ชีวิตที่พอเพียง 2979. ไปพักผ่อนนอนเล่นที่หาดเจ้าสำราญ




หาดเจ้าสำราญได้ชื่อนี้ก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินไปทรงพระสำราญที่นั่น    อ่านตามในวิกิพีเดีย บอกว่าเจ้าที่เป็นต้นเหตุคือสมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระเอกาทศรถ 

ถัดจากหาดเจ้าสำราญไปทางเหนือเป็นแหลมผักเบี้ย     เมื่อ ๔ ปีที่แล้วผมไปนอนที่ชายหาดแหลมผักเบี้ย ดังบันทึก , ,   และที่จริงชมทะเลรีสอร์ทที่เราไปพักอยู่ในตำบลแหลมผักเบี้ย  อ. บ้านแหลม  จ. เพชรบุรี

วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ก็ไปนอนใกล้แหลมผักเบี้ยอีก แต่คราวนี้ลงไปใต้กว่า คือติดกับหาดเจ้าสำราญ และพักที่ ชมทะเล รีสอร์ท   เป็นการไปพักผ่อนตามที่สาวน้อยเรียกร้อง     และผมจองผ่าน Booking.com แปดวันล่วงหน้า  

เราขับรถออกจากบ้าน ๗.๐๐ น.  ขึ้นทางด่วนไปข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานพระราม ๙   พบว่ารถน้อย กว่าวันธรรมดามาก    พอข้ามสะพานพระราม ๒ ข้ามแม่น้ำแม่กลอง ไประยะหนึ่งก็มีป้ายบอกทางเลี้ยวซ้ายไป ถนนเลียบชายหาดสู่หาดเจ้าสำราญ หาดปึกเตียน และหาดชะอำ    เราเลี้ยวเข้าไป   

เข้าไปหน่อยเดียว เราเลี้ยวซ้ายไปเที่ยวตำบลคลองโคนก่อน    แล้วเลี้ยวขวาไปบ้านคลองช่อง (ตำบลคลองโคน)    จนไปถึงวัดธรรมประสิทธิ์หรือวัดคลองช่อง    มีคลองช่องผ่านลานกว้างหน้าวัด    เราจอดรถถ่ายรูปและถามทาง ว่าไปหาดเจ้าสำราญทางสะพานข้ามคลองได้หรือไม่    ได้รับคำตอบว่าไปได้ แต่ถนนไม่ดี เป็นโคลนเลน เพราะกำลังก่อสร้าง    จึงไม่ควรไป

ที่หน้าวัดมีคุณยาย (ที่จริงน่าจะเป็นคุณน้อง เพราะน่าจะอายุน้อยกว่าเรา) ขายของทอดกินเล่นอยู่    ผมเข้าไปอุดหนุนขนมไข่นกกระทา (แป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นลูกกลมเท่าไข่นกกระทาทอด)  และกล้วยตากทอด  รวม ๒๐ บาท    เป็นครั้งแรกที่ผมกินกล้วยตากทอด    พบว่าอร่อยมาก    ถ้าดูโหงวเฮ้งจะไม่น่ากินเลย    แต่คุณยายอธิบายว่าเอากล้วยน้ำว่าที่สุกงอมตากแดด    แล้วเอามาทอด    ราคา ๓ ผล ๑๐ บาท   

เรากลับมาที่ถนน 2021 / 4012 เลี้ยวซ้าย แล้วตรงไปเรื่อยๆ     หยุดถ่ายรูปฝูงนกกระยางหาอาหาร    และเดินทางต่อจนไปพบทางเลี้ยวขวาไปวัดยี่สาร    ที่ผมทราบจากอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ว่ามีพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร    จึงเลี้ยวเข้าไป    ไปหลงทางนิดหน่อย จึงไปพบโรงเรียนวัดเขายี่สาร (ประมุขเวชกิจ)    ที่เป็นโรงเรียนในโครงการประชารัฐด้านการศึกษา (ConNextEd)    ได้เห็นป้ายประชาสัมพันธ์โครงการ    มีสนามเด็กเล่นในร่ม    และโรงเรียนมีรถตู้ถึง ๒ คัน   ข้อมูลใน เว็บไซต์นี้ บอกว่ามีครู ๑๐ คน    ข้อมูลนักเรียนเว้นว่างไว้

ในที่สุดเราก็พบ พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร     และมีคุณยาย (คุณน้อง) อายุ ๖๗ ปี อาสาสมัคร ดูแลพิพิธภัณฑ์ในวันเสาร์อาทิตย์ ได้ค่าตอบแทนวันละ ๒๐๐ บาท    เป็นคนนำชม    อธิบายเท่าที่อธิบายได้    และได้คุยกับสาวน้อยเรื่องคนแก่เข่าเสื่อม (เหมือนกัน)     พิพิธภัณฑ์นี้ริเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๔๐  โดย รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม  โดยมีการขุดค้นทางโบราณคดี    เปิดโดยสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ในปี ๒๕๔๕   เปิดให้เข้าชม เฉพาะวันเสาร์ - อาทิตย์    เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน    แต่น่าเสียดายที่ชุมชนไม่ได้เข้ามาร่วมสร้างสรรค์ และใช้พิพิธภัณฑ์ในการสร้าง ความเข้มแข็งของชุมชนเลย    โปรดอ่านบทความของคุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ หนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์นี้ ที่    แล้วจะเข้าใจปัจจัยจำกัดของพิพิธภัณฑ์ชุมชน     ซึ่งน่าจะเป็นข้อมูล ของโครงการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย     โดยผมมีความเห็นว่า พิพิธภัณฑ์ต้องมีคุณค่า มีประโยชน์ที่จับต้องได้ของคนในปัจจุบัน    คนในชุมชนจึงจะเห็นคุณค่าและเอาใจใส่คอยหมั่นพัฒนา พิพิธภัณฑ์อยู่เสมอ 

พิพิธภัณฑ์นี้มี ๒ ชั้น   ชั้นบนเมื่อเดินเข้าไปจะพบ “โพล่” ซึ่งเป็นตุ่มหรือโอ่งน้ำขนาดใหญ่ปากแคบ  สำหรับใส่น้ำบรรทุกน้ำจืดจากที่ไกลๆ    ถัดเข้าไปเป็นหนังสือใบลาน ซึ่งตัวอย่างที่แสดงเป็นเรื่องทศชาติ    ที่ผมไม่เคยรู้คือมีไม้ประกับ ผ้าห่อ และฉลาก ที่ทำอย่างดี    ในลักษณะเอกสารศักดิ์สิทธิ์    ชิ้นสิ่งของตั้งแสดง ที่เห็นชัดคือศิลปกรรมไม้สลักเป็นธรรมาส  หีบพระมาลัย  หงส์  เป็นต้น    ส่วนที่ถ่ายมาแสดงเป็นภาพก็มีอีกมาก    มาจากบานประตูหน้าต่างพระอุโบสถเก่า     มีแผนที่การเดินเรือบริเวณยี่สารสมัยก่อน    และมีเรื่องราวของยี่สาร ว่าสมัยอยุธยาเป็นแหล่งการค้า    ขนส่งอาหารทะเลแปรรูปไปขายที่ตลาดวัดพนัญเชิง     แต่หลังเสียกรุงครั้งที่สอง เส้นทางการค้าเปลี่ยน    ความรุ่งเรืองของยี่สารก็ลดลง        

ชั้นล่างจัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของคนยี่สารสมัยก่อน    ครกไม้และสากไม้ ทำให้ผมระลึกชาติช่วงอายุ ๑๐ - ๑๕ ปี แม่ใช้ให้เป็นพนักงานหั่นและโขลกหยวกกล้วยด้วยครกและสากแบบนี้    แล้วเอาไปต้มในกระทะขนาดใหญ่ ใส่รำข้าวและปลายข้าว เป็นอาหารหมู    เพราะได้ฝึกทำงานแบบนี้ ผมจึงมีธาตุของความทรหดประจำตัวมาตลอดชีวิต

นักชมพิพิธภัณฑ์เข้าพิพิธภัณฑ์แล้วออกยาก    กว่าจะออกมาก็เกือบ ๑๑ น.    สาวน้อยต้องการหา ที่ถ่ายปัสสาวะ คุณป้าแนะให้ไปที่ร้านอาหาร “ร้านคุณจ๋า” ที่อยู่ริมคลองยี่สาร     เราจึงได้กินอาหารทะเลอร่อย ราคาย่อมเยา     และที่สำคัญ เมื่อผมถามคุณลุงเจ้าของร้านว่าคลองเล็กที่แยกออกไปตรงฝั่งตรงข้ามกับร้านชื่ออะไร    ก็ได้ทราบว่าชื่อคลองหลวง มีมาก่อนคลองขุดยี่สาร    คลองหลวงเชื่อมไปยังแม่น้ำแม่กลองที่อัมพวา     และคลองขุดยี่สารขุดสมัยรัชกาลที่ ๔  ปี พ.ศ. ๒๔๑๒    “ตอนขุดใช้ควาย ๕ ตัว”    ผมถามว่าตอนขุดกว้างขนาดไหน  “กว้างขนาดคนกระโดดข้ามฝั่งได้”     แต่เวลานี้กว้างประมาณ ๕๐ เมตร

เราสั่งอาหารสองอย่างเท่านั้น คือปูไข่ผัดผงกะหรี่  กับยำทะเล    กินกับข้าวหนึ่งจาน   น้ำหนึ่งขวดเล็ก  สองคนกำลังพอดี    ราคา ๔๖๐ บาท    มีน่าเล่าร้านนี้จึงคนแน่นตั้งแต่ ๑๑ น.

ออกจากยี่สาร เราเดินทางต่อไปตามถนน 4012 หรือถนนพระครูวชิรกิจโกศล    นำทางโดย Google Map ไปยังชมทะเลรีสอร์ท    ถึงเวลา ๑๓.๓๐ น.    ลักษณะของห้องพักเป็นบังกะโล แยกเป็นหลังๆ     เราพักหลังที่ ๙ เห็นวิวทะเลเต็มตา  

หลังจากเข้าที่พัก  อาบน้ำ  ผมเขียนบันทึก   สาวน้อยเอนหลัง    จนห้าโมงเย็นเราก็ขับรถออกไปร้าน เจ๊เหมียวซีฟู้ด   ซึ่งอยู่ริมหาดไปทางทิศใต้ของโรงแรมสองกิโลเมตร    ลักษณะเป็นร้านที่คนทุกชั้นกินอาหาร ทะเลได้    ราคาไม่แพง แต่รสชาติก็ปานกลาง     เราสั่งอาหาร ๔ อย่างคือ ข้าวผัดปูจานเล็ก  เนื้อปูนึ่ง  ปลาเก๋าสามรส  และผัดผักรวม    กับน้ำเปล่า ๑ ขวด    เป็นเงิน ๗๘๕ บาท    ข้าวผัดปูไม่อร่อย  มีเนื้อปูน้อยมาก   เนื้อปูนึ่งก็มีเนื้อปูน้อย    เอาผักรองก้นจานเสียพูน    ปลาสามรสส่วนที่โดนน้ำราดอร่อย    ส่วนไม่โดนน้ำราด มีกลิ่นคาว    รวมแล้วให้เกรดบี    ต่างจากป้าฮี๊ดซีฟู้ดที่ชะอำคนละชั้น ดังบันทึก

การขับรถไปตามถนนเลียบชายหาดเจ้าสำราญในเย็นวันนี้ ทำให้นึกเปรียบเทียบกับถนนเลียบชายหาด ชะอำ    และสรุปว่าชายหาดเจ้าสำราญเกรดต่ำกว่าชายหาดชะอำ    ยิ่งตรงทิศใต้ตรงหน้าร้านเซเว่น การจราจรเป็นจลาจล    ขาดการออกแบบการจราจรที่ดี    บริการต่างๆ ทุกด้านเกรดต่ำกว่าที่ชะอำ     ผมไม่มีความรู้ว่าราคาค่าบริการต่างๆ ของที่ชะอำสูงกว่าที่หาดเจ้าสำราญหรือไม่   เรากลับไปนั่งเล่นที่ระเบียงกันคลื่นที่โรงแรม    ซึ่งหมายความว่าชมทะเลรีสอร์ทนี้ไม่มีชายหาด     มีแต่แท่นคอนกรีตยื่นไปในน้ำทะเล    อีกโรงแรมที่อยู่ติดกันไปทางทิศใต้ ชื่อ ECO Moment ยิ่งยื่นออกไปมากกว่า    มองไปในทะเลมีเขื่อนกันคลื่นเป็นระยะๆ    ทำให้ผมเดาว่า เดิมที่ดินของโรงแรมทั้งสองอาจจะเป็นที่ที่ เขาปลูกสร้างในปัจจุบัน     แต่เขื่อนกันคลื่นได้ทำให้ตลิ่งพัง     เรื่องนี้น่าจะมีการทำวิจัยจากสภาพจริง    เพราะมีสมมติฐานว่าสำหรับชายหาดทิศตะวันตกของอ่าวไทยเขื่อนกันคลื่นทำให้ชายหาดที่อยู่เหนือเขื่อนกันคลื่นพัง    ดังบันทึก     เรื่องการสร้างเขื่อนกันคลื่น และการที่ชายหาดพังตลอดแนวขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ เช่นนี้    อาจเป็นกรณีผลประโยชน์ของหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง    โดยมีทรัพยากรชายหาดของประเทศเป็นเดิมพัน    ข้อกล่าวหานี้จริงหรือไม่ ต้องมีการวิจัย                                                                                                                                          


ตกค่ำมีฝนตกปรอยๆ    ผมหมายมั่นปั้นมือ (จริงๆ คือเตรียมไปฟัง) จะไปฟังเสียงคลื่นกระทบฝั่ง    ก็ได้ฟังสมใจตอนเช้ามืด เวลาตีห้า     โดยออกมานอนเล่นที่เก้าอี้ผ้าใบที่ระเบียงห้อง     ได้ยินเสียงคลื่นกระทบหินชัดเจน ที่ด้านข้างโรงแรม     แต่ก็นอนอยู่ได้ไม่นาน เพราะยุงกวน  

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ก.ค. ๖๐




1 ฝูงนกกระยางหากินอยู่ไกลลิบ



2 ซูมเข้ามาใกล้



3 คลองช่อง



4 วัดธรรมประสิทธิ์ หรือวัดคลองช่อง



5 พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่วัดคลองช่อง



6 ทางเข้าวัดธรรมประดิษฐ์



7 ทางเข้าหน้าตรง 



8 ศาลาหลวงพ่อปู่เขายี่สาร



9 คลองยี่สาร ที่เห็นหลังคาสีฟ้าคือร้านคุณจ๋า<hr><p>
</p><p></p><p>10 คลองหลวงมาบรรจบกับคลองยี่สาร
</p><hr><p>
</p><p>
</p><p></p><p>11 ภายในพิพิธภัณฑ์ มีโพล่เป็นพระเอกต้อนรับแขกตรงทางเข้า
</p><hr><p>
</p><p></p><p>12 ภาพจิตรกรรมเรื่องทศชาติบนไม้ที่นำมาจากศาลาเก่า ด้านบนผนังของพิพิธภัณฑ์ น่าจะประมาณค่ามิได้
</p><hr><p>
</p><p></p><p>13 ภาพเขียนบนบานหน้าต่างพระอุโบสถวัดเขายี่สาร
</p><hr><p>
</p><p></p><p>14 ภาพบานประตูไม้สลักที่วิหาร
</p><hr><p>
</p><p></p><p>15 ครกไม้กับสากไม้ ที่ทำให้ผมระลึกชาติ
</p><hr><p>
</p><p></p><p>16 วิวชายหาดติดกับชมทะเลรีสอร์ท
</p><hr><p>
</p><p></p><p>17 วิวเดียวกัน ถ่ายจากระเบียงของรีสอร์ท
</p><hr><p>
</p><p></p>18 ระเบียงรีสอร์ทด้านติดทะเล<hr><p>
</p><p></p><p>19 หาดเจ้าสำราญหลังเหมียวซีฟู้ด
</p><hr><p>
</p><p></p><p>20 ยามค่ำที่ระเบียงริมทะเลของรีสอร์ท
</p><hr><p>
</p>

หมายเลขบันทึก: 633233เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2017 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2017 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท