เปิดสัญญาลับดีแทค/สามารถ/ดีพีซีบทพิสูจน์เซ็งลี้ความถี่ทำรัฐเสียหาย


ขอให้ไต่สวนตรวจสอบการเรียกรับผลประโยชน์จากการโอนคลื่นความถี่ของดีแทคไปให้ดีพีซีและทรูมูฟ , กสทในฐานะคู่สัญญา เคยได้รับส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาหรือไม่ และกสท เคยรับรู้มีการทำสัญญาลักษณะเช่นนี้ และทำให้รัฐเสียหายหรือไม่
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 พฤศจิกายน 2549 09:45 น.
       เปิดบันทึกลับข้อตกลงผ่อนปรนสัญญาให้บริการระหว่างดีแทค สามารถ และดีพีซี  “Agreement to Unwind the Services Provider Agreement”  วันที่ 7 ม.ค. 40 พิสูจน์ชัด ดีแทคเซ็งลี้ความถี่ให้ดีพีซีพร้อมเรียกเงินตอบแทนทั้งหมด 5,400 ล้านบาท หลังจากดีแทคโอนความถี่ให้กสทวันที่ 19 พ.ย. 39 พร้อมทีเด็ดขู่ให้จ่ายเงินงวดแรก 1,300 ล้านบาท ไม่เช่นนั้นไม่ได้คลื่นความถี่ คนในวงการชี้รมว.ไอซีทีต้องทำความจริงให้เกิด 3 ประเด็น 1.กสทรับรู้ข้อตกลงหรือไม่ 2.เงินค่าความถี่ควรเป็นของกสทหรือไม่ และ 3.หากดีแทคได้รับค่าคลื่นความถี่จากดีพีซีอย่างถูกต้องตามกฏหมายกสทเคยได้รับส่วนแบ่งรายได้จากเงินดังกล่าวจากดีแทคหรือไม่
       
       แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมกล่าวว่าการที่เอไอเอสออกมายื่นหนังสือถึงนายสิทธิชัย โภไคยอุดม รมว.ไอซีที พร้อมทั้งส่งสำเนาถึงปลัดกระทรวงไอซี ประธานบอร์ดบริษัท กสท โทรคมนาคม กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท คณะกรรมการกทช.และเลขาธิการ กทช.เพื่อขอให้ไต่สวนตรวจสอบการเรียกรับผลประโยชน์จากการโอนคลื่นความถี่ของดีแทคไปให้ดีพีซีและทรูมูฟนั้นเป็นการให้ข้อมูลอีกด้านที่เชื่อว่าการโอนความถี่ดังกล่าวมีการเรียกร้องเงินทองตอบแทน เป็นสิ่งที่มิชอบและผลประโยชน์ตกเข้าสู่ใครบางคนมากกว่าเข้าสู่รัฐ
       
       ข้อมูลที่เปิดเผยจากฝั่งดีแทคระบุว่าดีแทคได้คืนคลื่นความถี่ให้กสท และกสทได้นำไปให้โอเปอเรเตอร์ 2 รายคือ WCS (ทรูมูฟ ในปัจจุบัน) และดีพีซีประกอบกิจการ ต่อมาดีพีซี ขอทำสัญญากับดีแทคเพื่อขอใช้เครือข่ายทั่วประเทศในการให้บริการ โดยดีพีซีจะจ่ายค่าใช้เครือข่ายทั้งในรูปแบบอัตราประจำและตามการใช้งานจริงเป็นการตอบแทน แต่หลังจากที่เอไอเอสได้ซื้อดีพีซีไปได้หยุดจ่ายค่าใช้โครงข่ายร่วมของดีแทค จนทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ
       
       แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือดีแทคได้คลื่นความถี่ย่าน 800 MHz ระหว่างช่วงความถี่ 835-845 กับ 880-890 MHz และ 891.5-894 กับ 856.5-849 MHz จำนวนคลื่นความถี่รวมทั้งสิ้น 12.5 MHz คูณ 2 สำหรับให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าร์ Analogue AMPS 800 และ คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ระหว่างช่วงความถี่ 1710-1785 กับ 1805-1880 MHz จำนวนคลื่นความถี่รวมทั้งสิ้น 75 MHz คูณ 2 สำหรับให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าร์ Digital GSM 1800
       
       ซึ่งดีแทคโอนคลื่นกับกสทจริง ตามสัญญาวันที่ 19 มิ.ย.39 โดยดีแทคและกสท ได้ทำสัญญาโอนสิทธิและหน้าที่บางส่วนให้ WCS โดยดีแทคส่งมอบคลื่นความถี่ในช่วง 1710-1722.5 MHz กับ 1805-1817.5 MHz จำนวน 12.5 MHz คูณ 2ให้กสท เพื่อกสทจะนำไปให้ WCS ให้บริการ ซึ่งสัญญาดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า WCS ในฐานะผู้รับโอนสิทธิจะต้องชำระค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ใดๆให้ดีแทคในฐานะผู้โอน หลังจากนั้นวันที่ 20 มิ.ย.39 กสทและ WCS ได้ทำสัญญาให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าร์ ซึ่ง WCS มีหน้าที่จ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กสท ในลักษณะเช่นเดียวกับดีแทค
       
       ดีแทคยังได้โอนคลื่นให้กสทเพื่อให้นำไปให้ดีพีซีอีกรายจริง ตามสัญญาวันที่ 19 พ.ย.39 ระหว่างดีแทคและกสท โดยดีแทคได้ส่งมอบคลื่นความถี่ในช่วง 1748-1760.5MHz กับ 1843-1855.5 MHz จำนวน 12.5 MHz คูณ 2 ให้กสท เพื่อนำไปให้ดีพีซีให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าร์ ซึ่งไม่มีการระบุเรื่องการจ่ายผลตอบแทนระหว่างดีแทคในฐานะผู้โอนกับดีพีซีในฐานะผู้รับโอนเช่นเดียวกับ WCS ในขณะที่วันเดียวกัน 19 พ.ย.39 ดีพีซีได้ทำสัญญากับกสท ให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าร์ โดยดีพีซีต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กสทเช่นเดียวกับสัญญาดีแทคและ WCS
       
       ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ข้อตกลงผ่อนปรนสัญญาให้บริการระหว่างดีแทค สามารถ (เป็นเจ้าของดีพีซีในขณะนั้นก่อนที่จะเปลี่ยนมือมาเป็นของเอไอเอส) และดีพีซี เป็นสัญญาภาษาอังกฤษชื่อ Agreement to Unwind the Services Provider Agreement ลงวันที่ 7 ม.ค. 40 (หลังจากดีแทคโอนคลื่นให้กสทแล้ว) ดีแทคเรียกผลประโยชน์เป็นเงินรวม 5,400 ล้านบาท เป็นค่าตอบแทนการโอนสิทธิและหน้าที่ของดีแทค ในการดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าร์ โดยสัญญามีการระบุชัดเจนว่าดีแทค รับจะดำเนินการส่งหนังสือแจ้งถึงการมีผลบังคับไปยังกสท ทันทีที่ดีพีซีจ่ายเงินงวดแรกให้ (1,300 ล้านบาท) ดีแทคยังรับรองกับดีพีซีว่าจะดำเนินการทุกประการที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจได้ว่าคลื่นความถี่ที่จะโอนเพื่อให้ดีพีซีดำเนินการ จะไม่ถูกใช้โดยบุคคลที่ 3 และปลอดจากการรบกวนและแทรกแซงใดๆ
       
       เห็นได้ชัดว่าผลประโยชน์ดังกล่าว เป็นเรื่องของการโอนสิทธิและหน้าที่ตามคลื่นความถี่ที่ได้รับมา ส่วนเรื่องผลตอบแทนการที่ดีแทคตกลงให้ดีพีซีมีสิทธิใช้อุปกรณ์ต่างๆรวมถึงการให้มีการใช้เครือข่ายร่วมตามเงื่อนไขของสัญญา เป็นเพียงส่วนย่อยเพิ่มเติมเท่านั้น เพราะยังมีเงื่อนไขและค่าใช้อุปกรณ์ตลอดจนค่าใช้โครงข่ายอื่นๆเพิ่มเติม ซึ่งต่อมาดีพีซีไม่สามารถชำระผลประโยชน์ส่วนที่เหลือได้ จึงเกิดการแก้ไขข้อตกลงผ่อนปรนสัญญาให้บริการเพิ่มเติมใหม่ ในวันที่ 9 ต.ค.41 ปรับผลประโยชน์รวมเป็น 7,100 ล้านบาท
       
       “ตอนนั้นหากสามารถไม่ยอมจ่ายเงิน 1,300 ล้านบาท ดีแทคก็จะไม่ส่งหนังสือถึงกสท ให้การโอนคลื่นมีผลบังคับใช้ ดีพีซีก็ไม่สามารถให้บริการได้”
       
       แหล่งข่าวกล่าวว่าข้อตกลงผ่อนปรนสัญญาให้บริการดังกล่าว เป็นการทำสัญญาโดยที่กสทไม่มีโอกาสรับรู้ ถึงเม็ดเงินที่ควรจะได้รับถึง 7,100 ล้านบาทในการโอนคลื่นความถี่ เพราะธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์มือถือ มีเพียงสัญญาให้บริการของกสทไม่ได้ แต่จะต้องได้สิทธิใช้ความถี่ด้วย ซึ่งหลังจากที่ดีพีซีตกมาเป็นของเอไอเอส มีการคำนวณว่าดีพีซีจ่ายเงินให้ดีแทคไปแล้ว 5,500 ล้านบาท และมียอดคงค้างอีก 4,700 ล้านบาทรวมดอกเบี้ยและภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเอไอเอสเมื่อดูสัญญาโดยละเอียดจึงปฏิเสธที่จะจ่ายค่านักเลงในส่วนนี้ เนื่องจากไม่ใช่เรื่องของการโรมมิ่งที่มีการตกลงกันก่อนหน้านี้ แต่เป็นเรื่องการอ้างสิทธิในความถี่มาหาประโยชน์ส่วนตัว
       
       “ประเด็นที่ต้องทำให้ชัดเจนคือเงินที่ดีพีซีจ่ายไป 5,500 ล้านบาทและค้างอยู่ในกระบวนการอนุญาโตฯอีก 4,700 ล้านบาท เป็นเงินที่กสทควรได้รับเพราะเป็นเจ้าของความถี่โดยตรงหลังดีแทคโอนคลื่นความถี่มาให้ หรือ ถ้าไม่ใช่ หากเป็นเงินที่ดีแทคควรได้รับ แต่กสทในฐานะคู่สัญญา เคยได้รับส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาหรือไม่ และกสท เคยรับรู้มีการทำสัญญาลักษณะเช่นนี้ และทำให้รัฐเสียหายหรือไม่”
หมายเลขบันทึก: 62976เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2006 02:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คำถามที่อยากรู้ครับ

-ในสัญญาหรือข้อกำหนดสัมปทานคลื่นความถี่ มีระบุหรือไม่ว่า ถ้าดีแทคไม่ใช้คลื่นความถี่ที่ได้รับสัมปทาน  ก็สามารถคืนให้ กสท. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าปรับแต่ประการใด ใช่ไหมครับ และในขณะเดียวกัน กสท.เมื่อได้รับคลื่นความถี่คืนแล้ว สามารถนำไปให้บริษัทเอกชนอื่นรับสัมปทานต่อไปซึ่งถือเป็นเป็นการโอนหรือ ผมคิดว่า น่าจะเป็นการให้สัมปทาน เพราะ ดีแทคคืนให้ กสท. ก่อน  ไม่ใช่เป็นการนำไปให้บริษัทอื่นโดยตรง  สำหรับกรณีที่เป็นการโอนสิทธิกัน ผมเข้าใจว่า อาจจะมีวิธีการและเงื่อนไขการดำเนินการที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจระบุในสัญญา หรือข้อกฎหมาย หรือข้อกำหนดของ กสท. 

คำถามลำดับ 2 ที่ผมสงสัย

เรื่องนี้ถ้าดูตาม พ.ศ แล้ว เกิดขึ้นเมื่อ 8-9ปี ที่แล้ว ทำไมเอไอเอส พึ่งจะแย้ง และ กสท ซึ่งเป็นผู้ดูแลคลื่นความถี่ ควรรู้ข้อกำหนด หรือข้อกฎหมายของตนเป็นอย่างดี ว่า เงินที่มีการจ่ายตอบแทนดังกล่าว ใครควรได้รับประโยชน์ไป ใช่ไหมครับ ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า สัญญาหรือข้อกฎหมาย จะเป็นตัวผูกมัดให้ต้องกระทำตามที่ตกลง

ตอบคำถาม

1. ถ้าจะให้ตอบแบบชี้ชัดผมคงตอบไม่ได้ครับ ต้องขึ้นกับศาลจะตีความว่าอย่างไร

 2. ผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของธุรกิจของฝ่ายที่อยู่ในสถานที่ได้เปรียบอยู่ครับ เหมือนกับฟุตบอลทีมที่ชนะจะไม่มีทาง ขอให้ตรวจสอบกรรมการหรือให้แข่งใหม่แน่นอนครับ

 

ลองเปิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาดูซิคะ

ลองนึกซิคะว่า กฎหมายอะไรเกี่ยวข้อง ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท