ความรู้นี้พี่ให้น้องครั้งที่ 15 : ค่ายอาสาพัฒนา 3 คืน 4 วัน (บูรณาการกลไก 4 In 1)


เหมือนทำงานบนหลักคิด “มนุษยนิยม” ยังไงยังงั้น เป็นกระบวนทัศน์ที่เชื่อว่าคนทุกคนมีความรู้มีความสามารถ คนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ทั้งในระบบและนอกระบบ สัมพันธ์กับความเชื่อที่ว่า “งานจะออกมาดีก็ต้องเริ่มจากงานที่ตนเองรักและถนัด”

ชมรมรุ่นสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  จัดค่ายความรู้นี้พี่ให้น้องครั้งที่ 15 จัดขึ้นระว่างวันที่ 18 – 21 พฤษภาคม พ.ศ 2560 ณ โรงเรียนบ้านหนองมะเขือ ตำบลโคกสำราญ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น  ภายใต้วัตถุประสงค์หลัก คือ ส่งเสริมให้นิสิตได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยการพัฒนาตนเองและสังคมผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตรในแบบค่ายอาสาพัฒนา 

ค่ายครั้งนี้ใช้เวลา  3 คืน 4 วัน  ทว่ามีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบมาก  เรียกได้ว่าครบทั้ง 4 ด้าน (4 In 1)  นั่นคือครบทั้งด้านวิชาการ  ด้านบำเพ็ญประโยชน์/สิ่งแวดล้อม  ด้านกีฬาและนันทนาการ  ตลอดจนด้านศิลปวัฒนธรรม  แถมยังเป็นกิจกรรมที่เน้นแนวคิด “เรียนรู้คู่บริการ” และการมีส่วนร่วมในแบบ “บวร” อย่างเสร็จสรรพ  ยกตัวอย่างเช่น -

  • ด้านวิชาการ : สอนเสริมความรู้และทักษะแก่นักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ วิชาอังกฤษ และวิชาภาษาไทย โดยเน้นการเรียนรู้ในแบบบันเทิงเริงปัญญา  เรียนแบบเชิงรุก Active learning ที่ยึดโยงกับผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
  • ด้านบำเพ็ญประโยชน์ :  ปรับปรุงสนามเด็กเล่น  มีทั้งที่ซ่อมแซม  จัดซื้อเพิ่มและสร้างใหม่  ปรับปรุงสนามตะกร้อ (ทำความสะอาดลงสีและตีเส้น  ติดตั้งเสาเพื่อยึดกับเน็ต/ตาข่าย)  ปรับปรุงอ่างล้างหน้าแปรงฟัน (ทำความสะอาด ทาสี เพ้นท์รูป)  ปรับปรุงห้องสมุด (จัดเรียงหมวดหมู่หนังสือ จัดมุมอ่านเล่น  เพิ่มโต๊ะอ่านหนังสือ  จัดซื้อหนังสือภาพสองภาษา  ติดตั้งคำศัพท์ในประชาคมอาเซียนและภาษาอังกฤษ)  ลาน BBL  (ทาสีใหม่และวาดภาพใหม่)


  • ด้านกีฬาและนันทนาการ : กีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตกับแกนนำชุมชน พ่อฮักแม่ฮัก นักเรียน คณะครู เช่น  เตะปีบคนจน ตีกอล์ฟคนจน วิ่งซุปเปอร์แมน วิ่งผลัดไม้ไผ่  ชักเย่อ
  • ด้านศิลปวัฒนธรรม :  เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนผ่านกิจกรรมพ่อฮักแม่ฮัก  ทำบุญตักบาตร  บายศรีสู่ขวัญ  ข้าวพาแลงและรำวงชาวบ้าน 

นี่ยังไม่รวมถึงการมอบอุปกรณ์การเรียนการสอนและกีฬา   หรือแม้แต่กิจกรรมปรับภูมิทัศน์โรงเรียน บ้าน วัด (บวร)  รวมถึงกิจกรรมปลีกย่อยอื่นๆ ที่กล่าวถึงยังไม่หมด 

เรียกได้ว่าวันเวลาเพียง 3 คืน 4 วันอบอวลด้วยการงานอันแสนสาหัสหนักหน่วง  และเต็มไปด้วยความท้าทายในวิถีจิตอาสาเป็นที่สุด

แกนนำค่ายบอกเล่ากับผมว่า   เหตุผลที่เลือกจัดกิจกรรมขึ้นที่โรงเรียนบ้านหนองมะเขือ  ประกอบด้วยเหตุผลหลักคืออยู่ไกลจากตัวอำเภอ  กอปรกับในอดีตโรงเรียนแห่งนี้เคยถูกยุบไปแล้วครั้งหนึ่ง  เพิ่งจะกลับมาเปิดทำการเรียนการสอนได้ไม่นาน   นิสิตเชื่อว่าหากไปจัดกิจกรรมขึ้นที่นี่  โดยใช้หลักคิดการมีส่วนร่วมของชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน  บางทีอาจเป็นประหนึ่งพลังเล็กๆ เกื้อหนุนให้ผู้เกี่ยวข้องมีกำลังใจในการพัฒนาโรงเรียนแห่งนี้ให้ได้มาตรฐานและหยัดยืนอยู่ต่อไปได้  ---

และอีกหนึ่งเหตุผลคือเป็นโรงเรียน หรือชุมชนบ้านเกิดของสมาชิกในชมรม  ซึ่งผ่านการพิจารณาร่วมกันโดยเทียบเคียงกับหลายๆ พื้นที่แล้วว่า “เหมาะสม”  

โรงเรียนบ้านหนองมะเขือ   เปิดสอนระดับอนุบาลจนถึงประถมปีที่ 6  ปัจจุบันมีครู 6 คน นักเรียนประมาณ 60-70 คน  เรียกได้ว่าจำนวนนักเรียนกับจำนวนพี่นิสิตที่ไปค่ายในราวๆ 70 คนก็สมดุลลงตัวพอเหมาะพอดี  สามารถประกบตัวต่อตัวกับนักเรียนได้อย่างไม่ยากเย็น

ในทางกระบวนการของการทำงานนั้น  กลุ่มงานด้านวิชาการจะเปิดรับสมัครทั่วไป  ไม่จำเป็นต้องเป็นนิสิตในสังกัดคณะศึกษาศาสตร์เสมอไป   ใครชอบใครถนัดก็อาสาเข้ามาทำงานได้เลย   

ต่อเมื่อจัดกลุ่มสาระวิชาได้แล้วก็ให้ค้นคว้าข้อมูล  ออกแบบการจัดการเรียนรู้ร่วมกันในทีม  จากนั้นนำมาเสนอต่อที่ประชุมเพื่อให้ร่วมพิจารณา"กลั่นกรอง" และ “ตบแต่ง”  ให้เหมาะสมต่อการนำไปจัดการเรียนรู้ตามช่วงวัยของน้องๆ นักเรียน


เอาตามจริงเลยนะ – ผมชอบนะวิธีการเช่นนี้  เหมือนทำงานบนหลักคิด “มนุษยนิยม” ยังไงยังงั้น  เป็นกระบวนทัศน์ที่เชื่อว่าคนทุกคนมีความรู้มีความสามารถ  คนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ทั้งในระบบและนอกระบบ  สัมพันธ์กับความเชื่อที่ว่า “งานจะออกมาดีก็ต้องเริ่มจากงานที่ตนเองรักและถนัด”    

กระบวนการเช่นนี้เหมือนให้นิสิตได้พัฒนาตัวเองผ่านกระบวนการที่นิสิตต้องออกแบบเอง  แต่ทีมหลักของชมรมรุ่นสัมพันธ์ก็มิได้ละเลยเพิกเฉย  ตรงกันข้ามกลับมีทีมหลักอีกชุดหนึ่งที่มีประสบการณ์  หรือมีความรู้ในเรื่องการจัดการเรียนรู้   โดยเฝ้ามอง  รอตรวจทาน และรอแนะนำอยู่อย่างเงียบๆ 

เช่นเดียวกับอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผมชื่นชอบมากก็คือการมีส่วนร่วมของชุมชน   ซึ่งก็ตรงตามเป้าหมายที่นิสิตปรารถนาให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับโรงเรียนอย่างจริงจังมากขึ้น  กล่าวคือชาวบ้านจะสนับสนุนข้าวปลาอาหารอย่างต่อเนื่อง  ในแต่ละเช้าจะเอาพืชผักมาให้  หรือไม่ก็พานิสิตไปจับปลาตามห้วยหนองคลองบึงมาประกอบอาหาร  เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ   - สิ่งเหล่านี้  คือการสอนชีวิตแก่นิสิตไปในตัวด้วยเช่นกัน

ครั้นตกดึกมีกิจกรรมภาคกลางคืนชาวบ้านก็จะออกมาร่วมและเฝ้าคอยดูแลความสงบเรียบร้อยให้กับนิสิต – หรือหากต้องใช้พาหนะขนย้ายสิ่งของใดๆ  ชุมชนก็จะขันอาสาเป็นเจ้าภาพให้นิสิตอย่างไม่อิดออด  - สิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นภาพอันงดงามของการทำงานแบบมีส่วนร่วม  ซึ่งใช่ว่าจะค้นพบได้ในทุกค่ายที่นิสิตไปออกค่าย

และเชื่อเหลือเกินว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะช่วยถักทอสายสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับโรงเรียนให้กระชับแน่นมากกว่าที่ผ่านมา ...

หรือในอีกมิติหนึ่งที่ผมชอบมาก  นั่นก็คือการระดมทุนการศึกษาผ่าน “รำวงชาวบ้าน”  เป็นการเรียกเงินออกจากกระเป๋านิสิตและชาวบ้านเพื่อนำมาเป็นทุนการศึกษาส่งมอบให้กับน้องๆ นักเรียน   กิจกรรมเช่นนี้ได้สัมผัสทั้งการทำนุบำรุงศิลปะการแสดงในแบบวิถีไทยและการเสียสละทรัพย์ต่อผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ 

หรือกระทั่งกิจกรรมการทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าของวันสุดท้ายก็น่าสนใจ  เนื่องจากนิสิตชาวค่ายได้ทำ “ข้าวหม้อใหญ่”  ไปทำบุญตักบาสจตรที่วัด  เป็นการทำบุญร่วมกับพ่อฮักแม่ฮักและชาวบ้านคนอื่นๆ  มีการ “ฟังเทศน์” ร่วมกัน  รับประทานอาหารร่วมกัน  ทำให้ศาลาวัดกลายเป็นเสมือนลานโสเหล่-ลานวัฒนธรรมของการพบญาติไปโดยปริยาย  - เป็นอีกภาพที่สะท้อนให้เห็นวิถีวัฒนธรรมความเป็นไทยในวิถีพุทธที่ถูกบูรณาการอย่างลงตัวในค่ายอาสาพัฒนาตามแบบฉบับ “เรียนรู้คู่บริการ”

ในมุมของอุปสรรคปัญหา – เท่าที่พูดคุยกับนิสิตแกนนำก็ยังไม่พบปัญหาใหญ่ๆ อะไรมากมายนัก  ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะความร่วมมือของทีมงานและความร่วมมือของชุมชนกระมั่งที่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ต่างๆ ไปในตัวอย่างเนียนๆ  และเท่าที่พบก็สะท้อนประมาณว่า  ค่ายครั้งนี้ขาดแคลนกำลังคนที่เป็นนิสิตชาย  เนื่องจากส่วนใหญ่ที่ไปค่ายจะเป็นผู้หญิง  ครั้นต้องใช้พละกำลังเคลื่อนย้ายสิ่งของต่างๆ จึงสะดุดเป็นครั้งคราวไป

หรือในอีกประเด็นก็คือความล่าช้าของการจัดทำลาน BBL  เนื่องจากในการลงพื้นที่หารือ (พัฒนาโจทย์)  มีโอกาสได้พบปะกับผู้อำนวยการเป็นส่วนใหญ่  การกำหนดพื้นที่ หรือตำแหน่งยังไม่ได้ถูกถ่ายทอดไปยังคณะครู หรือคนอื่นๆ  ครั้นถึงเวลาต้องทำงานตรงกับช่วงที่ผู้บริหารไม่อยู่เนื่องจากติดราชการ  คนอื่นๆ ก็ลังเลที่จะชี้เป้า หรือยืนยันตำแหน่งของพื้นที่ที่ต้องจัดทำลาน BBL  ส่งผลให้เวลาของการทำงานคลาดเคลื่อนออกไป

แต่ทั้งปวงก็ผ่านไปด้วยดี  โดยปราศจากความขุ่นข้อง หรือปริร้าวใดๆ

 

โดยสรุปแล้ว  ผมให้กำลังใจและชื่นชมกับค่ายความรู้นี้พี่ให้น้อง ครั้งที่ 15  อย่างเต็มสูบ  วันเวลา 3 คืน 4 วันสามารถทำงานได้อย่างหลากรูปลักษณ์และหลากรูปรสเช่นนี้ถือว่า “เก่งมาก”  เป็นการทำงานในแบบ “ใจนำพาศรัทธานำทาง” อย่างน่ายกย่อง  สามารถบูรณาการกิจกรรมได้ครบทั้ง 4 กลไกอย่างเป็นรูปธรรม  

ที่สำคัญคือการเชื่อมโยงชุมชนเข้าสู่โรงเรียนได้เช่นนี้  ผมถือว่า “เก่งและไม่ธรรมดา” จริงๆ   


หมายเหตุ

ภาพ : ชมรมรุ่นสัมพันธ์
เขียน : 7 กรกฎาคม 2560

หมายเลขบันทึก: 630833เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2017 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2017 12:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบใจที่มีทั้งวิชาการและบริการสังคม

สองอย่างคู่กันได้อย่างเนียนๆ

ขอบคุณมากๆครับ

น้อง ๆ ยิ้มแย้มหน้าบานแน่นอน  อ.แผ่นดินชมขนาดนี้  มาชูแขนเห็นด้วย  

เพิ่มตรงที่ถ้าเวลามากกว่านี้  วงโสเหล่ร่วมกับแกนนำชุมชนและคณะครู และ/หรือเด็ก ๆ นักเรียน  ก่อนออกแบบกิจกรรม  จะเพิ่มการร่วมคิด  ร่วมตัดสินในมากขึ้นไหมคะ

ขอบพระคุณครับ ดร.ขจิต ฝอยทอง

ปกติชมรมรุ่นสัมพันธ์ ถ้าไม่นับโครงการอื่นๆ จะมีโครงการหลักใหญ่ๆ 2 โครงการทำในแต่ละปี  นั่นคือจุดประกายไฟใส่สีความฝันและความรู้นี้พี่ให้น้อง

จุดประกายไฟใส่สีความฝัน...เน้นแนะแนวการศึกษา  แต่ความรู้นี้พี่ให้น้องเน้นการสอน้สริมในสาระการเรียนรู้คู่กับการบริการสังคมคู่กันไป

ปีนี้หางบเองด้วยนะครับ...นี่คือสิ่งที่น่าชื่นชมมากๆ



สวัสดีครับ พี่หมอธิ

การพัฒนาโจทย์ การปรับความาดหวัง การออกแบบกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมในโครงการนี้คือประเด็นที่ต้องยกระดับขึ้นมาอีกสักนิด  และพอมีกิจกรรมในแบบ บวร  กิจกรรมเรียนรู้คู่บริการที่มีต่อชุมชนก็คงต้องออกแบบในเชิงลึกให้มมากขึ้น  คงไม่ใช่แค่การจัดการด้านภูมิทัศน์เท่านั้น

นี่คือปรากฏการณ์ที่นิสิตเริ่มเปิดใจเรียนรู้และทำงานแบบบูรณาการมากกว่าที่ผ่านมา  จนอดที่จะชมไม่ได้

ขอบพระคุณคำแนะนำดีๆ นะครับพี่หมอฯ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท