Self Efficacy ที่มีผลต่อการออกกำลังกาย


การที่เราจะทำอะไรสักอย่าง การประเมินความสามารถของตนเอง ก็มีส่วนช่วยในการตัดสินใจค่ะ ว่าเราพอจะทำไหวจนตัดสินใจทำหรือไม่ การออกกำลังกายก็เช่นกัน แต่การประเมิน บางครั้งก็ไม่ใช่ถูกต้องนัก เพราะพบว่าเพศชายมักประเมินความสามารถตนเองสูงกว่าความเป็นจริง ในขณะที่เพศหญิง มักประเมินต่ำเข้าไว้

การประเมินหรือการรับรู้ความสามารถของตนเองในการออกกำลังกายนี้เป็นผลมาจากหลายๆสาเหตุค่ะ ทฤษฎีการรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self Efficacy) อธิบายไว้ว่าคือปัจจัยต่างๆเหล่านี้

- ประวัติการออกกำลังกาย ส่วนนี้สำคัญมากค่ะ เพราะเราเคยทำอย่างไร ก็รับรู้อย่างนั้น เช่น รับรู้ว่าเรามีความอดทนแค่ไหน มีความสามารถอย่างไร มีพละกำลังขนาดไหน เคยจูงใจตัวเองด้วยวิธีใด เหล่านี้ก็พอจะช่วยเราประเมินได้ว่าเมื่อเราอยากจะออกกำลังกายครั้งต่อไปหรือไม่ ถ้าอยาก สิ่งที่เราจะทำนั้นต่ำกว่าความสามารถที่เราเคย หรือดูท้าทาย หรือน่าสนใจขนาดไหน และเรามีแนวโน้มว่าจะทำสำเร็จหรือไม่

- การได้เห็นตัวอย่างที่ดี ถ้าเราได้เห็นคนที่มีลักษณะคล้ายๆเราประสบความสำเร็จในการออกกำลังกาย ก็สามารถช่วยให้เรารู้สึกว่า เราเองก็น่าจะทำได้ ซึ่งก็คือเพิ่มการรับรู้ความสามารถในการออกกำลังกายของตนเองนั่นเองค่ะ

- การชักชวนด้วยวาจา ทั้งข้อมูล กำลังใจ และการชักชวนจากบุคคลรอบข้างมีอิทธิพลต่อการรับรู้ความสามารถตนเองเช่นกันค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ที่ชักชวนหรือให้ข้อมูล เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง หรือแหล่งข้อมูลนั้นๆน่าเชื่อถือ

- สภาวะทางร่างกาย เช่น ถ้าร่างกายอ่อนแอ เหนื่อย ล้า เราก็จะไม่ค่อยอยากออกกำลังกายเท่าไหร่ หรือถ้าฝืนใจทำ ก็อาจทำไม่สำเร็จ

- การประเมินความรู้สึกตนเอง การเกิดความรู้สึกในด้านลบก็ทำให้เราออกกำลังกายไม่สำเร็จเช่นกัน เช่น เรารู้สึกว่ากลัวการกระโดดเพราะอาจเป็นอันตรายต่อหลัง เราก็จะไม่กล้ากระโดด หรือเรารู้สึดอึดอัดที่เป็นมือใหม่ในกลุ่มคนที่ชำนาญแล้วเราก็จะไม่อยากออกกำลังกาย หรือกลัวว่าทำไม่สำเร็จแล้วคนรักจะผิดหวัง เราก็อาจหาวิธีหลบเลี่ยง เมื่อมีความรู้สึกอย่างนี้ เราก็จะรับรู้ความสามารถของตนเองอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งตรงข้ามกับการประเมินความรู้สึกในด้านบวก

- ความยึดมั่นในความเชื่อ พอเราเชื่อและมีความรู้สึกตามที่เล่ามาในข้างต้นและยึดมั่นอยู่อย่างนั้น ใครจะให้เหตุผลอย่างไรก็ไม่เปลี่ยนความเชื่อ ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เราไม่อยากออกกำลังกาย ไม่อยากทดสอบความสามารถตนเอง อันนำไปสู่การรับรู้ความสามารถที่ไม่ถูกต้องได้เช่นกัน

แม้ปัจจัยเหล่านี้จะมีผลต่อการเลือกกิจกรรมออกกำลังกาย คือเรารับรู้ว่ามีความสามารถแค่ไหนก็เลือกกิจกรรมออกกำลังกายแค่นั้น แต่การรับรู้ความสามารถตนเองนี้ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ค่ะ เช่น อยากทำกิจกรมหนึ่งที่คิดว่าตนคงไม่สามารถทำได้ หรือถ้าจะทำได้ก็คงยากมากๆ แต่ได้ลองทำเข้าจริงๆแล้วก็ทำได้ ก็รับรู้ว่าตนมีความสามารถมากกว่าที่คิดว่ามี และเพราะการรับรู้นี้ เลยทำให้เลือกที่จะทำกิจกรรมใหม่ๆที่ใช้ความสามารถในระดับเดียวกันกับที่ตนรับรู้ใหม่นี้

การรับรู้ความสามารถของตนเอง กับการเลือกกิจกรรมตามความสามารถที่ตนรับรู้ เลยหมุนและหนุนกันจนเป็นวงกลม

ทั้งหมดที่เรามาในสองบันทึกก่อนหน้า ( ทฤษฎีแบบแผนความเชื่อเรื่องสุขภาพ และ ทฤษฏีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม) และบันทึกนี้ ก็คือการอธิบายว่า ทำไมบางคนจึงไม่อยากออกกำลังกาย ไม่เห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย หรือถึงจะเห็นความสำคัญแล้ว แต่ก็ยังไม่เริ่มต้นออกกำลังกาย

เพื่อที่จะเข้าใจเขา เห็นใจเขา สนับสนุนเขา เท่าที่เราจะทำได้นั่นเองค่ะ

คราวหน้าจะมาเล่าต่อนะคะ

หมายเลขบันทึก: 628462เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2017 09:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2017 10:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบค่ะ เขียนให้อ่านเรื่อยๆน่ะค่ะ

ขอบพระคุณสำหรับความเห็นอันเป็นกำลังใจ เป็นอย่างมากค่ะ

อายุเป็นเพียงตัวเลขจริง ๆ ;)...

ขอบคุณมากค่ะ

อายุสามารถนับได้ทั้งอายุปฏิทินและอายุเซลล์ หรือจะเรียกว่าอายุฟิตก็ได้

อายุฟิตนี้สามารถน้อยกว่าอายุจริงได้สูงสุดถึง 25 ปี เชียวค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท