การใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับในการพิจารณาคดีที่มีลักษณะระหว่างประเทศ


เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ให้อำนาจศาลไทยในการใช้กฎหมายต่างประเทศ กฎหมายต่างประเทศนี้จะหมายถึงกฎหมายแพ่งสารบัญญัติที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในทางแพ่งของเอกชน หรือหมายถึงกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายของต่างประเทศ

                  การใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับในการพิจารณาคดีที่มีลักษณะระหว่างประเทศโดยอาศัยหลักหรือกฎเกณฑ์ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.. 2481 นี้เป็นส่วนหนึ่งของลักษณะวิชา กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (Private International Law)  แต่ทว่าในประเทศไทยในทางปฏิบัติแล้วไม่ค่อยจะมีการนำเอาเรื่องการใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับในการพิจารณาคดีที่มีลักษณะระหว่างประเทศมาใช้อย่างแพร่หลายเหมือนกับในต่างประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากคำพิพากษาของศาลไทยที่อ้างถึงกฎหมายขัดกันหรือพระราชบัญญัติ ฉบับนี้ยังมีไม่มากนัก อย่างไรก็ดี มีการกล่าวอ้างการใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับกับข้อพิพาทในคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษพิจารณาพิพากษาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและคดีการค้าระหว่างประเทศ

            การขัดกันแห่งกฎหมายหรือกฎหมายขัดกันในที่นี้เป็นการนำเอากฎเกณฑ์ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายมาใช้เพื่อนำไปสู่การใช้กฎหมายที่เหมาะสมที่สุดกับข้อพิพาทที่มีลักษณะระหว่างประเทศของเอกชน ซึ่งอาจเป็นกฎหมายต่างประเทศหรือกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ข้อเท็จจริงที่มีลักษณะระหว่างประเทศ หรือ ข้อเท็จจริงที่พัวพันกับต่างประเทศนั่นเองที่เป็นตัวนำที่อาจจะนำไปสู่การใช้กฎหมายต่างประเทศเพื่อบังคับแก่ข้อพิพาทในคดี

               กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย หมายถึง กฎหมายที่กำหนดกฎเกณฑ์ว่าจะใช้กฎหมายประเทศใดบังคับแก่คดีซึ่งมีข้อเท็จจริงพัวพันกับต่างประเทศ หรือกฎหมายที่วางหลักเกณฑ์ว่าจะใช้กฎหมายของประเทศใดมาบังคับแก่คดีที่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกับต่างประเทศในทางใดทางหนึ่ง กฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายนั้นเป็นเครื่องมือของผู้ใช้กฎหมายที่จะใช้ค้นหากฎหมายที่จะนำมาปรับกับคดีนั้นๆได้ถูกต้อง สำหรับประเทศไทยกฎหมายฉบับนี้ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.. 2481

           เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ..2481 ให้อำนาจศาลไทยในการใช้กฎหมายต่างประเทศ กฎหมายต่างประเทศนี้จะหมายถึงกฎหมายแพ่งสารบัญญัติที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในทางแพ่งของเอกชน หรือหมายถึงกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายของต่างประเทศ และกฎหมายต่างประเทศที่จะใช้นี้สามารถนำมาใช้ได้ภายใต้เงื่อนไขและหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง 

1. ความหมายของคำว่า กฎหมายต่างประเทศ           

       หากพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายพ..2481 ที่ว่า ถ้าจะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ และตามกฎหมายต่างประเทศนั้น กฎหมายที่จะใช้บังคับได้แก่กฎหมายแห่งประเทศสยาม และกฎหมายต่างประเทศนั้น กฎหมายที่จะใช้บังคับได้แก่กฎหมายแห่งประเทศสยาม ให้ใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามใช้บังคับ มิใช่กฎเกณฑ์แห่งกฎหมายสยามว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย แสดงให้เห็นว่า กฎหมายต่างประเทศในที่นี้หมายถึง กฎเกณฑ์ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายของต่างประเทศ ไม่ใช่กฎหมายภายในหรือกฎหมายแพ่งสาระบัญญัติของต่างประเทศที่ใช้กับเรื่องนั้นๆ  อย่างไรก็ดี ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายพ..2481 นี้ อาจสรุปความหมายของกฎหมายต่างประเทศได้ดังต่อไปนี้

1) ถ้าตามกฎหมายขัดกันของประเทศนั้น กฎหมายที่จะใช้บังคับ ได้แก่กฎหมายของประเทศนั้นเองแล้ว กฎหมายที่จะยกขึ้นปรับคดีก็คือ กฎหมายภายในของประเทศนั้นเอง เช่นศาลไทยจะต้องทำการพิจารณาปัญหาความสามารถของ มิสเตอร์เอ คนสัญชาติอังกฤษ ศาลไทยจะต้องนำเอากฎหมายอังกฤษซึ่งเป็นกฎหมายของ มิสเตอร์เอ มาใช้ในการพิจารณา ซึ่งกฎหมายอังกฤษในที่นี้หมายถึงกฎหมายขัดกันของประเทศอังกฤษ และตามกฎหมายขัดกันของประเทศอังกฤษนั้น ความสามารถของบุคคลให้พิจารณาตามกฎหมายของประเทศที่มิสเตอร์เอมีภูมิลำเนาอยู่ ปรากฏว่ามิสเตอร์เอมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอังกฤษ ดังนี้ ศาลไทยก็จะยกกฎหมายภายในในส่วนที่เกี่ยวกับความสามารถของบุคคลของประเทศอังกฤษมาปรับแก่คดี          

2) ถ้าตามกฎหมายขัดกันของประเทศนั้น กฎหมายที่จะใช้บังคับ ได้แก่ กฎหมายไทย กฎหมายที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีก็คือ กฎหมายภายในของไทย เช่น ศาลไทยพิจารณาปัญหาความสามารถของ มิสเตอร์เอ ปรากฏว่า มิสเตอร์เอมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ภายหลังที่ศาลไทยพิจารณากฎหมายขัดกันของอังกฤษแล้ว ก็ต้องย้อนส่งกลับมาพิจารณาตามกฎหมายไทย และโดยนัยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ..2481 กฎหมายไทยในที่นี้คือ กฎหมายภายใน ศาลไทยจึงนำบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับความสามารถตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขึ้นปรับแก่คดีได้เลย  

3) ถ้าตามกฎหมายขัดกันของประเทศนั้น กฎหมายที่จะใช้บังคับได้แก่ กฎหมายของประเทศที่สาม ศาลไทยก็ต้องย้อนส่งต่อไปพิจารณากฎหมายของประเทศที่สาม ส่วนกฎหมายของประเทศที่สามจะเป็นกฎหมายภายในหรือกฎหมายขัดกันก็สุดแล้วแต่ว่าหลักกฎหมายขัดกันของประเทศที่สองจะยึดถืออย่างไร เช่น ศาลไทยพิจารณาความสามารถตามกฎหมายขัดกันของอังกฤษ กฎหมายขัดกันของอังกฤษให้พิจารณาตามกฎหมายเยอรมันในสายตาของกฎหมายขัดกันของอังกฤษ กฎหมายเยอรมันในที่นี้หมายถึงกฎหมายขัดกันไม่ใช่กฎหมายภายใน ฉะนั้น ผลจะลงเอยว่ากฎหมายของประเทศใดแน่ที่ศาลไทยจะยกขึ้นปรับแก่คดี ก็สุดแล้วแต่ว่าถ้าศาลอังกฤษพิจารณาคดีนั้นเอง ศาลอังกฤษจะใช้กฎหมายในของประเทศใด แต่ถ้าศาลไทยพิจารณาความสามารถตามกฎหมายขัดกันของประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐนิวยอร์ก กฎหมายขัดกันของรัฐนิวยอร์กให้พิจารณาตามกฎหมายเยอรมันในสายตามของกฎหมายรัฐนิวยอร์ก กฎหมายเยอรมันในที่นี้หมายถึง กฎหมายภายในของเยอรมันไม่ใช่กฎหมายขัดกัน ฉะนั้น ในกรณีนี้ ศาลไทยก็นำกฎหมายภายในของเยอรมันขึ้นมาปรับแก่คดีได้เลย

2. หลักเกณฑ์ในการใช้กฎหมายต่างประเทศ                            

               หากพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายพ..2481 ที่ว่า ในกรณีที่จะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ถ้ามิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ให้ใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยาม”     หมายความว่า คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างการใช้กฎหมายต่างประเทศมีหน้าที่ต้องพิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ถ้าพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ ศาลไทยจะใช้กฎหมายภายในของไทยบังคับ ทั้งนี้ ตามกฎหมายไทยนั้น กฎหมายต่างประเทศ มิใช่ข้อกฎหมายที่ศาลมีหน้าที่ต้องรู้เอง แต่เป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างจะต้องนำสืบกฎหมายต่างประเทศนั้นจนเป็นที่พอใจแก่ศาล อย่างไรก็ดี นักกฎหมายบางท่านมีความเห็นว่า ในการพิจารณาคดี ศาล (ผู้พิพากษา) อาจใช้ความรู้กฎหมายต่างประเทศของตนที่มีอยู่มาประกอบการใช้กฎหมายต่างประเทศได้ การที่กฎหมายบัญญัติให้คู่กรณีนำสืบกฎหมายต่างประเทศโดยถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลไม่รู้เองนั้นก็เพราะศาลไทยไม่จำเป็นต้องรู้ถึงกฎหมายต่างประเทศ แต่ถ้าศาลรู้ก็ชอบที่จะใช้ความรู้นั้นให้เป็นไปตามประสงค์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายพ..2481 ที่ประสงค์จะให้นำเอากฎหมายใดมาใช้ ซึ่งจะยังให้เกิดความยุติธรรมแก่คดีให้มากที่สุด

3. ข้อยกเว้นของการใช้กฎหมายต่างประเทศ  

                   1. พิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายพ..2481 ที่ว่า ถ้าจะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ให้ใช้กฎหมายนั้นเพียงที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแห่งประเทศสยาม  แสดงให้เห็นว่าหากในการนำกฎหมายต่างประเทศนั้นมาใช้บังคับแก่คดีแล้วนั้น จะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่นนี้ไม่สามารถนำเอากฎหมายต่างประเทศดังกล่าวมาใช้ได้            เช่นนี้แล้วก็ย่อมหมายความด้วยอีกว่า หากกฎหมายต่างประเทศที่จะนำมาใช้บังคับนั้นขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ..2481 ก็ย่อมไม่สามารถใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับแก่กรณีนั้นไดเช่นกัน                           

                       2.หากคู่ความฝ่ายใดอ้างกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นต่อศาล คู่ความฝ่ายนั้นมีหน้าที่นำสืบและจะต้องพิสูจน์กฎหมายต่างประเทศนั้นจนเป็นที่พอใจแก่ศาล มิฉะนั้นแล้ว ศาลอาจต้องใช้กฎหมายไทยบังคับแทน

                      3.     ในขณะที่ศาลใช้กฎหมายต่างประเทศนั้นบังคับ หากเกิดมีช่องว่าง ศาลต้องดำเนินการอุดช่องว่างนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กฎหมายต่างประเทศนั้นบัญญัติไว้ทุกประการ      

                    4.     นอกจากนี้การนำกฎหมายต่างประเทศมาใช้    ยังต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเฉพาะเรื่องตามที่บัญญัติไว้ตามมาตราต่างๆของพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พ..2481 อีกด้วยกล่าวคือการใช้กฎหมายต่างประเทศนั้นจะใช้ได้เพียงเท่าที่สอดคล้องกับกฎหมายภายในของไทย                                                                 

                       5.      หากเป็นเรื่องของกฎหมายมหาชนทั้งหลาย  เช่น  กฎหมายอาญา  กฎหมายปกครอง ก็ไม่สามารถนำไปใช้บังคับกับอีกประเทศหนึ่งได้ เพราะกฎหมายเหล่านี้มีลักษณะในการใช้เฉพาะดินแดนของรัฐหนึ่งรัฐใดเท่านั้น  ดังนั้น กฎหมายมหาชนเหล่านี้จึงไม่สามารถนำมาใช้ในขอบข่ายของกฎหมายขัดกันได้เลย

                  ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเปิดทำการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ..2540 เป็นศาลชำนัญพิเศษพิจารณาพิพากษาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและคดีการค้าระหว่างประเทศ ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาภายใต้มาตรา7แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ             พ..2539            คดีส่วนหนึ่งที่ขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หากพิจารณาคู่ความในคดีเหล่านี้แล้ว พบว่า โจทก์และจำเลยมีทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติอื่น เพราะฉะนั้นคดีที่ขึ้นสู่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางบางคดีจึงเป็นคดีที่มีนิติสัมพันธ์ของเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ เนื่องจากมี จุดเกาะเกี่ยว หรือ ข้อเท็จจริงที่พัวพันกับต่างประเทศที่ประธานแห่งนิติสัมพันธ์ หรือ คู่ความในคดี โจทย์หรือจำเลยสามารถใช้กฎหมายขัดกันหรือกฎเกณฑ์ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.. 2481 เพื่อนำไปสู่การใช้กฎหมายต่างประเทศได้ แต่พบว่ามีเพียง ไม่กี่คดีเท่านั้นที่คู่ความกล่าวอ้างการใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับกับข้อพิพาทในคดี อยากจะลองยกตัวอย่างคดีที่เคยมีคำพิพากษาเกี่ยวกับเรื่องการใช้กฎหมายต่างประเทศ                   

1. คดีหมายเลขแดงที่ กค. 473/2544  

          คดีระหว่าง บริษัท ซี.เอฟ.อี.บี.ซิสลี่ โจทย์ และ บริษัทโคฟาร์ มาร์เกตติ้ง จำกัด จำเลย จากฎีกาดังกล่าว จะเห็นว่าแม้ศาลไทยจะยอมรับหลักในเรื่องการนำกฎหมายต่างประเทศมาใช้บังคับแก่คดี  โดยยึดหลักการแสดงเจตนาโดยคู่สัญญา ซึ่งตามข้อเท็จจริงในฎีกา คู่สัญญาได้ทำการระบุไว้ในสัญญาว่าให้ใช้กฎหมายฝรั่งเศส และยังระบุอีกว่าให้ฟ้องยังศาลที่มีเขตอำนาจในกรุงปารีสด้วย  ซึ่งจะเห็นว่ามีสองเงื่อนไข คือ เมื่อเกิดคดีที่ต้องพิจารณาโดยศาลให้ใช้กฎหมายฝรั่งเศสในการพิพากษาคดี  และในการฟ้องคดีต่อศาลให้ฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจในกรุงปารีส  แต่โจทก์เลือกที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขเพียงข้อเดียวคือให้ใช้กฎหมายฝรั่งเศสบังคับ  แต่สำหรับการนำคดีขึ้นสู่ศาลกลับนำมาฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแทน หาใช่ฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจในกรุงปารีสไม่   ดังนั้นศาลไทยจึงได้ใช้กฎหมายไทยแทนที่จะใช้กฎหมายของฝรั่งเศส                                                                    

2. คดีหมายเลขแดงที่ กค.109/2545

            คดีระหว่างธนาคารกรุงไทย จำกัด โจทย์ และ บังคา นาซีโอแนล เดล ลาโวโร เอสพีเอ จำเลย กรณีตามฎีกานี้  เพราะคดีที่ฟ้องร้องเป็นเรื่องของสัญญาขอให้ออกหนังสือค้ำประกันซึ่งเป็นถือว่าสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาโครงการกำจัดมลภาวะทางอากาศซึ่งถือว่าเป็นสัญญาประธาน   ซึ่งถ้าหากสัญญาขอให้ออกหนังสือค้ำประกันที่เป็นคดีพิพาทนั้นไม่ได้เป็นเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาโครงการกำจัดมลภาวะทางอากาศ  แต่เป็นสัญญาประธานเองเลยนั้น ศาลก็จะต้องนำกฎหมายของประเทศอิตาลีมาใช้บังคับในการพิจารณาพิพากษาคดี  เพราะเป็นเรื่องของการใช้กฎหมายต่างประเทศ  อย่างไรก็ตามดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะสัญญาค้ำประกันนี้เป็นสัญญาอุปกรณ์ดังนั้น เมื่อสัญญาโครงการกำจัดมลภาวะทางอากาศ ซึ่งเป็นสัญญาประธานนั้นตกอยู่ใต้เขตอำนาจของศาลไทย  สัญญาขอให้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจึงต้องตกอยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลไทยเช่นเดียวกันกับสัญญาประธาน                

หมายเลขบันทึก: 63583เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2006 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท