กระบวนการสร้างแนวคิดเรื่องพรหมจรรย์ของสังคมไทย


ตัดตอนจากรายงานประจำวิชา สังคมวิทยาการเมือง

ว่าด้วยพรหมจรรย์          ศาสนาพุทธให้ความหมายของพรหมจรรย์ ว่า พรหมจรรย์[พรมฺ-ม-จนฺ] (น.) การ ประพฤติดังพรหม หลักสำคัญในการประพฤติพรหมจรรย์ คือการเว้นจากการเสพเมถุน เพราะ พวกพรหมจริงๆ ไม่มีการเสพเมถุน, ฐานะของผู้ยังไม่ได้แต่งงาน คือการเล่าเรียน, การบวช คือละเว้นเมถุน  พระพุทธเจ้าทรงใช้เป็นอุดมการณ์ในการประกาศในครั้งที่ส่งสาวกไปประกาศศาสนาครั้งแรกจำนวน ๖๑ รูป จุดประสงค์เพื่อความประโยชน์สุขของคนทั่วไป โดยรับสั่งว่า ดูก่อนภิกษุ มรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐ นี้แหละ คือ พรหมจรรย์ ฯ (สํ.ม.๑๙/๓๐/๗) ด้วยเหตุนี้ พรหมจรรย์ จึงได้ชื่อว่า เป็นพุทธจริยธรรม เมื่อพิจารณาในแง่นี้จะเห็นได้ว่า พุทธจริยธรรมนั้นกว้างขวางมาก ในการดำเนินตามแนวทางนี้ นอกจากบุคคลจะสามารดำเนินชีวิตจนบรรลุความดีอันสูงสุดแล้ว สังคมก็ดำเนินไปด้วยความสงบสุขอันเนื่องมาจากการปฏิบัติของบุคคลในสังคมนั้น(1) ดังนั้นพรหมจรรย์ในความหมายแบบนี้จึงมีได้ทั้งชายและหญิง แต่สำหรับสังคมไทยนั้นพรหมจรรย์ดูจะมีอิทธิพลกับคน ๒แบบ คือ ๑.ผู้ออกบวช และ ๒.ผู้หญิง สำหรับผู้ออกบวชในศาสนาพุทธนั้น การประพฤติพรหมจรรย์ถือเป็นพุทธบัญญัติ และจุดประสงค์หลักคือการควบคุมจิตมากกว่ากาย เช่น ในสมัยพุทธกาลพระสุนทระจาริกไปตามถนนในกรุงราชคฤห์ เกิดมีสตรีนางหนึ่งนิมนต์ท่านเข้าไปกราบ แต่นางไม่กราบเปล่าจู่ๆนางก็เลิกจีวรท่านและอมนิมิต(องคชาติ)ท่านโดยที่ท่านไม่ทันระวัง ท่านกลัวจะอาบัติจึงกราบทูลต่อพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถามว่า เธอยินดีหรือ ภิกษุผู้ไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ(พระวินัยปิฏก เล่ม ๑ ข้อ ๖๑ ปฐมภาค ข้อ ๗๗)(2) ดังนั้นพรหมจรรย์ของผู้ออกบวชตามพระไตรปิฏก คือการยึดทางจิตมากกว่ากาย ส่วนสำหรับพรหมจรรย์ของผู้หญิงนั้นมีความคิดดังนี้

             ในด้านสังคมเน้นว่าผู้หญิงดีต้องรักษาพรหมจรรย์ ซื่อสัตย์ต่อสามี จงรักภักดีต่อสามี หญิงเลวเท่านั้นจึงจะมีความสัมพันธ์กับชายมากกว่า ๑ คน(3)ข้อสรุปแบบนี้ผนวกเอาความดี และความเลวของผู้หญิงกับพรหมจรรย์ แต่สังคมไทยโบราณพรหมจรรย์ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอย่างมากก็ถือกันว่า หมดสาวหมดนวล คำว่า กระดังงาลนไฟ นั้นก็ดูจะมีความหมายทางบวกมากกว่าลบ(4) ความคิดเกี่ยวกับพรหมจรรย์ของผู้หญิงปัจจุบันผมไม่แน่ใจว่ารากฐานความคิดแบบนี้เป็นอย่างที่นิธิ ให้ข้อมูลไว้หรือไม่ ดังนี้:
...การถือคุณค่าของลูกผู้หญิง(ที่ยังไม่มีผัว)อยู่ที่พรหมจรรย์นั้นเป็นความคิดของฝรั่ง...ความคิดของฝรั่งแบบนี้เพิ่งแพร่ในเมืองไทยมาไม่นานมานี้เอง อย่างเก่าแก่ที่สุดก็ไม่เกิน ร. ๕ ขึ้นไป เริ่มแรกก็แพร่หลายในหมู่ผู้ลากมากดีที่ไปเรียนหนังสือฝรั่ง ต่อมาพวกนี้ละครับที่เป็นผู้วางรากฐานระบบการศึกษามวลชนในเมืองไทย ก็เลยขยายความคิดฝรั่งแบบนี้ไปในหมู่ประชาชนมากขึ้น และเข้มข้นในแบบที่มีการศึกษาสูงหน่อย แล้วพากันเหมาว่าการยกย่องพรหมจรรย์ผู้หญิงไว้สูงสุดนี้เป็นวัฒนธรรมไทยแท้แต่โบราณ...การมีผัวดีกระทบต่อชีวิตมากกว่าพรหมจรรย์...”(5)           
             เช่นนี้แล้วหากเชื่อนิธิ ผมจึงมองเห็นว่าเรื่องพรหมจรรย์นั้นเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมยุควิคตอเรียนของอังกฤษอย่างยิ่ง และเริ่มแพร่หลายจากชนชั้นสูงของไทยสู่ชนชั้นกลาง การใช้พรหมจรรย์มาควบคุมการร่วมเพศนั้นสื่อไทยมีอิทธิพลอย่างสูงซึ่งข้อสรุปนี้น่าสนใจ เพราะนี่คือข้อพิสูจน์ว่า ชนชั้นกลางที่เข้าถึงอำนาจใช้ความคิดเรื่องพรหมจรรย์เป็นเครื่องมือควบคุมการร่วมเพศของผู้อื่นในสังคม และครอบงำสังคม(เช่นเครือญาติของผู้หญิงให้ดูแลรักษาพรหมจรรย์ของหญิงในดูแล) เพื่อสนับสนุนค่านิยมของการร่วมเพศที่ชอบธรรมที่เป็นมรดกความคิดของชนชั้นปกครองยุคก่อน ซึ่งชนชั้นกลางพวกนี้ก็ใช้การเข้าถึงอำนาจของตนในการ วาด สังคมของการร่วมเพศที่ตนคิดว่าดี ทำตัวเหมือนคัมภีร์เพศศึกษาเดินได้ และคิดว่าตนให้ความรู้แห่งความเป็นคนแก่สังคม เช่น 
...เปิดใจ / ต้อม ยุทธเลิศไอเดียแสบ!! กุหลาบแลกพรหมจรรย์สะท้อนยุคสังคมเสื่อม ...ล่าสุดพร้อมฉายผลงานกำกับฯ ล่าสุดเรื่อง กระสือวาเลนไทน์...ตั้งใจทำหนังเรื่องนี้เพื่อสะท้อนสังคมยุคนี้ ที่วัยรุ่นมักจะให้ค่ากับวันวาเลนไทน์จนแทบจะกลายเป็น วันเสียสาวไปแล้ว เจ้าตัวอยากจะให้วัยรุ่นเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ยืนยันอยากให้วัยรุ่นทุกคนได้มาดูหนังเรื่องนี้...(นสพ. สยามรัฐ  ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๙) 
             อีกข้อพิสูจน์ข้อสรุปทั้งผม และนิธิคือในทุกปีช่วงก่อนวันวาเลนไทน์ วันลอยกระทงสื่อไทยมักจะนำเสนอสถิติบางอย่างที่เกี่ยวกับการร่วมเพศของวัยรุ่น อาทิ
:...ผลวิจัยพาเสียว โจ๋ไทยรอเสี สาวตามเทศกาล ท็อปฮิตต้องวาเลนไทน์ ตามด้วยปีใหม่ และวันจบการศึกษา ด้าน "หมอหน่อย" แฉวัยรุ่นชอบคุยเรื่องเซ็กซ์ ตีค่าความบริสุทธิ์แค่ "เหรียญ 5 บาท" แพทย์ยังพบท้องก่อนแต่งต้องทำแท้งปีละ 3 หมื่นคน... (นสพ. ไทยโพสต์ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗)  ...
"เจ๊เบียบ"มาแล้ว!!! ออกโรงเตือนสาวรุ่นอย่าคิด"ฟรีเซ็กซ์"มอบ"พรหมจรรย์"ให้ชายหนุ่มขยี้คืน "วันลอยกระทง" ระวังตกเป็นเครื่องเล่นชั่วข้ามคืน ก่อนก้าวสู่วงจร"เมียน้อย" เผยวันเพ็ญเดือน สิบสองคือ"วันชุมนุมเพื่อการเสียตัว" เหตุบรรยากาศสุดเป็นใจทำวัยรุ่นไทยรักษา"ไข่แดง"ไม่อยู่... (นสพ.แนวหน้า ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗)  ...ผลสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมด้านเพศสัมพันธ์ หรือ ดูเร็กซ์ โกลบัล เซ็กซ์ เซอร์เวย์ ประจำปี 2548 พบว่าวัยรุ่นไทยจะเสียตัววันวาเลนไทน์มากที่สุด ส่วนวันลอยกระทงมีร้อยละ 5 พร้อมระบุสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยที่ทำให้มีเพศสัมพันธ์...[www.durex.com/2005_11_10]
             ใน ๓ หัวข้อข่าวที่ยกมา ผมมองว่าของ นสพ. แนวหน้านั้นน่าสนใจ มันสะท้อนความพยายามผูกเรื่องเล่าในเรื่องการร่วมเพศของวัยรุ่นเป็นความสัมพันธ์ดังนี้ วันพิเศษ à บรรยากาศ àเสียพรหมจรรย์ à เมียน้อย ชี้ให้เห็นความคิดของผู้ให้สัมภาษณ์ว่ามองวัยรุ่นหญิงว่า จิตใจอ่อนไหวทำให้ถูกหลอกจนเสียคุณค่าความเป็นคนสุดท้ายก็กลายเป็นคนที่ไม่สามารถเป็นไปตามนิยามของความสุขแบบสถาบันครอบครัว หรือในอีกทางคือมองว่าพรหมจรรย์เป็น หัวเลี้ยวหัวต่อ ที่สำคัญในการจะเป็นหญิงดี หรือหญิงเลว พรหมจรรย์ถูกผูกความหมายสัญญะไปกับความบริสุทธิ์(ซึ่งมีนัยทางศาสนา) และกายวิภาค(วาทกรรมทางการแพทย์ที่ว่าเป็นเยื่อบางๆ) ซึ่งการสร้างวาทกรรมต่างในเรื่องพรหมจรรย์นี้ทำให้คนไทยทั่วไปมีความคิดเรื่องการร่วมเพศเปลี่ยนแปลงไป อาทิ ชุมชนเสมือนชุมชนหนึ่ง
ชมรมนี้จัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อ หนุ่มสาว บุคคลทุกเพศทุกวัย ได้ครองตัวและครองความบริสุทธิ์ของตน ไปจนถึงวันที่คุณได้ก้าวย่างไปสู่ประตูแห่งชีวิตคู่หรือประตูวิวาห์ อันจะเป็นวันที่คุณได้มอบความบริสุทธิ์ ในตัวคุณให้กับใครสักคนหนึ่ง เพื่อตอบแทนความรักที่เขามีให้กับคุณหรือคุณมีให้กับเขา เพียงเขาคนเดียวเท่านั้น คนเดียวและครั้งเดียวเท่านั้นในชีวิตคุณ เพื่อ หนุ่มสาว บุคคลทุกเพศทุกวัย ที่เล็งเห็นคุณค่าของพรหมจรรย์ และต้องการสนับสนุนให้เขาเหล่านั้นรักนวลสงวนตัว ดังแนวคิดที่ว่า "รักแท้ต้องรอได้" (True Love Waits)”
แล้วพรหมจรรย์ในความหมายปัจจุบันที่ถูกสะท้อนออกมากลายเป็น
 พรหมจรรย์หรือความบริสุทธิ์ในตัวคุณนั้น ยังคงอยู่กับคุณ หากคุณยังไม่เคยร่วมรัก ซึ่งคุณร่วมรักเพียงครั้งแรกหรือครั้งเดียวเท่านั้น คุณก็สูญเสียพรหมจรรย์หรือความบริสุทธิ์แน่นอนละ ถ้าคุณยังไม่เคยร่วมรัก คุณก็ยังคงรักษาความบริสุทธิ์ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น.......คุณควรมีเพศสัมพันธ์ เฉพาะเมื่อคุณพร้อมเท่านั้น ซึ่งน่าจะอายุประมาณ 20 ปี หรือ 30 ปีขึ้นไป หรือหลังจากคุณแต่งงานหรือก้าวเข้าสู่ประตูวิวาห์ คุณไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าคุณจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเพศ และมั่นใจว่าสามารถมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย แต่ถ้าหากคุณไม่พร้อม ถึงแม้คุณจะอายุเท่าไรหรือคบกับคนพิเศษของคุณมานานขนาดไหน ก็ไม่ควรที่จะมีเพศสัมพันธ์ มันยากนะที่จะทำใจ หากคนรอบข้างคุณไม่มีใครบริสุทธิ์ คุณอาจรู้สึกขาดประสบการณ์เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนของคุณ แต่พยายามอย่าคิดอย่างนั้นเลย ......หากคุณเพียงศึกษาจากเว็บเรา คุณก็รู้แล้วว่าเพศสัมพันธ์เป็นอย่างไร คุณไม่แปลกแยกจากคนอื่นหรอก คุณน่าจะรู้สึกภาคภูมิใจที่สามารถรักษาความบริสุทธิ์ของคุณ เพื่อมอบให้กับเขาเพียงคนเดียวเท่านั้น คุณน่าจะเก็บเกี่ยวความผิดพลาดของคนรอบข้างและรอจนกว่าคุณจะมั่นใจ คุณควรเป็นตัวของตัวเอง ไม่ควรให้คนอื่นมามีอิทธิพลเหนือคุณ นั่นแหละคือสิ่งที่ถูกต้อง(6)
การที่พรหมจรรย์กลายมาเป็นเรื่องที่มีความยิ่งใหญ่ของชีวิตผู้หญิง ราวกับว่าผู้หญิงในสังคมไทยต้องรักษาพรหมจรรย์ในสถานะของสมบัติล้ำค่าที่ไม่สมควรเสียไป การรักษาพรหมจรรย์กลายเป็นเครื่องพิสูจน์รักแท้ระหว่างชาย-หญิง และแน่นอนพรหมจรรย์ดูจะผูกพันกับฝ่ายหญิงมากกว่าชาย เพราะสำหรับฝ่ายหญิงพรหมจรรย์คือสมบัติส่วนตัว ส่วนฝ่ายชายเป็นฝ่ายพยายามช่วงชิงมา การที่พรหมจรรย์สูญเสียได้จากการร่วมเพศเท่านั้นนี่เองทำให้ ชนชั้นกลางบางกลุ่มพยายามกดดันให้องค์กรภาครัฐเข้ามาออกกฎเกณฑ์เช่น กระทรวงศึกษาธิการมีการประชุมเชิงปฏิบัติ ในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๗ เรื่อง การจัดทำแผนปฏิบัติการสร้างเสริมพฤติกรรมเยาวชนและการแก้ปัญหาเอดส์ในสถานศึกษามีการชี้ว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจาก ค่านิยมทางเพศที่ทำให้เด็กมีเพศสัมพันธ์เร็วและบ่อย ทำให้เกิดเพศสัมพันธ์สำส่อน และนำไปสู่ความต้องการทางวัตถุและเพศพาณิชย์ ประเด็นส่วนใหญ่คือ เด็กสมควรเรียนเพศศึกษาหรือไม่ ถ้าเรียนต้องเรียนชั้นไหน สมควรมีการตั้งกล่องจำหน่ายถุงยางอนามัยในสถานศึกษาหรือไม่ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายให้สถานศึกษาดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา ๖ แนวทาง คือ ๑. ให้โรงเรียนเปลี่ยนแปลงความคิดจากการควบคุมเป็นการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ๒. ดึงนักเรียนให้เข้ามาขอคำปรึกษากับครูมากขึ้น ขณะที่ครูจะต้องแสดงออกถึงความรักและความห่วงใยที่มีต่อเด็ก   
๓. พัฒนาสมองในส่วนความคิดให้เด็กรู้จักพิจารณาก่อนที่จะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา
  ๔. ต้องหาทางเลือกให้เด็กได้ปลดปล่อยอารมณ์แทนที่จะมุ่งด้านการเรียนเพียงอย่างเดียว เพื่อให้เด็กรู้สึกมีคุณค่าและภูมิใจในตนเอง เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมทางเพศในแบบผิด ๆ เนื่องจากขาดความภูมิใจในตนเอง ๕. โรงเรียนควรให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาที่ตรงกับความสนใจ และเหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละระดับชั้น และทุกโรงเรียนไม่จำเป็นต้องสอนแนวเดียวกันหมด ๖. ต้องให้ความรู้เรื่องเพศศึกษากับผู้ปกครองด้วย
(7) ชนชั้นกลางกับการสร้างนิยามครอบงำความดีของพรหมจรรย์ 
        การใช้สถาบันเพื่อครอบงำความคิดของพลเมือง เช่น โรงเรียน กรัมชีเรียกสถาบันเหล่านี้ว่า ประชาสังคม(civil society) ซึ่งกรัมชีถือว่าเป็นหน่วย(unit)ที่เครื่องมือของการครอบงำทางอุดมการณ์ทำงานปลูกฝังให้อุดมการณ์ถูกรับรู้ในสถานะส่วนตัว(‘private’ civil society)อย่างมีคุณภาพ(8) ในสถานะที่สังคมไทยปัจจุบันนั้นเป็นสังคมที่ชนชั้นกลางเป็นใหญ่ในด้านการให้คำนิยามในการเข้าใจโลกต่อคนอื่น การนิยามให้กับหญิงดีหญิงเลวนั้น คนชั้นกลางผูกมันเข้ากับความดี หรือความบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีนัยยะทางศีลธรรมอย่างยิ่ง แต่โดยความเป็นจริงแล้วนั้นหากมองด้วยข้อบกพร่องในทางทฤษฎีของพลาโต้ที่ว่า ในการเข้าถึงความดี(ความจริง/ความสมบูรณ์/ฯลฯ)สูงสุดนั้นเป็นไปได้ยาก ความที่ระบบคิดของมนุษย์นั้นรับรู้ใน ๒ ระดับคือ ทางวัตถุ และ ทางจิต แน่นอนว่ามนุษย์จะคิดถึงความดีในระดับจิตให้สมบูรณ์แบบเพียงใดก็ได้ แต่มนุษย์ไม่สามารถยืนยันความสมบูรณ์แบบได้เลย เพราะปัญหาของ relative doza หรือที่ผมนิยามระดับของความรู้ที่เป็นปัญหานี้ว่า fideslitas (ดูคำอธิบายศัพท์ http://gotoknow.org/blog/iammean/50053 )ดังนั้นสิ่งที่ชนชั้นกลางนิยามความดีสูงสุดของผู้หญิงว่าเป็นที่พรหมจรรย์นั้น ก็เป็นเพียง fideslitas ของชนชั้นกลางเพียงกลุ่มหนึ่ง ใช่ว่าเป็นความดีสูงสุดของผู้หญิงทุกคนแต่การที่ชนชั้นกลางไทยนั้นผูกความคิดเรื่องพรหมจรรย์เข้ากับความบริสุทธิ์สะอาด หญิงที่รักษาพรหมจรรย์ไว้เพื่อชายที่ตนรัก และรักตนนั้น คือแนวคิดของชนชั้นกลางยุคใหม่ที่ผูกความรัก, ความอบอุ่นเข้าสู่สถาบันครอบครัว ซึ่งแนวคิดแบบนี้เกิดขึ้นจากมุมมองต่อสังคมของนักคิดเช่น Frederick le Play ที่ว่าการที่สังคมยุโรปเปลี่ยนแปลงสภาพใน ค.ศ. ๑๙ ทำให้สถาบันครอบครัวแตกแยก ข้อเรียกร้องให้สังคมนำความอบอุ่นระหว่างสมาชิกเข้ามาป้องกันครอบครัว นำจริยธรรมแบบชุมชนนิยมมากล่าวโทษสังคมอุตสาหกรรม(9) ซึ่งเมื่อความรักกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของการที่ผู้หญิงเห็นสมควรในการสูญเสียพรหมจรรย์ สิ่งนี้ในทางหนึ่งก็มองได้ว่าเป็นการพยายามสร้างหลักประกันให้สถาบันครอบครัว โดยการนำความรักเข้ามาอธิบายนั้นกลับมีอิทธิพลครอบงำชนชั้นอื่นๆอย่างยิ่ง การนำเข้าความคิดแบบนี้สู่ประเทศไทยนั้นแม้จะกระทำโดยชนชั้นสูงก็ตาม แต่กระนั้นเมื่อเวลาล่วงเลยมาจนปัจจุบัน ชนชั้นกลางเข้ามามีบทบาทในการนิยามความหมายของพรหมจรรย์ผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งก็เพื่อตอบสนองค่านิยมครอบครัวเดี่ยวของชนชั้นกลางไทยเอง ด้วยลักษณะของครอบครัวเดี่ยวเองนั้นก็มีความเปราะบางอยู่แล้วเพราะขาดการควบคุมจากสังคม(10) สำหรับเรื่องพรหมจรรย์ก็เช่นกัน แต่เดิมในสังคมไทยพรหมจรรย์ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญเพราะการควบคุมในระบบสังคมเครือญาตินั้นมีมากกว่าปัจจุบัน การควบคุมของสังคม(รวมทั้งผู้หญิงในสังคม)จึงเป็นเรื่องของการสร้างสัมพันธ์ทางเครือญาติ เช่นการมีผัวดี ชนชั้นกลางที่มีการศึกษาและสามารถเข้าถึงอำนาจของรัฐในระดับนโยบายนั้น สามารถที่จะสร้างคำนิยามต่อทุกๆสิ่งในสังคมของตน ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างกับที่นักปรัชญาแบบกรีก(ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเป็นชาวกรีก)ถามหาสังคมอุดมคติ และพยายามสร้างสังคมนั้นขึ้นมาให้เป็นจริง  การที่จะทำเช่นนี้ได้ต้องผ่านกระบวนการสร้างทางสังคมจากสถาบันต่างๆของภาครัฐ อย่างที่กรัมชีเรียกว่าหน่วย ประชาสังคมซึ่งผลิตอุดมการณ์หลักของการร่วมเพศมาชุดหนึ่ง หนึ่งในนั้นก็มีแนวคิดเรื่องพรหมจรรย์ ซึ่งได้ถูกแปลงให้กลายมาเป็นอุดมการณ์ในการควบคุมการร่วมเพศของคนในสังคม พรหมจรรย์จึงเป็นตัวอย่างของอุดมการณ์หลักเรื่องการร่วมเพศที่ถูกผนวกจารีตโบราณเข้ากับจารีตที่ถูกนำเข้า และนำมาร่วมกันผลิตซ้ำ ที่แม้ดูว่ามีราก แต่รากนั้นก็ปรับเปลี่ยนไปตามใจของคนกลุ่มหนึ่ง และถึงจะดูเหมือนเป็นนิยามที่ถูกใคร่ครวญอย่างดี แต่ก็เป็นไปในแบบคิดสั้น ไม่ได้ถูกสร้างให้คิดใคร่ครวญ เพราะเมื่อพรหมจรรย์ถูกผูกกับศีลธรรม เมื่อนั้นมันก็มีนัยที่ว่าต้องเชื่อในเวลาเดียวกันในสังคมสมัยใหม่นั้น การสร้างความปกติ(ซึ่งสำหรับผมพิธีกรรม/ปรัชญา/ศาสนาในสังคมก่อนสมัยใหม่ก็สร้างวาทกรรมแบบเดียวกัน) คือการยืนยันว่าชีวิตมนุษย์มีความมั่นคง แต่ดังกล่าวมาแล้วว่าในสังคมสมัยใหม่นั้นวาทกรรมนั้นถูกท้าทาย โดยกระแสวิธีคิดแบบหลังสมัยใหม่ วาทกรรมของการร่วมเพศที่ชอบธรรมนั้นก็ย่อมต้องถูกตั้งคำถาม แต่ซึ่งที่เกิดขึ้น(เช่นสังคมไทย)คือเรื่องเพศไม่ใคร่จะถูกตั้งคำถาม
ลองมองไปที่คำอธิบายของฟูโกต์ที่ว่าในสถานะที่วาทกรรมคือปริมณฑลที่อำนาจและความรู้มาบรรจบ(power/knowledge) โดย อำนาจเป็นบางสิ่งซึ่งมีการไหลเวียน มีบทบาทหน้าที่ในรูปลักษณ์ของสายโซ่อันหนึ่งที่สมบูรณ์ แต่ไม่ได้มีการเชื่อมโยงที่เฉพาะเจาะจง หรือแรงกระตุ้นต่างๆที่มีผลในความเชื่อมโยง(11) หรือพูดให้สั้นอำนาจมีอยู่ทุกที่ ซึ่งมนุษย์ผู้รับรู้ถึงอำนาจนั้นก็ต้องมีความรู้แบบวิทยาศาสตร์(scientific method) มีเหตุผล(rationality) และรับรู้หรือถูกทำให้รับรู้ในปริมณฑลทางอำนาจนั้นๆ ในเรื่องของการควบคุมในเรื่องเพศนั้นก็ไม่ได้ต่างไปจากคำอธิบายนี้ เช่นเรื่องพรหมจรรย์นั้น ในสังคมไทยสมัยใหม่ได้ผูกความหมาย สัญญะทั้งด้วย วาทกรรมทางการแพทย์, วาทกรรมการศึกษา, วาทกรรมศาสนา, วาทกรรมจารีตประเพณี ฯลฯ ซึ่งแน่นอนในสถานะมนุษย์ผู้ซึ่งบริโภคข้อมูลข่าวสาร หรือก็คือความรู้ที่มาพร้อมอำนาจครอบงำบางอย่างมาให้แล้ว อย่างไรก็ดี การร่วมเพศภายใต้สถาบันแต่งงานของชนชั้นกลางก็เน้นว่าเกิดในระหว่างชนชั้นเดียวกัน และภายในชนชั้นของตนนั้นหนุ่มสาวมีอิสระพอควรในการเลือกคู่ครอง ด้วยศีลธรรม/จริยธรรมที่พวกตนสร้าง(12) Engels กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า :
...สิ่งที่รองรับกันว่าเป็นสิทธิ์ของมนุษย์(การแต่งงาน)มีความแตกต่างกับสิ่งที่เรียกว่าสิทธิ์ของมนุษย์ข้ออื่น ๆ อยู่ประการหนึ่งกล่าวคือในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิของมนุษย์ข้ออื่น ๆ นั้น ในทางปฏิบัติผู้ที่ได้เสวยสิ่งที่เรียกว่า สิทธิของมนุษย์จริง ๆ นั้น จำกัดอยู่ในวงของชนชั้นปกครองได้แก่เหล่าชนชั้นกลางเท่านั้น ส่วนหมู่คนอีกมากหลายที่อยู่ภายใต้การปกครอง อันเต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบทางชนชั้นนั้น สิทธิของมนุษย์ของบุคคลเหล่านั้นก็ถูกลิดรอน ทางตรงหรือไม่ก็ทางอ้อม แต่สิทธิของมนุษย์ในเรื่องการแต่งงาน พวกชนชั้นปกครองหรือชนชั้นกลางก็ถูกอิทธิพลทางเศรษฐกิจเข้าครอบงำ จนไม่อาจมีเสรีในการแต่งงานได้จริง เพราะฉะนั้นในสมัยที่ชนชั้นกลางได้ครองสังคม การแต่งานของคนพวกนี้ที่เป็นไปด้วยความรักของคู่สมรสจริงๆ เป็นแบบยกเว้นเท่านั้น(หมายความว่าปกติไม่ได้รักกัน-ผม) ในทางกลับกันชนชั้นอื่นๆ(ชั้นล่าง)การแต่งงานด้วยความรักกลับปรากฏว่าเป็นเรื่องปรกติธรรมดาของหมู่ชนขั้นนั้น โดยปัจจัยทางเศรษฐกิจแทบไม่มีผลต่อพวกเขา...(13)
ดังนี้หมายความว่าการที่ชนชั้นกลางพอใจที่จะถูกครอบงำนั้น ดังกล่าวมาแล้วเพราะความมั่นคงในชีวิต(stability) ดังนั้นในสถานะนี้ชนชั้นกลางจึงทั้งผลิตวาทกรรม และบริโภควาทกรรมต่างๆกันเอง โดยที่ผลกระทบข้างเคียง(side effect) คือการที่วาทกรรมนั้นถูกสร้างเป็นอุดมการณ์หลักของสังคมไป ในที่สุดแล้วกลายเป็นว่าวิถีชีวิตแบบชนชั้นกลางจึงกลายเป็นความปกติของสังคม ซึ่งอาการแบบนี้ก็เกิดขึ้นในสังคมไทยเช่นกัน และสิ่งที่เกิดขึ้นคือวาทกรรมรองของชนชั้นอื่นๆที่ไม่สามารถลุแก่อำนาจนั้นได้กลายเป็นความรู้ที่ถูกถีบ(subjugated knowledge) สุดท้ายก็กลายเป็นว่าวาทกรรมที่เป็นวิถีชีวิตของชนชั้นอื่นถูกทำให้อยู่ชายขอบ(14) และผู้เดียวที่จะเป็นปัญญาชน(ผู้สร้างวาทกรรม)ก็จะถูกผูกขาดโดยชนกลุ่มเดียวของสังคม
ที่น่าสนใจคือความรักที่ถูกให้ค่าเป็นนิมิตหมายของการแต่งงานนั้น หากมองด้วยเองเกิลส์ แล้วจะพบว่า ความรักนั้นมีฐานทางเศรษฐกิจรองรับอยู่ หรือก็คือหากผมจะกล่าวอย่างประชดประชัน การที่ชนชั้นกลางกล่าวว่าการที่หนุ่มสาวคู่ใดจะได้รับอนุญาตให้แต่งงาน หรือก็คือร่วมเพศอย่างชอบธรรมกันได้นั้น ชนชั้นกลางบอกว่าการมีรักแท้ต่อกันต้องซื้อมาไม่ได้ด้วยเงิน แต่ทั้งคู่ต้องมีเงิน และในเรื่องนี้ชนชั้นกลางไทยเองนั้นคงต้องพิสูจน์ตัวเองหากจะนำเข้าจารีตแบบนี้เข้ามา มิเช่นนั้นแล้วการรับความคิดสั้นๆแบบนี้ก็ยิ่งจะเป็นการเผยความเขลาของปัญญาชนกระแสหลักขึ้นมาเท่านั้น (หรืออาจเป็นไปแล้วก็ได้)  
footnote
(1) [www.duangden.com] (2)สามารถหากรณีที่อาบัติ และไม่อาบัติ ได้ใน พระวินัยปิฏก เล่ม ๑ ปฐมภาค ทุกข้อการที่ทรงพิจารณาว่า อาบัติหรือไม่คือ มีจิตใฝ่กามคุณ หรือไม่ เป็นฐานพิจารณา ดังนั้นศาสนาพุทธให้ค่ากับจิตมากกว่ากายในกรณีนี้ (3)ปราณี วงศ์เทศ. เพศสภาวะในสุวรรณภูมิ(อุษาคเนย์). กรุงเทพฯ : มติชน(๒๕๔๙)น. ๑๘๔ (4)ธานิต สุขพานิช, หัวใจไม่มีส่วนเกิน : ประวัติศาสตร์ผัวเมีย, บานไม่รู้โรย./  (ก.ค. ๓๑), น. ๗๐. (5)นิธิ เอียวศรีวงศ์. ว่าด้วยเพศ. กรุงเทพฯ : มติชน(๒๕๔๕) น. ๗๔ ๗๖. (6)ชมรมพรหมจรรย์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ www.loveed.biz/teamwork.asp/] (7) [www.moe.go.th] (8)Paul Ransome. อ้างแล้ว. p. 138 – 144. (9)ธเนศ วงศ์ยานนาวา, วิถีแห่งการร้างจินตนาการว่าด้วยชุมชน : บทนำเสนอ, ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์. ความยุ่งของการอยู่. กรุงเทพฯ : มติชน(๒๕๔๘) น. (๑๖). (10)นิธิ เอียวศรีวงศ์. ความยุ่งของการอยู่. กรุงเทพฯ : มติชน(๒๕๔๘) น. ๔๐ ๔๕. (11)อนึ่งระหว่างฟูโกต์กับมาร์กซิสม์นั้นมีข้อแตกต่างที่น่าสนใจอยู่ เพราะด้านวิธีการเข้าถึงอำนาจ ฟูโกต์พิจารณา ต่างกับแนวคิดมาร์กซิสท์ ทั้งนี้เพราะมันได้แสดงนัยคือ ระหว่างอำนาจและการครอบงำ(power and domination) มีลักษณะเป็นสองขั้ว(dichotomyที่นามธรรม ซึ่งไม่มีหลักการพื้นฐานเศรษฐกิจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพวกมันเลย ซึ่งฟูโกต์เองไม่ได้ชัดเจนพอเกี่ยวกับความแตกต่างกันอันนี้ ดังที่เขาอธิบายการครอบงำในลักษณะที่รวบมันเข้ามาในวงล้อม(circumstance) ฟูโกต์กล่าวว่า บรรดามาร์กซิสท์ได้สนับสนุนหลักการที่ทั่วๆไปที่เกี่ยวกับโครงร่างสัณฐานอันหนึ่งของการทำงานต่างๆของอำนาจมากเกินไป อีกทั้งมารกซิสม์คิดว่ามีแรงกระตุ้นที่อยู่ข้างใต้ภายในอำนาจ ดูเพิ่มเติม Mitchel Dean. “ ‘Michel Foucault : ‘A man in Danger’,”  (12)นิธิ เอียวศรีวงศ์. ความยุ่งของการอยู่. น. ๔๐ ๔๕. (13)Frederick  Engels “The origin of the family private property and the state,” (1978) [www.marxism.org.] (14)อย่างสรุปคือภาวะหรือกระบวนการที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลถูกปฏิเสธหนทางที่จะเข้าสู่ตำแหน่งหรือพื้นที่สำคัญในสังคม ดู สุริชัย หวันแก้ว, สถานภาพผลงานวิจัยเกี่ยวกั
หมายเลขบันทึก: 63580เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2006 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท