การวิจัยในชั้นเรียน


วิจัยในชั้นเรียน
'การวิจัยในชั้นเรียน' เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตครูทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นครูระดับประถมหรือมัธยม นับตั้งแต่ก้าวย่างสู่ยุคปฏิรูปการศึกษา ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 มาตรา 30 ที่ระบุว่า ให้สถานศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา

   ไม่เพียงเท่านั้น การวิจัยในชั้นเรียนยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาวิทยฐานะของครู รวมถึงการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ที่พิจารณาจากทักษะความรู้ความสามารถและการพัฒนาของครูเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะงานวิจัยในชั้นเรียนเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครูได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

   อย่างไรก็ตาม แม้การวิจัยในชั้นเรียนจะมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับครูทุกคน แต่ถึงปัจจุบันนี้มีครูจำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจว่า การวิจัยในชั้นเรียนคืออะไร มีขั้นตอนและรายละเอียดอย่างไร

   รศ.ดร.สุวิมล ว่องวาณิช อาจารย์ภาควิชาวิจัยการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้นิยามการวิจัยในชั้นเรียนว่า คือการวิจัยที่ ใคร-ครูผู้สอนในห้องเรียน ทำอะไร-ทำการแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหา ที่ไหน-ที่เกิดขึ้นในห้องเรียน เมื่อไร-ในขณะที่การเรียนการสอนเกิดขึ้น อย่างไร-ด้วยวิธีการวิจัยที่มีวงจรการทำงานต่อเนื่องและสะท้อนกลับการทำงานของตนเอง เพื่อจุดหมายใด-เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน ลักษณะเด่นของการวิจัย-เป็นกระบวนการวิจัยที่ทำอย่างรวดเร็ว โดยครูผู้สอนนำวิธีการแก้ปัญหาที่ตนเองคิดขึ้นไปทดลองใช้กับผู้เรียนทันที และสังเกตผลการแก้ปัญหานั้น มีการสะท้อนผลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนครูในโรงเรียนเป็นการวิจัยแบบร่วมมือ

   "ขั้นตอนของการวิจัยมีกระบวนการทำงานที่เป็นวงจรวิจัย 4 ขั้นตอน คือ การวางแผนหลังจากวิเคราะห์และกำหนดประเด็นปัญหาที่ต้องการแก้ไข (Plan) การปฏิบัติตามแผนที่กำหนด (Act) การสังเกตผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน (Observe) และการสะท้อนผลหลังจากปฏิบัติงาน ให้ผู้มีส่วนร่วมได้วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานต่อไป (Reflect) โดยเรียกวงจรการวิจัยนี้ว่า PAOR" รศ.ดร.สุวิมล กล่าว

   ด้านนายชาตรี สำราญ ครูผู้มีประสบการณ์การทำวิจัยในชั้นเรียน กล่าวว่า จากการเดินทางไปพูดคุยและอบรมเพื่อนครูทั่วประเทศพบว่า ครูจำนวนไม่น้อยมีปัญหาเรื่องจับประเด็นวิจัยไม่ได้ และที่สำคัญคือครูมองว่าการวิจัยเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเข้าใจว่าการวิจัยในชั้นเรียนมีรูปแบบเดียวกับการวิจัยเชิงวิชาการที่ต้องใช้รูปแบบรายงาน 5 หรือ 6 บท ต้องมีการอ้างอิงทฤษฎีจำนวนมาก มีกลุ่มควบคุม กลุ่มทดลอง และสุดท้ายจบลงด้วยการใช้สูตรทางสถิติที่ซับซ้อนและใช้เวลาวิจัยนานนับปี ทั้งที่วิจัยในชั้นเรียนนั้นเป็นเพียงวิจัยเล็กๆ ที่ครูผู้วิจัยต้องการค้นหาคำตอบจากปัญหาเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนของตนเท่านั้น โดยมีองค์ประกอบสำคัญคือ ปมปัญหาคืออะไร ครูมีวิธีแก้ไขอย่างไร และเมื่อดำเนินการแก้ไขแล้วผลเป็นอย่างไร

   ในหนังสือ วิจัยง่ายๆ สำหรับครู นายชาตรีแนะว่า ปัญหาที่ครูนำมาวิจัยนั้นจะต้องเป็นปัญหาแท้ คือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียนคนหนึ่งๆ หรือนักเรียนกลุ่มเล็กๆ ไม่ใช่นักเรียนกลุ่มใหญ่หรือนักเรียนทั้งห้องที่ปัญหาจะหลากหลายแตกต่างกันไป เมื่อระบุปัญหาได้ ครูต้องอธิบายลักษณะของปัญหาให้เห็นภาพชัดเจน พร้อมทั้งระบุสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหา แล้วเลือกสาเหตุที่สามารถแก้ได้มาทำการแก้ไข เพราะบางสาเหตุครูไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น พ่อแม่ยากจน ครอบครัวแตกแยก แต่ถ้าเพราะเด็กขาดความอบอุ่น ต้องการคนสนใจ ครูช่วยได้ จากนั้นครูจึงคาดเดาคำตอบ (หรือตั้งสมมุติฐาน) ว่าน่าจะได้คำตอบอย่างไร พร้อมกับตั้งจุดประสงค์ให้ชัดเจนว่ามีเป้าหมายอย่างไร

   หลังจากนั้นจึงกำหนดวิธีการแก้ไขตามอาการของปัญหาที่ครูค้นพบ แล้วลงมือแก้ปัญหาขณะสอนนักเรียนทั้งชั้นเรียน ไม่ใช่แยกเด็กคนที่มีปัญหามาสอนต่างหาก ระหว่างนี้ครูต้องพยายามสังเกตพฤติกรรมเด็กคนที่มีปัญหาอย่างใกล้ชิด จดบันทึกพฤติกรรมทุกระยะ รวมถึงวิธีการแก้ไขและผลที่ปรากฏจากการแก้ไขเป็นระยะๆ ให้ละเอียด ตัวบันทึกพฤติกรรมนี้ครูสามารถนำมาอ่านทบทวน วิเคราะห์ และสังเคราะห์ให้เห็นภาพชัดเจนว่าแก้ไขแล้วได้ผลอย่างไร เพียงใด และอะไรคือตัวบ่งชี้ว่าได้ผลดี

   ขั้นตอนสุดท้ายของการทำวิจัยในชั้นเรียนแต่ละเรื่องคือ การเขียนรายงานการวิจัย ครูจำนวนไม่น้อยมักวิตกกังวลกับขั้นตอนนี้ เพราะเข้าใจว่าจะต้องใช้ภาษาที่เป็นทางการในเชิงวิชาการ โดยลืมว่าเป้าหมายของการทำวิจัยในชั้นเรียนนั้นเพื่อแก้ปัญหาการเรียนรู้ของผู้เรียนในชั้นเรียนของครูผู้ทำวิจัย เมื่อทำเสร็จแล้วผู้ที่จะได้อ่านคือ ครูผู้ทำวิจัย เพื่อนำมาศึกษาและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนต่อไป เพื่อนครูและผู้บริหาร รวมถึงผู้ปกครองของเด็กนักเรียนที่มีปัญหา เพื่อให้ผู้ปกครองได้รู้ว่าลูกหลานมีปัญหาอะไร ครูช่วยเหลืออย่างไร แล้วสุดท้ายเด็กได้พัฒนาอย่างไร ฉะนั้นรายงานการวิจัยในชั้นเรียนจึงต้องเขียนด้วยภาษาเรียบง่าย อ่านแล้วเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน แต่มีข้อมูลชัดเจน เชื่อถือและพิสูจน์ได้

   จากข้างต้นจะเห็นว่าการวิจัยในชั้นเรียนนั้นเป็นการวิจัยขนาดเล็กที่แตกต่างกับการวิจัยเชิงวิชาการ โดยอย่างหลังนั้นมุ่งสร้างองค์ความรู้เชิงทฤษฎีและนำผลไปใช้สรุปอ้างอิง ขณะที่การวิจัยในชั้นเรียนมุ่งเน้นการหาวิธีแก้ไขปัญหาการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน ทั้งนี้ ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงลักษณะของการทำวิจัยในชั้นเรียนไว้ว่า

      * เป็นการวิจัยที่เน้นการแก้ไขที่สาเหตุของปัญหา
      * ผู้วิจัยยังคงทำงานสอนตามปกติของตน
      * ไม่ต้องสร้างเครื่องมือวิจัยเป็นพิเศษ
      * ไม่มีข้อมูลจำนวนมาก และไม่ต้องใช้สถิติที่ยุ่งยาก
      * ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการสังเกต การพูดคุย และใช้การวิเคราะห์เนื้อหา
      * ใช้เวลาทำวิจัยไม่นาน ขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหาและจำนวนบุคคลที่ต้องการแก้ไข
      * ความยาว 2-3 หน้าต่อเรื่อง
      * นักเรียนและครูได้รับการแก้ไขหรือพัฒนา
      * ไม่มีการสุ่มตัวอย่าง
      * ไม่มีการทดสอบก่อนหลัง
      * ไม่มีกลุ่มทดลอง กลุ่มควบคุม

   ใจความสำคัญของการวิจัยในชั้นเรียนที่ประกอบด้วย ปมปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียน วิธีการแก้ไข และผลจากการแก้ไข ชี้ชัดว่าการวิจัยในชั้นเรียนคือส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดการเรียนการสอนของครู และเป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อวิชาชีพครู ที่ต้องมองให้เห็นปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน และสามารถหาวิธีการช่วยเหลือนักเรียนจากปัญหานั้นๆ ได้ ซึ่งไม่เพียงจะช่วยพัฒนาผู้เรียนให้เรียนรู้ได้เต็มศักยภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครูอีกทางหนึ่ง โดยมีความก้าวหน้าทางวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นวิทยฐานะหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นผลพลอยได้

หมายเลขบันทึก: 63319เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2006 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 11:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้คุณครูผู้เขียน

ชื่นชมและเห็นด้วยกับบทความที่ท่านเขียน ดิฉันก็คิดเช่นนั้นเหมือนกันว่าครุทุกท่านคงคิดถึงแต่วิจัยแบบเป็นทางการ ซึ่งจริงๆแล้ว การวิจัยในชั้นเรียนเป้นแบบที่ครูศักดิ์ชัยเสนอความคิดเห็นและอยากเห็นครูทั้งประเทศคิดเหมือนท่านมากๆ ดิฉันชื่นชมความรุ้ความสามารถของครูอาจารย์และผู้รู้ทุกท่าน รู้สึกแปลกใจที่มีผู้อ่านเยอะมาก แต่ไม่มีใครแสดงความคิดเห็น เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ผู้เขียนทราบ และขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ชาตรี สำราญ ผู้ซึ่งเป็นครูที่แท้จริงถึงแม้ว่าท่านเกษียณอายุราชการไปแล้วแต่ภูมิปัญญาและภูมิธรรมท่นมีให้กับครูไทยรุ่นหลังๆเสมอ

ด้วยความนับถือ

อุษาพันธ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท