ร่างรายงาน[ผู้ต้องหา]02-บทที่1


เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาเปรียบเทียบการใช้สิทธิของบุคคล ที่กระทำไปด้วยความเข้าใจว่าตนมีสิทธินั้นอยู่อย่างบริบูรณ์ แต่ในความเป็นจริงสิทธินั้นอาจถูกจำกัดด้วยสิทธิของบุคคลอื่นอยู่

บทที่ 1

บทนำ

1.1 หลักการและเหตุผล

ในโลกแห่งการติดต่อสื่อสารเช่นในปัจจุบันนี้  เราสามารถติดตามข่าวสารข้อมูลได้ในแทบทุกเรื่องราวที่เกิดขั้นรอบๆตัวเรา  นอกจากนั้นข่าวสารที่เราสนใจเราก็ยังสามารถเลือกรับชมรับฟังได้หลากหลายรูปแบบ    อีกทั้งการนำเสนอข่าวสารของฝ่ายสื่อเองก็พยายามพัฒนาคิดหารูปแบบและวิธีการที่จะทำให้ผู้รับชมรับฟังติดตามการนำเสนอของตนและมีความนิยมชมชอบการนำเสนอ  ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ตอบแทนทางธุรกิจที่สื่อจะได้รับนั่นเอง
การที่สื่อพยายามพัฒนารูปแบบและวิธีการที่จะทำให้ผู้รับชมรับฟังติดตามการนำเสนอของตนและมีความนิยมชมชอบการนำเสนอของตนนั้น  มีหลายครั้งที่การกระทำของสื่อส่งผลกระทบต่อสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นคนของผู้ถูกนำเสนอข่าวนั้นๆ  โดยเฉพาะข่าวของผู้ต้องหาในคดีอาญา  ทั้งนี้ไม่ว่าจะกระทำไปโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
การนำเสนอข่าวอาชญากรรมของสื่อ  โดยเฉพาะสื่อประเภทหนังสือพิมพ์นั้นถือได้ว่าปัจจุบันการนำเสนอมีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นคนของผู้ต้องหาในคดีอาญามากขึ้นทุกขณะ  ในการศึกษาปัญหาที่มุ่งพิจารณาเฉพาะแต่การกระทำของหนังสือพิมพ์นั้นก็เพราะหนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่มีลักษณะพิเศษ  สามารถเข้าถึงผู้รับสื่อได้ง่าย  สามารถสร้างกระแสสังคมได้ง่าย  สามารถเก็บรักษาได้นาน  และสามารถนำมาพลิกอ่านทบทวนได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง  ตัวอย่างเช่นการนำเสนอข่าวผู้ค้ายาบ้าหรือผู้ร้ายฆ่าข่มขืน  หนังสือพิมพ์มักลงรูปผู้ต้องหาที่เห็นใบหน้าชัดเจน  พร้อมกับลงชื่อ  นามสกุล  ที่อยู่  อันมีลักษณะเป็นการระบุตัวบุคคลอย่างชัดเจนตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการจับกุมตัวได้  ซึ่งในการจับกุมดังกล่าวเห็นได้ว่ายังไม่มีการดำเนินคดีในชั้นศาลเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมพิจารณาหาความจริงที่เกิดขึ้นแต่อย่างใดเลย  ในทางกลับกันผลของการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์กลับกลายเป็นการลงตราบาปให้กับคนๆหนึ่งที่เพียงต้องหาว่ากระทำผิดอาญา  เอขาผู้นั้นอาจไม่สามารถกลับเข้าสู่สังคมเดิมของตนได้อีกต่อไป  ทั้งที่ในท้ายที่สุดกระบวนการยุติธรรมอาจพิจารณาแล้วว่าไม่เป็นความจริงก็ได้  การนำเสนอข่าวอาชญากรรมของหนังสือพิมพ์ในลักษณะดังกล่าว  หนังสือพิมพ์มักอ้างประโยชน์จากกฎหมายเพื่อคุ้มครองการกระทำของตนโดยเฉพาะข้ออ้างที่ว่าการนำเสนอนั้น “เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ”
นอกจากนี้  การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็มีหลายกรณีที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นคนของผู้ต้องหาในคดีอาญา  โดยสามารถพบเห็นการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคู่ไปกับการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์
การนำเสนอผลการศึกษาในครั้งนี้จึงถือเป็นการสะท้อนปัญหาการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เกิดขึ้นและยังมีอยู่จริงในสังคมไทย  โดยที่คนในสังคมกลับรู้สึกเฉยชา  ไม่ตระหนักถึงปัญหาและไม่รับรู้ที่จะแก้ไข  แต่กลับปล่อยให้ปัญหาหยั่งรากลึกในสังคม  ดังนั้นก่อนที่สิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นคนจะถูกกระทบกระเทือนไปมากกว่าที่เป็นอยู่  ก่อนที่ประโยชน์ส่วนรวมจะถูกนำมากล่าวอ้างจนบทบังคุณค่าความเป็นคนจนหมดสิ้น  จึงเห็นสมควรที่จะหยิบยกปัญหาดังกล่าวมาทำการศึกษาวิจัยไว้ ณ ที่นี้

1.2 วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาการล่วงละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหาในคดีอาญาและหาทางแก้ไขที่เหมาะสมได้
2. เพื่อให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจาการใช้สิทธิของบุคคลที่มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นและหาทางแก้ไขที่เหมาะสมได้
3. เพื่อกระตุ้นเตือนสื่อมวลชนนักหนังสือพิมพ์ให้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการนำเสนอข่าวผู้ต้องหาในคดีอาญาในลักษณะละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
4. เพื่อกระตุ้นเตือนเจ้าหน้าที่ตำรวจให้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้ต้องหาในคดีอาญาในลักษณะละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
5. เพื่อให้สังคมไทยรู้จักคำว่า “สิทธิมนุษย์ชน  ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”  และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง

1.3 ขอบเขตการศึกษา

รายงานการศึกษานี้จะศึกษาถึงปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติงานของหนังสือพิมพ์และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  อันมีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหาในคดีอาญา  โดยศึกษาจากหนังสือ  วิทยานิพนธ์  และบทความที่เกี่ยวข้อง  จากนั้นจะนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหาคดีอาญาจากการกระทำของหนังสือพิมพ์และเจ้าหน้าที่ตำรวจ
1.4 เค้าโครงการศึกษา

ผลงานการศึกษาฉบับนี้ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 5   ดังนี้  คือ
บทที่ 1 บทนำ
บทที่ 2 หลักประกันสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาตามกฎหมายไทย
บทที่ 3 การปฏิบัติงานของหนังสือพิมพ์อันมีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหาคดีอาญา
บทที่ 4 การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอันมีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหาคดีอาญา
บทที่ 5 แนวทางแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหาคดีอาญาจากการกระทำของหนังสือพิมพ์และเจ้าหน้าที่ตำรวจ

1.5 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1. เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาเปรียบเทียบการใช้สิทธิของบุคคล  ที่กระทำไปด้วยความเข้าใจว่าตนมีสิทธินั้นอยู่อย่างบริบูรณ์  แต่ในความเป็นจริงสิทธินั้นอาจถูกจำกัดด้วยสิทธิของบุคคลอื่นอยู่
2. เพื่อให้ผู้ใช้สิทธิในลักษณะที่การกระทำของตนมีผลไปกระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่นได้รับรู้ถึงปัญหาและสำนึกในการกระทำดังกล่าว  และลด  ละ  เลิกการกระทำนั้นในที่สุด

หมายเลขบันทึก: 62849เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2006 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดูดีและสวยงามจังจนเนื้อหาแทบไม่อยากอ่านแต่อ่านแล้วค่ะละเอียดและชัดเจนดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท