"สาธารณภัย" กับคำว่า "ภัยพิบัติ" คืออะไร


"สาธารณภัย" กับคำว่า "ภัยพิบัติ" คืออะไร

18 มิถุนายน 2560
 

มีคำถามชวนเถียง ชวนคิดว่า คำว่า "สาธารณภัย" กับคำว่า "ภัยพิบัติ" แตกต่างกันอย่างไร ...

เพราะ นิยาม "สาธารณภัย" ตามกฎหมายเขียนไว้แล้ว แต่ มันแตกต่างกับข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ...

เช่น

“สาธารณภัย” หมายความว่า อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาดในมนุษย์ โรคระบาดสัตว์ โรคระบาดสัตว์น้ำ การระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนภัยอื่น ๆ อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ มีผู้ทำให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ และให้หมายความรวมถึงภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรมด้วย

(ตาม มาตรา 4 พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550)


 

ส่วนคำว่า "ภัยพิบัติ" ไม่มีกฎหมายใด (ระดับ พรบ.) รับรองไว้

ภัยพิบัติ (Disasters) คือ ภัยที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน โดยส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ภัยพิบัติแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้น มี 18 ประเภท (นิยาม ตามวิกิพีเดีย)

แต่ ปรากฏว่า "ในประเทศไทยได้กำหนดการเกิดภัยพิบัติ เป็นสาธารณภัย" ตาม พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ... อันนี้นิยาม ตรงท้าย..."ภัยอื่นๆ อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ในพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้แก่ แผ่นดินถล่ม อัคคีภัยไฟป่า แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์ ภัยหนาว ภัยฟ้าผ่า ภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย อาคารถล่ม ภัยจากการคมนาคมขนส่ง ฯลฯ"...


 

แล้วท่านทั้งหลาย.. ที่เป็นนักกฎหมาย คิดกันอย่างไร???... 

คือ นักกฎหมายตีความกันว่า "ภัยเหล่านี้คือ ภัยสาธารณะ หรือ สาธารณภัย" ... ซึ่งผลของภัย อาจไม่กระทบต่อสาธารณะ กล่าวคือ (1) กระทบเอกชน เป็นรายบุคคล ส่วนบุคคล (2) กระทบต่อสาธารณชน คนหมู่มาก ทุกคนได้รับผลกระทบหมดเกือบทุกคน เป็นวงกว้าง ...

มีคำถามข้อสงสัยว่า ในกรณีตัวอย่างที่ว่า ... " เกิดวาตภัยในคราวนั้น มีบ้านพังไปหลายหลัง จึงจะเป็น สาธารณภัย.... แต่หากเกิดวาตภัยพังหลังเดียวน่าคิด... เพราะ บ้านอื่นเขามั่นคง แต่ผมคนจน บ้านก็ตามสภาพ ปรากฏว่าเกิดวาตภัยมามีบ้านผมพังอยู่หลังเดียว มันก็ไม่ยุติธรรมนะ... เพราะผมคนจน บ้านก็ต้องจนตามสภาพ คนรวยบ้านมันดี มันเลยทนลมได้... ประมาณนี้"


 

จะทำอย่างไร คิดตีกรอบการช่วยเหลือผู้ประสบภัยกันหรือไม่ อย่างไร ช่วยเหลือได้เพียงใด???
 

พิจารณาจากนิยามความหมายฉบับต่าง ๆ เห็นว่า มีการลอกล้อกฎหมายกันไปมา โดย ไม่ดูว่า "สาธารณะ" (Public) มันก็มีบริบท มีความหมายของมันเองด้วยเช่นกัน คือมองกันคนละมุม แต่ควรมีหลัก “ความเป็นธรรม” (Fair, Justice) ด้วย แม้ศาลปกครองสูงสุดก็เคยพิจารณาวินิจฉัยว่า “ไฟไหม้บ้านหลังเดียวก็เป็นสาธารณภัย” ซึ่งจริงๆแล้วอาจไม่ใช่ เพราะกฎหมายบัญญัติชัดเจนว่า “สาธารณภัยนั้นต้องกระทบสาธารณชน” เมื่อไฟไหม้บ้านหลังเดียวอธิบายไม่ได้ว่ากระทบต่อสาธารณชนอย่างไร ในการวินิจฉัยตามลายลักษณ์อักษรถ้อยคำ เห็นว่า แม้จะเป็นกรณีไฟไหม้ ก็คือ “สาธารณภัย” ส่วนจะไหม้บ้านใครบ้าง หรือไหม้ทรัพย์สินใดบ้าง ไม่มีห้ามว่าต้องไหม้จำนวนกี่หลัง หรือเสียหายจำนวนมากน้อยเท่าใด เพราะมันเป็นเหตุภัยที่เกิดขึ้น “โดยสาธารณะ” ฉะนั้น กรณีไหม้บ้านหลังเดียว ฟ้าผ่าควายตายตัวเดียว ก็คือ “ภัยอันเกิดจากสาธารณะ” หรือ “สาธารณภัย” คือ มองมุมกลับว่า “สาธารณชน” ก็คือคนทั่วไป อาจไม่ต้องบอกว่ากี่คน ก็ได้นั่นเอง

แม้ไม่บอกจำนวนและมูลค่าความเสียหาย แต่กฎหมายได้กำหนดว่า ต้องกระทบสาธารณชน ตรงนี้คือสาระสำคัญ แม้จะบอกจำนวนไม่ได้ เช่น เป็นความบังเอิญ ที่คนเดินฝ่าฝนไปคนเดียวฟ้าผ่าตาย อันนี้ก็สาธารณภัย เพราะ หากฟ้าผ่าลงกลางกลุ่มคนที่กำลังฝ่าสายฝนหลายคน ก็เป็นสาธารณภัยเช่นกัน

ในกรณีตัวอย่างที่ผ่านมา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมบัญชีกลาง และ จังหวัดนครสวรรค์ ต่างเห็นพ้องว่า กรณีไฟไหม้บ้านหลังเดียวไม่ใช่สาธารณภัย เพราะ อธิบายไม่ได้ว่ามันกระทบต่อสาธารณชนอย่างไร แต่ในกรณีของศาลปกครองศาลอาจฟังข้อเท็จจริงผิดไปได้ ควรพิจารณามองเป็นกรณีไป เช่นบ้านหลังหลังที่ประสบภัยอยู่ห่างชุมชน 1.5 กม. มีหลังเดียวโดด ๆ และไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้าง ตามกฎหมายควบคุมอาคารด้วย ต้องมองเป็นกรณี เป็นอย่าง ๆ ไป เพราะบริบท สภาพแวดล้อมในแต่ละกรณีอาจแตกต่างกันไป ไม่เหมือนกัน


 

... เพราะที่นี่ คือ ประเทศไทย

แต่อย่างไรก็ตาม เคยมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ได้นิยาม คำว่า "ภัยพิบัติ" และ "อุบัติภัย" ไว้ แต่ก็เป็นเพียงระเบียบ ที่มีศักดิ์กฎหมายต่ำกว่า แม้จะตราโดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 11 (8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ก็ตาม ... มีระเบียบสำคัญที่ยังไม่ยกเลิก ได้แก่

(1) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2538

ข้อ 4 ในระเบียบนี้

“อุบัติภัย” หมายความว่า ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุเนื่องจากการจราจรทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ อุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน หรือุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในบ้านหรือในที่สาธารณะ

“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ราชการ ส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น องค์การของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ


 

(2) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ให้ยกเลิกระเบียบฯเดิม พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2550

“ภัยพิบัติ” หมายความว่า อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ธรณีพิบัติภัย ตลอดจนภัยอื่น ๆ อันมีมาเป็นสาธารณะ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ

“การบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ” หมายความว่า การดำเนินนโยบายการกำหนดแนวทางและหลักปฏิบัติในการบริหารการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ รวมทั้งการจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ภายในพื้นที่อย่างเป็นระบบ ตามที่คณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและลดความรุนแรงของภัย

มีคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “กภช.”

(3) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พ.ศ. 2554

(4) ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 (บังคับใช้ 19 กุมภาพันธ์ 2556) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 (5) แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

ข้อ 5 ในระเบียบนี้

“ภัยพิบัติ” หมายความว่า สาธารณภัยอันได้แก่ อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง ภาวะฝนแล้งฝนทิ้งช่วง ภัยจากลูกเห็บ ภัยอันเกิดจากไฟป่า ภัยที่เกิดจากโรคหรือการระบาดของแมลงหรือศัตรูพืชทุกชนิดอากาศหนาวจัดผิดปกติ ภัยสงคราม และภัยอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ก่อการร้าย กองกำลังจากนอกประเทศ ตลอดจนภัยอื่น ๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ หรือมีบุคคลหรือสัตว์ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน


 

ภัยทั้ง 18 ประเภท 

ประกอบไปด้วย (1) ความเสี่ยงภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ 12 ประเภท (2) ความเสี่ยงภัยพิบัติที่เกิดจากมนุษย์ 6 ประเภท


 

ความเสี่ยงภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ 12 ประเภท ได้แก่

1. อุกทกภัย ซึ่งเป็นภัยที่เกิดขึ้นทุกปีในประเทศ เพียงแต่อาจจะเกิดในบางส่วนเท่านั้น เช่น ภาคใต้ สำหรับปีที่ผ่านมาถือเป็นมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น ซึ่งก็หวังว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก

2. ภัยจากดินโคลนถล่ม เป็นภัยที่เกิดบ่อยเช่นกันถ้าดูจากสถิติที่ผ่านมา โดยจะเกิดขึ้นในบางภาคของไทยเท่านั้น ดังนั้น คนหรือบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่นั้นจะต้องระมัดระวังและเตรียมความพร้อมเป็นพิเศษ

3. ภัยจากพายุเขตร้อนหรือวาตภัย ซึ่งเกิดถี่เช่นกัน

4. ภัยจากคลื่นสึนามิ แม้ว่าจะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่เกิดแค่ครั้งเดียวก็สร้างความเสียหายมหาศาลอย่างที่ประเทศเคยเจอเมื่อปี 2547 หรือแม้แต่ประเทศญี่ปุ่นก็มีการเตรียมพร้อมไว้ระดับหนึ่ง เรียกว่ามีโอกาสเกิดต่ำ แต่ถ้าเกิดแล้วมีผลกระทบสูงมากๆ

5. ภัยจากแผ่นดินไหว อาคารถล่ม จริงๆ แล้วประเทศไทยมีสถิติแผ่นดินไหวอยู่เนืองๆ แต่เราแทบไม่ทราบผลกระทบ แต่จากที่กรมทรัพยากรทางธรณีเคยทำแผนที่ความเสี่ยงนั้น พบว่าประเทศไทยฝั่งที่ติดประเทศพม่ามีความเสี่ยงสูง ซึ่งนับวันเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น แผ่นดินไหวทางภาคเหนือแต่คนในกรุงเทพฯ ที่อยู่บนตึกสูงจะรู้สึกมึนหัว ดังนั้น ต่อไปการวางแผนสร้างตึก โรงงาน หรือที่อยู่อาศัย จะต้องคำนึงด้วยว่าก่อสร้างในเขตพื้นที่แผ่นดินไหว รวมถึงวัสดุในการก่อสร้างก็ต้องเหมาะสมด้วย

6. ภัยแล้ง ส่วนใหญ่เกิดบ่อยในภาคอีสาน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อการเพราะปลูก และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามมา

7. ภัยหนาว เริ่มมีความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากว่าสภาพอากาศโลกเปลี่ยน ช่วงหลังๆ จึงมีคนตาย มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพราะเพาะปลูกไม่ได้

8. อัคคีภัย ภัยจากไฟป่า

9. ภัยหมอกควัน

10. โรคระบาดในมนุษย์ เช่น เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เกิดโรคไข้หวัดนกขึ้นหลายรุ่นด้วยกัน และพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโรคภัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องระวังเพราะส่งผลกระทบต่อคนโดยตรง

11. ภัยจากโรคแมลง ศัตรูพืชระบาด

12. ภัยจากโรคระบาดในสัตว์น้ำ


 

ความเสี่ยงภัยพิบัติที่เกิดจากมนุษย์ 6 ประเภท ได้แก่

1. ภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย บริเวณที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมปัจจุบัน หากเกิดการรั่วไหลก็จะส่งผลกระทบต่อคนในโรงงานและชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ

2. ภัยจากเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นภัยใหม่ที่เกิดในคนไทย แม้ว่าจะจับต้องไม่ได้แต่สร้างผลกระทบเสียหายระดับสูง แม้ว่าท่านจะไม่ได้เป็นแฮกเกอร์เอง แต่ก็อาจถูกใช้เป็นฐานเพื่อไปแฮกคนอื่นได้ หรือถูกหลอกโอนเงิน หรือการถูกขโมยพาสเวิร์ดไป ซึ่งการขโมยนี้อาจไม่ได้เกิดจากคนที่เก่งเทคโนโลยี แต่เกิดจาดคนที่อัธยาศัยดีมาหลอกถามก็ได้

3. ภัยจากคมนาคมการขนส่ง เช่น อุบัติเหตุ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่เราจะจับจ้องดูตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ซึ่งเราก็คาดหวังให้มีจำนวนลดลงทุกปี

4. ภาวะฉุกเฉิน ภัยร้ายแรงต่อประเทศ ซึ่งอาจเกิดจากเหตุการณ์เล็กๆ เช่น แท่นจุดเจาะน้ำมันของอเมริกาที่อ่าวเม็กซิโกระเบิด กลายเป็นมหาภัยจากน้ำมันที่รั่วไหล ส่งผลต่อคุณภาพน้ำ เศรษฐกิจ เพราะไม่มีใครเข้าใกล้ที่นั่นเลย ร้านค้าบ้านเรือนต้องปิดตัว ไม่สามารถอยู่ได้ ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากมนุษย์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงเป็นปีๆ

5. การแผ่กระจายของกัมมันตภาพรังสี

6. การชุมนุม การประท้วง และการก่อจลาจล


+++

หมายเหตุมีการประกาศใช้บังคับระเบียบกระทรวงการคลังใหม่ ปี 2562 ดู

ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 120 ง วันที่ 13 พฤษภาคม 2562 หน้า 36-48, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/120/T_0036.PDF

ข้อ 3 ให้ยกเลิก

(1) ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556

(2) ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559

ข้อ 4 ระเบียบนี้ไม่ใช้บังคับกับการจ่ายเงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในการรักษาความมั่นคงของประเทศ พ.ศ.2562

ข้อ 5 ในระเบียบนี้

“ภัยพิบัติ” หมายความว่า สาธารณภัยอันได้แก่ อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง ภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง ภัยจากลูกเห็บ ภัยอันเกิดจากไฟป่า ภัยที่เกิดจากโรคหรือการระบาดของแมลง หรือศัตรูพืชทุกชนิด ภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ อากาศหนาวจัดผิดปกติ ภัยสงคราม และภัยอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ก่อการร้าย กองกำลังจากนอกประเทศ ตลอดจนภัยอื่น ๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีบุคคลหรือสัตว์ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชน หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน

“ฉุกเฉิน” หมายความว่า เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนหรือเป็นที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้และจำเป็นต้องรีบแก้ไขโดยฉับพลัน

“ผู้ประสบภัยพิบัติ” หมายความว่า ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน แต่ไม่รวมถึงส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ

“การให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตร” ให้หมายความรวมถึง การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการปศุสัตว์และด้านการประมงด้วย

“การให้ความช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์และฟื้นฟูผู้ประสบภัย” หมายความว่า การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในระยะสั้น เพื่อให้ผู้ประสบภัยพิบัตินั้นสามารถช่วยตนเองได้ เช่น การให้ความช่วยเหลือเด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนพิการซึ่งหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต พิการหรือบาดเจ็บจากภัยพิบัติ การขนย้ายครอบครัว และการส่งเสริมอาชีพระยะสั้นแก่ครอบครัวของผู้ประสบภัยพิบัติ ตลอดจนการให้คำปรึกษาแนะนำและการส่งต่อให้แก่หน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ อันเป็นการจำเป็นเพื่อให้การดำรงชีวิตเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

“การให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และการสาธารณสุข” หมายความว่า การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านกายและจิต ซึ่งประกอบด้วยการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพและการสาธารณสุขที่จำเป็น เพื่อให้การดำรงชีวิตเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

ข้อ 6 ให้ปลัดกระทรวงการคลังรักษาการตามระเบียบนี้และมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้

+++

อ้างอิง

(1) พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550, http://project-wre.eng.chula.ac.th/watercu_eng/sites/default/files/lecture%20intro%202112681%20materials/9%20Laws%20%28thai%29.pdf

& http://eaneo.nesdb.go.th/pdf/9.พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย%20พ.ศ.%202550.pdf

(2) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2538, http://law.longdo.com/law/492/sub35925/

(3) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2552, http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%c338/%c338-2g-2552-a0051.pdf

(4) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พ.ศ. 2554, https://docs.google.com/file/d/0B9qD14wS9__FNy1veVpySUNhSDg/edit

(5) ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556, https://dpmcr.files.wordpress.com/2013/04/e0b8a3e0b8b0e0b980e0b89ae0b8b5e0b8a2e0b89ae0b881e0b8a3e0b8b0e0b897e0b8a3e0b8a7e0b887e0b881e0b8b2e0b8a3e0b884e0b8a5e0b8b1e0b887e0b8a7.pdf

(6) ภัยพิบัติ, วิกิพีเดีย, https://th.wikipedia.org/wiki/ภัยพิบัติ

(7) 18 ภัยพิบัติ ความเสี่ยงที่คนไทยต้องเจอ และวิธีบริหารความเสี่ยง, ThaiPublica, 14 ตุลาคม 2555, http://thaipublica.org/2012/10/18-disaster-risk/

หมายเลขบันทึก: 629984เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2017 17:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2021 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

Thank you for this article.

It is time we have a good look, categorize and work out response procedures 'officially'.

I have a question on "...ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน ..." how far do we go in "indirect" or "side" effects of "disasters" and "disaters responses" (for examples in a forest fire, chemical fire retardants are used and they have side effects on people, wildlife, and ecology)?

To sr ;

Big Thanks, "indirect" or "side" effects of "disasters" and "disasters responses" are the result from "the public harm" just we call "Disasters" in a term of Laws definition.

But I'm not sure why the government or the authorized officer, just I mean a person who guild, direct and/or enforcement does not mention on the reality or fact by not strictly on the term of wordings in Laws. (Written Laws)

หนังสือส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0808.2/ 4673 ลงวันที่ 27 เมษายน 2560 เรื่อง หารือการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีไฟไหม้บ้าน 1 หลัง

หนังสือกรมบัญชีกลางที่ กค 0406.3/34678 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2558 เรื่อง หารือแนวทางปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 กรณีวาตภัยเสียหายหลังเดียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท