การหายใจเป็น(2) โดย หลวงปู่พุทธะอิสระ


แต่จริงๆ แล้วพลังไม่ใช่เกิดจากร่างกายโดยตรง มันเป็นผลทางอ้อมทั้งนั้น ไม่ว่าพลังจะเกิดจากอาหาร เกิดจากการผ่อนคลาย เกิดจากการพักผ่อน ไม่ใช่โดยตรง แต่พลังที่สุดยอดนั้นมันเกิดจากหัวใจที่รวมเป็นหนึ่งกับกายและพักผ่อนได้อย่างสนิท เวลาเราง่วง เพลีย เราก็อยากจะพัก ใจมันก็อยากจะพัก สมองก็อยากจะพัก แต่เราไม่เคยพักใจพักสมอง เพราะแม้แต่ตอนนอนก็ยังฝัน ใครจะปฏิเสธว่าไม่จริง
       
       
เพราะฉะนั้นพลังที่ควรจะได้ ไม่ใช่ได้จากอาหารอย่างเดียว ไม่ใช่ได้จากการนอนหลับพักผ่อนอย่างเดียว ไม่ใช่ได้จากการที่ต้องไปดูหนังดูละคร พักผ่อนเล่นดนตรีอย่างเดียว แต่มันต้องได้มาจากความสงบและสันติของจิต ซึ่งไม่มีอะไรมากระทบรบกวน เรียกว่า "สมาธิ" นั่นแหละเป็นพลัง เราไม่ค่อยฝึกปรือที่จะสร้างพลัง มีแต่ฝึกปรือที่จะใช้พลัง และเพียรพยายามที่จะเค้นเอาพลัง ทั้งๆที่บางทีก็ไม่มีพลัง
       
       
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงสอนให้เราพยายามเข้าถึงจุดกำเนิดแห่งพลัง และในจุดกำเนิดแห่งพลังอันนั้นก็คือ "ศิลปะของการหายใจ"
       
       
เรารู้กันมาแล้วว่า คนที่หายใจสั้น สัตว์ที่หายใจสั้น จังหวะสั้น เป็นคนที่ไร้พลัง เป็นสัตว์ที่ชีวิตสั้น เป็นผู้มีอายุสั้น คนที่หายใจยาว สัตว์ที่หายใจยาว มีจังหวะเข้ายาวออกยาว เป็นคนมากพลัง มีชีวิตอันยาวไกล
       
       
เมื่อรู้อย่างนี้ เราก็ต้องกลับมาสร้างพลังให้เกิดขึ้นภายใน เรียกภาษาโบราณของจีนว่า กำลังภายในพลังปราณ เมื่อเรามีกำลังภายในเกิดขึ้น มันจะทำให้เกิดผลสะท้อนออกมาถึงพลังภายนอกอย่างกล้าแข็ง
       
       
ลูกศิษย์ของหลวงปู่คนหนึ่ง เรียนลัทธิเต๋า ตอนหลังมาศึกษาวิชาชี่กง แต่ก็ยังไม่เข้าถึงขุมพลังแห่งร่างกาย ต่อมาหลวงปู่สอนให้เค้าเดินลม จนสามารถที่จะตบกำแพงตึกห้องที่หนึ่ง สะเทือนไปถึงกำแพงตึกห้องที่สิบ คนอยู่ห้องที่สิบได้ยินเสียงตบด้วยฝ่ามือ กำแพงไม่ได้ทะลุหรอกนะ แต่มันกระเทือนไปถึงตรงนั้นได้ ซึ่งคนธรรมดาตบแล้วกระเทือนไม่ได้ เอาฆ้อนตียังกระเทือนไม่ได้ กระแทกจนกำแพงทะลุก็ยังกระเทือนไม่ถึงห้องที่สิบ
       
       
พลังชนิดนี้ มันเป็นพลังแฝงที่อยู่ภายใน เรียกว่า "พลังพันธาริณี" เป็นภาษาสันสกฤตโบราณ คนโบราณในอินเดียรู้จักจะฝึกปรือพลังชนิดนี้เอามาใช้เมื่อยามจำเป็น เช่น นักมวยปล้ำ พวกที่ต้องจับช้าง สู้กับเสือ กับกระทิง พวกนี้จะฝึกปรือพันธาริณี เพื่อที่จะสยบช้าง สยบสิงโต สยบเสือ ด้วยมือเปล่า ไม่ใช่ด้วยอาวุธ

พลังพันธาริณี ก็คือ ศิลปะการหายใจ มีการฝึกอย่างพิสดาร คือ ไม่นั่ง ไม่นอน ได้แต่ยืนดูดาว มองฟ้า มองดิน และก็พยายามจะทำการหายใจสั้น หายใจยาวอยู่ตลอด เอาพระจันทร์เข้ามาโคจรไว้ในกาย ดึงเอาดวงอาทิตย์เข้ามาไว้ในลูกตา จนตาบอดไปก็มี นี่คือ วิธีฝึกของการเข้าถึงพลังพันธาริณี แต่เราไม่ต้องไปเรียนหรอก เพราะเรียนแล้วก็มิได้ทำให้พ้นทุกข์ ไม่มีครูคอยแนะคอยสอนก็กลายเป็นคนบ้าบอไปก็มี
       
       
เอ้า...ทีนี้ เราจะทำลมหายใจเข้าปกติยาว ออกปกติยาว โดยไม่เครียดและไม่เหนื่อยได้อย่างไร วิธีก็คือ
       
       
เริ่มสูดลมหายใจเข้าลึกๆ
       ...
แล้วก็ผ่อนคลายออกยาวๆ...
       ...
สูดเข้าลึกๆ...
       ...
แล้วก็ผ่อนออกยาวๆ...
       ...
ทำอย่างนี้ ...อย่างเนิบนาบ... อย่างเชื่องช้า ...อย่างมีศิลปะ ผ่อนคลาย เบาสบาย
       
แล้วก็รอบรู้ในระบบการเดินลม
       
       
ต้องหายใจปกตินะ ไม่ใช่ถี่เป็นหมาหอบแดด หายใจให้เป็นปกติ แล้วจับเวลาดู ต่อมาก็พยายามทำลมหายใจให้ยาวกว่าปกติบ้าง เข้าและออกปกติบ้าง สลับสับเปลี่ยนกันไป เพื่อไม่ให้เหนื่อยและเครียด คอยจับเวลาไว้ ดูว่าเราเหนื่อยมั้ย ถ้าเหนื่อยก็พัก ถ้าไม่เหนื่อยก็ทำต่อไป
       
       
ในขณะที่คุมลมหายใจให้เข้ายาวออกยาวนั้น เราจะต้องเอาความรู้สึกทั้งปวงจับที่ลมหายใจ ไม่มีอารมณ์อื่นใดปรากฏเลย แล้วเมื่อใดที่มีอารมณ์ปรากฏ เราจะลืมหายใจ ก็แสดงว่า ระบบการหายใจเราจะล่มสลาย หรือไม่ได้ผลทันที เมื่อมันไม่ได้ผลก็แสดงว่า เราทำไม่สำเร็จ
       
       
ถ้าเราทำสำเร็จ เราจะรู้สึกว่า สุขภาพเรา ความเหนื่อยในการทำงาน ความเครียด ความเมื่อย ความล้า ความเพลีย จะผ่อนคลายได้ด้วยระบบลมหายใจ
       
       
เวลาที่หลวงปู่ทำงานเหนื่อยๆอ่อนระโหยโรยแรง ขอเพียงเหนื่อยนักพักหน่อยก็หาย ร้อนนักอาบน้ำก็สบาย หิวนักกินข้าวก็หาย กระหายนักดื่มน้ำก็คลาย แต่สำหรับสามัญชน หิวก็กิน แต่บางทีกินก็ไม่หาย เหนื่อยพักก็ยังไม่คลาย อาบน้ำก็ยังไม่สบาย เพราะมันไม่รู้จักดื่มด่ำต่อธรรมชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นในการสัมผัสนั้นๆ เช่น อาบน้ำ กิน นั่งพัก มันดื่มด่ำไม่ได้ มันรับสัมผัสอย่างละเอียดอ่อนไม่ได้ ได้ครึ่งทิ้งครึ่ง คุณค่าของอาหาร คุณภาพของความเย็นฉ่ำแห่งน้ำ ความโปร่งเบาสบายแห่งลม ความอบอุ่น หวั่นไหวของไฟ ความมั่นคง มั่งคั่งแห่งดิน คุณค่าของเวลาที่สูญเสีย เราอาจจักได้ประโยชน์ไม่เท่าเสีย แต่พวกที่รู้จักวิธีการฝึกปรือลมหายใจ จะได้อย่างคุ้มค่า คุ้มราคา อย่างหลวงปู่นี่ถ้าเหนื่อยก็จะนั่งพัก หรือจะนอน แต่เป็นการนอนนิดหน่อย ไม่ใช่นอนนาน แค่หลับตาให้สายตามันพัก แล้วก็ผ่อนคลายลมหายใจ เราจะตื่นมาอย่างกระปรี้กระเปร่า สดชื่น เหมือนคนที่นอนมาแล้ว ๒ ชั่วโมงอย่างสบาย
       
       
ถ้าถามว่าจำเป็นต้องมีท่าทางไหม ตอบว่าไม่จำเป็น กิริยาอย่างไรทำได้เสมอ นั่งอย่างไรก็ได้ เพราะนั่งก็หายใจ นอนก็หายใจ เดินก็ต้องหายใจ เพียงแค่เราคุมมันให้เข้ายาวและออกยาวเท่านั้นเอง เราก็สามารถจะผ่อนคลายอารมณ์ได้ แล้วมันจะทำให้เรามี ความคิด มีสติปัญญา สมาธิ ที่สดชื่น อยู่ตลอดเวลา เป็นคนที่ควรค่าต่อการอนุรักษ์ เพราะมีค่าต่อการกระทำและความคิด
       
       
ดังนั้น ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง และนอน ถ้าเรามีสติในการกำกับลมหายใจให้มันเป็นขั้น เป็นตอน และผ่อนคลายพอดีๆ มันจะมีพลังคงที่ ในขณะที่เราทำงาน มันจะเป็นความผาสุก ความเพลิดเพลิน และความสนุก ถ้าเรารู้จักระบายลมหายใจเป็น สูดลมหายใจเป็น และวิธีแก้ปัญหาที่เกิดจากการงานและหน้าที่ ไม่มีอะไรดีเท่ากับการเดินลมหายใจ
       
       
เพราะฉะนั้น จงหาเวลาว่างอย่างน้อยสัก ๕ นาที ต่อการทำงานที่แสนยุ่ง ออกมานอกสถานที่ แล้วสูดลมหายใจเข้าช้าๆ ออกช้าๆ ๔-๕ ครั้ง หรือ ๑๐-๒๐ ครั้ง ในขณะที่เราเลิกจากการผ่อนคลายลมหายใจ เราจะมีความกระชุ่มกระชวย รู้สึกกระฉับกระเฉง สดชื่น กระปรี้กระเปร่า อยากจะทำงานอย่างขยันและชาญฉลาด จะมีแต่ความสุขสมบูรณ์ต่อการมีชีวิต ในขณะเดียวกันเมื่อเราเผชิญต่อปัญหาบีบคั้นทางอารมณ์ ทางเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เราสามารถเอาชนะมันได้ทุกขั้นตอน อย่างเป็นผู้ฉลาด สะอาด เราจะเป็นคนอารมณ์ดี หัวเราะได้ง่าย และผ่อนคลายทุกที่อย่างสบายๆ และก็ไม่ตะกาย ไม่ทะยานอยากอะไร ชีวิตเราจะมั่งคั่ง มั่งมีต่อความสุขเฉพาะตัวอันเสรี
       
       
ศิลปะการเดินลมหายใจ ทำให้สมองเรากระฉับกระเฉง ว่องไว สดชื่น สั่งงานอวัยวะทั้ง ๓๒ ได้อย่างมีคุณภาพและมีพลัง จะสังเกตว่าหลวงปู่ไม่เคยมึน ไม่เคยงงต่อปัญหา ไม่เคยล่าช้าต่อการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของใคร มาอย่างไร ถามเรื่องอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ใครเป็นคนถาม ไม่เคยมีปัญหาอะไรที่ตอบไม่ได้ ถ้าอยากจะตอบ แต่ถ้าไม่อยากตอบ ต่อให้เทวดาถามก็ไม่ตอบ
       
       
เพราะฉะนั้นศิลปะการหายใจและผ่อนคลาย มันทำให้เรามีพลังต่อการที่จะโต้ตอบ มีอำนาจ มีตบะ มีสมาธิที่อยู่เฉพาะหน้า ที่เราจะเผชิญต่อปัญหานั้นๆ แล้วชีวิตเราก็จะมีค่า มีราคา มีสาระ ที่ทำให้คนเรียกถามและเคารพบูชา
       
       (
หมายเหตุ...เบญจลักษณ์ ห้วยเรไร : ถอดความจากเทปเรื่อง "การหายใจเป็น")
คำสำคัญ (Tags): #ธรรมะ
หมายเลขบันทึก: 62873เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2006 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท