"แกล้งความรู้" ฟื้นฟูตัวเองสู่สมดุล


"ต้องแกล้งความรู้" แล้วเราจะพบกับความรู้ที่แท้จริง เราจะได้พบกับสัจธรรมแห่งความรู้ที่เหมาะสมกับสรรพบริบทของสังคม

สำหรับวันนี้เป็นวันที่ผมได้มีโอกาสรับชมสารคดีเฉลิมพระเกียรติเรื่องการ "แกล้งดิน" ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้พระราชทานแนวคิดเกี่ยวกับการทำให้ดินที่ผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานาน ซึ่งจะมีความเป็นกรดสูงกว่าปกติหรือที่เรียกว่ "ดินเปรี้ยว" ให้กลับคืนเข้าสู่สมดุล

ในโอกาสนี้ทำให้ผมเองได้นึกถึงครั้งเมื่อสมัยก่อนเมื่อเริ่มทำงานในฐานะผู้รู้ (อาจารย์) ประมาณในช่วงปีที่ 2 ของชีวิตการทำงาน ซึ่งตอนนั้นผมเองยังไม่รู้จักกับ KM ชีวิตในตอนนั้นผมเริ่มรู้สึกว่าตัวเองนั้นเปลี่ยนไปอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ชีวิตการเป็นลูก ปรับเปลี่ยนชีวิตการเป็นลูกศิษย์ ปรับเปลี่ยนเข้าสู่ชีวิตการทำงานในฐานะ "อาจารย์"

จากชีวิตของ "ผู้เรียนรู้" ปรับเปลี่ยนเป็น "ผู้รู้" พอนานวันเข้าการดำเนินชีวิตในฐานะผู้รู้เริ่มกลืนกินชีวิตของผู้เรียนรู้ทีละนิด ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งได้มารู้จักกับ KM และเริ่มใช้ KM ในกระบวนการจัดการเรียนการสอน วันถัดมาชีวีตของผมเองก็เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะสมดุลโดยใช้เทคนิค "การแกล้งความรู้" (Knowledge to pretend)

การยืนอยู่บนจุดแห่งความรู้ และอยู่ในองค์กรแห่งปัญญา ทำให้เราขาดความสมดุลในการเรียนรู้

การยืนอยู่บนจุดแห่งความรู้ และอยู่ในองค์กรแห่งปัญญา ทำให้เราเป็นรู้สึกเสมือนตนเป็นผู้รู้

ซึ่งเมื่อใดเรารู้สึกเสมือนเป็นผู้รู้ เราจะเป็นคนที่เรียนรู้ยาก ซึ่งนั่นทำให้ชีวิตของเราขาดความสมดุลใน "ความรู้" นั่นเอง

การใช้ชีวิตฐานะผู้รู้ในมหาวิทยาลัยของผมในขณะนั้น เริ่มมีปัญหาเมื่ออุปนิสัยของผู้รู้เริ่มคืบคลานเข้าสู่ชีวิตประจำวันและชีวิตครอบครัว "ฉันรู้ ฉันถูก" ความคิดต่าง ๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เริ่มมองคนรอบข้างไม่ถูก I'm ok, You're note ok. เพราะฉันนั้นคือ "ผู้รู้" เสียงสะท้อนจากคนใกล้ชิดเริ่มเกิดขึ้น การไม่ค่อยฟังและไม่ค่อยเชื่อความคิดเห็นของใคร บ้านเริ่มเปรียบเสมือนกับในห้องเรียนหรือแม้กระทั่งในชุมชน การทำงานวิจัยกับชุมชนชิ้นแรก ๆ ก็เสมือนตัวนั้นเป็นผู้รู้แล้วเดินเข้าไปในชุมชน

จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่าน รศ.ดร.มารุต ดำชะอม (มอ. วิทยาเขตปัตตานี) ได้สอนผมและท่านได้พูดประโยคที่ผมจำได้ไม่มีวันลืม เป็นประโยคที่ทำให้ชีวิตของผมเริ่มพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือที่ได้มาขบคิด ตีความและเริ่มปฏิบัติตามสิ่งที่ท่านได้พูดเพื่อฉุกให้คิดและหวังผลในทางปฏิบัติ ท่านได้พูดไว้ว่า

"คนเป็นอาจารย์เวลาลงไปทำงานชุมชนชอบบรรยาย ติดนิสัยอาจารย์ลงไปด้วย อย่าคิดว่าประสบการณ์ของตนเองจะมีประโยชน์กับเขา"

หลังจากวันนั้นการวิถีชีวิตทุกย่างก้าวในการเดินเริ่มปรับเปลี่ยนเข้าสู่วิถีของ "การแกล้งความรู้" ทำเป็นไม่รู้บ้าง พูดให้น้อยลง ทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังให้มากกว่าพูด กระตุ้นให้ผู้อื่นพูด และย้ำเตือนสติของตนเองให้ฟัง ฟัง ฟัง แล้วก็ฟัง

ถึงแม้อยากจะพูดใจแทบขาด ว่าสิ่งที่ตนเองเรียนมา พานพบมา โดยเฉพาะจากทฤษฎีเมืองนอกมันไม่ใช่แบบนี้ "ต้องแกล้งความรู้" แล้วเราจะพบกับความรู้ที่แท้จริง เราจะได้พบกับสัจธรรมแห่งความรู้ที่เหมาะสมกับสรรพบริบทของสังคม สรรพบริบทของชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งเหมาะสม ถูกต้อง และถูกใจ ของทุก ๆ สรรพสิ่ง

"แกล้งความรู้" ถึงแม้ว่าเคยเรียนแล้ว ทำแล้ว ก็ต้องเรียนอีก ทำอีก เรียนใหม่ทำใหม่

เรียนแล้ว รู้แล้ว เปรียบเสมือนเป็นดินเปรี้ยวฉันใด

การเรียนใหม่ รู้ใหม่ ก็เปรียบเสมือนเป็นดินเค็มฉันนั้น

ถ้าเราคิดว่าเรียนแล้ว รู้แล้ว ตัวเราก็เปรียบเสมือนเป็นดินเปรี้ยวอยู่ตลอดเวลา รังแต่จะทำให้ตัวเราเองนั้นเปรี้ยวมากขึ้น มีกรดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ตัวเรานั้นเดินห่างออกจากจุดสมดุลแห่งความรู้มากขึ้น ๆ ๆ

ดังนั้น การเรียนใหม่ รู้ใหม่ เรียนซ้ำ เรียนแล้ว เรียนอีก ก็เปรียบเสมือนการแกล้งความรู้ตามทฤษฎีการแกล้งดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การเรียนใหม่ เรียนซ้ำ ก็เปรียบเสมือนกับการเติมน้ำลงไปบนผืนดินให้มากขึ้น จากนั้นถึงเวลาอันสมควรที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้รู้ก็เปรียบได้กับการทำให้หน้าดินแห้งผาด ใช้แสงแดดแผดเผา อีกสักพัก แล้วก็กลับมาเรียนใหม่ เป็นผู้เรียนรู้อีกครั้งหนึ่ง ทำสลับกันไปแบบนี้เป็นประจำจุดสมดุลแห่งความรู้ก็จะกลับมาสู่เรา ซึ่งนั่นเป็นความสุขในชีวิตซึ่งหาสิ่งใดเปรียบได้

เวลาใดที่ต้องทำหน้าที่บรรยาย ทำหน้าที่เป็นผู้รู้ก็ต้องทำให้เต็มที่ แต่เวลาใดที่จะต้องเรียนรู้ ได้ฟัง ต้องรับสิ่งสะท้อนกลับ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มต้นจัดการความรู้ในชั้นเรียน เราก็ต้องเป็นผู้เรียนรู้อย่างเต็มที่

ครั้นเมื่อกลับถึงบ้าน หน้าที่ลูกหรือสามี ก็ต้องปรับต้องเปลี่ยนให้เป็นทั้งผู้รู้ในยามที่ต้องการผู้นำ และต้องเป็นผู้เรียนรู้ในยามต้องการผู้ตามที่ดี

การแกล้งความรู้นี้จะทำให้เราเปรียบได้หนึ่งกับมหาสมุทรซึ่งกว้างและลึก รับน้ำได้จากแม่น้ำทุกสายและทะเลทุกแห่ง ดังนั้นมหาสมุทรจึงเป็นราชาแห่งแม่น้ำทั้งปวง

การเป็นผู้เรียนรู้และผู้รู้ ซึ่งเกิดจากปัญญาในการแกล้งความรู้นั้นก็เช่นเดียวกัน จะทำให้เราเป็นคนที่รู้กว้างและรู้ลึก รับความรู้ได้จากศาสตร์ทุกแขนงและคนทุกคน ดังนั้นคนที่รู้จักการแกล้งความรู้จึงเป็นราชาแห่งความรู้ทั้งปวง

 

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

หมายเลขบันทึก: 63433เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2006 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ชอบบันทึกนี้ค่ะ ชัดเจนเตือนใจและเตือนสติต่อหน้าที่ๆมี ไม่ว่าจะมีบทบาทอะไรก็ต้องทำบทบาทนั้นให้เหมาะกับกาละเทศะและให้ดีที่สุด ขอบคุณค่ะ

เรียน อาจารย์ปภังกร

  • ความรู้สึกแบบที่ว่านี้เกิดขึ้นกับผมนานแล้วเช่นกันครับ  เพราะในบางครับรู้ว่าเราไม่ใช่ผู้รู้ที่รู้เสียหมดทุกเรื่อง  เกษตรกรถามบางเรื่องเราไม่รู้ตอบไม่ได้ ตอนทำงานใหม่ ๆ รู้สึกถึงความละอายว่าเรียนมาแล้วไม่รู้ตอบไม่ได้  แต่หลัง ๆ ก็เริ่มตั้งหลักได้ก็รู้ได้ว่ามีวิธีการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้สู่เกษตกรได้อีกหลายแบบหลายทางครับ

 

นิวชอบประโยคนี้คะ   เวลาใดที่ต้องทำหน้าที่บรรยาย ทำหน้าที่เป็นผู้รู้ก็ต้องทำให้เต็มที่ แต่เวลาใดที่จะต้องเรียนรู้ ได้ฟัง ต้องรับสิ่งสะท้อนกลับ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มต้นจัดการความรู้ในชั้นเรียน เราก็ต้องเป็นผู้เรียนรู้อย่างเต็มที่

      ในปัจุจบันนิวพบว่า  คนเรามักไม่ค่อยถอด หัวโขน ที่ตัวเองสวมใส่ไว้    และเมื่อถอดออกแล้วต้องรูจักถอดมันออกอย่างถูกที่และถูกเวลาด้วย.???

  • สวัสดีครับท่านอาจารย์จันทรรัตน์
  • ขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงที่เข้ามาเติมเต็มครับ
  • สำหรับผมเองนั้นสิ่งต่าง ๆ ที่เขียนออกมานี้เกิดขึ้นมาจากการเดินทางในย่างก้าวที่ผิดพลาดเมื่อสมัยอดีตครับ หลงระเริงกับความเป็นผู้รู้ ความเป็นคนเก่ง จนบางครั้งก็ทำสิ่งต่าง ๆ ผิดพลาดไปครับ
  • จากนั้นประสบการณ์ต่าง ๆ ก็สอนให้ผมเองได้ค่อย ๆ คิดและปรับปรุงให้ดีขึ้น คิดและเขียนสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อเตือนตนเองไม่ให้ทำผิดเหมือนกับเมื่อครั้งก่อนครับ
  • สิ่งนี้จึงเป็นเครื่องเตือนใจผมเสมอมาครับ
  • สวัสดีครับคุณชาญวิทย์
  • ผมเองก็เกิดขึ้นบ่อย ๆ ครั้ง แม้ในขณะนี้บางครั้งถ้าทำงานเพลิน ๆ ไปความรู้สึกนี้ก็แวบขึ้นมา บางขณะต้องคิดและเตือนตัวเองอยู่เสมอครับ
  • เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ เลยครับคุณชาญวิทย์ที่ได้นำหลักการเรียนรู้ไปถ่ายทอดกับเกษตรกรครับ เพราะผมเองก็นำหลักการเรียนรู้นี้ไปใช้กับนักศึกษาแล้วก็พบกับความสำเร็จเช่นกันครับ
  • ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเติมเต็มครับ
  • สวัสดีครับน้องนิว
  • ประโยคนั้นเป็นประโยคที่ใช้เตือนใจผมเสมอครับ เพราะจะต้องยึดหลักความเหมาะสม ทั้งสถานที่ เวลา และกาลเทศะครับ ถึงจะทำให้เราทำตนอย่างมีประโยชน์และทำให้คนรอบข้างมีความสุขครับ
  • เวลาเรียน เรียนเต็มที่ เวลาสอน สอนเต็มที่ เวลาเล่น เล่นเต็มที่ ทำทุกอย่างเต็มที่ตามบริบทที่ควรจะเป็น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เรามีความสุขครับ
  • ขอบคุณน้องนิวมาก ๆ ครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเติมเต็ม เป็นกำลังใจให้น้องนิวทั้งในบทบาทผู้รู้และผู้เรียนรู้เสมอตลอดไปครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท