ชีวิตที่พอเพียง : 2935b. ไปเถียงท่านพุทธทาส ในการประชุม retreat ของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ


วิธีการทำให้คนเข้าถึงธรรมะว่าต้องใช้วิธีที่แยบยล ไม่ใช่สอนตรงๆ ใช้หลายวิธีประกอบกัน และต้องมีเป้าหมาย และหวังผลที่ทุกคน ไม่ใช่หวังผลที่เพียงบางคน

ชีวิตที่พอเพียง : 2935b. ไปเถียงท่านพุทธทาส ในการประชุม retreat ของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ

วันที่ ๑๐ - ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๐ ผมไปอยุธยา ไปร่วมการประชุม retreat เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ

มีคนกล่าวว่า ธรรมะตามแนวของท่านพุทธทาสมีธรรมชาติเข้าถึงคนเพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้น และบอกว่าท่านพุทธทาสเองบอกว่า เทศน์ให้คน ๑๐๐ คนฟัง ได้ผล ๕ คนก็พอใจแล้ว นี่คือประเด็น ที่ผมยกมาเถียง

นี่คือประเด็นเรื่องวิธีทำให้คนเข้าถึงธรรมะ

ผมเชื่อว่า ต้องทำตั้งแต่ยังเด็ก โดยให้เด็กมีธรรมะแบบไม่รู้ตัว ตัวอย่างของวิธีการมีให้ดูที่ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา (ลปม.) และโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ โรงเรียน ที่หันมาใช้วิธีจัดการเรียนรู้แบบ ลปม. และโรงเรียนแนวใหม่อีกจำนวนหนึ่ง เช่นรุ่งอรุณ, เพลินพัฒนา, สัตยาไส

นักเรียนของโรงเรียนเหล่านี้ เรียนรู้ฝึกฝน ๔ ด้านไปพร้อมๆ กัน หรือบูรณาการกัน คือด้านวิชาการ, ด้านร่างกาย, ด้านนิสัย, และด้านคุณธรรมหรือศีลธรรม ตัวอย่างคือที่โรงเรียน ลปม. มีวิชาจิตศึกษา ที่นักเรียนทุกชั้นเรียนหรือฝึกทุกวัน

หลักธรรมที่ท่านพุทธทาสตีความและนำมาสอนหรือเผยแผ่ มีความลึกซึ้ง และมีคุณค่าต่อชีวิตแน่นอน แต่หากเอามาสอนเด็ก เด็กรับไม่ได้ แต่วิธีจิตศึกษาสร้างปัญญาภายในให้งอกงาม และบรรลุธรรมะแนวของท่าน พุทธทาสได้โดยไม่ต้องเอ่ยถ้อยคำของท่าน นี่คือความเชื่อของผม ซึ่งถูกหรือผิดก็ไม่ทราบ

ผมจึงเชื่อว่า จะให้คนไทยเป็นคนมีธรรมะ ต้องจัดระบบการเรียนรู้ของเด็กเสียใหม่ ให้เรียนหลายด้าน อย่างบูรณาการกัน เรียนธรรมะไปพร้อมๆ กันกับเรียนวิชา, ฝึกนิสัย, และพัฒนาด้านร่างกาย ซึ่งทั้งหมดนั้น เน้นเรียนจากการลงมือทำ ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด แล้วเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะเป็นคนที่มีพื้นฐานศีลธรรมดี อย่างน้อยก็ดีกว่าคนไทยในปัจจุบัน

ผมไม้มีปัญญาเถียงหรื่องหลักธรรม แต่ขอเถียงเรื่องวิธีการทำให้คนเข้าถึงธรรมะว่าต้องใช้วิธีที่แยบยล ไม่ใช่สอนตรงๆ ใช้หลายวิธีประกอบกัน และต้องมีเป้าหมาย และหวังผลที่ทุกคน ไม่ใช่หวังผลที่เพียงบางคน

วิจารณ์ พานิช

๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๐

ห้อง ๖๐๔, โรงแรมแคนทารี, พระนครศรีอยุธยา

หมายเลขบันทึก: 629612เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2017 05:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2017 05:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท