เยือนวังนาคิน(ป่าคำชะโนด)


3-7 กรกฎาคม 2560. ศูนย์ดูแลครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้สูงอายุ สกสค.จังหวัดชุมพร. พาข้าราชการบำนาญเที่ยวอีสาน 

วันที่ 5  กรกฎาคม  2560  ตื่นเมื่อ 05.00 น. ทำภารกิจส่วนตัวแล้ว  ลงไปทานอาหารเช้าซึ่งทางโรงแรม เจริญ มีบริการให้กับผู้ที่เข้ามาพัก  เมื่อทุกคนเรียบร้อยแล้ว ขึ้นรถบัส  07.00 น. ออกเดินทางเป้าหมายเช้านี้ไปเยือนวังนาคิน(ป่าคำชะโนด)

ระยะทางจากทางนาข่า  อุดรธานี  มีถนนแยกเข้าไปรถแล่นไปบนถนนลาดยาง รถวิ่สวนทางกัน สองข้างทางเขียวชะอุ่มไปด้วยพรรณไม้หลากหลาย  มีทั้งสวนไม้ยืนต้น มีการทำนา อุดมสมบูรณ์มาก จากทางแยกนาข่าเข้าไปที่ป่าคำชะโนด ระยะทาง 84 กม.  ผ่านอำเภอเพ็ญ  ตำบลสุ่มเส้า  เข้าสู้อำเภอ บ้านดุง ซึ่งเป็นที่ตั้งของป่าคำชะโนด  จากแยกมีป้ายอีก 20 กม. ถึงคำชะโนด ซึ่งที่นี่มีปั๊มน้ำมัน ป.ต.ท. มีเซเว่น รถแวะให้สมาชิกเข้าห้องน้ำ และซื้อเสบียงจากเซเว่นเพราะเราไม่รู้ว่าข้างหน้าจะมีอาหารให้เรากินหรือเปล่า รถไปต่อผ่านโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช  บ้านดุง บริเวณนี้เป็นย่านชุมชน  รถผ่านชุมชนถึงแยกมีป้ายบอกไปศาลปู่ศรีสุทโธอีก 17.8 กม. จากแยกนี้สองข้างทางจะมีร้านขายกระทงพญานาคเป็นระยะ ๆ        

  

ประมาณ 09.50 น. ถึงวังนาคิน (ป่าคำชะโนด) ที่นี่สายวันนี้  อากาศก็ดีทำให้คนเยอะมากรถบัสจากต่างพื้นที่แทบไม่มีที่จอด  จากคำบอกเล่าเขาบอกถ้าเป็นวันหยุดคนเยอะมากรถจะติดเป็นหลายกิโล  ลงจากรถบัสจะมีรถสกายแล็ปบริการคนละ 20 บาท นั่งได้เกือบสิบคนเพื่อไม่ต้องเดินเข้าไป ร้านค้าของชาวบ้านทั้งของในท้องถิ่นประเภทของกิน  ผัก  ผลไม้ และเสื้อผ้าส่วนมากจะเป็นผ้าฝ้าย เยอะมาก


ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก วังนาคิน (ป่าคำชะโนด) ........จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คำชะโนด อุดรธานี

ป่าคำชะโนด หรือ เมืองชะโนด หรือ วังนาคินคำชะโนด ตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลวังทอง, ตำบลบ้านม่วง และตำบลบ้านจันทร์ ใน อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี เป็นป่าที่มีลักษณะเหมือนเกาะขึ้นอยู่กลางทุ่งนา เต็มไปด้วยต้นชะโนด ซึ่งเป็นพืชจำพวกปาล์ม ความยาวประมาณ 200 เมตร ป่าคำชะโนดเป็นสถานที่ ๆ ปรากฏในตำนานพื้นบ้าน เป็นสถานที่ ๆ เชื่อว่า เป็นที่สิงสถิตย์ของพญานาคและสิ่งลี้ลับต่าง ๆ บ่อยครั้งที่ชาวบ้านในละแวกนั้นจะพบเห็นชาวเมืองชะโนดไปเที่ยวงานบุญพระเวสสันดร รวมถึงหญิงสาวที่มายืมเครื่องมือทอผ้าอยู่เป็นประจำ และเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงที่อำเภอบ้านดุง แต่น้ำก็ไม่ท่วมบริเวณคำชะโนด เมื่อระดับน้ำลดลง คำชะโนดก็ยังคงอยู่เช่นเดิม

ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า มีพญานาคอยู่สองตนได้ปกครองเมืองหนองกระแส โดยครึ่งหนึ่งเป็นของ สุทโธนาค (พญาศรีสุทโธ) ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของ สุวรรณนาค ทั้งสองปกครองเมืองอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข แต่มีข้อตกลงกันอยู่ว่า ถ้าเมื่อฝ่ายใดออกไปล่าสัตว์หาอาหาร อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องไม่ไป เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการกระทบกระทั่งกัน และเมื่อฝ่ายที่ออกไปล่าสัตว์หาอาหารมาได้นั้น ให้นำมาแบ่งกันอย่างละครึ่ง

เมื่อถึงสุทโธนาคได้ออกไปล่าสัตว์หาอาหารได้เนื้อช้างมา จึงนำเนื้อช้างที่ได้แบ่งให้สุวรรณนาค พร้อมทั้งนำขนของช้างไปยืนยันว่าเป็นเนื้อช้างจริง อีกครั้งที่สุวรรณนาคออกไปล่าสัตว์หาอาหารอีก ครั้งนี้ได้เม่นมาเป็นอาหาร จึงได้นำเนื้อเม่น และขนของเม่นไปมอบให้แก่สุทโธนาคเหมือนเช่นเคย แต่สุทโธนาคกลับแสดงความไม่พอใจ เพราะเมื่อดูจากขนของเม่นที่มีขนาดใหญ่กว่าขนของช้าง ปริมาณเนื้อที่ได้ก็ควรมีมากกว่าเนื้อของช้าง แต่ปริมาณเนื้อนั้นกลับมีน้อยกว่ามากนัก จึงคิดว่าสุวรรณนาคไม่มีความซื่อสัตย์ ฝ่ายสุวรรณนาคพยายามอธิบายอย่างไรก็ไม่เป็นผล จึงเกิดสงครามระหว่างสุทโธนาค และสุวรรณนาค

พระอินทร์ได้ทราบเรื่อง จึงหาวิธีการที่จะทำให้พญานาคทั้งสองนั้นหยุดทำสงครามกัน โดยให้พญานาคทั้งสองสร้างแม่น้ำขึ้นคนละสาย ถ้าใครสร้างได้ถึงทะเลก่อนจะให้ปลาบึกขึ้นอยู่ในแม่น้ำนั้น เมื่อได้ยินเช่นนั้น สุทโธนาคก็ได้สร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศตะวันออกของหนองกระแส และด้วยความที่สุทโธนาคมีนิสัยใจร้อน เมื่อพบเจอภูเขากั้นทางแม่น้ำก็จะทำการหลบหลีก โค้งไปโค้งมา จึงเกิดเป็น แม่น้ำโขง (โค้ง) ส่วนทางฝ่ายสุวรรณนาคนั้น ได้ทำการสร้างแม่น้ำขึ้นทางทิศใต้ของหนองกระแส สุวรรณนาคมีความละเอียด และใจเย็น แม่น้ำที่สร้างขึ้นจึงมีความตรงกว่าแม่น้ำทุกสาย ได้แก่ แม่น้ำน่าน

สุทโธนาคเป็นผู้ที่สร้างแม่น้ำได้เสร็จก่อน จึงมีปลาบึกขึ้นอยู่ในแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียว และเมื่อเป็นเช่นนั้น สุทโธนาคก็ได้ขอทางขึ้น-ลง ระหว่างเมืองบาดาล กับเมืองมนุษย์ไว้อีก 3 แห่ง หนึ่งในนั้นก็คือ คำชะโนด ซึ่งมีต้นชะโนดขึ้นเป็นสัญลักษณ์ ให้สุทโธนาค พร้อมบริวารสามารถกลายร่างเป็นมนุษย์ (พญาศรีสุทโธ) และตั้งบ้านเมืองปกครองอยู่ที่คำชะโนดได้เมื่อข้างขึ้น 15 วัน อีก 15 วันข้างแรม ให้กลายเป็นนาค อาศัยอยู่เมืองบาดาล (พญานาคราชศรีสุทโธ)

เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อสถานที่ ใครสวมหมวกควรถอดออก ใครใส่แว่นมาก็ควรเก็บใส่กระเป๋า และห้ามใส่รองเท้าเข้าไป ให้ถอดไว้ที่บริเวณสะพาน ซึ่งเป็นทางเชื่อมจากวัดศิริสุทโธเพื่อเข้าไปในป่าคำชะโนด แต่ปัจจุบันผู้คนเข้ามาเป็นจำนวนมาก การวางรองเท้าจึงไม่เป็นระเบียบจึงมีกฎออกมาว่า ให้นักท่องเที่ยวนำรองเท้าใส่ถุงหิ้วเข้าไปด้วยและเพื่อเปนการป้องกันรองเท้าหายได้อีกเช่นกัน  พวกเราต่างไปเลือกพานบายศรีพญานาคซึ่งเป็นของวัด เลือกหังพญานาคหัวตามสีวันเกิด มีหลายขนาด  หลายราคา เพื่อเข้าไปกราบพ่อปู่ศรีสุทโธและแม่ย่าศรีปทุมมา เพื่อขอพร  การขอพรขอได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  หลายคนเมื่อสมหวังตามคำขอก็จะกลับมาแก้บน(การบนเขาบนนำกระทงบายศรีมาถวายซึ่งจะมีเศียรพญานาคกี่เศียรก็ตามแต่ที่บนไว้)


ทุกคนมีพานบายศรีแล้ว  ต่างเดินเข้าไปสักการะพ่อปู่และแม่ย่า  เงียบมากจะไม่มีเสียงพูด คุย อะไรเลย เวลาเดินเข้าไปให้หันเสียรพญานาคออกไปจากตัว เดินเข้าไปเป็นแถวเพื่อรอคิวกราบ

เห็นศาลพ่อปู่ศรีสุทโธและแม่ย่าปทุมมา  อยู่ข้างหน้า  สถานที่แคบมาก  จึงต้องจัดคนเข้าไปกราบ เวลากราบจะมีพราหมณ์เป็นผู้นำให้เราว่าคำสวดตาม  ขณะที่ว่าคำสวดให้หันเศียรพญานาคเข้าหาตัวเรา เพื่อให้พรเข้าสู่ตัวเรา  และอธิษฐานขอในสิ่งที่ต้องการ  "อย่างเดียวเท่านั้น"

ขณะรอเข้าไปกราบ

6 กฎเหล็กให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปวัดป่าคำชะโนดปฏิบัติตาม ประกอบด้วย 1.ไม่จุดธูปเทียนบูชาในป่าคำชะโนด 2.ให้นำพานบายศรีหรือเครื่องเซ่นไหว้กลับ เพื่อลดขยะ  3.ไม่โยนเหรียญลงในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ 4.งดปล่อยปลาและสัตว์น้ำลงไปในแหล่งน้ำ 5.ไม่ผูกผ้าแพร 7 สี และ6.ไม่ทาแป้งหรือขัดถูต้นไม้ นอกจากนี้ยังห้ามถอดรองเท้ากีดขวางทางเดิน ห้ามเอารัดเอาเปรียบ ห้ามขายของเกินราคา

หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นบางอย่างก็ยากที่จะพิสูจน์ บางอย่างก็มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ เอาเรื่องที่พิสูจน์ได้ยากกันก่อน...อย่างเรื่องเล่า “ผีจ้างหนัง” คนอีสานเรียกว่า “ผีบังบด” หรือบ้างก็ว่าเป็น “เมืองลับแล” ดินแดนที่ผู้คนไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ทั่วไป นอกเสียจากว่าจะมีอะไรมาดลใจให้เห็น

เรื่องราวมีอยู่ว่า บริษัทหนังเร่แห่งหนึ่ง ถูกว่าจ้างจากใครคนหนึ่งให้ไปฉายหนังกลางแปลงในหมู่บ้านวังทอง ด้วยเงิน 4,000 บาท แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องฉายจบแค่ตี 4 ของวันใหม่ และให้ออกจากหมู่บ้านก่อนฟ้าสางและห้ามหันหลังกลับมามอง ว่ากันว่าบรรยากาศฉายหนังเป็นไปอย่างเงียบเฉียบ ไม่มีเสียงหัวเราะ เอะอะ

แม้แต่ร้านขายของกินของใช้ ร้านขายบุหรี่ก็ไม่มีให้เห็น เรื่องราวของ “ผีจ้างหนัง” จึงสะท้อนศรัทธาในดินแดนแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี กระนั้นในบางเรื่องที่มีข้อสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ก็มีให้เห็นอยู่บ้างแล้ว

แต่ก็อีกนั่นแหละ เรื่องของ “ศรัทธา... ความเชื่อ” คงไม่มีใครที่จะลบหลู่ ทุกวันนี้ส่วนที่เป็นป่าก็ไม่น่าจะมีใครกล้าเข้าไปรุกล้ำกล้ำกราย เดินเข้าไปนิดเดียวก็เจอน้ำแล้ว สิ่งที่ไม่เห็น...ไม่ได้แปลว่าไม่มีจริง เรื่องราวอันลี้ลับ “ป่าคำชะโนด” ก็เป็นเช่นนั้น.

ถ้าได้ตามที่ขอหลาย ๆ คนก็คงได้กลับไปที่วังนาคิน หรือป่าคำชะโนดอีกครั้ง  ไม่เคยคิดว่าจะได้ไปที่นั่นและไม่เคยรู้จัก  ขอบคุณศูนย์ดูแลครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้สูงอายุ สกสค.จังหวัดชุมพร..



หมายเลขบันทึก: 631038เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2017 19:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กรกฎาคม 2017 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับ

-ได้อ่านและติดตามข่าวเรื่องวังนาคินอยู่เป็นประจำครับ

-น่าทึ่งมากๆ นะครับ

-คนเยอะเลยนะครับ..


คนเยอะค่ะ แต่แปลก เงียบ วังเวง น่าขนลุกในวังนาคินนะคะ ไม่ใช่บริเวณด้านนอกค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท