ย้อนรอยอดีตศึกษานิเทศก์ เมื่อคราแรกเริ่ม ...อาจารย์เปลื้อง ณ นคร : ปรมาจารย์ด้านภาษาไทย ที่ใครๆก็รู้จัก.


           ตอนผมรับราชการใหม่ๆ หนังสือวารสารในวงการศึกษาเล่มแรกที่ผมได้อ่านและติดตามเป็นประจำคือ  “วิทยาสาร” ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช และหนังสือ “ชัยพฤกษ์” อีกเล่มหนึ่ง  ต่อมาจึงมีวารสารทางวิชาการที่หน่วยงานต่างๆจัดทำขึ้นอีกหลายฉบับ  เป็นเวทีให้ผมได้เขียนบทความส่งไปลงตีพิมพ์ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น สารพัฒนาหลักสูตร วารสารวิชาการ(กรมวิชาการ) วารสารส่งเสริมเทคโนโลยี(สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น) มิตรครู  มติครู  ก้าวไกล ประชาศึกษา  วิทยาจารย์ จันทรเกษม  สวนสวยโรงเรียนงาม วิจัยสนเทศ  วารสารราชมนู  เป็นต้น  ต่อมาภายหลังวารสารทางวิชาการแทบทุกฉบับได้ปิดตัวลง ยังคงมีวารสารวิทยาจารย์ ของคุรุสภาฉบับเดียวที่ยังตีพิมพ์ให้ผมได้เป็นคอลัมน์ประจำเขียนมาอย่างต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้           พอพูดถึงความเป็นมาของหนังสือวารสารทางวิชาการตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะหนังสือวิทยาสาร และชัยพฤกษ์ ทำให้นึกถึงปรมาจารย์ทางภาษาไทยท่านหนึ่ง  เจ้าของนามปากกา “นายตำรา ณ เมืองใต้” ที่โด่งดัง ท่านเป็นบรรณาธิการ วิทยาสารและชัยพฤกษ์ในสมัยนั้น  และเขียนตำรับตำราทางภาษาไทยไว้มากมาย  โดยชีวิตการทำงานของท่านโลดโผนมาก  เคยเป็นทั้งครู  ผู้บริหาร  นักการเมือง  นักวิชาการ นักจัดรายการวิทยุ(วิทยุศึกษา) ศึกษานิเทศก์  นักเขียน  นักแสดง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์/วารสาร และอาจารย์พิเศษ  ท่านผู้นี้ก็คือ อาจารย์เปลื้อง  ณ นคร  โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่ท่านจะลาออกจากราชการใน พ.ศ. ๒๕๐๓  ท่านดำรงตำแหน่งเป็นศึกษานิเทศก์เอก ด้วย  ผมจึงขอย้อนรอยเขียนถึงอดีตศึกษานิเทศก์ท่านนี้  มาเล่าสู่กันฟังครับ            
       อาจารย์เปลื้อง ณ นคร  เกิดเมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๒  ที่อำเภอพนางตุง( ปัจจุบันคือ  อำเภอควนขนุน  )  จังหวัดพัทลุง  เป็นบุตรคนโตของขุนเทพภักดี (เล็ก  ณ  นคร)  กับนางเทพ  ภักดี  (ยกฮิ่น  ขุนทะโร)  เริ่มเรียนหนังสือที่วัดล่าง พอขึ้นชั้นประถมปีที่ ๓ บิดาส่งให้ไปอยู่กับป้าที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าเรียนต่อที่วัดท่ามอญ  จนจบประโยคประถมปีที่ ๓ แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนประจําจังหวัดนครศรีธรรมราช “เบญจมราชูทิศ” จนถึงชั้นมัธยมปีที่ ๒ จึงได้มาเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ (ปัจจุบันคือโรงเรียนเทพศิรินทร์) โดยอาศัยอยู่กับพลเอก เจ้าพระยา บดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ผู้มีศักดิ์เป็นลุง จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๘ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้วเข้าศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม (ป.ม.) เป็นรุ่นแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓

         พ.ศ. ๒๔๗๔  อาจารย์เปลื้องเข้ารับราชการเป็นครูชั้นตรีที่โรงเรียนมัธยมโฆสิตสโมสร ทํางานอยู่เพียง ๗ วัน ก็ได้รับคําสั่งให้ย้ายไปสอนที่โรงเรียนมัธยมวัดสุทธิวราราม (ปัจจุบันคือโรงเรียนวัดสุทธิวราราม) ห้าเดือนต่อมาได้รับยศ เป็นรองอํามาตย์ตรี พ.ศ. ๒๔๗๗ ย้ายไปเป็นครูโรงเรียนประถมกสิกรรม ประจําภาคใต้จังหวัดสงขลา พ.ศ. ๒๔๗๙ ย้ายกลับมาเป็นครูโรงเรียนพณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง จังหวัดพระนคร พ.ศ. ๒๔๘๐ ย้ายไปเป็นครูโรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระนคร และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ใน พ.ศ. ๒๔๘๑           
          อาจารย์เปลื้องทำหน้าที่เป็นครูสอนภาษาไทยมาโดยตลอด  และเป็นครูภาษาไทยที่เอาใจใส่ต่อการสอนเป็นอย่างยิ่ง  เพราะอาจารย์เปลื้องรักภาษาไทย  ได้ซึมซับความรักความสนใจในภาษาไทยมาตั้งแต่เด็กสมัยเมื่ออยู่กับพลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ผู้เป็นลุง  โดยอาจารย์เปลื้องมีหน้าที่อ่านหนังสือต่างๆให้ฟังเป็นประจำ  ทั้งหนังสือพิมพ์  หนังสือเป็นเล่ม  รวมทั้งหนังสือวรรณคดีต่างๆ จนเกิดความรักและความสนใจภาษาไทยเป็นชีวิตจิตใจ  อาจารย์เปลื้องจึงเป็นนักอ่านและสนใจวิธีเขียนหนังสือของนักเขียนต่างๆเรื่อยมา  ด้วยเหตุนี้อาจารย์เปลื้องจึงได้เขียนหนังสือหลายเรื่องหลายเล่มตั้งแต่สมัยศึกษาอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และเมื่อเริ่มรับราชการครูจนมีชื่อเสียงในเรื่องภาษาไทย  ดังนั้นเมื่ออาจารย์เปลื้องเป็นครูสอนภาษาไทยจึงทำให้ผู้เรียนได้รับทั้งความรู้และความสนุกสนานเพลิดเพลินจากเกร็ดภาษาไทยต่างๆที่อาจารย์เปลื้องได้อ่านและนำมาถ่ายทอดให้แก่ผู้เรียน             
           พ.ศ.๒๔๘๓ กระทรวงธรรมการได้จัดตั้งกองการศึกษาผู้ใหญ่ขึ้น  อาจารย์เปลื้องจึงโอนมาอยู่กองการศึกษาผู้ใหญ่ และ พ.ศ.๒๔๘๔ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าแผนก  พ.ศ. ๒๔๘๙  อาจารย์เปลื้องลาออกจากราชการเพื่อไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง  แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง  ๓เดือนต่อมาจึงขอกลับเข้ารับราชการอีก  ทำงานต่อมาอีกระยะหนึ่งก็เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายจึงลาออกจากราชการอีก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐

         พ.ศ. ๒๔๙๑ รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทําหนังสืออ่าน ประกอบการศึกษาของเด็กและผู้ใหญ่ กระทรวงศึกษาธิการได้มอบเรื่องนี้ให้คุรุสภา เป็นผู้ดําเนินการคุรุสภาจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง อาจารย์เปลื้องได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วยเพราะแม้จะลาออกจากราชการแล้ว แต่ความที่เป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังด้านความรู้ความสามารถในการเขียนหนังสือจนเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว แต่การทํางานของคณะอนุกรรมการชุดนี้ไม่ค่อยจะราบรื่น เพราะประธานกรรมการซึ่งเป็นข้าราชการประจําติดราชการบ่อย  อาจารย์เปลื้องจึงเสนอให้จัดตั้งสํานักงานวรรณกรรมการศึกษาขึ้น (สํานักงานนี้อยู่ชั้น ๒ ของตึกสามัคยาจารย์ในบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ปัจจุบันได้รื้อถอนไปแล้ว) โดยให้รวมอยู่ในสํานักงานเลขาธิการคุรุสภาเพื่อจัดทําหนังสือที่มีคุณค่าสําหรับเด็ก อาจารย์เปลื้องได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการสํานักวรรณกรรมการศึกษาตามโครงการนี้ หลังจากจัดทําหนังสือสําหรับเด็กชุดคลังนิยายแล้ว คณะกรรมการจึงได้คิดทําหนังสือสําหรับครูขึ้นเป็นหนังสือรายปักษ์ชื่อประชาศึกษา อาจารย์เปลื้องทําหน้าที่เป็นบรรณาธิการคนแรกจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๒

พ.ศ. ๒๔๙๕ กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งกรมวิชาการขึ้น มีกองเผยแพร่ การศึกษาเป็นผู้ดําเนินงานสถานีวิทยุศึกษา อาจารย์เปลื้องจึงกลับเข้ารับราชการอีกที่ กองเผยแพร่การศึกษา เพื่อทํางานด้านวิทยุศึกษาและจัดทําวารสารวิทยุศึกษาในตําแหน่ง ผู้ชํานาญการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ และใน พ.ศ.๒๕๐๐ ได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งวิทยากรเอก ซึ่งเป็นตําแหน่งแรกในกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อแรกที่มาอยู่กองเผยแพร่การศึกษานั้น สํานักวัฒนธรรมทางระเบียบประเพณี สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดทําหนังสือสําหรับเด็กชี่อ ชัยพฤกษ์ อาจารย์เปลื้องได้รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ เมื่อกระทรวงวัฒนธรรมยุบแล้ว  บริษัทไทยวัฒนาพานิชได้รับช่วงมาทำต่อ และนายเปลื้องก็ยังทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการอยู่

พ.ศ. ๒๔๙๙  อาจารย์เปลื้องได้รับทุนขององค์การยูเนสโก (UNESCO)  ไปดูงานวิทยุศึกษาในต่างประเทศเป็นเวลา ๗ เดือน  ที่ประเทศอังกฤษ  สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย  เมื่อกลับมาก็ได้ดำเนินงานวิทยุโรงเรียน ( School  Broadcast ) โดยส่งกระจายเสียงวิชาต่าง ๆ ไปยังห้องเรียน เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนเป็นอันมาก

พ.ศ. ๒๕๐๑ กองเผยแพร่การศึกษาได้โอนมากับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  อาจารย์เปลื้องข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นเอก  จึงได้รับแต่งตั้งเป็นศึกษานิเทศก์เอก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒

พ.ศ. ๒๕๐๓ อาจารย์เปลื้องลาออกจากราชการ  ขณะนั้นข้าราชการชั้นเอกรับเงินเดือน ๓,๐๐๐ บาท  เมื่อลาออกจากราชการแล้ว  ได้เข้ารับงานบรรณาธิการ  หนังสือพิมพ์  วิทยาสาร  ของบริษัทไทยวัฒนาพานิช  และยังคงเป็นบรรณาธิการหนังสือชัยพฤกษ์  อยู่ตามเดิม

พ.ศ. ๒๕๐๗ อาจารย์เปลื้องได้รับเชิญเป็นอาจารย์สอนวิชาวรรณคดีและภาษาไทย  ที่คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และได้ก่อตั้ง  สโมสรสุนทรภู่ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘

พ.ศ. ๒๕๑๘ อาจารย์เปลื้องลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่งในนามของพรรคประชาธิปัตย์  ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร  เขต  ๗  (ธนบุรี  คลองสาน  ราษฎร์บูรณะ)  และได้รับเลือกเป็นประธานกรรมาธิการวัฒนธรรมและสังคม  แต่ไม่ทันได้ดำเนินงานรัฐบาลก็ประกาศยุบสภา เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่  อาจารย์เปลื้องก็ปฏิเสธที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งอีก

พ.ศ. ๒๕๒๒  หนังสือพิมพ์  ชัยพฤกษ์  และวิทยาสาร  ยุบกิจการ  อาจารย์เปลื้องจึงลาออกจากบริษัทไทยวัฒนาพานิช  เมื่ออายุได้ ๗๐ ปี 

ชีวิตครอบครัวอาจารย์เปลื้องสมรสกับนางสาวเสณี ณ มหาชัย  มีบุตร ๖ คนคือ นายศิธร  นายภัทรวิทย์  นายพิรีย์  นายสุรพงศ์  นางสุรีนาฏ  วิริยสิริ  และนางสาวสุพรรณิกา  ณ  นคร 

นามของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร  หรือ  นามปากกา   นายตำรา  ณ   เมืองใต้   นั้น โด่งดังมากในวงการภาษาไทยของเมืองไทย  อาจารย์เปลื้องเริ่มงานเขียนครั้งแรกเมื่อเรียนอยู่คณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   และมีผลงานเป็นที่ยกย่องของอาจารย์ที่สอน  อาจารย์เปลื้องจึงได้รับมอบหมายจากสโมสรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นบรรณาธิการหนังสือของมหาวิทยาลัย  และได้เริ่มใช้นามปากกาว่า  นายตำรา  ณ  เมืองใต้    เป็นครั้งแรก ในการเขียนเรื่องหลายเรื่อง  เช่น  นางงามแผนโบราณ   ตาของเจ้าหล่อน  คัณฑี ฯลฯ   และใช้นาม  ป. ณ  นคร  ในการเขียนอีกหลายเรื่องเช่น  ประทารกรรม  (มาจากเรื่อง  The  Rape Of Lucreece   ของเชกสเปียร์ )  ขู่ภรรยา เป็นต้น  เมื่อเป็นครูที่โรงเรียนยมัธยมวัดสุทธิวรารามได้เขียนเรื่องลงในหนังสือ  วิทยาจารย์  ใช้นาม  ร.อ.ต.เปลื้อง  ณ  นคร  (ร.อ.ต.ย่อมาจากรองอำมาตย์ตรี) เช่น  เรื่องการเล่นของเด็ก  เครื่องว่างของนักเรียน  ภาษิตครู  เป็นต้น  และยังมีเรื่องลงในหนังสือต่างๆ อีกมากมาย

หนังสือที่ทำให้อาจารย์เปลื้องมีชื่อเสียงมาก  คือ   ปริทรรศ์แห่งวรรณคดีไทย  ซึ่งได้เขียนอุทิศเพื่อสนองพระคุณ  พลเอก  เจ้าพระยาบดินเดชานุชิต  (แย้ม  ณ  นคร )  และท่านผู้หญิงบดินเดชานุชิต ( เลียบ  ณ นคร )  ผู้ปลูกฝังความรักความสนใจภาษาไทยให้   ต่อมาอาจารย์เปลื้องได้แต่งตำราที่มีคุณค่าต่อการศึกษาภาษาไทยอีกหลายเล่ม  เช่น  ประวัติวรรณคดีไทยฉบับนักศึกษา  ซึ่งได้รับรางวัลในฐานะเป็นวรรณกรรมชั้นดีจากสำนักวัฒนธรรมทางวรรณกรรม  สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ  หนังสือวรรณคดีไทยปัจจุบัน  วิชาการประพันธ์และการหนังสือพิมพ์ ฯลฯ  หนังสือว่าด้วยการเขียนเรียงความ ๖  เล่ม  ซึ่งมีประโยชน์ยิ่งสำหรับครูสอนภาษาไทย  ด้วยว่าก่อนนี้ยังไม่มีตำราว่าด้วยการเขียนเรียงความมาก่อน  นอกจากนี้ยังเขียนคู่มือครูอีกหลายเล่ม   เช่น  คู่มือลิลิตตะเลงพ่าย  คู่มือวาสิฏฐี  คู่มือพุทธประวัติ  อิลราชคำฉันท์  เป็นต้น  เขียนหนังสือการใช้ภาษาของนักเรียน  เช่น  ปทานุกรมนักเรียน  พจ-นะ- สารานุกรม  เป็นต้น  เขียนบทความเกี่ยวกับภาษาไทยลงในบัญชรภาษาของหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ  หลายเล่ม  เช่น หนังสือพิมพ์เอกชน  สวนอักษร  รุ่งอรุณ  เป็นต้น  เขียนเรื่องสั้นและนิยายอีกหลายเล่ม  เช่น  ชุดนายเลากะงังฆ์  มโหสถบัณฑิต  เป็นต้น เขียนประกอบภาพชุดร่วมกับนายเหม  เวชกร  เช่น ภาพสุนทรภู่  ราชาธิราช  กากี  กามนิต  เป็นต้น  มีงานแปลอีกหลายเล่ม  เช่น  ราชาปารีส  (แปลจากเรื่อง King Of Paris ของ  กีย์  อังดอร์ ) หญิงกรุงโรม  ( จากเรื่อง Women Of  Rome ของอัลแบร์โต  โมราเวีย)  แด่คุณครูด้วยดวงใจ ( จากเรื่อง To Sir, with Love  ของ  อี  อาร์  เบรตเกต )  และแปลเรื่องสำหรับเด็กอีกหลายเรื่อง  เช่น อัศวินแห่งกษัตริย์อาร์เธอร์  เดวี  คร็อกเก็ต  เป็นต้น            
        นอกจากจะมีความสามารถในการเขียนหนังสือแล้ว อาจารย์เปลื้องยังเป็นนักแสดงทีมีความสามารถยอดเยี่ยมอีกด้วย   ได้แสดงละครเป็นตัวเอกจากบทประพันธ์ของหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล  หลายเรื่อง เช่น  การเมืองเรื่องรัก  เป็นต้น

ด้วยอัจฉริยภาพด้านภาษาไทยของอาจารย์เปลื้องดังได้กล่าวมาแล้ว  ในโอกาสฉลองครบ  ๕๐  ปี  แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สภามหาวิทยาลัยจึงได้ขอพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต  กิตติมศักดิ์  ให้แก่อาจารย์เปลื้องเมื่อวันที่  ๒๖  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๑๐  ต่อมาสภามหาวิทยาลัยศิลปากรได้ขอพระราชทานปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์  ให้เมื่อวันที่  ๑๕  ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ 

พ.ศ. ๒๕๒๙  ได้รับพระราชทานพระเกี้ยวทองคำจากคณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย  ในฐานะผู้ทำนุบำรุง  และเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยดีเด่น

พ.ศ. ๒๕๓๙  ได้รับยกย่องเป็นปูชณียบุคคลทางภาษา   และวรรณคดีไทยจากกระทรวงศึกษาธิการ

      อาจารย์เปลื้องลาออกจากวัฒนาพานิชแล้ว  ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นกรรมการในงานเกี่ยวกับภาษาไทยหลายงาน  เช่น  งานปรับปรุงหนังสือภาษาไทยระดับมัธยมของกระทรวงศึกษาธิการ  งานผลิตเอกสารการสอนภาษาไทยของวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  เป็นต้น  และได้พักผ่อนท่องเที่ยว  เขียนหนังสือ แปลหนังสืออีกหลายเรื่อง หลายเล่ม เช่น  หนังสือ  ภาษาวรรณา  และยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังมิได้รวมเป็นเล่ม  อาจารย์เปลื้องมีสุขภาพแข็งแรงดี  ไม่มีโรคร้ายแรง  มีแต่ความชราอย่างเดียว  เมื่ออายุย่างเข้าปีที่ ๙๐ เริ่มรับประทานอาหารน้อยลง  และได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่  ๒๕  ตุลาคม  พ.ศ.๒๕๔๑  สิริอายุได้  ๘๙  ปี  ๑ เดือน ๒๑ วัน 

หมายเลขบันทึก: 633834เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2017 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2017 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ติดตาม อ่านงานของอาจารย์ เปลื้องมาตลอด

ท่านผู้นี้เป็นบรรพบุรุษที่มีความเชี่ยวชาญลึกซึ้งในภาษาไทยอย่างยิ่ง ปีนี้ 110ปีของท่าน ขอเชิญชวน ศึกษานิเทศก์ และครูภาษาไทย ได้แสดง “กตเวทิตา” ให้ชนรุ่นหลังได้ประจักษ์ในคุณูปการของท่าน นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท