Cybercrime กับอาชญากรรมเศรษฐกิจ ตั้งแต่ขายตรง Token, Binary option, Hyip และ ICO ไปจน Bottrade ในรูปแบบ Ponzi’s Pyramid


วศ.ปรเมศวร์ กุมารบุญ 

Cyber Criminologist                                                                                        

 

เจตนารมณ์ของผู้เขียนบทความนี้ ต้องการปกป้องผู้เสียหายด้วยการให้ข้อมูลด้านลบเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาของตัวเขาเอง และส่งเสริมมาตรการต่างๆที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น

 

“แชร์ลูกโซ่” ในกรณีที่เกิดความเสียหาย คนไทยเราเข้าใจดีว่าเป็นการรวมกลุ่มคนแล้วสมาชิกเอาเงินมาฝาก เจ้ามือแชร์บอกว่าเพื่อนำเงินไปลงทุนอะไรบางอย่าง แล้วเอากำไรมาแบ่งปันกันเป็นงวดตลอดไป และสามารถถอนเงินต้นคืนเมื่อใดก็ได้

 

อาชญากรรมเกิดขึ้นเมื่อ.... "ความจริงไม่มีการลงทุนอะไร" แต่เมื่อมีสมาชิกใหม่เข้ามาจ่ายเงิน เสียค่าสมาชิกหรือฝากเงินลงทุน เงินส่วนหนึ่งก็แบ่งรายได้ให้สมาชิกคนที่มาก่อนส่วนหนึ่งก็ให้ท้าวแชร์ เป็นอย่างนี้ทบไปเรื่อย จนกระทั่งไม่มีสมาชิกมาใหม่ เมื่อไม่มีรายได้เข้ามาเลี้ยงดูกลุ่ม และไม่สามารถถอนเงินต้นคืนได้ กระบวนการแชร์ลูกโซ่ของกลุ่มก็ล้ม ตัวการก็หนีความรับผิดชอบไปเกิดความเสียหายกับสมาชิกจำนวนมาก เป็นอาชญากรรมเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่ง 

 

แต่ “ขายตรง” ในหลายกรณีที่มิได้ปฏิบัติตาม พรบ.ขายตรงฯ โดยการนำสินค้าเข้ามาปนกับระบบแชร์ลูกโซ่นั้น เพื่อที่จะตอบคำถามได้ว่านำเงินไปลงทุนอะไร ส่วนใหญ่สมาชิกเข้าใจว่ามันไม่ใช่แชร์ลูกโซ่ที่จะถูกหลอกเหมือนอดีตที่ผ่านมา มันไม่ได้เอาเงินมาฝาก แต่มันคือการขายสินค้า โดยเฉพาะสินค้าบริโภคที่คนต้องใช้ประจำตลอดไป จะเสียหายได้อย่างไรมีแต่จะรวยขึ้นเมื่อหาลูกค้าได้มากขึ้น

 

รายได้ของสมาชิกจะมาจาก ค่าธรรมเนียมแรกเข้าของสมาชิกใหม่ที่ตนหามาได้ และส่วนแบ่งรายได้จากการซื้อสินค้าของสมาชิกใหม่ที่ตนหามาได้ แล้วความเสียหายจะเกิดขึ้นได้อย่างไร? ต้องดูรูปที่ 1 ประกอบครับ


รูปที่ 1 Ponzi’s Pyramid

 

จากรูปที่ 1 สมาชิกจากแถวที่ 1 เริ่มต้นธุรกิจ พวกเขาจะมีรายได้จากค่าสมัครสมาชิกใหม่ที่พวกเขาหามาได้ และมีรายได้จากการซื้อสินค้าของสมาชิกใหม่ จากนั้นสมาชิกใหม่ที่พวกเขาหามาได้ในแถวที่ 2 จะหาสมาชิกเพิ่ม และจะมีส่วนแบ่งจากค่าสมาชิกใหม่และส่วนแบ่งจากการซื้อสินค้า เรียกว่า Ponzi’s Pyramid

 

ในทุกตลาด ทุกสินค้าจะมีจำนวนผู้บริโภคจำกัดหรือไม่ก็ศักยภาพในการทำตลาดมีเท่านี้ สำหรับผู้ที่ขายตรงคงหัวเราะกับเหตุผลนี้ว่าบ้าสิ้นดี สินค้าของฉันเพิ่งมีคนสมัครสมาชิกแค่หนึ่งหมื่นคนเอง ยังเหลือคนไทยอีกหกสิบกว่าล้านคน ฉันยังขยันไม่พอต่างหาก

 

แต่ในที่นี้หมายความว่า ในรูปที่ 1 คนแถวสุดท้ายคือผู้เสียหาย (แถวที่ N) เพราะพวกเขาจะไม่สามารถมีรายได้จากค่าสมัครสมาชิกใหม่ และไม่สามารถมีรายได้จากการซื้อสินค้าของสมาชิกใหม่ คุณอาจจะไม่เคยเห็นหน้าเขา เพราะเขายังมาไม่ถึง แน่นอนดาวน์ ไลน์ คนถัดไปของคุณอาจจะคืนทุนได้จริง แต่คุณเชื่อเถอะวันนึงจะมีคนๆ นั้น คนที่พวกคุณให้ความหวังเขาว่าเขาจะมีอิสระทางการเงิน คุณไม่ได้ขายของปกติที่คนซื้อใช้แล้วมีความสุข แต่คุณเอาเงินเขามาแลกกับความฝันที่เขาคิดว่าจะรวยแต่เขาผิดหวัง และเสียเงิน

 

อธิบายรูปที่ 1 ต่อครับ เมื่อสมาชิกแถวสุดท้ายหรือแถว N คือผู้เสียเงินค่าสมาชิกและซื้อสินค้าไม่มีรายได้ก็ถอดใจล้มเลิก ผู้เสียหายก็จะเป็นสมาชิกแถวเลื่อนขึ้นถัดมาก็คือแถว N-1 จากนั้นก็เป็นแถว N-2 และ N-3 เรื่อยๆ ไปจนเหลือแถวบนสุดกิจการก็ล้มเลิก แล้วพวกเขาก็ไปตั้งธุรกิจใหม่ ปล่อยดาวน์ไลน์ไปตามวิถีกรรม

 

Ponzi’s Pyramid  เรียกตามชื่อของนาย Charles Ponzi อาชญากรเศรษฐกิจชาวอิตาเลียนในยุคปี 1920 ด้วยการใช้กลยุทธ์ต้มตุ๋นจากการให้ข้อเสนอผลตอบแทนที่สูงเกินจริงแก่ผู้ที่นำเงินมาลงทุนกับเขา ซึ่งไม่ได้มีการนำเงินไปลงทุนจริงๆในธุรกิจอะไรทั้งนั้น แต่กลับเอาเงินของสมาชิกที่มาใหม่ส่งไปปันผลให้กับสมาชิกที่มาก่อนเรื่อยๆ จนในที่สุดก็พัง

 

Charles Ponzi อาชญากรเศรษฐกิจชาวอิตาเลียนในยุคปี 1920 


ราวปี 2536-37 ผมได้เข้าไปสัมผัสรับการสัมนากับบริษัทขายตรงแบบฉ้อโกงยักษ์ใหญ่ในไทยนามว่า บริษัท บลิสเชอร์ เขาไม่ใช่แชร์ลูกโซ่ ไม่มีสินค้า แต่มีบริการ เรียกว่าบริการห้องพักฟรี ปีละ 3-4 วัน สมาชิกผลัดกันไปพักผ่อน  ค่าสมาชิก 50,000 บาท โดยที่หากเราหาสมาชิก มาเพิ่มเราจะได้ส่วนแบ่งรายละ 10,000 บาท อ้าว อย่างนี้หาเพื่อนมาได้ 5 คนก็คืนทุนแล้วสิ ก็ใช่สิครับ แล้วถ้าเพื่อนเราหาสมาชิกมาได้ เราก็ยังได้ส่วนแบ่งอีก 5,000 บาท (ตัวเลขประมาณการ) แล้วลดหลั่นลงไปเรื่อยๆ แจ๋วไปเลย


สมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายหรือมาตรการอะไรจากรัฐมาควบคุม กระทรวงการคลังเริ่มมีประกาศออกมาเตือนประชาชน และเริ่มมีประชาชนร้องเรียน ในที่สุดรัฐตัดสินใจลงดาบ บลิสเชอร์ ในฐานะความผิดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2534 ตามมาตรา 4 และ 5 ฐานหลอกลวงประชาชน โดยครั้งนั้นมีผู้เสียหายหลงเชื่อ 24,189 ราย มูลค่าความเสียหาย 826,266,000 บาท ศาลลงโทษจำคุกหลายกระทงรวมกันเป็นแสนปีเลย


ทีมงานคนหนึ่งพาผมไปนั่งกล่อม เขาเปิดแฟ้มให้ดู นี่พี่น้องโคราช 200 กว่าคนเหมารถตู้เป็นสิบๆ คันมาจากต่างอำเภอเลย บางคนเอานาไปจำนอง เอารถตุ๊กๆ ไปจำนำก็มี แล้วแกก็เปิดให้ดูสำเนาบัตรประชาชนพร้อมสำเนาใบเสร็จว่าจ่ายแล้วจริง


พัฒนาการของ Ponzi มีมาเรื่อยๆ เพิ่มเติมความคิดสร้างสรรค์เข้าไป เช่น การชักชวนนำเงินไปลงทุนธุรกิจที่ดูน่าจะกำไรมหาศาลอย่างแชร์น้ำมันแม่ชม้อย ให้ผลตอบแทนตามเปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่นำมาลงทุนหรือการพยายามนำสินค้าด้อยคุณภาพเข้ามาเป็นตัวกลางในการดำเนินธุรกิจการเงิน โดยผลตอบแทนเป็นส่วนแบ่งจากค่าสมาชิกที่เราหามาได้กับยอดขายของสมาชิกที่เราหามาได้ ซึ่งมีใจความสำคัญคือ

1. ค่าสมาชิกแรกเข้า

2. ส่วนแบ่งจากยอดขายของสมาชิกที่เราหามาได้ (ดาวน์ ไลน์)

3. ถ้าอยากกำไรเยอะหรือยังอยู่ในสถานะสมาชิกเดิม คุณต้องมียอดสั่งซื้อสินค้าตามจำนวนที่บริษัทกำหนด (กดดันให้ซื้อตุนไว้)

 

นอกจากนั้นทางบริษัทจะจัดอบรมเชิงปฏิบัติการจิตวิทยาให้ตัวแทนจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับแทรกเทคนิคการขายไปบ้าง ตอบทุกคำถามในใจในแง่ลบที่มีต่อธุรกิจ ต้นทุนการขายของบริษัทไปตกอยู่ที่ตัวแทนจำหน่ายหรือผู้แทนขายตรงต้องลงทุนเอง 

เดิมธุรกิจขายตรงจะแค่เพียงการดำเนินการขายเชิงรุกไปหาผู้ซื้อถึงบ้านหรือสถานที่ทำงานหรือเชิญมาร่วมประชุมสัมมนา แล้วเสนอสินค้าพร้อมแผนการตลาดให้ฟัง ประชาชนจำนวนมากได้รับความเสียหายเมื่อตั้งใจจะเป็นตัวแทนขายสินค้าดังกล่าวจนในที่สุดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและประชาชนที่ต้องการทำธุรกิจขายตรงก็ได้ก่อให้เกิดการตราพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ขึ้นมา

 

พระราชบัญญัติขายตรงฯ ได้กำหนดรูปแบบแนวทางการประกอบกิจการตลาดแบบตรงและการขายตรง ผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง แผนการจ่ายผลตอบแทน เป็นต้น เพื่อคุ้มครองไม่ให้เกิดการต้มตุ๋นหลอกลวงและมีบทกำหนดโทษที่ค่อนข้างรุนแรง อาทิเช่น พระราชบัญญัติขายตรงฯ มาตรา 19 ถึงเราหาสมาชิกได้เพิ่ม แต่เราไม่มีสิทธิ์ได้ส่วนแบ่งจากการหาสมาชิกแล้ว มาตรา 46 บอกว่าถ้าฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 5 ปรับไม่เกิน 500,000 บาทเลยทีเดียว

 

อันที่จริงมาตรา 22 ท่านห้ามผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงเรียกเก็บค่าสมาชิกด้วยซ้ำไป จำคุก 6 เดือน ปรับ 50,000 บาทเชียว

 

นอกจากนั้นยังมีมาตรการคุ้มครอง อาทิเช่น ผลตอบแทนของผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง ขึ้นอยู่กับการขายสินค้าให้ผู้บริโภคหรือซื้อใช้เองเท่านั้น ห้ามมีข้อเสนอพิสดารกว่านี้ หรือ ต้องไม่บังคับหรือจูงใจผู้จำหน่ายอิสระซื้อสินค้า เป็นต้น

 

แต่ปัจจุบันเกิดช่องทางการขายตรงออนไลน์ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถเห็นสินค้าหรือจับต้องได้ก่อนซื้อ และหากสินค้าเสียหายการเรียกร้องเป็นไปได้ยาก และการกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 อาทิ การเก็บค่าสมาชิก การบังคับจูงใจหรือกดดันให้ซื้อสินค้าก็กลับมาเกิดเป็น Cybercrime รูปแบบหนึ่งที่ก่ออาชญากรรมเศรษฐกิจแบบ Ponzi Pyramid ในโลกออนไลน์และมีพัฒนาการมากมายหลายรูปแบบ

 IQ option หรือ Binary Option 

Binary Option คือ การพนันเต็มๆ และส่วนใหญ่คือ Scam มันคือการวางเดิมพันกับกราฟหุ้นหรือกราฟราคาสินค้า แล้วให้เราแทงว่าจะขึ้นหรือลง ภายในช่วงเวลานึง (1 นาที 5 นาที 10 นาที หรือแล้วแต่กำหนด) แล้วก็วางเงินเดิมพัน ถ้าชนะเจ้ามือจะเป็นผู้จ่าย อัตราจ่ายส่วนใหญ่คือ 70-85% เวลาเราแทงถูก แต่ถ้าผิดเราเสียเงินที่เราแทงไปทั้งหมด แต่พูดหรูๆ ว่าเทรด เราไม่ได้เทรดกับตลาด แต่เราเทรดหรือแทงกับเจ้ามือ ถ้าเราได้เจ้ามือเสีย เราเสียเจ้ามือได้ ไม่เกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ และที่สำคัญถ้าเจ้ามือหรือเว็บเสียมันไม่จ่ายทำไงละ? ปิดเว็บหนีบัญชีก็ไม่มีจ่ายเป็น cryptocurrency


 

Digital Cryptocurrency กำลังบูม ผู้คนมากมายกำลังมองหาโอกาสธุรกิจที่ตนจะรวยอย่างรวดเร็ว และขณะเดียวกันอาชญากรเศรษฐกิจก็เห็นโอกาสมากมายอยู่เช่นกัน อาทิเช่น

 

hyipHyip scam หรือชื่อเต็ม High Yield Investment Program  scam


HYIP scam จะเปิดรับลูกค้าในรูปแบบ Website ที่รับฝากเงินจากสมาชิก และจะจ่ายผลตอบแทนเป็นร้อยละ ตามอัตราที่กำหนด เช่น วันต่อวัน หรือ 3 วัน หรือ 5 วัน หรือ 7 วัน หรือ 1 เดือน หรือ 1 ปี โดยอ้างว่านำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นหรือทำธุรกิจอื่นที่เราตรวจสอบไม่ได้ โดยการฝากรายวันให้ผลตอบแทน 3-5% เลยทีเดียว ถ้าหากฝากนานย่อได้ดอกเบี้ยมากขึ้นตามด้วย และแน่นอนมันไม่ต่างอะไรกับ Ponzi เลย เขาก็เอาเงินคนฝากใหม่จ่ายปันผลให้คนมาก่อน และเมื่อฐานสมาชิกเริ่มมากก็หนีหายตามเคย ที่สำคัญหากเขาให้ลงทุนด้วย Bitcoin หรือ Digital Cryptocurrency อื่นๆ แล้ว เรียกได้ว่าแทบจะฟ้องร้องกันไม่ได้เลยทีเดียว เพราะเงินดิจิทัลอย่างแรกไม่ใช่เงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และไม่สามารถหาหลักฐานได้ง่ายว่าผู้รับฝากเป็นใคร

เว็บ Hyip ส่วนใหญ่ถูกวิจารณ์ในโลกออนไลน์ในระดับนานาชาติว่าแทบจะเป็นการหลอกลวง 100% ในทุกเว็บ เรียกว่าเป็น Hyip Scam เมื่อได้ฐานลูกค้าพอสมควรเขาจะหนีไป



ICO (Initial Coin Offering) scam

อันที่จริง ICO เป็นเรื่องดีมากสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา โดยเฉพาะการที่ผู้มีไอเดียแต่ไม่มีทุนหรือผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีหลักทรัพย์ไปกู้ยืมธนาคาร การใช้ Platform นี้ในการระดมทุนประสบความสำเร็จอย่างสูงในต่างประเทศ 

ICO เป็นการเสนอแผนธุรกิจบนเว็บไซต์ว่าแต่ละธุรกิจต้องการเงินเป็น Digital Cryptocurrency เท่าใด และจะขายเป็นเหรียญการลงทุน (Token) ซึ่งแต่ละเหรียญหรือหน่วยลงทุนนั้นก็จะบอกว่าได้ผลตอบแทนเท่าใด ผู้ที่ต้องการลงทุนก็จะจ่ายเป็น Digital Cryptocurrency เพื่อถือ Token ในธุรกิจนั้น 

เมื่อนึกถึง Token ก็นึกถึงคดี ยูฟันด์ อันโด่งดังที่เราเคยได้ยินกันเขาก็ขายหน่วยลงทุนเป็น Token และกำหนดผลตอบแทน แต่ไม่ได้เอาไปลงทุนธุรกิจจริงจัง หากแต่นำเงินของคนใหม่ไปเลี้ยงคนเก่าแบบ Ponzi นั่นเอง 



ปัจจุบันอาชญากรรมเศรษฐกิจจาก ICO ก็เริ่มมีบ้างแล้ว การระดมทุนด้วย Digital Crypto currency บางประเภทเก็บค่าสมาชิกและมีปันผลจากการหาสมาชิกใน ดาวน์ ไลน์ ของตนเพิ่มขึ้นมา เรียกว่า ICO Scam แต่โลกไซเบอร์ใหญ่โตกว้างขวางอาชญากรเศรษฐกิจที่เริ่ม Ponzi ใน ICO scam นั้น จะร่ำรวยมหาศาล และมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวเงินของเหยื่อยาวนาน

สุดท้ายทุกอย่างก็จะจบเหมือนเดิมเมื่อไม่ได้นำเงินไปลงทุนธุรกิจจริง และค่าสมาชิกผู้มาใหม่หรือเงินฝากของผู้มาใหม่ไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงปิรามิดได้ เขาก็ต้องหนี และจะเป็นการหนีที่จับไม่ได้ด้วยหากผู้เสียหายลงทุนด้วย Crypto currency นั่นจะทำให้เราเห็นว่าทำไมเราต้องมี Regulator อย่าง กลต. การทำ IPO ไม่ใช่เรื่องล่าช้า แต่เป็นการกรองจากผู้เชี่ยวชาญแล้วว่า บริษัท ที่เข้ามาระดมทุนเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่งที่จะไม่ทำให้ประชาชนเสียหาย และอีกไม่นานจะมีคนไทยจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมเศรษฐกิจแบบ Hyip scam และ ICO scam จำนวนมากในวิถีโลกออนไลน์

ผมได้ข่าวว่าในต่างจังหวัดหลายแห่งพฤติการณ์เช่าห้องสัมนาในโรงแรม แล้วเกณฑ์ชาวบ้านมาอบรมชักจูงใจให้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่สุดแต่จะหาจุดขายมาหลอกล่อ อย่าลืมว่ากฎหมายตามไม่ทันเทคนิควิธีนะครับ คนออกกฎหมายนานน้านกว่าจะมีเรื่องให้มาชุมนุมแก้ไขกฎหมาย แต่เหล่าอาชญากรนั้น ไอคิว พอๆ กับคนร่างกฎหมายนั่นล่ะ แต่เขาคิดเขาประชุมกันตลอดเวลาในการปรับปรุงพัฒนากระบวนวิธีการเอาเงินจากชาวบ้าน


วิธีการที่น่าสนใจใหม่ๆ เช่น ลงทุนใน Token ราคา Token ละ 3,000 บาท จะได้ผลตอบแทนเดือนละ 40% แล้วเมื่อครบเดือน เขาจ่ายเงินต้น 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอีก 1,200 บาทจริงๆ ครับ อาชญากรใจถึงมาก เขาวัดใจกับความโลภของคุณ โดยพิจารณาจากใบหน้า

คราวนี้เมื่อมีประสบการณ์ตรงว่า เออ เข้าให้กำไร 30% จริงแฮะ ไปไต่ถามความรุ้เพิ่มเติมว่าบริษัทนี้ทำธุรกิจอะไร มุกที่นิยมใช้ตอนนี้มี 2 มุขหลักคือ 1 ได้รายได้จากยอดวิวการขายโฆษณาคนจ่ายเงินมาลงทุนเราก็กระจายยอดวิวไง 2 เราเอาเงินทุนไป Bot trade งงล่ะสิไม่รู้จัก เป็นปัญญาประดิษฐ์มันวิเคราะห์หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ซื้อขายเองอัตโนมัติ ซอฟแวร์เราพิเศษ

ซอฟแวร์เราพิเศษ Bot trade เป็นโอกาสคนบ้านนอกอย่างพวกเราที่จะรวยกว่าคนกรุงแล้วคราวนี้ รายได้วันละแสนแน่ๆ ถ้าเราไปหาคนมาลงทุนเป็นดาวน์ไลน์ต่อจากเรา มันตลกตรงที่ว่า พวกเขาไม่เฉียวใจสักนิดว่า นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นักลงทุน ทั้งหลายทำไมไม่มี Bot trade ใช้แบบเรา หรือไม่ทำไมไม่มาลงทุนกับบริษัทเรานะ อ่อ บริษัทเราเป็นบริษัทจดทะเบียนในอังกฤษนะ เพราะจะได้อยู่นอกเขตอำนาจศาลไทย และพยานหลักฐานดิจิทัล Cloud server อยู่ที่ไหนในโลกก็ไม่รู้ โชคดีครับ

วิเคราะห์

อาชญากรอาจจะนึกว่าเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่ไม่ได้รับเงินตรา (เงินบาทหรือเงินที่ถูกกฎหมาย) แต่รับ Crypto currency แทน กฎหมายจะเอาผิดไม่ได้และไม่ใช่ทรัพย์ตามนิยามในกฎหมายแพ่ง 

ซีซาร์ เเบ็คคาเรีย ได้เสนอทฤษฎี Free will หรือเจตต์จำนงอิสระ มนุษย์มีอิสระที่จะคิด ตัดสินใจ และกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุผลตนเองที่ไตร่ตรองมาแล้ว จึงต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนที่กระทำลงไป ดังนั้นการป้องกันไม่ให้มนุษย์กระทำความผิดต้องทำให้เชื่อว่า ผลเลวร้ายที่จะได้รับจากการก่ออาชญากรรม (Pain) จะก่อให้เกิดความเจ็บปวดมากกว่า ความสุขที่จะได้รับ (Gain) มนุษย์จึงจะไม่ก่ออาชญากรรม แต่ตราบใดที่อาชญากรรมไซเบอร์แบบ Ponzi ยังจับกุมตัวอาชญากรไม่ได้หรืออาชญากรไม่รู้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย อาชญากรรมชนิดนี้ก็ยังคงมีอยู่ต่อไป

เจเรมี่ เบ็นธัม ก็มีแนวคิดสอดคล้องกับซีซาร์ เเบ็คคาเรีย ในทฤษฎีเจตต์จำนงอิสระของ เบ็นธัม เสนอ “ทฤษฎีแฟลิซิฟิคแคคูลัส” (Falicific Calculus) โดยกล่าวว่า “มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่มีเหตุผลผู้ซึ่งจะระมัดระวังในการแสวงหาความเพลิดเพลินและหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด” หลักการนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีฮีโดนิซึม (Hedonism) ทฤษฎีฮีโดนิซึม (Hedonism) “ความเพลิดเพลินและความเจ็บปวดเป็นพื้นฐานทีก่อให้เกิดแรงจงูใจในมนุษย์”์ การดำเนินคดีตามกฎหมายต้องรวดเร็ว และได้รับโทษที่เหมาะสมกับการกระทำความผิดเพื่อยับยั้งชั่งใจอาชญากร

เมื่ออาชญากรจับกุมตัวยาก การตัดสินใจจะกระทำความผิดก็ง่ายขึ้น รายได้ของอาชญากรก็มากขึ้น และผู้เสียหายขยายวงกว้างออกไปเรื่อย เจเรมี่ เบ็นธัม ก็ได้เสนอทฤษฎี Rational choice theory ทฤษฎีทางเลือกอย่างมีเหตุผลของอาชญากร อาชญากรตัดสินใจเลือกที่จะก่ออาชญากรรมเมื่อเขาได้ประโยชน์โดยไตร่ตรองจาก 1. สถานที่ประกอบอาชญากรรม (Choosing the place of crime) อาชญากรจะเลือกสถานที่ประกอบอาชญากรรมเมื่อเขาหนีตำรวจได้ง่าย และแน่นอนในโลก cyber นับวันจับตัวเจ้าของเว็บที่ก่อาชญากรรม Ponzi ได้ยากมาก 2.เลือกเป้าหมาย (Choosing target) เหยื่ออ่อนแอ จริงๆ แล้วกรณีแบบนี้อาชญากรแทบจะไม่ได้เลือกเหยื่อ แต่เหยื่อแสวงหาความรวยด้วยความโลภเข้าไปติดกับเอง หรือในกรณีขายตรง เครือข่ายอาชญากรอาจจะเข้าไปโน้มน้าวจูงใจคนใจอ่อนที่มีเงินก็เป็นได้ 3. เรียนรู้เทคนิคการประกอบอาชญากรรม (Learning criminal techniques) อาชญากรเหล่านี้มีความรู้มากทางคอมพิวเตอร์ และการเงินดิจิทัล อีกทั้งพอรู้เส้นทางหลบหลีกกฎหมาย 


ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ยังเอื้อให้อาชญากรรมไซเบอร์แบบ Ponzi ยังคงอยู่ต่อไปและมีผู้เสียหายมากขึ้น การจับกุมตัวอาชญากรยากขึ้น ผู้เขียนช่วยได้เพียงว่ากระจายเรื่องราวป้องกันเหยื่อ และแนะนำข้อกฎหมายให้อาชญากรได้รู้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย อาชญากรรมไซเบอร์แบบ Ponzi เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเข้า มาตรา 3 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ซึ่งบัญญัติว่า

“กู้ยืมเงิน” หมายความว่า รับเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าในลักษณะของการรับฝาก การกู้ การยืม การจำหน่ายบัตรหรือสิ่งอื่นใด การรับเข้าเป็นสมาชิก การรับเข้าร่วมลงทุน การรับเข้าร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในลักษณะอื่นใด โดยผู้กู้ยืมเงินหรือบุคคลอื่นจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน หรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับเพื่อตนเองหรือรับในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้กู้ยืมเงินหรือของผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือในฐานะอื่นใด และไม่ว่าการรับหรือจ่ายเงิน ทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นใด หรือผลประโยชน์ตอบแทนนั้น จะกระทำด้วยวิธีการใด ๆ....

แม้ Crypto currency ไม่ได้รับรองว่าเป็นเงินถูกกฎหมาย และไม่มีกฎหมายห้ามหรือควบคุม แต่ก็ถือว่าเป็น "ประโยชน์อื่นใด" ตาม พรก. กู้ยืมเงินฯ ในการเข้าเป็นสมาชิกหรือร่วมลงทุน โดยตกลงว่าจะให้ผลตอบแทน จึงเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายครับ และนอกจากนั้นหากมีผู้ร่วมทีมก่ออาชญากรรมเป็นขาวต่างชาติก็อาจจะเข้า พรบ. ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 เหมือนคดี ยูฟันด์ ยอดรวมติดคุกกันเป็นหมื่นปีเลยนะครับ





<p></p>

อ้างอิง
พระราชบัญญัติ ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕
https://ilaw.or.th/sites/defau… 

พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 http://www.law.moi.go.th/law/g... 

คำสำคัญ (Tags): #ขายตรง#Hyip scam#ICO scam
หมายเลขบันทึก: 630916เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2017 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2018 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท