​ชีวิตที่พอเพียง : 2984b โรงงานผลิตปัญญา : 7. ชีวิตของอาจารย์


ในตอนนั้นการเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยไม่ถือเป็นวิชาชีพ ไม่มีบันไดอาชีพ (career ladder) อาจารย์อย่างในปัจจุบัน คนที่ทำหน้าที่ติวเต้อร์น้อยคนมากที่จะเลื่อนขึ้นเป็นศาสตราจารย์ และศาสตราจาย์ส่วนใหญ่ทำงานอื่นด้วย ไม่ใช่ทำหน้าที่ศาสตราจารย์เต็มเวลา เช่นเป็นศาสนาจารย์ หรือเป็นแพทย์ ราวๆ ร้อยละ ๔๐ เริ่มทำหน้าที่ศาสตราจารย์ก่อนอายุ ๓๐ ปี

ชีวิตที่พอเพียง  : 2984b โรงงานผลิตปัญญา :  7. ชีวิตของอาจารย์

บันทึกชุด โรงงานผลิตปัญญา ตีความจากหนังสือ Wisdom’s Workshop :  The Rise of the Modern University    สำหรับตอนที่เจ็ดนี้ ตีความจากบทที่ 3 The Collegiate Way Abroad  

หลังจากเล่าเรื่องการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกใน New England ในปี 1636  คือมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  ที่อธิการบดีคนที่สอง ที่ชื่อ Henry Dunster เป็นผู้สร้างความสำเร็จให้แก่มหาวิทยาลัยนี้    โดยในปี 1642 มีผู้สำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญา B.A.  จำนวน ๙ คน    ในตอนนั้นสถาบันใช้ชื่อว่า Harvard College  และจะยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยอีกกว่าร้อยปีต่อมาในปี 1780    

บัณฑิตที่จบจากวิทยาลัยนี้มีคุณภาพสูง เป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็ว    โดยที่รูปแบบการศึกษานำมาจาก มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่อังกฤษ    โปรดสังเกตว่าเมืองที่วิทยาลัยนี้ตั้งอยู่ก็ได้ชื่อว่าเมืองเคมบริดจ์  

ในสมัยนั้นอธิการบดีทำหน้าที่สอน หรือจริงๆ แล้วเป็น “ศาสตราจารย์” คนเดียวในวิทยาลัย    มีติวเตอร์ผู้ช่วยไม่กี่คน    และแน่นอนว่า อธิการบดีต้องร่วมกับผู้นำในชุมชน ช่วยกันคิดหาทางพัฒนา มหาวิทยาลัยในด้านต่างๆ 

หลังจากการก่อตั้ง Harvard College ในปี 1636   มหาวิทยาลัยแห่งที่สองคือ Yale ก็ก่อตัวขึ้นในปี 1701   ตามมาด้วย Princeton ในปี 1746   โปรดสังเกตว่า อุดมศึกษาอเมริกันในศตวรรษที่ ๑๗ และ ๑๘ ขยายตัวอย่างช้าๆ     ผมตีความว่า ที่ขยายตัวก็เพราะประชาชนเห็นคุณค่า เห็นความจำเป็น ต่อการพัฒนาสังคม    จึงช่วยกันก่อตั้ง และที่สำคัญ ช่วยกันออกทรัพยากร   เรื่องนี้จะเล่าในตอนที่ ๘

หนังสือเล่าชีวิตของอาจารย์มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ในช่วงศตวรรษที่ ๑๘  คือเมื่อกว่าสองร้อยปีมาแล้ว     

 ในปี 1750 มีวิทยาลัยในอเมริกา ๔ แห่ง    มีศาสตราจารย์เพียง ๑๐ คน    และการสอนส่วนใหญ่ ทำโดยอธิการบดี    สอนนักศึกษาชั้นสูงๆ โดยมีติวเตอร์เป็นผู้ช่วยสองสามคน    ช่วยทบทวนสิ่งที่อธิการบดีสอน  และคอย “จับปูใส่กระด้ง” สำหรับนักศึกษาอายุน้อยๆ    ผมตกใจมากที่นักศึกษาระดับปริญญาตรีอายุน้อยในระดับ ๑๔ ปี    หรือบางคนเด็กขนาดอายุ ๑๐ - ๑๒ ปี    แน่นอนว่าเด็กอายุน้อยเหล่านี้มาจากครอบครัวร่ำรวย   

ในปี 1775 ในอเมริกามีวิทยาลัย ๙ แห่ง  มีศาสตราจารย์ ๓๓ คน   ส่วนใหญ่มีทุนสนับสนุนจากผู้มี จิตศรัทธาต่อมหาวิทยาลัย เป็น endowed chair

ในตอนนั้นการเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยไม่ถือเป็นวิชาชีพ    ไม่มีบันไดอาชีพ (career ladder) อาจารย์อย่างในปัจจุบัน    คนที่ทำหน้าที่ติวเต้อร์น้อยคนมากที่จะเลื่อนขึ้นเป็นศาสตราจารย์     และศาสตราจาย์ส่วนใหญ่ทำงานอื่นด้วย  ไม่ใช่ทำหน้าที่ศาสตราจารย์เต็มเวลา    เช่นเป็นศาสนาจารย์ หรือเป็นแพทย์    ราวๆ ร้อยละ ๔๐ เริ่มทำหน้าที่ศาสตราจารย์ก่อนอายุ ๓๐ ปี    ศาสตราจารย์ที่อายุมาก กว่านั้นมักเป็นพระ ที่เคยตีพิมพ์งานวิชาการ  และอธิการบดีเชื้อเชิญมาทำหน้าที่ศาสตราจารย์    และศาสตราจารย์มักสอนในมหาวิทยาลัยที่ตนเรียนจบมา     จะเห็นว่าวัฒนธรรมไม่รับศิษย์เก่าที่เพิ่งเรียนจบ เป็นอาจารย์เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาคิดเหมือนๆ กัน (inbreeding of ideas) เพิ่งมาทีหลัง    ทำให้ใจชื้นว่า ๑๐๐ ปีแรกของมหาวิทยาลัยอเมริกันเขายังรับศิษย์เก่าเป็นอาจารย์ แบบมหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบันซึ่งเราเพิ่งย่าง เข้าร้อยปีที่สองในปีนี้

ที่เหมือนกับบ้านในปัจจุบันคือ ในอเมริกาสมัยนั้นไม่มีระบบบันไดอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยแบบ เลื่อนสถานะโดยการย้ายสถาบัน (career move)    โดยสถาบันที่ต้องการคนเก่งด้านนั้นเสนอตำแหน่งและ เงินเดือนที่สูงกว่า  หรืออาจรวมทั้งเสนอการสนับสนุนงานวิชาการด้วย    ระบบนี้เกิดขึ้นในอเมริกาหลังศตวรรษที่ ๑๘ ที่กำลังเล่าอยู่    และยังไม่เกิดในประเทศไทย

ศาสตราจารย์ทำหน้าที่เล็กเชอร์ในวิชาที่ตนเชี่ยวชาญ ซึ่งในสมัยนั้นกว้างมาก (เพราะยังไม่เกิดการ แยกศาสตร์ซอยย่อย)    โดยมีตารางบรรยาย ตลอดปี    ตำแหน่งศาสตราจารย์กองทุน (endowed chair) แรกๆ มักเป็นศาสตราจารย์ด้านศาสนศาสตร์    ซึ่งต่อมาจะลดความสำคัญลงจากการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ 

อาจารย์มหาวิทยาลัยมักจบ M.A. โดยการเรียนด้วยตนเอง    ไม่มีความรู้และทักษะด้านการเรียนการสอน และด้านจิตวิทยาวัยรุ่น   แต่ก็หวังเข้าไปทำหน้าที่สอน    แต่งานที่มักได้รับมอบหมายคืองานดูแลความเป็น ระเบียบเรียบร้อยของนักศึกษา    ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเพิ่งย่างเข้าวัยรุ่น   เป็นงานหนักที่น่าเบื่อ และบางครั้งเสี่ยงอันตราย  

หน้าที่ของอาจารย์ใหม่คือเป็นติวเต้อร์แก่นักศึกษา    ติวเต้อร์หลายคนจบ M.A. แล้วแต่ยังต้องการ เรียนเพิ่ม โดยอ่านตำราตามคำแนะนำของอธิการบดี และเพื่อใช้ห้องสมุดของวิทยาลัยได้    จึงสมัครทำหน้าที่ ติวเต้อร์โดยอาศัยพักอยู่ในวิทยาลัยกับนักศึกษา     คล้ายๆ เป็นกึ่ง R.A. (resident advisor)  กึ่ง T.A. (teaching assistant) ในสมัยนี้    

เพราะหน้าที่ดูแลระเบียบวินัยของนักศึกษาเป็นงานหนัก   คนจึงมักอยู่ในตำแหน่งนี้ไม่นาน    มีอัตราหมุนเวียนสูง    เพราะเมื่อดุด่าว่ากล่าวนักศึกษา ก็อาจถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง บางครั้งนักศึกษา ใช้อาวุธทำร้ายครูก็มี    และในสมัยนั้นมีการให้นักศึกษาประเมินติวเต้อร์    หากผลประเมินไม่ดี ติวเต้อร์ก็อาจถูกให้ออก

ในบทที่ 4  A land of colleges เล่าเรื่องวิทยาลัยในช่วงกลางศตวรรษที่ ๑๙    ระบุว่า ไดอารี่ของศาสตราจารย์ James Hadley ที่ได้รับตำแหน่ง full professor ในปี 1851 ที่มหาวิทยาลัย Yale   เขียนเล่าภารกิจของศาสตราจารย์ไว้ละเอียดมาก    โดยในช่วงนั้น Yale ได้พัฒนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย เต็มรูปแบบแล้ว    คือมีการสอนทั้งสาขา เทววิทยา  แพทยศาสตร์  นิติศาสตร์  และปรัชญาและศิลปศาสตร์   ศาสตราจารย์ท่านนี้สอนภาษาศาสตร์ แต่ก็มีความรู้ด้านคณิตศาสตร์ดีมาก    สรุปรวมภาระงานต่อสัปดาห์เท่ากับ ๖๐ ชั่วโมง    หรือวันทำงานละ ๑๒ ชั่วโมง    แต่ก็มีบันทึกไว้ว่าท่านมีสอนในชั้นเรียนไบเบิ้ลในวันอาทิตย์ด้วย      โดยในตอนนั้น Yale มีนักศึกษาระดับปริญญาตรี ๓๘๖ คน   นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาเกือบ ๑๕๐ คน   มีอาจารย์ ๑๗ คน    และเพราะเป็นอาจารย์ที่เอางานเอาการทางวิชาการ    ท่านจึงไม่ค่อยได้รับมอบหมายหน้าที่ “ตำรวจ” จับนักศึกษาที่ทำผิดวินัย ตั้งแต่ตอนที่ท่านเป็นเพียงผู้ช่วยศาสตราจารย์ 

ผมติดใจสาระในหน้า ๒๑๖  ที่กล่าวเรื่องพัฒนาการของห้องสมุด    และระบุข้อคิดเห็นว่า  สถาบันอุดมศึกษาต้องมีห้องสมุดเพื่อการค้นคว้า    อาจารย์ต้องไม่ใช่แค่คล่องแคล่วในศาสตร์ของตนเท่านั้น    ต้องมีความรู้ในศาสตร์อื่นด้วย    คือต้องรู้ทั้งลึก (depth) และกว้าง (breadth)        

วิจารณ์ พานิช

๓ ก.ค. ๖๐  ปรับปรุง ๑๗ ก.ค. ๖๐

 

หมายเลขบันทึก: 634125เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2017 06:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2017 06:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท