’ เป็นต้น ซึ่งหลายคำเป็นคำที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในพวกไท-กะได เช่น

คำว่า ‘ผม’ (head hair) ซึ่งแปลว่าร่มเงาอันศักดิ์สิทธิ์ของกบาลอันสูงส่ง มีคำสืบสร้าง Proto-Tai ว่า *prɤm A, Proto-Hlai ว่า *hnom, Proto-Lakkja ว่า *glom A1 และ Proto-Kam-Sui ว่า *pram1 (Austronesian Basic Vocabulary Database ค.ศ.2008)

คำว่า ‘ร่ม’ (shadow, shade) แปลว่าพื้นที่ที่มีแสงน้อย ส่วนที่บดบังแสง เป็นเงาๆ และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า*rɤmB (Pittayawat Pittayaporn ค.ศ. 2009) และในพวก Hlai ใช้คำภาษาอังกฤษว่า ‘night blind’ ซึ่งสืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai ว่า *rom (Peter Norquest ค.ศ. 2007)

คำว่า ‘จม’ (to sink, to dive) มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ‘จุ่ม’ เป็นอาการมุดลงไปข้างใต้และฝังตัวอยู่ภายในนั้นเป็นเวลายาวนาน เช่น จมน้ำ ดำน้ำ หรือจมดิ่งลึกลงไปข้างใต้ มีคำสืบสร้างโบราณเช่น Proto-Kam-Sui ว่า ʔram.A (Iiya Peiros ค.ศ. 1998) และ ʔram.1 (Graham Thurgood), Proto-Tai ว่า *cɤmA (Pittayawat Pittayaporn ค.ศ. 2009), Proto-Hlai ว่า *ʨom (Peter Norquest ค.ศ. 2007)

คำว่า ‘ถุม’ (to flood) เป็นคำที่ใช้สำหรับแสดงอาการเอ่อล้นท่วมท้นของมวลน้ำรอการระบาย เป็นคำเก่าของพวกไท-ไตมานมนาน อย่างน้อยก็ปรากฏในพระนามของพ่อขุนศรีนาวนำถุม ตั้งแต่ยุคต้นอาณาจักรสุกโขไทปลายพุทธศตวรรษที่ 18 มีคำสืบสร้าง Proto-Tai ว่า *C̬.tuəmB (พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ค.ศ. 2009)

คำว่า ‘บ่ม’ (to hatch) แสดงอาการหมกหมักของบางอย่างอยู่ภายในจนได้ที่ มักใช้กับผลไม้ พบคำสืบสร้าง Proto-Kra ว่า *kəm C (วีระ โอสถาภิรัตน์ ค.ศ. 2000), Proto-Kam-Sui ว่า *plam.A (Ilya Peiros ค.ศ. 1998) และ *pram.1 (Graham Thurgood)

คำว่า ‘รม’ (to smoke) แสดงนัยยะคล้าย ‘รุม’ คือการรมสุมควันไฟให้ร้อนขึ้นทีละน้อย หรืออบด้วยควันหรือไอไฟ ในภาษาของพวก Hlai มีคำว่า ‘to heat’ ออกเสียงได้ใกล้เคียงกับ ‘รม’ มาก สืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai ว่า *ɾə:mʔ (Peter Norquest ค.ศ. 2007)

และคำอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่เป็นคำในภาษาของไทสยามลุ่มเจ้าพระยา เช่น

คำว่า ‘กร่ำ’ (blur, dim) เป็นคำที่ใช้คู่กับ ‘กรุ่น’ แปลสีมัว ๆ ไม่ชัด และในอีกความหมายว่าการดายหญ้าที่เป็นพงรกเรื้อให้โล่งเตียนต่ำเตี้ยลง, คำว่า ‘กรอม’ (enclosed, to mourn) แสดงการปิดล้อมไว้ภายใน หรือปกคลุมยาวลงมามากเกิน เช่น กรอมส้น และอีกนัยยะแสดงอาการเจ็บช้ำสิ้นหวังจมจ่อมอยู่ภายใน เช่น ตรอมใจ, คำว่า ‘กร่อม’ (slow, to continue) แปลว่าช้าๆ วนไปเรื่อยๆ เช่น กรำฟ้ากรำฝน,

คำว่า ‘ขำ’ (hidden) แปลส่วนหนึ่งว่าปิดบังซ่อนเร้นไว้ซึ่งบางอารมณ์, คำว่า ‘ขาม’ (to fear) แปลว่าความเกรงกลัวในอิทธิพลครอบงำบางอย่าง, คำว่า ‘ขุม’ (treasure, accumulation, pit) เป็นแหล่งหลุมสำหรับกักเก็บสิ่งต่างๆ ไว้ภายใน,

คำว่า ‘คร้าม’ (to fear) มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ‘ขาม’, คำว่า ‘คร่อม’ (to straddle) เป็นอาการถ่างขานั่งทับอยู่กับที่ไม่ไปไหนมาไหน หรือเป็นการครอบงำแสดงอำนาจเหนือบางสิ่ง, คำว่า ‘คร่ำ’ (very old) คำนี้ใช้ในหลายนัยยะ เช่น คร่ำเคร่ง คือการหมกตัวมุ่นอยู่กับบางสิ่ง, คร่ำครึ คือความเก่าแก่โบราณ, คร่ำหวอด คือความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง,

คำว่า ‘ง้ำ’ (to cover) เป็นการยื่นอำนาจโค้งงุ้มเข้าไปปกคลุมเหนือบางสิ่ง, คำว่า ‘งม’ (to look for) ใช้กับการควานหรือคลำหาบางสิ่งที่ต้องการ มักใช้กับเรื่องของน้ำ เช่นงมหาของใต้น้ำ, คำว่า ‘งอม’ (ripe) มักใช้กับผลไม้ที่บ่มจนสุกเต็มที่แล้ว, คำว่า ‘งำ’ (to govern, to keep) เป็นคำโบราณคำหนึ่งของพวกไท-ไต ในความหมายว่าการเข้าครอบงำมีอิทธิพลเหนือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และในความหมายว่าการปิดบัง เก็บงำ,

คำว่า ‘จำ’ (to remember, jail) เป็นคำที่ถูกใช้ในสองนัยยะที่สำคัญคือ การเรียนรู้เพื่อให้จดจำ และการกักขังหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ออกไปไหน, คำว่า ‘จุ่ม’ (to dip) ใช้กับการหย่อนตัวลงแช่ในบางอย่างเป็นการชั่วคราว, คำว่า ‘จ่อม’ (to dip, to sit) เป็นคำที่มีความหมายคล้ายกับ ‘จุ่ม’ และ ‘จม’ คือการหยุดนิ่งอยู่กับที่ชั่วขณะ หรือฝังตัวอยู่เงียบๆ ชั่วครู่ชั่วคราว เพื่อให้เกิดการหมักบ่มพอได้ความชุ่มโชก จึงเคลื่อนตัวออกไป,

คำว่า ‘ชำ’ (to plant) ใช้กับการเพาะชำกล้าไม้, คำว่า ‘ช่ำ’ (much) มักใช้กับคำว่า ‘ชอง’ เป็น ‘ช่ำชอง’ ในความหมายว่าเชี่ยวชาญอย่างมาก, คำว่า ‘ชุ่ม’ (to soak) มีความหมายเหมือนกับ ‘ช่ำ’, คำว่า ‘ชอม’ (to sink, to dip) มักใช้กับคำว่า ‘รอม’ กลายเป็น ‘รอมชอม’ คือการนั่งลงเพื่อพูดคุยยอมความกันในเรื่องต่างๆ,

คำว่า ‘ซึม’ (seepage) ทางหนึ่งใช้ในความหมายว่ารั่วซึมออกมา ในอีกทางใช้กับอาการซึมเศร้าหมดแรงสิ้นหวัง หรืออกหักจากความรักจนต้องนอนซมเลียบาดแผล, คำว่า ‘ซุ่ม’ (to ambush) คือการแอบซ่อนตัวเงียบ หรือเฝ้ามองบางอย่างจากที่ตั้ง, คำว่า ‘ซม’ (sleepy, sick) คำนี้มักใช้กับการล้มตัวลงนอนอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรสิ้นเรี่ยวแรง, คำว่า ‘ซำ’ (seepage water) คำนี้เป็นคำเรียกแหล่งน้ำซับน้ำซึมซาบของพวกไท-ไตถิ่นลุ่มน้ำของมาแต่เดิม,

คำว่า ‘ทึม’ (gloomy) ใช้สำหรับสีมัวๆ ไม่สดใส, คำว่า ‘ทุ่ม’ (to dump) มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ‘ถุม’ หรือ ‘ท่วม’ เป็นการทุ่มเทแบบให้ท่วมท้น เช่นทุ่มตลาด,

คำว่า ‘พำ’ (to tumble) แสดงการล้มคว่ำลงไป, คำว่า ‘พรำ’ (to drizzle) มักใช้กับฝนที่ตกปรอยๆ ต่อเนื่องไม่ยอมหยุด, คำว่า ‘พร่ำ’ (to constant, to continue) เป็นการกระทำหมกมุ่นในสิ่งเดิมๆ อย่างต่อเนื่อง มักใช้กับการคร่ำครวญเพ้อรำพัน, คำว่า ‘พึม’ (to mumble) มักใช้กับการบ่นอยู่เรื่อยๆ เช่น พึมพำ,

คำว่า ‘หมม’ (to pile up) มักใช้คู่กับ ‘หมัก’ เป็น ‘หมักหมม’ เช่น หมักหมมเสื้อผ้าที่ใส่แล้วเป็นกองพะเนินไม่ยอมซักจนเกิดกลิ่นเหม็น, คำว่า ‘มอม’ (dirty) แสดงถึงเนื้อตัวเสื้อผ้าที่สกปรกดำมอมแมม หรือการถูกลวงให้หลงมัวเมาในบางอย่าง,

คำว่า ‘รำ’ (dimly) คำนี้มีหลายความหมาย หากที่ตรงกับนิยามมากที่สุดคือคำว่า ‘รำไร’ ซึ่งหมายถึงขมุกขมัวมองไม่ค่อยเห็น มีแสงจางๆ, คำว่า ‘ร่ำ’ (to constant, to hatch) มีนัยยะของการใช้ใกล้เคียงกับคำว่า ‘พร่ำ’ และยังใช้กับการอบร่ำด้วย, คำว่า ‘รุม’ (to warm) แสดงอาการกรุ่นร้อนอยู่ภายใน เช่น เป็นไข้รุมๆ หรือย่างเนื้อด้วยไฟอ่อนๆ อย่างช้าๆ หรือหมายถึงการโดนรุมล้อมมากมาย,

คำว่า ‘สุม’ (to heap) ให้ความหมายคล้าย ‘รุม’ เช่น การสุมรุม กองสุม กองพะเนิน แออัดกันอยู่ข้างใต้ อย่างไร้ระเบียบ และในสมัยก่อนยังหมายถึงป่าไม้ด้วย, คำว่า ‘สุ่ม’ (coop) เข้าใจว่าความหมายแรกเริ่มของคำนี้น่าจะอยู่ที่เครื่องจักสานทรงโค้งครอบลงมา เพื่อดักจับสัตว์ หรือกักขังสัตว์ไว้ภายใน คล้ายกับคำว่า ‘สุม’ ก่อนจะขยายความหมายมาเป็นการสุ่มตัวอย่าง หรือการเดาสุ่มในภายหลัง,

คำว่า ‘อำ’ (to hide) คือการปิดบังไว้ไม่เปิดเผย, คำว่า ‘อ่ำ’ (dim, dark) เป็นคำไทยโบราณแปลว่ามัวมืด สลัว, คำว่า ‘ออม’ (to keep) เป็นคำที่มีความหมายตรงตัว คือเก็บงำไว้ เป็นต้น

ซึ่งจะสังเกตว่าต่างมีพื้นฐานเชื่อมโยงถึงกันบางอย่างคือ บางสิ่งอยู่ภายใน จมอยู่ข้างใต้ อยู่กับที่หรือวนเวียนหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเดิมๆ อบร่ำสุมรุมกันอยู่ ครอบงำหมักบ่มจนฉ่ำชุ่ม และเอ่อท่วมท้น ในที่ร่มและอับแสง อันแทบไม่แตกต่างจากความหมายของกลุ่มคำอินโดนีเซีย และคำว่า ‘กรอม’ ของทางมอญ-เขมร

จนทำให้อดคิดไปตามประสาไม่ได้ว่า หรือคำว่า ‘กรอม’ ของมอญ-เขมร กับกลุ่มคำที่เกิดจากรากคำ *ram/rum ของทั้งไท-กะไดและออสโตรนีเซียน อาจเคยมีความสัมพันธ์ร่วมกันมาแต่หนหลัง โดยเป็นความสัมพันธ์ที่ผู้เขียนขอตั้งสมมุติฐานในเบื้องต้นว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า คำว่า ‘กรอม’ ของมอญ-เขมรเป็นคำยืมชั้นโบราณชนิดเก่าแก่มากๆ จากคำในกลุ่มรากคำ *ram/rum ของพวกไท-กะได หรือออสโตรนีเซียน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะจากความหมายพื้นฐานที่ว่า ‘ข้างใต้และภายใน’    

และยิ่งร้อยรัดเข้ากับคำรากแก้วพยางค์เดียวคู่ขวัญ *lam/lum ก็ยิ่งเห็นความเป็นไปได้ เพราะว่า*lam/lum คือผู้เป็นเจ้าแห่ง ‘inside, water property and darkness’ ที่แตกตัวออกลูกหลานอย่างมากมายเช่นกันทั้งสองฟากฝั่งทะเล เช่นหมู่คำในพวกไท-กะไดที่สำคัญว่า ‘กล้ำ’ (to merge) แปลว่าการกล้ำกลืนกันของสองสิ่ง, ‘คล้ำ’ (dark) แปลว่ามัวหมอง ไม่สดใส ในสมัยโบราณกว่า 2500 ปีมาแล้ว ยังหมายถึงความมืดค่ำ, ‘ค่ำ’ (night) เป็นคำที่คาดว่าหดสั้นมาจากคำว่า ‘คล้ำ’, ‘ล้ำ’ (inside) แปลว่าการล่วงเข้าไปอยู่ภายในพื้นที่ของอีกสิ่ง มักใช้คู่กับ ‘ลึก’, ‘ลำ’ (a beam, water current) เช่น ลำน้ำ และลำไผ่, ‘ลุ่ม’ (lowland) พื้นที่ราบต่ำที่เต็มไปด้วยน้ำและดินโคลน, ‘หล่ม’ (swamp) มีความหมายคล้าย ‘ลุ่ม’ แปลว่าหลุมโคลนลึก, ‘ล่ม’ (to collapse) เช่นพังทลายลงไปกองรวมกันอยู่ข้างล่าง, ‘หลุม’ (pit) แอ่งลึก เป็นต้น

และหมู่คำในพวกออสโตรนีเซียนที่โดดเด่น เช่น ‘dalam’ (inside) แปลว่าข้างใน ภายใน Proto-Austronesian*i-dalem, ‘alam’ (atmosphere) แปลว่าสภาพแวดล้อม บรรยากาศรอบๆ ตัว, ‘belam’ (blur, to smolder) แปลว่าเชื้อไฟที่ยังมอดไม่หมด หรือมองไม่ค่อยชัด พร่ามัว, ‘ilam-ilam’ (to fade away) แปลว่าค่อยๆ เลือนหายไป, ‘kelam’ (dim, dark) แปลว่าไม่ค่อยสว่าง ทึมเทา, ‘lambak’ (to stack) แปลว่ากองพะเนิน, ‘lambuk’ (to loosen the soil) แปลว่าร่วนซุย, ‘lambung/lumbung’ (stomach, barn) แปลว่าท้อง พุง ยุ้งฉาง, ‘lampung’ (suspension of fine particle in the water) แปลว่าตะกอนดินโคลน, ‘lempung’ (soft material, clay material) แปลว่าโคลน, ‘malam’ (night) กลางคืน, ‘selam’ (to dive, to sink) แปลว่าการดำดิ่งลงไปใต้ผิวน้ำ, ‘silam’ (dim, sunset, to passแปลว่ามืดมัว หม่นหมอง จมลับหายใช้กับดวงตะวัน หรือล่วงเลยมานานแล้ว และ ‘tenggelam’ (to sink, to fade away) แปลว่าจมหาย หรือจมลง เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้นยังอาจมีคำยืมเก่าแก่อื่นๆ ที่มีรูปคำและความหมายอยู่ในร่องเดียวกันกับคำว่า ‘กรอม’ และน่าจะยืมมาจากกลุ่มคำที่เกิดจากรากคำ *ram/rum เหมือนกัน หรือพัวพันป่ายข้ามไปยังกลุ่มรากคำ *lam/lum ของไท-กะไดและออสโตรนีเซียน เช่น

คำหมายเลข 1384 ‘to be in, under, water’ แปลว่าลงไปอยู่ในหรือใต้น้ำ คำนี้อาจยืมมาจากรากคำ*ram/rum มากกว่า *lam/lum ดังคัดจากพจนานุกรมเล่มเดียวกันมาว่า

‡1384 *ram; *raam to be in, under, water.

A: (Mon, Khmer, Katuic, North Bahnaric) ~ Sre kram to sink, submerge, Bahnar kram to be submerged, go to the bottom, Jeh, Halang kram to sink; ~ Khmer, Katuic, Sre, Biat, Chrau tram to soak, wet, Bahnar, Jeh tram to soak, Halang tram to lie in water; ~ Old Mon bram /brɔm/, Modern Mon pròm to founder.

B: (Bahnaric, Nicobaric) Central Nicobarese yaːm-[hətə] to overload [canoe]; ~ Stieng traːm to soak, wet; ~ Bahnar hraːm to soak, wet. (SHAFER 1965 60, 570; SMITH 1972 25, 29.)

Proto-Austronesian *ta[rɣ]əm: Cham tram to steep, Röglai trap, Pangasinan talém to soak (so Proto-Hesperonesian; putatively *-r-). Neither all Mon-Khmer nor all Austronesian forms can be explained by borrowing! Sre &c. kram perhaps ← Proto-Austronesian *kaɣəm (under the entry 1403 *lə(ə)m).

ส่วนใหญ่เป็นคำควบกล้ำที่แสดงรูปคำอยู่ในแนวเดียวกับรากคำ*ram/rum เช่น Sre เรียก kram, Bahnar เรียก kram แปลว่าจมลงไปข้างใต้ หรือ hraːm แปลว่าเปียกชุ่มฉ่ำ, เขมรเรียก tramแปลว่าฉ่ำชุ่มไปด้วยน้ำ, Halang เรียก tram แปลว่าลงไปนอนเล่นอยู่ใต้น้ำ, มอญโบราณเรียก brɔm แปลว่าล่มจมลงไป ซึ่งล้วนหมายถึงอาการแช่จมอยู่ในน้ำทั้งสิ้น และในพจนานุกรมฯ ระบุไว้ด้วยว่า ยังไม่อาจตัดสินได้ว่าใครยืมใครระหว่างมอญ-เขมรและออสโตรนีเซียน แต่ในความเห็นของผู้เขียนให้น้ำหนักไปว่ามอญ-เขมรยืมคำนี้มาจากออสโตรนีเซียนหรือไม่ก็ไท-กะไดมากกว่า โดยมองจากรากคำทั้ง *ram/rum และ *lam/lum เป็นพื้นฐาน

คำหมายเลข 1393 ‘mud, swamp’ แปลว่าดินโคลน หรือหนองบึง อาจยืมจากรากคำ*ram/rum หรือ *lam/lum ทางใดทางหนึ่ง โดยเขมรเรียกแบบควบกล้ำว่า crɔ̀əm แปลว่าน้ำโคลนขุ่นคลั่ก และมอญเรียก hərɜm̀ แปลว่าหนอง บึง

คำหมายเลข 1396 ‘hole’ หลุมบ่อ โดยพวก Biat, Bahnar และ Jeh เรียก troːm, Stieng และ Sre เรียกใกล้เคียงว่า truːm ส่วน Halang เรียกคล้ายๆ กันว่า troam

คำหมายเลข 1397 ‘abandoned, deserted’ แปลว่าละทิ้ง หรือทิ้งให้อยู่อย่างเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย โดยมอญเรียก [sɔn] krèm drāṁ, grāṁ, Praok เรียก gram

และคำหมายเลข 1403 ‘to sink’ จมลับหายไป ซึ่งอาจยืมมาจากรากคำ *ram/rum หรือไม่ก็ *lam/lum คัดจากพจนานุกรมเล่มเดียวกันมาดังนี้

‡1403 *ləm; *ləəm to sink.

A: (Katuic, Viet-Mương, ?Mon) Kuy lɔ̀m to inundate; ~ (*[g]ləm(-s) >) Vietnamese trầm to sink, trẫm [mình] to drown oneself; (or B) ~ Old Mon tinlum /tənløm/, Modern Mon kənɛm to sink; ~ Old Mon tulum to drown oneself, Modern Mon kəlɒm to immerse oneself, bathe.

B: (Palaungic; ~ *t2əəm? >) Palaung hlɯm to dive.

Proto-Austronesian *kaɣəm: Cham karam to sink, &c., Malay karam to be wrecked at sea, &c. (cf. DEMPWOLFF 1938 73, *ka[ḷ]əm; separate Javanese kĕrĕm; BLUST 1972 C? no. 1; Proto-Hesperonesian; perhaps → Sre &c. kram, under the entry 1384 *ram). See BENEDICT 1975 381. Perhaps ← Mon-Khmer are Javanese kèlĕm, kĕlěm to sink (kĕlĕm referred to *kələm dark at DEMPWOLFF 1938 77); Malay tĕnggĕlam to sink.

Kuy เรียก lɔ̀m แปลว่าท่วม บ่า, เวียดนามเขียนว่า trầm แปลว่าจมหาย และtrẫm [mình] แปลว่าถ่วงจมลงไปในน้ำ, มอญโบราณเรียก tənløm แปลว่าจมลับ และ tulum แปลว่าจมน้ำ, Palaung เรียก hlɯm แปลว่าจม และพจนานุกรมฯ ได้เทียบกับคำว่า ‘to sink, to be wrecked at sea and dark’ ของทางออสโตรนีเซียนและเป็นไปได้ที่ทางมอญ-เขมรอาจยืมคำนี้มา ซึ่งผู้เขียนเห็นสอดคล้องว่าเป็นไปได้สูงมากที่จะเป็นคำยืมจากออสโตรนีเซียน หรือไท-กะไดโบราณ ทางใดทางหนึ่ง

สังเกตว่าคำที่คาดว่าเป็นคำยืมเหล่านี้ รวมทั้ง ‘กรอม’ ใช้อย่างค่อนข้างแพร่หลายด้วยรูปคำและความหมายคล้ายๆ กันในหมู่มอญ-เขมร จนอาจตีความต่อเนื่องได้ว่า เป็นไปได้ที่คำยืมโบราณพวกนี้ จะถูกนำเข้ามาใช้ก่อนที่ภาษามอญ-เขมรจะแตกสาแหรกกระจัดกระจายกันออกไป โดยอาจหยิบยืมได้ทั้งจากออสโตรนีเซียน หรือไท-กะได พวกใดพวกหนึ่ง จากการติดต่อกันแต่ครั้งอดีตกาล เนิ่นนานก่อนการมาถึงของพวกไทอพยพทั้งหลาย     

สุดท้ายนี้จึงขอสรุปเสนอเป็นทางเผื่อเลือกเพื่อการถกเถียงอย่างมีสีสันว่า ‘กรอม-ขอม’ ชาวใต้ในหมู่มอญ-เขมร และคำเพื่อนพ้องอีกจำนวนหนึ่ง มีความหมายสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เกี่ยวข้องกับน้ำเป็นสำคัญว่า ‘ลุ่มต่ำ ข้างล่าง ภายใน ข้างใต้ จมลับ ดิ่งหาย ก้นบึ้ง’ อาจเป็นคำยืมโบราณ ที่มีลำดับความเป็นมาจากรากคำดั้งเดิมของทางพวกไท-กะไดและออสโตรนีเซียนว่า *ram/rum รวมถึง *lam/lum อันเป็นรากคำชนิดคู่ผัวตัวเมียมาแต่ชั้นบรรพกาล

        

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 11 กันยายน 2560

คำสำคัญ (Tags): #กรอม#ขอม#กะหลอม
หมายเลขบันทึก: 636354เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2017 20:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2022 08:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for this 'brain teaser'. Now we need some more analysis on ภาษาขอม/พาสากรอม?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท