การประเมิน : บันไดสู่ความรุ่งเรืองทางการศึกษา ?


เส้นทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองแห่งการศึกษาคงจะถึงจุดหมายได้ยาก หากระหว่างทางเจอหลุมต่างๆ มากมาย และหลุมหนึ่งที่เป็นปัญหาต่อการศึกษาก็คือ หลุมแห่งการประเมิน

               วันที่ 20 – 22  พฤศจิกายน  2549  เป็น  3  วันแห่งการประเมิน  มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี  ซึ่งหมายความรวมถึงการประเมินคณะครุศาสตร์ด้วย  3  วันนี้  ทำให้หลายคนในคณะครุศาสตร์ต้องขยัน  เพียรวิริยะมานะเป็นพิเศษ  อดตาหลับขับตานอนหรือรวมแล้วอยู่ในสภาพของอาการ  หลับไม่ลง               

                การอุบัติใหม่ของถังขยะสีเขียวและสีเหลืองเรืองอร่าม  แท้งน้ำดื่มซึ่งจากเดิมเราใช้มือกดก็ถูกเนรมิตขึ้นใหม่  กลายเป็นแท้งน้ำดื่มแบบใช้แก้วดันอันทันสมัยก็ในวันนี้  หรือแม้แต่การเขียนป้ายหน้าคณะครุศาสตร์  ให้ดูสวยสดงดงามก็พึ่งจะเคยเห็นวันนี้  เหล่านี้เป็นเพียงการมองของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการประเมินเพียงน้อยนิด  ซึ่งจ้องมองจากระยะที่ไกลมากแล้ว  โดยยังมิได้มองในรายละเอียดที่เจาะลึกมากกว่านี้                 

                ดังที่กล่าวมาข้างต้น  ถ้าเป็นภาษาชาวบ้าน  เรียกว่า  การปลูกผักชีโรยหน้า  แต่หากจะใช้ภาษาปัญญาชนสิ่งเหล่านี้ คือ การ make data สองคำนี้แม้ว่าภาษาที่ใช้จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงแต่ความหมายโดยนัยของมัน มิได้ผิดแผกแตกต่างกันเลย มันคือการสร้างภาพพจน์ที่ดีของผู้รับการประเมินต่อผู้ประเมิน               

                  การ make  data นี้คงจะไม่มีผลกระทบต่อสังคมการศึกษาไทยมากนัก หากเกิดขึ้นแต่เพียงคณะครุศาสตร์นี้ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ หากแต่เกิดขึ้นทุกระดับชั้นของบุคลากรทางการศึกษาและยังปรากฏให้เห็นชัดเจนเพียงแต่แตกต่างกันที่บริบทเท่านั้น                

                  การประเมินแผนการสอนของครูเพื่อให้เลื่อนวิทยฐานะซึ่งผู้รับการประเมินหรือครูมีการเขียนแผนการสอนที่บรรจงคัดเสริม แต่งเติมกระดาษทุกหน้าให้มีความหมายแลวิจิตประณีต อาศัยนักเรียนในอุดมคติเป็นพื้นฐานโดยมิได้ใส่ใจนักเรียนตามความเป็นจริง เพียงเพื่อ make  data ให้ปรากฏแต่ผู้ประเมิน เมื่อได้รับการประเมินเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ครูผู้นั้นได้รับคือ วิทยฐานะที่เพิ่มขึ้นซึ่งมาพร้อมกับความสามารถของนักเรียนตามแผนของครูจริงหรือไม่               

                    การประเมินระดับผู้บริหารเองก็เช่นกัน การตกแต่งประดับประดาสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาในโรงเรียนให้ดูสมบูรณ์และสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นเมื่อมีการเอาอกเอาใจผู้ประเมินอันแล้วแต่ความชำเนียนของผู้บริหารแต่ละคน เช่น การเลี้ยงอาหาร การประเคนถวายของขวัญต่างๆแก่ผู้ประเมิน เป็นต้น เหล่านี้คือ ต้นผักชีซึ่งถูกอุปโหลกขึ้นก่อนที่จะมีการประเมินจากทั้งทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือองค์กรภายนอก ซึ่งก็มิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าครูเลย               

                    จากความข้างต้น เราจะยอมเสียงบประมาณประเมินเพื่ออะไรกัน ในเมื่อผู้รับการประเมินได้ make  data หรือปลูกผักชีโรยหน้าไว้ก่อนแล้ว เราจะประเมินเพื่อชื่นชมผักชีต้นนั้นกระนั้นหรือ ตรงไหนคือส่วนที่ควรปรับปรุงองค์กรของผู้รับการประเมิน หากมิได้เปิดเผยข้อมูลตามความจริงผู้ประเมินจะทราบได้อย่างไร ถ้ายังมิกล้าที่จะเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ดีหรือมองไม่เห็นข้อมูลนั้น สมควรที่จะทำตัวตามธรรมชาติ มิใช่กระเสือกกระสนอดตาหลับขับตานอนดังเช่นที่เป็นอยู่

                  หากผู้รับการประเมินหรือผู้ประเมินเองยังมิเข้าใจในหลักการของประเมินผู้เขียนขอยกตัวอย่างง่ายๆโดยเรื่องมีอยู่ว่า  ครอบครัวหนึ่งมี พ่อแม่และลูก โดยลูกคนนี้ต่อหน้าพ่อแม่แล้ว ขยันขันแข็งเอาใจใส่ต่อการเรียนแต่ลับหลังชอบเล่นเกมส์ ทุกๆเย็นจะบอกพ่อแม่ว่าจะไปทำการบ้านที่บ้านเพื่อนซึ่งความจริงลูกคนนี้มิได้ไปเพื่อทำการบ้านเลย หากแต่ไปเพื่อเล่นเกมส์ต่างหาก เมื่อบ่อยครั้งเข้า พ่อแม่เลยอดที่จะสงสัยมิได้ จึงต้องการไปดูลูกที่บ้านเพื่อน จึงบอกลูกไปว่า พ่อกับแม่จะไปตรวจการบ้านลูกที่บ้านเพื่อนนะในเย็นวันศุกร์ที่จะถึงซึ่งในวันนั้นลูกก็ยินยอมพร้อมใจด้วย                 

                    และเมื่อเย็นวันศุกร์ใกล้จะมาถึง  ลูกจึงบอกเพื่อนว่า  เย็นวันนี้พ่อแม่กูจะมา  เตรียมทำการบ้านให้กูด้วยหาเพื่อนมาเยอะๆ  ช่วยติวการบ้านกัน  คอมพิวเตอร์และเกมส์ต่างๆ  ให้นำไปไว้ที่อื่นก่อน               

                     เย็นวันศุกร์มาถึงพร้อม ๆ  กับการมาถึงของพ่อแม่  ภาพที่ปรากฏให้เห็นเบื้องหน้าของพ่อแม่คือ  การนั่งทำการบ้านกันของลูกและเพื่อนๆ  การนำเสนอการบ้านของลูกเป็นที่น่าชื่นชมและภูมิใจของพ่อแม่ยิ่งนักและมิได้ปรากฏว่ามีการเล่นเกมส์ดังที่คิดไว้ในตอนแรกแต่อย่างใด               

                  สมมุติว่าพ่อแม่คือผู้ประเมินและลูกคือผู้รับการประเมินการแก้ปัญหาการติดเกมส์ของลูกจะทำได้ไหม  หากลูกยังปกปิดข้อมูลหรือ  make  data  ข้อมูลดังกล่าวและเมื่อพ่อแม่รู้ความจริงขึ้นมาความสัมพันธ์และความน่าเชื่อถือในตัวลูกจะลดลงหรือไม่  ฝากให้ผู้รับการประเมินนำกลับไปพิจารณาไตร่ตรอง               

         เส้นทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองแห่งการศึกษาคงจะถึงจุดหมายได้ยาก  หากระหว่างทางเจอหลุมต่างๆ  มากมาย  และหลุมหนึ่งที่เป็นปัญหาต่อการศึกษาก็คือ หลุมแห่งการประเมิน                                                                                                                 

 วุฒิปิยะ ชนะศรี                                                                                                                       23 / 11 / 49

           

หมายเลขบันทึก: 63480เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2006 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 20:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
หลังจากเราอ่านดูแล้วนะ เรามองว่ามันเป็นเรื่องปกติไปซะแล้ว แต่ถ้าถามว่าเราเห็นด้วยไหมกับบทบาทของผู้บริหาร เราไม่เห็นด้วย เพราะเราคิดว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นเราต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่ใช่มาทำเอาแค่วันสองวันแล้วมันจะได้ประโยชน์อะไร อย่างเรื่องแผนการสอนที่ อ.กาญจนา ท่านพูดเราก็เห็นด้วยนะว่า ถ้าทำไม่ได้แล้วจะเขียนทำไม สู้เราสอนตามสภาพจริงที่เป็นอยู่จะไม่ดีกว่าหรือ....ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น....ยังไงซะก็ต้องดูกันยาวๆ ....สู้ต่อไปละกัน...ว่าที่คุณครู

  หวัดดีเพื่อน   ...  บทความนายเจ๋งมาก 

  ที่กล่าวมาก็ถูกนะ  แต่ก็เป็นอย่างที่ดื้อพูดแหละ  ..

   มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปซะแล้ว  เราคิดว่าเรื่องนี้มันไม่ได้เกิดให้เห็นเฉพาะด้านการศึกษาเท่านั้นนะ  ทางด้านอื่น ๆ ก็คงมีกันทุกหน่วยงาน  แทบจะเรียกได้ว่า  ทั้งประเทศก็เป็นได้ 

     เมื่อเรารู้แล้วว่านี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในแวดวงการศึกษา   เราคิดว่าถ้าจะแก้ไขก็คงยาก  ทางที่ดีเริ่มที่ตัวเราก่อนเลย   ซึ่งในอนาคตคุณครูคนใหม่ก็ต้องประสบพบเจอเรื่องแบบนี้แน่นอน...

     ยังไงก็เขียนมาให้อ่านอีกนะ  พี่น้อง ครับ!! 

                                                                        สวัสดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท