สิ่งที่ขาดหายไปในระบบการศึกษากฎหมายขัดกันของไทย


หลักการสำคัญอันเป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยคดีที่ไม่ได้รับความสำคัญ

         ในการศึกษากฎหมายขัดกันของไทยในปัจจุบันนี้ มีจุดที่น่าสนใจว่า หลัก "การให้ข้อกฎหมายแก่ข้อเท็จจริง" (Classification or Qualification) และหลัก "การวินิจฉัยปัญหาล่วงหน้า" (Incidental Question) ไม่ได้รับความสำคัญจากระบบการศึกษากฎหมายขัดกันของไทยเท่าที่ควร ทั้งๆที่ หลักการทั้งสองหลักดังกล่าว เป็นหลักการสำคัญอันเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ศาลสามารถวินิจฉัยคดีให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายขัดกัน กล่าวคือ ต้องการให้ผลคำพิพากษาของศาลมีผลทางกฎหมายเท่าเทียมกันหรือเท่าเทียมกันหรือเหมือนกัน ไม่ว่าคู่ความจะเสนอคำฟ้องที่ศาลใด ซึ่งหลักการทั้งสอง สามารถสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้

          หลัก "การให้ข้อกฎหมายแก่ข้อเท็จจริง" (Classification or Qualification) คือ ขั้นตอนที่ศาลจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหาอยู่ว่า ข้อพิพาทดังกล่าวเป็นเรื่องอะไร เพื่อที่ศาลจะได้ปรับใช้กฎหมายขัดกันได้ถูกต้อง เช่น ข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหานั้นเข้าลักษณะเป็นมูลละเมิดหรือผิดสัญญา หรือเป็นปัญหาเรื่องทรัพย์สินหรือมรดก

          หลัก "การวินิจฉัยปัญหาล่วงหน้า" (Incidental Question) คือ ในกรณีการพิจารณาคดีที่มีองค์ประกอบแห่งการต้องวินิจฉัยปัญหาล่วงหน้า จะต้องแยกปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยออกเป็น 2 ปัญหา คือ ปัญหาหลัก (Main Issue) และ ปัญหารองหรือปัญหาที่ต้องวินิจฉัยก่อน (Incidental Question) เช่น ปัญหาการรับมรดกของภรรยาของเจ้ามรดก ซึ่งเป็นปัญหาหลัก แต่ศาลยังไม่อาจวินิจฉัยปัญหาการรับมรดกให้ลุล่วงไปได้ หากศาลไม่ได้วินิจฉัยว่า ภรรยาผู้นั้น มีสิทธิรับมรดกหรือไม่  ซึ่งก็คือ ศาลต้องวินิจฉัยความสมบูรณ์แห่งการสมรสก่อน และปัญหานี้จัดว่าเป็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยก่อน

          หลักดังกล่าวข้างต้น นานาประเทศถือว่าเป็นหลักที่ต้องศึกษาและให้ความสำคัญ เนื่องจากมีผลต่อการพิจารณาคดี ซึ่งหลักดังกล่าว ก็มีหลักการ และทฤษฎีต่างๆ แตกต่างกันไปตามระบบกฎหมายของแต่ละประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่า หลักการทั้งสองตามแนวทางของไทยเป็นอย่างไร และการศึกษากฎหมายขัดกันของไทยก็ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่หลักการทั้งสองเท่าที่ควร

          ดังนั้น ในขณะที่นานาประเทศให้ความสำคัญแก่การศึกษาหลักการทั้งสองอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ช่วยศาลในการวินิจฉัยคดี แต่ในประเทศไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าที่ควร คงเนื่องคดีกฎหมายขัดกันขึ้นสู่ศาลน้อยมาก เมื่อเทียบกับคดีประเภทอื่นๆ แต่อย่างไรก็ดี เพื่อพัฒนาระบบกฎหมายขัดกันของไทย และนิติวิธีสำหรับการพิจารณาคดี สมควรที่ไทยจะเน้นการศึกษาหลักการทั้งสองให้มากยิ่งขึ้น

 

 

หมายเลขบันทึก: 63434เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2006 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท