ศาสตร์และศิลป์ของการสอน : ๔๕. ตรวจสอบคำตอบที่ผิดกับนักเรียนที่ไม่มั่นใจตนเอง



บันทึกชุด ศาสตร์และศิลป์ว่าด้วยการสอน นี้ตีความจากหนังสือ The New Art and Science of Teaching เขียนโดย Robert J. Marzano   ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้เอง


ตอนที่ ๔๕ ตรวจสอบคำตอบที่ผิดกับนักเรียนที่ไม่มั่นใจตนเอง ตีความจาก Element 43 : Probing Incorrect Answers With Reluctant Learners    เป็นตอนสุดท้ายของ  ภาค ๑๐  สื่อสารความคาดหวังสูง   


การแสดงความคาดหวังสูงต่อนักเรียนอย่างเป็นรูปธรรมและทรงพลังที่สุดคือ เมื่อนักเรียนตอบผิด ครูดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจัง    ไม่ว่านักเรียนคนนั้นจะเรียนเก่งหรือเรียนอ่อน 

คำถามเชิงยุทธศาสตร์ของครู ในการตรวจสอบคำตอบที่ผิดกับนักเรียนที่ไม่มั่นใจตนเอง คือ    “ครูจะทบทวนคำตอบที่ผิดกับนักเรียนที่ไม่มั่นใจตนเองได้อย่างไร”


ยุทธศาสตร์และวิธีการที่ครูใช้ทบทวนคำตอบที่ผิดกับนักเรียนที่ไม่มั่นใจตนเอง  มีดังต่อไปนี้





นี่คือเทคนิคขั้นสูงสำหรับ “ครูเพื่อศิษย์”    โดยเมื่อนักเรียนตอบผิด ครูหาทางสร้างบรรยกาศเชิงบวก โดยกล่าวคำขอบคุณ     แล้วแจกแจงคำตอบออกเป็นส่วนที่ถูกต้องกับส่วนที่ผิด    ครูย้ำคำตอบส่วนที่ถูกต้อง  แล้วหาวิธีช่วยให้นักเรียนแก้ไขส่วนที่ไม่ถูกต้องด้วยวิธีต่างๆ     หากยังไม่สำเร็จ ครูปล่อยให้มีช่วงพักสำหรับนักเรียนคนนั้น   แล้วถามคำถามที่เกี่ยวข้องกัน    ให้นักเรียนคนอื่นตอบ    คำถามและคำตอบใหม่อาจช่วยเป็นกุญแจให้นักเรียนคนเดิม คิดคำตอบได้     ครูจึงกลับไปที่นักเรียนคนเดิมให้ตอบและให้ให้เหตุผลและข้อมูลสนับสนุนคำตอบ  

เมื่อยุทธศาสตร์นี้ได้ผล    จะสังเกตเห็นพฤติกรรมของนักเรียนดังต่อไปนี้ 

  • นักเรียนบอกว่าครูไม่ยอมให้นักเรียนล้มเลิกความพยายาม
  • นักเรียนบอกว่าครูไม่ล้มเลิกความตั้งใจที่จะให้ตนได้เรียนรู้
  • นักเรียนบอกว่าครูช่วยให้ตนคิดลึกๆ เกี่ยวกับสาระวิชา
  • นักเรียนบอกว่าครูช่วยให้ตนตอบคำถามยากๆ ได้  

 

เนื่องจากนักเรียนส่วนหนึ่งมีความคาดหวังในผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของตนสูงอยู่แล้ว คือนักเรียนที่มีผลลัพธ์ การเรียนดี     ครูจึงควรพุ่งเป้าไปที่นักเรียนที่เรียนอ่อน หาทางสร้างความคาดหวังต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ที่สูงให้ได้    โดยการสื่อสารความคาดหวังผ่านพฤติกรรมของครู (ไม่ใช่ใช้ถ้อยคำจ้ำจี้จ้ำไชของครู ซึ่งมักจะให้ผลลบ)  ซึ่งเป็นพฤติกรรมเชิงบวก เชิงให้เกียรติ ให้คุณค่า และให้ความคาดหวัง


ครูต้องวางแผนและประเมินตนเองในเรื่องนี้ทุกวัน


ผมขอเพิ่มเติมว่า นอกจากยกระดับความคาดหวังให้สูงขึ้นต่อนักเรียนที่เรียนอ่อนแล้ว    ครูยังต้องยกระดับ ความคาดหวังต่อนักเรียนทั้งชั้น และให้การสนับสนุนให้บรรลุความคาดหวังนั้นให้จงได้    ตามหลักการ “คาดหวังสูง สนับสนุนเต็มที่” (High expectation, High support - https://www.gotoknow.org/posts/619876)

 


วิจารณ์ พานิช

๑๔ เม.ย. ๖๐



หมายเลขบันทึก: 633213เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2017 22:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2017 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท