Bed pan ของผู้ป่วยเอดส์


การทำให้ดูเป็นตัวอย่างช่วยให้นักศึกษาเรียนรู้ได้

เรื่องเล่า การสอนให้นักศึกษาปฏิบัติการพยาบาลอย่างเอื้ออาทร
Bed pan ของผู้ป่วยเอดส์ 

    ดิฉันเป็นอาจารย์พยาบาล ในการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ ต้องสอน นักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตชั้นปีที่ 2 ซึ่งเพิ่งขึ้นปฏิบัติการพยาบาลเป็นครั้งแรกที่ตึกผู้ป่วยอายุรกรรม โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี เป็นประจำทุกปี เมื่อปีการศึกษา 2548 ดิฉันสอนที่ตึกผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง 2 ซึ่งจะมีผู้ป่วยเอดส์เพศหญิงพักรักษาตัวอยู่ในตึกไม่ได้ขาด โดยผู้ป่วยเหล่านั้นมักอยู่บริเวณท้ายตึก (อยู่ล็อค  ที่ 4) วันหนึ่ง เวลาประมาณ 11.25 น. ดิฉันเดินไปเยี่ยมดูผู้ป่วยที่ล็อค 4 และมีนักศึกษาพยาบาลหญิง 2 คน เดินตามไปด้วย ขณะที่คุยกับ    ผู้ป่วยเอดส์เตียง 25 นั้น (ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย ได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ) ก็เหลือบไปเห็น Bed pan วางอยู่ที่พื้นใต้เตียงผู้ป่วย โดยไม่มีสิ่งใดปิดไว้ ใน Bed pan มีอุจจาระสีเหลือง ลักษณะเป็นลิ่มๆ ปริมาณมาก ดิฉันจึงปรารภกับนักศึกษาว่า “เราจะทำอย่างไรกับ Bed pan นี้ดี” นักศึกษาทั้ง 2 คน มีสีหน้าครุ่นคิด แต่ไม่ได้ตอบว่าจะทำอย่างไร ดิฉันเห็นว่าใกล้ถึงเวลาที่เจ้าหน้าที่จะนำอาหารกลางวันมาให้ผู้ป่วยแล้ว จึงบอกนักศึกษาว่า “นักศึกษาช่วยไปหยิบถุงมือ Disposable ให้ครูคู่นึงนะคะ” เมื่อนักศึกษานำถุงมือมาถึงเตียงผู้ป่วยแล้วก็บอกดิฉันว่า “อาจารย์คะ ไม่เป็นไรค่ะ เดี๋ยวพวกหนูทำเองค่ะ” ดิฉันจึงถามกลับไปว่า “หนูทำได้หรือเปล่า” นักศึกษาตอบว่า “ได้ค่ะอาจารย์” ดิฉันจึงปล่อยให้พวกเขาดำเนินการต่อ แล้วพูดคุยกับผู้ป่วยเตียง 25 ตามปกติต่อไป บอกผู้ป่วยว่า “นักศึกษาเค้าจัดการให้         ไม่ต้องเกรงใจนะคะ” 
    ในช่วงบ่ายมีการ Post-conference ในห้องที่ตึกผู้ป่วย จึงเล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้นักศึกษาทั้งกลุ่มฟัง แล้วถามว่าถ้านักศึกษาเป็นผู้ป่วย นักศึกษาจะรู้สึกอย่างไรกับ Bed pan ใบนั้น นักศึกษาตอบว่ารู้สึก        ไม่อยากเห็นภาพ ไม่อยากทนดมกลิ่นเหม็นๆ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เกรงใจ อยากบอกให้พี่ชุดเหลืองมาเทให้ แต่ก็ไม่กล้า ดิฉันจึงบอกนักศึกษาว่า “นั่นเป็นส่วนหนึ่งของความทุกข์ของผู้ป่วยเอดส์ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่รับรู้ว่าตนเองเป็นโรคที่น่ารังเกียจ ไม่น่าให้อภัย” และบอกนักศึกษาว่า “ถ้า Bed pan ยังอยู่ที่เดิม ผู้ป่วยทั้งเตียง 25 และเตียงอื่นๆก็คงต้องทนทานข้าวกลางวันกันไปแบบนั้น บางครั้งสิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ก็เป็นสิ่งสำคัญต่อความรู้สึกของคนไข้ ขอให้นักศึกษานึกถึงจิตใจและความรู้สึกของคนไข้ให้มากๆ โดยเฉพาะคนไข้เอดส์ เพราะพวกเขาก็น่าสงสารมากพออยู่แล้ว ถ้ามีสิ่งใดที่นักศึกษาพอจะช่วยคนไข้ได้ ก็ขอให้รีบทำนะคะ ถึงแม้จะไม่มีใครรู้ใครเห็นว่าเราทำอะไร แต่ที่แน่ๆคือตัวนักศึกษาเองนั่นแหละที่รู้”   
 จากสถานการณ์ ดิฉันรู้สึกประทับใจหลายๆอย่าง เช่น การตัดสินใจของนักศึกษาหญิงคนที่ไปนำ  ถุงมือมาให้ตรงที่ไม่ปล่อยให้อาจารย์ของเขาต้องลงมือทำเอง แต่ดิฉันก็ตั้งใจว่าจะทำให้ผู้ป่วยอยู่แล้ว ไม่ได้คิดว่าเป็นอาจารย์แล้วทำอย่างนั้นไม่ได้ และที่สำคัญได้เป็นการทำให้นักศึกษาเห็นตัวอย่างจริงๆ ถึงแม้วันนี้เค้ายังคิดไม่ได้ แต่ก็น่าจะเป็นการช่วยหล่อหลอมให้เค้าคิดได้ในวันข้างหน้า ซึ่งถ้าดิฉันเป็นคนจัดการกับ Bed pan ใบนั้นเอง ดิฉันก็จะไม่โกรธ ไม่ว่า ไม่น้อยใจนักศึกษา เพราะนักศึกษายังเด็ก อาจตัดสินใจไม่ถูกว่าควรทำอย่างไรดี และดิฉันจะบอกนักศึกษาว่า “ไม่มีใครหรอกที่อยากจะไปใกล้ชิดกับสิ่งปฏิกูล แต่ถ้าผลที่เกิดกับคนไข้นั้นมันยิ่งใหญ่กว่า ก็อย่าเป็นทุกข์เลยที่จะรีบทำให้พวกเขา”

หมายเลขบันทึก: 63308เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2006 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 18:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
       ขึ้นนิเทศนักศึกษาที่ตึกอายุรกรรมหญิง 2 เช่นเคย พบผู้ป่วยเอดส์หลายคน มีอยู่ 1 คนที่ถูกผูกยึดไว้ตลอดเวลา เนื่องจากผู้ป่วยดิ้นและจะดึงสายที่ให้   สารน้ำทางหลอดเลือดดำและสายยางให้อาหารออก ผู้ป่วยไม่พูด ไม่สื่อสารใดๆมากนัก เพียงแต่แสดงออกทางสีหน้าเมื่อเจ็บปวดเท่านั้น คิดไปก็สงสารแกมเศร้าใจ ญาติก็ไม่มาดูแล ก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยอาจจะเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของครอบครัวก็ได้ จึงมักจะบอกนักศึกษาเสมอๆว่า "ผู้ป่วยเป็นครูของเรา ถ้าไม่มีผู้ป่วย เราก็จะไม่ได้เรียนรู้ ก็คงจะไม่สามารถเป็นพยาบาลที่ดีได้ ดังนั้นจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลครูของเราทุกๆคนให้ดีที่สุด"
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท