หัวข้อที่ 5 สาระสำคัญของข้อยกเว้นตามมาตรา 20 ( Article XX) และปัญหาการใช้และการตีความข้อยกเว้นตามมาตรา 20 (Article XX)


                    2.2    สาระสำคัญของข้อยกเว้นตาม Article XX                    

                           บทนำ  (Introductory Provision or  Chapeau )        

                          มาตรา 20 ระบุว่า  ประเทศผู้นำเข้าใช้มาตรการใดๆ ที่อาจขัดกับหลักการของความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลกได้ จากการใช้มาตรการนั้นต้องใช้เท่าที่จำเป็น ไม่เป็นการทำตามอำเภอใจ(arbitrary) หรือเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่สมเหตุผล(unjustifiable discrimination) ขณะเดียวกันต้องไม่เป็นการกีดกันอย่างเคลือบแฝงต่อการค้าระหว่างประเทศ(disguised  restriction  on  international  trade) โดยมาตรการนั้นจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้   

                          บทเฉพาะ  ( specific clause )                  

                        ในส่วนของบทเฉพาะที่มีการนำมาใช้บ่อยที่สุดก็คือ  ข้อที่เกี่ยวกับประเด็นในเรื่องสิ่งแวดล้อมตามArticle XX (b)และ Article XX (g)  ซึ่งมีรายละเอียดคือ                        Article XX (b)  เพื่อคุ้มครองชีวิตหรือสุขอนามัยของมนุษย์, สัตว์หรือพืช[1]                    Article XX (g)  เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่อาจสูญพันธุ์ หรือหมดสิ้นไป โดยมาตรการนั้นต้องใช้ควบคู่ไปกับข้อจำกัดในการผลิตหรือการบริโภคภายในประเทศ[2]             

                        2.3   ปัญหาการใช้และการตีความข้อยกเว้นตาม  Article XX         

                               ในทางปฏิบัติ Article XX นี้ มีปัญหามากในการตีความและบังคับใช้ เนื่องจากเป็นข้อยกเว้นต่อหลักการพื้นฐานของ GATT แต่กลับบัญญัติไว้โดยใช้ถ้อยคำที่กำกวม เคลือบคลุม และขาดความชัดเจน โดยเมื่อพิจารณา Article XX  จะเห็นได้ว่าไม่ปรากฏนิยามชัดเจนของถ้อยคำที่สำคัญเช่น  คำว่า  arbitrary  , unjustifiable discrimination , disguised  restriction , conservation  of  exhaustible  natural  resources[3]    ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวทำให้มีปัญหาต่อมาในการพิจารณาของแต่ละรัฐภาคีที่จะสร้างมาตรการต่างๆซึ่งถือว่าเป็นการกีดกันทางการค้าขึ้นมาว่าในกรณีใดจึงจะถือได้ว่าขัดต่อเงื่อนไขทั่วไปตามที่ระบุบไว้ในบทนำ(Introductory Provision or  Chapeau )และกรณีใดจะขัดต่อบทเฉพาะตาม specific clause  (a)  -(j)   และก่อให้เกิดคำถามต่างๆตามมา เช่นกรณีเช่นใดจึงจะถือได้ว่ามีการปฏิบัติตามอำเภอใจ อย่างไรคือการจำกัดการค้าโดยแอบแฝง การเขียนเงื่อนไขในการอ้างข้อยกเว้นต่อหลักการพื้นฐานที่สำคัญยิ่งโดยใช้ภาษาความถ้อยคำที่เคลือบคลุมเช่นนี้จึงอันตราย เพราะเสี่ยงต่อการถูกตีความในทางขยายความเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่รัฐที่ต้องการอ้างข้อยกเว้นตาม Article XX นี้ โดยหากพิจารณาที่หลักทั่วไปของ GATT จะเห็นว่าต้องตีความข้อยกเว้นอย่างแคบเสมอ  รวมทั้งการที่ไม่ปรากฏคำนิยามอย่างชัดเจน ทำให้เกิดการนำข้อยกเว้นตาม Article XX นี้ไปใช้ในทางที่ผิด(misuse or abuse)  และใช้เกินสิทธิได้ง่าย  จนกลับกลายเป็นช่องทางให้ประเทศมหาอำนาจบางประเทศใช้ยกเป็นข้ออ้างเพื่อเป็นการกีดกันทางการค้าต่อประเทศที่กำลังพัฒนาหลายๆประเทศ                        ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาประเทศรัฐภาคีมักกล่าวอ้างข้อยกเว้นซึ่งเป็นเงื่อนไขเฉพาะใน Article XX (b) หรือ Article XX (g) มากกว่าข้ออื่นๆ เพื่อเป็นเหตุผลสนับสนุน และสร้างความถูกต้องชอบธรรมในการที่ตนบังคับใช้มาตรการทางการค้าเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมกับประเทศคู่ค้าในลักษณะที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของ GATT  และก่อให้เกิดข้อพิพาททางการค้าหลายกรณีที่นำขึ้นสู่องค์กรระงับข้อพิพาทของ GATT  และเมื่อเราศึกษาจากข้อพิพาทเหล่านี้ในส่วนของการตีความของ Panel ก็มีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาคือหลักเกณฑ์ในการใช้และการตีความเงื่อนไขต่างๆตาม Article XX  ของ GATT และภาคีมีขอบเขตทางภูมิศาสตร์หรือเขตอำนาจรัฐเพียงใดในการบังคับใช้มาตรการทางการค้าเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมภายใต้ข้อยกเว้นตาม Article XX



[1] (b)  necessary  to  protect human,  animal  or  plant life  or  health; 
[2] (g)  relating to  the  conservation  of  exhaustible  natural  resources  if  such  measures  are  made  effective  in  conjunction  with  restrictions  on  domestic  production  or  consumption; 
 [3] พิรุณา  ติงศภัทิย์การค้าเสรีจะ เขียว ด้วยได้หรือไม่ : ข้อพิจารณาบางประการเกี่ยวกับมาตรการทางการค้าเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมภายในกรอบของแกตต์” , วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 24 , (ธันวาคม 2537 ):น.747.
หมายเลขบันทึก: 63495เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2006 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ละเอียดและเขียนดีมากเลยน้องพลอย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท