อ่านเกมโชว์ : ตอนที่ 1


เมื่อถูกเชิญไปพูดเรื่อง “การรู้เท่าทันเกมโชว์ : Gameshow Literacy”


PART 1 :


เป็นอีกครั้งที่มีคนชวนไปบรรยายเรื่องนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะส่วนตัวค่อนข้างถนัดทางด้านสื่อ การรู้เท่าทันสื่อ โดยเฉพาะ สื่อบันเทิง ยิ่งดราม่าหนัก น้ำเน่าสุด ยิ่งชอบ แต่ทุกครั้งที่ไปจะต้องรู้ให้ได้ก่อนว่า ไปพูดให้ใครฟัง อายุเท่าไหร่ เจนไหน ดูทีวีบ้างหรือไม่ ที่สำคัญดูเกมโชว์หรือเปล่า

ถึงตอนนี้ก็ต้องมานั่งคิดว่า เราจะเอาอะไรไปพูดให้ดูมีสาระ เพราะมีนักวิชาการหลายท่านมองว่า "ความบันเทิงเป็นเรื่องไร้สาระ"  ซึ่งนั่นไม่ใช่วิถีของผมแน่นอน มันจะไร้สาระได้อย่างไร ลองมองง่ายๆ สิว่า ความบันเทิงอยู่รอบตัวขนาดนี้ เรื่องราวดราม่าไร้สาระบนพื้นที่สื่อทุกวันนี้ก็มาจากวงการบันเทิงทั้งสิ้น จริงหรือไม่ สุดท้าย ท้ายสุด หลายคนอาจลืมไปว่า ความบันเทิงนี่แหล่ะ สามารถเรียกเรตติ้ง สร้างมูลค่าทางการโฆษณามากมายที่สุดในวงการสื่อเลยทีเดียว

คราวนี้กลับมาเข้าเรื่องที่ว่า เราจะพูดอะไรวันนั้น พื้นที่นี้คงเล่าได้ไม่หมดแน่นอน แต่อยากจะบันทึกไว้เป็นไอเดียสั้นๆ ในฐานะที่ค่อนข้างฝังตัวเองมากับเรื่องต่างๆ เหล่านี้มาบ้างว่า จะทำอย่างไรให้ดูเกมโชว์ไม่สนุกดีกว่า นั่นก็หมายความว่า เราจะรู้เท่าทันมันได้อย่างไรนั่นเอง

อย่างแรกที่เราต้องทำความเข้าใจก่อนเลยว่า การแข่งขันในธุรกิจสื่อทีวี โดยเฉพาะสื่อบันเทิงในวันนี้ มากมายมหาศาล ถ้าตัดเรื่องละครออกไป เปรียบเทียบง่ายๆ หากปารีโมททีวีลงพื้นให้เปลี่ยนช่องเอง ก็เปลี่ยนไปเจอเกมโชว์ และยิ่งไปกว่านั้น ทุกคนจะได้พบเจอกับรายการประกวดร้องเพลงที่ล้นหลาม ประกวดแล้ว ประกวดอีก ร้องแล้ว ร้องเล่า เศร้าบ้าง สนุกบ้าง ร้องไห้ ร้องห่ม กันระงม ยิ่งใครมีเรื่องราวสุดสะเทือนใจมาก ก็ยิ่งได้รับความเห็นใจมาก เผลอๆ อาจหลุดเข้ารอบไปลึกๆ อีกต่างหาก 

คำถามแรก ใครอยู่ในวงเวียนของเกมโชว์บ้าง :  แน่นอนที่สุด ผมจะลองไล่ให้ดูว่ามีใครบ้าง 

คนแรก  คนทำเกม :  คนกลุ่มนี้คือพวกทีมงานเบื้องหลังของเกมโชว์ทุกท่าน ที่สรรสร้างความบันเทิงในการแข่งขันมาให้พวกเราดู คิดแล้ว คิดอีก พยายามหาทุกวิธีทางที่ให้การแข่งขันสนุกและหลากหลาย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเครียดและกดดันมากมาย ชนิดที่เรียกว่า จะทำยังไงก็ได้อย่าให้แจ๊คพอตแตกเลย ถือเป็นอันใช้ได้ (อันนี้กรณีเกมการแข่งขันลุ้นรางวัล)

คนที่สอง คนเล่นเกม :  คนกลุ่มนี้ไม่มีอะไรมาก คือผู้ร่วมแข่งขันในรายการนั่นเอง แบ่งง่ายๆมีสองประเภทคือ ดารา นักแสดง และ คนทางบ้าน ลองคิดดูแล้วกันว่าคนสองกลุ่มนี้มาออกทีวี คนทางบ้านอยากชมใครมากกว่ากัน ตรงนี้แหล่ะที่มีผลต่อความนิยมของรายการนั้น จุดนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่า แรงขับของแต่ละคน บนฐานคิดที่ว่า “อยากจะได้ อยากจะมี” คือ อยากจะได้เงินรางวัล กับ อยากจะมีชื่อเสียง ซึ่งถือว่าตอบโจทย์เกมโชว์ยิ่งนัก รายการประเภทนี้ ลงทุนน้อย รายได้งาม ทำง่าย จบไปเป็นตอนๆ 

คนที่สาม คนดูเกม :  ผู้ชมทางบ้านที่น่ารัก คาดเดาไม่ได้ว่าเป็นใคร มีนิสัยอย่างไร ดูทีวีเวลาไหน และชอบดูรายการอะไรเป็นพิเศษ  คนกลุ่มนี้มีผลมากกับรายการทุกประเภทในทีวี เพราะจะเป็นตัวบอกว่า แต่ละรายการ แต่ละช่วงเวลา มีคนดูมากแค่ไหน ซึ่งมีผลต่อรายการนั้นๆ ที่จะอยู่รอดได้หรือไม่ได้ ผู้สนับสนุนรายการจะเข้าหรือไม่ ปัจจัยหลักเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นคนดูนี่แหล่ะ ที่คนทำเกมจะต้องมัดมือมัดเท้าให้อยู่หน้าจอเราให้ได้

คนที่สี่ คนคุมเกม :  คนนี้เอาไว้สุดท้ายเลย เพราะในวงการเกมโชว์ถือว่าน่ากลัวที่สุด มีอำนาจมากที่สุด คือ ผู้สนับสนุนรายการ นั่นเอง ภาษาชาวบ้านเรียกว่าสปอนเซอร์รายการ ถ้านึกไม่ออกก็พวกโฆษณากระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ที่ระดมกันเข้ามาจนหาสาระในรายการได้ยากยิ่งนั่นเอง อาทิ VTR สปอต แผ่นป้าย ตัวสินค้าในรายการ ทั้งวาง ทั้งหยิบจับ ทั้งขับไปไหนมาไหน (รถยนต์) นี่ยังไม่รวมที่เหล่าศิลปินดารา เซเลปอ้างถึง พูดถึงผ่านรายการอีกชนิดที่เรียกว่า อย่าไปนับเลย 

หมายเลขบันทึก: 631149เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2017 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2017 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท