เก็บตกวิทยากร (39) : ต้นทุนบางอย่างจากเวทีสัมภาษณ์ทุนนักกิจกรรม


ผมมองว่านี้คือกระบวนการของการพัฒนาศักยภาพ หรือบุคลิกภาพของนิสิตไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ ฝึกการสื่อสาร ฝึกการตอบคำถาม ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฝึกความอดทนอดกลั้น ฝึกการฟัง การวิเคราะห์ ทดสอบ-ประเมินความรู้ทั้งวิชาชีพและวิชาชีวิต ฯลฯ รวมถึงการฝึกความพร้อมในวิถีของการ “สัมภาษณ์งาน” ไปในตัว

ในทุกปีการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จะมีกระบวนการจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นิสิตที่ทำคุณประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยและสังคมหลากหลายทุนหลากหลายประเภท หนึ่งในนั้นก็คือ “ทุนนักกิจกรรม” และ “ทุนผู้สร้างชื่อเสียงแก่มหาวิทยาลัยในด้านกีฬาและศิลปวัฒนธรรม”

ปีการศึกษา 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 80 ทุนๆ ละ 4,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 320,000 บาท

ทุนดังกล่าวนี้เป็นทุนให้เปล่ารายปี - ไม่มีข้อผูกมัดต่อเนื่องจนสำเร็จการศึกษา


ในทางกระบวนการนั้นกองกิจการนิสิตขับเคลื่อนร่วมกันในหลายภาคฝ่าย แต่โดยหลักๆ แล้วคือ งานทุนการศึกษา งานกิจกรรมนิสิต และงานกีฬา




ปีนี้เป็นอีกปีที่ผมมีโอกาสเข้าไปเป็นคณะกรรมการพิจารณาตัดเลือกนิสิต รวมถึงการมีส่วนในระยะต้นน้ำที่หมายถึงการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครขอรับทุน

กรณีดังกล่าว ผมไม่ได้ตัดสินใจเพียงคนเดียว แต่สร้างเวทีเล็กๆ ให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดกลุ่มงานกิจกรรมนิสิตได้หารือร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกลุ่มงานบริการและสวัสดิภาพนิสิต ซึ่งดูแลในเรื่องทุนเหล่านี้


เบื้องต้นผมได้ตั้งประเด็นให้ทบทวนถึงคุณสมบัติหรือกระทั่งกระบวนการของปีก่อนๆ ในทำนองว่ามีอะไรที่ต้องต่อยอด สืบสาน หรือมีประเด็นอะไรต้องปรับแก้กันบ้าง มิใช่เอะอะก็ทำงานในแบบเดิมๆ ประหนึ่งพายเรือวกวนอยู่แต่ในอ่าง

โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าการพิจารณานิสิตเข้ารับทุนการศึกษานั้นเป็นกระบวนการหนึ่งของการพัฒนานิสิตอย่างไม่ต้องสงสัย ขึ้นอยู่กับว่าคณะกรรมการจะเข้าใจและเห็นความสำคัญกับกระบวนการหรือไม่

หรือคิดแค่ว่า... เฟ้นหาผู้ที่มีความเหมาะสมที่สุดมารับทุนเหล่านี้ไปตามครรลอง –





ผมมองว่านี้คือกระบวนการของการพัฒนาศักยภาพ หรือบุคลิกภาพของนิสิตไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ ฝึกการสื่อสาร ฝึกการตอบคำถาม ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฝึกความอดทนอดกลั้น ฝึกการฟัง การวิเคราะห์ ทดสอบ-ประเมินความรู้ทั้งวิชาชีพและวิชาชีวิต ฯลฯ รวมถึงการฝึกความพร้อมในวิถีของการ “สัมภาษณ์งาน” ไปในตัว


และด้วยความที่ผมเชื่อเช่นนั้น ผมจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคำถามที่ว่า “หากได้ทุนไปแล้ว..จะเอาไปทำอะไร”




ครับ- ส่วนหนึ่งที่ผมไม่ถาม ก็เพราะทุนนี้บ่งชี้ชัดเจนว่าเน้นคุณสมบัติของการเป็น “นักกิจกรรม” มิใช่ทุนรายได้ที่เน้น “ขาดแคลนทุนทรัพย์” และอีกอย่างที่ไม่ถามก็เพราะเชื่อว่ายังไงเสียกรรมการท่านอื่นๆ ก็ถามในทำนองนี้อยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงมักถาม หรือชวนพูดคุยถึงความรู้ในเรื่องกิจกรรมนอกหลักสูตร ผสมผสานกับกิจกรรมในหลักสูตร หรือกระทั่งการชวนให้นิสิตได้สะท้อนความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อการจัดกิจกรรม ทั้งที่เป็นความสำเร็จและความล้มเหลวที่ได้สัมผัสมา โดยตั้งใจว่าจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ต่อยอดในการที่จะพัฒนาระบบและกลไกของงานที่มีอยู่


หรือแม้แต่การนำข้อมูลจากเวทีดังกล่าวนี้ไปผนึกเข้ากับการทำแผนพัฒนา-แผนยุทธศาสตร์การพัฒนานิสิตในปีการศึกษา 2560 ที่กำลังมาถึง ตลอดจนการทำแผนพัฒนาที่กำลังขยับอีกรอบในระยะ 4 ปี หรือมากกว่านั้น เช่นเดียวกับการนำประเด็นเหล่านี้เข้าสู่กรรมการพัฒนานิสิตในระดับมหาวิทยาลัย

เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียว ผมก็ตั้งใจให้ได้นกมากกว่าหนึ่งตัว หรือให้ดีก็ตั้งใจให้ได้นกเป็นฝูงๆ เลยนั่นแหละ

เช่นเดียวกับการมองว่านี่คืออีกหนึ่งเวที หรืออีกหนึ่งกระบวนการของการประเมินแผน - ประเมินการเรียนรู้ของนิสิตในอีกรูปแบบหนึ่ง




เอาเข้าจริงๆ พอได้ฟังเหล่าบรรดาผู้นำนิสิตสะท้อนข้อมูลออกมา ก็ยิ่งช่วยตอกย้ำให้ผมมองเห็นพัฒนาการบางอย่าง หรือกระทั่งข้อมูลบางอย่างที่พอจะยึดโยงมายังทิศทางของการต้องขับเคลื่อนใหม่อีกรอบ เช่น การรู้เท่าทันกระแสหลักของสังคมที่พลวัตอยู่เรื่อยๆ การขับเคลื่อนกิจกรรมให้สัมพันธ์กับทิศทางการเรียนรู้ในแบบบูรณาการวิชาชีพกับวิชาชีพ (ในหลักสูตร-นอกหลักสูตร) การลดขั้นตอนของเอกสาร การเสริมหนุนให้นิสิตมีทักษะสังเคราะห์ วิเคราะห์ การสร้างทักษะสื่อสารสาธารณะ การประชาสัมพันธ์หลากรูปรส การให้ค่าความสำคัญกับการสรุปผลการเรียนรู้ –ถอดบทเรียนอย่างจริงจังเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้และการแบ่งปัน ฯลฯ


ใช่ครับ – สิ่งเหล่านี้คือประเด็นใสๆ ที่พวกเขาสะท้อนมาในเวทีดังกล่าว ซึ่งผมมองว่าสำคัญมากๆ เป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ แม้จะเป็นประเด็นใสๆ ไม่ซับซ้อน หรือไม่มีอะไรเป็นวิชาการ ไม่มีอะไรฉายชัดว่าด้วยวิสัยทัศน์อะไรมากมายนัก แต่ทั้งปวงคือความจริงที่หมายถึง "เกิดขึ้นจริงและยังเป็นชะตากรรมที่ดำรงอยู่จริง"

หรือแม้แต่มองว่านี่คือ “ต้นทุน” อันดีงามในการใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนานิสิตออกไปสู่การรับใช้สังคมในวิถีการศึกษาเพื่อรับใช้สังคม เฉกเช่นอัตลักษ์นิสิต (ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ปรัชญามหาวิทยาลัย (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)



แต่ผมชอบมากๆ ก็คือการที่นิสิตสะท้อนว่าระบบการ “สอนงานสร้างทีม” ก็เป็นปัญหาหลัก ซึ่งปรากฏอยู่ในหลายลักษณะ เช่น พี่สอนน้องแบบงูๆ ปลาๆ สอนแบบผิดๆ ถูกๆ ทั้งทัศนคติ วิธีการ ไม่มีชุดความรู้ในองค์กรให้แต่ต้องสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่มีระบบสารสนเทศ หรือเวทีเสนอผลงานให้เห็นเป็นเชิงประจักษ์ร่วมกัน ฯลฯ


ครับ- เป็นประเด็นภายในองค์กรนิสิต ผมมองว่าหากนี่คือวิกฤต ข้อมูลเหล่านี้ก็คือโอกาส หรือต้นทุนที่จะร่วมกันออกแบบกันใหม่ ทั้งในระดับนิสิตด้วยกันเองและระบบใหญ่ที่มหาวิทยาลัยต้องเข้าไปหนุนเสริม ----


แต่ที่แน่ๆ ผมได้รับรู้และสัมผัสในสิ่งที่ผมรอคอยอยู่มิใช่ย่อย อย่างน้อยก็ได้เห็นวิถีของนักกิจกรรมที่ยังดุ่มเดินในครรลองของอาสาสมัครที่มีจิตอาสา หรือจิตสาธารณะที่พร้อมจะเรียนรู้พัฒนาตัวเองคู่กับพัฒนาสังคมบนบริบทของการเป็นนิสิตที่ยังไม่มีเงินเดือนเป็นค่าตอบแทน






ภาพ : อติรุจ อัคมูล

หมายเลขบันทึก: 630038เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2017 09:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2017 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ชอบการสัมภาษณ์แบบนี้ครับ

เราจะได้ผู้ที่ได้รับทุนที่ทำกิจกรรมและเป็นคนดี

ชื่นชมการทำงานครับ

ดีใจที่จิตอาสา จิตสาธารณะยังมีในน้อง ๆ ที่กุมอนาคตชาตินะคะ ทักษะอย่างอื่นเพียงใฝ่เรียนรู้ และมีครู / รุ่นพี่ที่จริงใจ ชี้แนะ หนุนเสริม ในทางที่เหมาะควร ผลลัพธ์ดีงามแน่นอนค่ะ

-สวัสดีครับอาจารยฺ์

-ตามมาอ่านบันทึกในฐานะที่เคยได้รับโอกาสด้านการศึกษาด้วยทุนในระดับต่างๆ ครับ

-ขอบคุณโอกาสต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตและขอบคุณที่ได้คว้าโอกาสนั้นเอาไว้ครับ

-ขอบคุณครับ..


ครับ ดร.ขจิต ฝอยทอง


เด็กๆ มักจะโสเหล่กันเสมอว่า ผมถามอะไรบ้าง

หรือแม้แต่ออกเกร็งๆ เมื่อเจอผมเป็นหนึ่งในกรรมการ 555


ครับ พี่หมอ ธิ


ฐานใจ คือคำตอบทั้งปวง เด็กๆ มีใจในการเรียนรู้คู่บริการ เรื่องการเชิดชูจึงเป็นระบบและกลไกที่ถูกสร้งมาหนุนเสริมมิให้ความดีสูญหาย หดหาย และมีเส้นทางที่ต่อเนื่องเรื่อยๆ ครับ


ครับ อ.เพชรน้ำหนึ่ง


ทุน หรือแม้แต่ประสบการณ์ที่ได้รับจากผู้คนรอบข้าง เสมือน "โอกาส" หรือ "เชื้อเพลิง" ที่ทำให้คนเรามีพลังในการที่จะขับเคลื่อนชีวิตและสังคม ครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท