ฟื้นคืน “ป่าชายเลน” รากชีวิตของชุมชน “บ้านยามู”


ฟื้นคืน “ป่าชายเลน” รากชีวิตของชุมชน “บ้านยามู

สานพลังสร้างชุมชนเข้มแข็งด้วย “เศรษฐกิจพอเพียง”

สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับชุมชนบ้านยามู จังหวัดภูเก็ต จัดทำโครงการ “ชุมชนชายฝั่ง สร้างพลังเศรษฐกิจพอเพียง บ้านยามู” ภายใต้ “โครงการสร้างชุมชนให้น่าอยู่” เพื่อน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสานพลังสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งนี้ให้ชุมชนเกษตรกรรมประมงพื้นบ้านแห่งนี้ สามารถดำรงรักษาอาชีพดั้งเดิมไว้ได้ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับกระแสธุรกิจการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน

ศุภชัย เพิ่มพูน ผู้ใหญ่บ้านยามู เล่าว่าเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วคนในชุมชนยังประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง ทำประมงพื้นบ้าน หาปู หาปลา และกรีดยาง แต่หลังจากจากการะแสการท่องเที่ยวที่เข้ามายังพื้นที่เนื่องจากเป็นท่าจอดเรือยอร์ชและท่าเรือเดินทางไปเกาะยาว ทำให้สภาพในหมู่บ้านเปลี่ยนเป็นโรงแรม มีทัวร์ มีท่าเรือเข้ามาชาวบ้านก็เลยเปลี่ยนอาชีพไปทำงานในโรงแรมและรับจ้างเสียส่วนมาก ทำให้การทำอาชีพประมงกลายเป็นเพียงอาชีพเสริม โดยมีสาเหตุมาจากทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง รายได้ไม่เพียงพอค่าใช้จ่าย หลายคนออกไปทำงานรับจ้างนอกบ้าน ปล่อยให้ลูกหลานอยู่กับคนแก่ไม่มีเวลาดูแล จึงเกิดปัญหาสังคมตามมา

“เราจึงไปดูงานเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่ไหนน่าสนใจก็จะพากันไปดู ไปเรียนรู้หลายๆ อย่าง หลังจากกลับมาเราก็มาประชุมว่าชุมชนบ้านเราทำอะไรได้บ้าง ซึ่งคนในชุมชนเริ่มหันมาสนใจดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาขึ้น และหารายได้ด้วยอาชีพเสริมทำโฮมสเตย์ เลี้ยงปลาในกระชัง ลดค่าใช้จ่ายด้วยการปลูกผักสวนครัวในกระถาง ทำบัญชีครัวเรือนเพื่อสำรวจรายได้กับค่าใช้จ่าย พร้อมกันกับการตั้งกลุ่มอาชีพ สร้างศูนย์เรียนรู้ทางด้านเศรษฐกิจพอเพียง สร้างกลุ่มออมทรัพย์ฯลฯ  ผลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือคนในชุมชนรู้รายรับรายจ่ายในครัวเรือนที่ชัดเจน และมีความตระหนักในการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้มากขึ้น เกิดการประหยัดและการออม และรายได้ต่อครอบครัวเพิ่มขึ้น” ผู้ใหญ่บ้านระบุ

นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดกฎระเบียบกติกาชุมชน และการใช้ทรัพยากรชุมชน เช่น กติกาการใช้ทรัพยากรป่าชายเลน ต้องไม่ตัดในเชิงธุรกิจ ตัด 1 ต้น ปลูกทดแทน 5 ต้น ดูแลเฝ้าระวังรักษาพื้นที่ป่าชายเลนของชุมชนไม่ให้มีการบุกรุกเพื่อให้เป็นแหล่งพักพิงของสัตว์น้ำ มีการจัดระเบียบชายฝั่ง แบ่งโซนผู้ประกอบการภายนอกกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างชัดเจน มีการจัดระเบียบการจอดเรือสปีดโบ๊ท และช่วยกันทำความสะอาดชายหาดเดือนละครั้ง เพื่อทำสภาพแวดล้อมของชุมชนสะอาดน่าอยู่ และน่ามาท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

ผลของการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ทำให้เกิดการสานพลังสามัคคีและสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งนี้กลับคืนมา พร้อมๆ กับการฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน เพื่อให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านยามูและการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสามารถดำเนินควบคู่กันไปอย่างสมดุล.

คำสำคัญ (Tags): #สสส.
หมายเลขบันทึก: 631145เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2017 19:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2017 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท