หัวข้อที่ 8


                  

                     4.  Article XX  เป็นข้อยกเว้นทั่วไปหรือเป็นแค่ข้ออ้างเพื่อการกีดกันทางการค้า

                     จากคดีต่างๆที่ขึ้นสู่องค์กรระงับข้อพิพาทของ GATT /WTO  การอ้างข้อยกเว้นทั่วไปตาม Article XX   ของแต่ละประเทศเพื่อให้ตนสามารถใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าซึ่งขัดต่อหลักการของ GATT นั้น  ล้วนแต่เป็นเรื่องในประเด็นเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ซึ่งเป็นส่วนใน Article XX (b)และ  (g) โดยที่การตีความตอนแรกเริ่มคณะพิจารณา( Panel )  ของ GATT  ตีความอย่างแคบและให้บังคับใช้มาตรการเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้แค่ภายในเขตอำนาจรัฐเท่านั้นแม้ต่อมาจะได้มีการผ่อนคลายความเคร่งครัดลงมา  จนใน Shrimps-Turtles  Case  องค์กรอุทธรณ์ (Appellate  Body )  ได้ตีความคำว่า “exhaustible  natural  resources”  ให้รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิตด้วย  การตีความคำว่า “relating to”  ก็ผ่อนคลายความเคร่งครัดลงมาให้หมายความถึง  มาตรการนั้นมีความเกี่ยวพันอย่างเพียงพอ (sufficient  connection ) 

                               ซึ่งจากการที่ผ่อนคลายความเคร่งครัดลงมาดังกล่าวทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถผ่านเงื่อนไขตาม Article XX (g)  ไปได้  และการตัดสินดังกล่าวหากพิจารณาในระยะยาวแล้วก็จะเห็นได้ว่าหากสหรัฐอเมริกาปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ให้ถูกต้องตามที่คำตัดสินชี้ช่องไว้โดยไม่จำเป็นต้องยกเลิกหรือแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าว  สหรัฐอเมริกาก็จะสามารถใช้มาตรการฝ่ายเดียวได้อย่างชอบธรรม  ซึ่งเท่ากับว่าคำตัดสินนี้เป็นการรับรองการใช้มาตรการฝ่ายเดียวทางสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกานั้นเอง[1]  ทำให้ในอนาคตสหรัฐอเมริกาสามารถยกเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นเครื่องมือเพื่อการกีดกันทางการค้าได้อย่างชอบธรรม  และจากการที่แนวตัดสินที่เปิดโอกาสให้สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการฝ่ายเดียวเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้นี้เอง  ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดรองรับการส่งออกของตนได้รับผลกระทบและต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการกีดกันทางการค้าดังกล่าว    แต่ด้วยกำลังทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่าก็ต้องจำยอมปรับเปลี่ยนนโยบายทางสิ่งแวดล้อมของตนเพื่อรักษาตลาดที่จะรองรับการส่งออกเอาไว้  ซึ่งในความเป็นจริงอาจไม่ใช่นโยบายที่เหมาะสมกับประเทศของตนหรือไม่มีกำลังทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีพอที่จะดำเนินการสร้างมาตรฐานในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้เท่ากับประเทศมหาอำนาจ  สุดท้ายก็เท่ากับเป็นการที่กฎหมายหรือของประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นสามารถมาบังคับและมีอิทธิพลครอบงำประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางเลือกในการทำการค้าระหว่างประเทศ  ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเห็นว่าการดำเนินการเหล่านี้คือ การล่าอาณานิคมด้วยสิ่งแวดล้อม ( ecoimperialism)[2]    ซึ่งทำให้วัตถุประสงค์และความต้องการขององค์การการค้าโลกที่ต้องการให้มีการค้าอย่างเสรี  เป็นธรรมและขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันก็คงเป็นแค่ถ้อยคำที่อยู่แค่บนแผ่นกระดาษที่ไม่มีการนำมาร่วมมือกันดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้จริงแต่อย่างใด

 บทสรุปในการค้าระหว่างประเทศตามวัตถุประสงค์ขององค์การการค้าโลกนั้นมุ่งให้การค้าเป็นไปอย่างเสรี  แข่งขันกันอย่างเป็นธรรม  และมุ่งที่จะลดและขจัดอุปสรรคทางการค้าทุกประการระหว่างกัน  แม้ว่าในทางปฏิบัติแล้วจะเป็นไปได้ยากอันเนื่องมาจากปัญหาสภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่ไม่เท่าเทียมกัน  แต่หากแต่ละประเทศดำเนินนโยบายในการค้าระหว่างประเทศภายใต้วินัยทางการค้าและคำนึงถึงประเทศอื่นที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า  รวมทั้งนำหลักการขององค์การการค้าโลกมาใช้โดยเคารพต่อหลักการดังกล่าว  และไม่นำข้อยกเว้นตาม Article XX  มาใช้อย่างพร่ำเพรื่อ  เกินสิทธิ  บิดเบือนหรือเป็นเพื่อการกีดกันทางการค้า[3] โดยใช้ทุกวิถีทางที่บทบัญญัติตาม Article XX  เปิดช่องให้  โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม  ดังนั้นหากจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการหรือกฎเกณฑ์ใดๆขึ้นมา  ก็ควรจะต้องคำนึงถึงความสามารถของประเทศกำลังพัฒนาในการกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในระดับและในแนวทางที่ประเทศพัฒนาแล้วเห็นชอบ  แต่ต้องไม่สร้างผลเสียต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาด้วย


[1] พรรณทิพย์   วัฒนกิจการ, “WTO กับสิ่งแวดล้อม :เน้นการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศในประเด็นสิ่งแวดล้อม.”, (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2546 ) ,น.169.
[2] ทัชชมัย   ฤกษะสุต,ประเด็นใหม่ในองค์การการค้าโลก, (  กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์นิติธรรม,2543.),น.110.
[3] พิรุณา  ติงศภัทิย์, “การค้าเสรีจะ เขียว ด้วยได้หรือไม่ : ข้อพิจารณาบางประการเกี่ยวกับมาตรการทางการค้าเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมภายในกรอบของแกตต์” , วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 24 , (ธันวาคม 2537 ): ,น.759.
หมายเลขบันทึก: 63562เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2006 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ติดตามอ่านอยู่ค่ะ ละเอียดจริงๆ
อ่านแล้วนะ ละเอียดมาก
  • ข้อมูลเยอะจริง ๆ ค่ะ เตรียมมาดีจัง
  • เห็นด้วยจ้า...อ่านตาลายแล้ว แต่ได้ความรู้อัดแน่น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท