การจัดการศึกษาปฐมวัย4.0ในบริบทของท้องถิ่น


การจัดการศึกษาปฐมวัย4.0ในบริบทของท้องถิ่น

11 พฤษภาคม 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

การปฏิรูปการศึกษาไทยช่วงที่หนึ่งและช่วงที่สอง

การจัดการศึกษาไม่ว่าประเทศใด เป็นการลงทุนทางด้านมนุษย์ที่คุ้มค่าที่สุด ในหลายประเทศไม่ว่าอังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน ต่างมีการพัฒนาและปฏิรูปการศึกษาเช่นกัน ประเทศไทยเริ่มปฏิรูปการศึกษาเริ่มจับความสมัยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ถึงช่วงการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา ฉบับที่ 8 ปี 2536-37 ที่มีผลต่อการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 [2] ในการจัดการศึกษาพื้นฐานถึง 12 ปี ให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย อันถือว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่

การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561) ในการเตรียมสังคมไทยเข้าสู่โลกยุคใหม่ โดยมุ่งสร้างทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง และทุนทางปัญญา ที่จะนำประเทศให้อยู่รอดในสังคมใหม่ที่มีความรู้เป็นปัจจัยหลักของทั้งระบบเศรษฐกิจ และสังคม เพราะการศึกษาไทยเต็มไปด้วยปัญหา อาทิ [3] คุณภาพการศึกษาพื้นฐานตกต่ำ, ปัญหาของการปฏิรูปโครงสร้าง, ปัญหาของครู, ปัญหาการขาดแคลนบัณฑิตแต่บัณฑิตก็ยังตกงาน, คุณภาพอุดมศึกษา/ปริญญาเฟ้อ, การขาดวิจัยและพัฒนา ขาดนวัตกรรม และปัญหาความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม, การปฏิรูปการเงินเพื่อการอุดมศึกษา, การขาดแคลนเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ทำการจัดเวทีระดมความคิดเห็นกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ ใน 9 ประเด็น ได้แก่ [4] (1) การพัฒนาคุณภาพการศึกษา/ผู้เรียน (2) การผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (3) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษาและการมีส่วนร่วม (4) การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา (5) การผลิตและพัฒนากำลังคน (6) การเงินเพื่อการศึกษา (7) เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (8) กฎหมายการศึกษา (9) การศึกษาตลอดชีวิต การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย

อันเป็นที่มาของการปฏิรูปการศึกษาปัจจุบัน ที่คณะรัฐมนตรีต้องแต่งตั้ง “คณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระคณะหนึ่งดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และให้คณะกรรมการดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 261 [5] ลองมาตรวจสอบสภาพการปฏิรูปการศึกษาไทยเพื่อให้เข้ากับ “บริบทการจัดการศึกษา 4.0” โดยเฉพาะการศึกษาท้องถิ่น

การพัฒนาการศึกษาคือการพัฒนา “ทุนมนุษย์” ช่วง 0-7 ปีสำคัญที่สุด

ความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ความสำคัญกับเงินและมนุษย์ หรือเรียกว่า “ทุนมนุษย์” [6] ปัจจุบันพบว่าศักยภาพของมนุษย์ในสังคมนั้นจะบอกถึงสถานภาพความมั่นคงของสังคมนั้น ศักยภาพของมนุษย์อยู่ที่การทำงานของสมอง ประเทศใดให้ความสำคัญในการพัฒนาสมองของคนหรือการคิดของคนในประเทศนั้นจะได้รับการพัฒนา ซึ่งช่วงระยะเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ของมนุษย์คือ แรกเกิดถึง 7 ปี หากส่งเสริมภายหลังจากวัยนี้แล้วถือได้ว่าสายเสียแล้ว เพราะการพัฒนาสมองของมนุษย์ในช่วงวัยนี้สามารถพัฒนาไปถึง 70 % ควรจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น เรียนรู้อย่างมีความสุข จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ดูแลด้านสุขนิสัยและโภชนาการเหมาะสม เด็กจึงจะพัฒนาศักยภาพสมองของเขาได้อย่างเต็มความสามารถ

สมองของเด็กเรียนรู้มากกว่าสมองของผู้ใหญ่เป็นพันเท่า เด็กเรียนรู้ทุกอย่างที่เข้ามาปะทะ สิ่งที่เข้ามาปะทะล้วนเป็นข้อมูลเข้าไปกระตุ้นสมองเด็กทำให้เซลล์ต่างๆเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อต่างๆอย่างมากมายซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น สมองจะทำหน้าที่นี้ไปจนถึงอายุ 10 ปีจากนั้นสมองจะเริ่มขจัดข้อมูลที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันทิ้งไปเพื่อให้ส่วนที่เหลือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ภาพการจัดการศึกษาไทย

จากความสำคัญข้างต้น จึงเป็นที่มาของ “การจัดการศึกษาปฐมวัย” ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ถือว่าได้รับมอบหมาย หรือได้รับมอบอำนาจให้จัดการศึกษาปฐมวัยตามตัวบทกฎหมายแล้ว ตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ได้แบ่งการจัดการการศึกษาเป็น 3 รูป แบบคือ (1) การศึกษาในระบบ (2) การศึกษานอกระบบ และ (3) การศึกษาตามอัธยาศัย [7] ซึ่งกำหนดให้ อปท. สามารถจัดการศึกษาได้ทุกระดับ ตั้งแต่ ปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา [8]

ฉะนั้น อปท. จึงมีทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ในนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัย (0-5 ปี) ระยะยาว พ.ศ. 2550-2559 ได้ให้ความหมายของเด็กปฐมวัยว่า “เด็กปฐมวัย” [9] หมายถึง เด็กอายุ 0 ปีถึงอายุต่ำกว่า 6 ปี ตาม พรบ.ประถมศึกษา พ.ศ. 2523 มาตรา 6 [10] กำหนดให้เด็กที่มีอายุ 7-15 ปีต้องเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งระดับและประเภทของการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2546 กำหนดให้ สถานศึกษา รร. (อนุบาล) เปิดรับเด็กอายุ 3-6 ปี เข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (โรงเรียน) และ ศพด. ซึ่งเป็นสถานศึกษาของการศึกษานอกระบบของ อปท. (รวมหน่วยงานอื่นที่มี ศพด.) สามารถรับเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี (เด็ก 2-3 ปี) [11]

การจัดการศึกษาปฐมวัยของ อปท.

ในการศึกษาปฐมวัยต้องมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาแนวคิดเพื่อการศึกษาและเข้าใจในธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กวัยแรกเกิดถึง 8 ปี ตามหลักทฤษฎีการพัฒนาการเด็กและการเรียนรู้เป็นฐาน โดยมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ [12] (1) เด็กปฐมวัย (2) ผู้ปกครอง (3) ชุมชนและสังคม (4) ครูปฐมวัย (5) การจัดหลักสูตร (6) การจัดการเรียนรู้ (7) การบริหารจัดการ

ฉะนั้น การจัดการศึกษาปฐมวัยที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพในทุกด้านของ อปท. จึงเป็นสิ่งจำเป็น ผู้เขียนขอแสดงทัศนะความคิดเห็นภาพรวม ดังนี้

(1) เด็กปฐมวัย เด็กปกติและเด็กที่มีความต้องการพิเศษต้องได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมตั้งแต่ในครรภ์มารดา จนถึงอายุ 6 ปี เด็กได้รับการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านคือ พัฒนาการทางสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ สังคม คุณธรรมจริยธรรม เรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญา เน้นสิทธิเด็กเพื่อให้เด็กได้รับการดูแลช่วยเหลือ ได้รับการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยทั้งกายและจิตใจ ส่งเสริมให้ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ พ่อแม่และครอบครัวมีส่วนร่วมดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากสถานรับเลี้ยงเด็ก โดยผู้ทำหน้าที่ดูแลเด็กจะต้องมีความรู้ทางการศึกษาปฐมวัย ส่วนเด็กอายุ 3 – 5 ปีที่ได้รับการพัฒนาจากสถานศึกษา/ศูนย์พัฒนาเด็กกำหนดให้ผู้ทำหน้าที่ดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กต้องมีความเป็นมืออาชีพและมีความรู้ทางการศึกษาปฐมวัย เด็กดำเนินชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเรียนรู้ ได้รับบริการที่มีคุณภาพด้านสุขภาพทางกายและจิตใจอย่างสม่ำเสมอ ได้รับการแก้ปัญหาข้อบกพร่องอย่างถูกต้องและทันต่อสถานการณ์

(2) ผู้ปกครอง ชุมชนและสังคม(ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ได้รับความรู้ความเข้าใจและมีทักษะในการอบรมดูแล จัดประสบการณ์และจัดสภาพแวดล้อมในเด็กอย่างเหมาะสมกับระดับพัฒนาการ โดยสามารถเข้าถึงความรู้จากสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร โปสเตอร์ แผ่นพับ รายการวิทยุโทรทัศน์ Website โรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการจัดกิจกรรมการให้การศึกษาแก่พ่อ แม่และผู้ปกครองในรูปแบบ การประชุมกลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็ก กิจกรรมสัมพันธ์บ้านกับโรงเรียน แผ่นพับและจัดกิจกรรมแนะแนวความรู้ทางการศึกษาปฐมวัยแก่ผู้ปกครอง ชุมชนและสังคม ส่งเสริมให้ผู้ปกครองร่วมประเมินผลพัฒนาการเด็ก ผู้ปกครอง ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอนและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา สถานพัฒนาเด็กและโรงเรียนระดับปฐมวัยมีชมรมหรือสมาคมผู้ปกครองร่วมมือกับโรงเรียนเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก นอกจากนี้สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการปกป้องคุ้มครองสิทธิ เฝ้าระวังและร่วมพัฒนาเด็กโดยวิธีเผยแพร่ความรู้และทักษะในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก กระตุ้นในสังคมเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็ก

(3) การศึกษาไทย 1.0 เป็นยุคการศึกษาเพื่อสร้างนักปกครอง เป็นการศึกษาสำหรับชนชั้นสูงในสังคม โดยมีการจัดการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการให้กับบุตรหลานชนชั้นปกครอง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นนักปกครองในรุ่นต่อไป การศึกษาในยุคนี้ไม่เป็นที่แพร่หลาย มีการจัดการศึกษาเฉพาะกลุ่มเท่านั้น รูปแบบการจัดการศึกษาเป็นแบบบอกความรู้จากผู้สอน ถ้าผู้สอนไม่มีอะไรจะสอนแล้ว ถือว่าสำเร็จการศึกษา

(4) การศึกษาไทย 2.0 เป็นยุคแห่งการจัดการศึกษาที่เปิดกว้างขึ้น เหตุจากการจัดการศึกษาในยุค 1.0 นั้น ไม่สามารถผลิตกำลังคนได้ทันต่อความต้องการในการบริหารราชการบ้านเมือง ทำให้ชนชั้นปกครองต้องแก้ปัญหาด้วยการจัดให้มีการศึกษาสำหรับลูกหลานขุนนางชั้นสูง เพื่อผลิตกำลังคนป้อนเข้าสู่ระบบราชการ ที่นับวันจะขยายขอบเขตงานเพิ่มมากขึ้น ตามความเจริญและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในยุคนั้น รูปแบบการจัดการศึกษาเริ่มมีระบบโรงเรียน แต่ยังเป็นการเรียนแบบบอกความรู้จากผู้สอนอยู่เช่นเดิม

(5) การศึกษาไทย 3.0 ในยุคนี้เป็นยุคที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่พึ่งพาอุตสาหกรรมเบาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเหตุให้การศึกษายุคนี้ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อผลิตกำลังคนป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม เกิดการทำซ้ำบัณฑิตอย่างมโหฬาร เป็นเหตุให้เกิดความตกต่ำของบัณฑิตในทุกระดับ ทุกสถาบันการผลิต โดยรูปแบบการจัดการเรียนรู้นั้น เป็นแบบทางการเหมือนสายพานการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม

การศึกษาในโลกใหม่ 4.0

การศึกษาไทย 4.0 หรือการศึกษาในยุคนี้ [13] ควรเป็นการศึกษาเพื่อการสร้างนวัตกรรม เป็นการศึกษาเพื่อปวงชน เป็นการศึกษาเพื่อสังคม ที่คนที่ได้รับการศึกษานั้นต้องหันมาช่วยเหลือสังคมอย่างจริงจัง และกว้างขวาง โดยที่ไม่ใช่การศึกษาเพื่อวัตถุประสงค์ใด วัตถุประสงค์หนึ่งดังเช่นที่ผ่านมา และการจัดการศึกษาต้องบูรณาการทั้งศาสตร์ ศิลป์ ชีวิต และเทคโนโลยีเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เพื่อสร้างคนที่สังคมต้องการได้ในทุกมิติ และมีรูปแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย สอดคล้องและตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน โดยครูอาจจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป หรือถ้าจำเป็นต้องมีก็ต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทไปอย่างมาก [14]

การเข้าถึงเนื้อหาความรู้มีลักษณะเปิด (Open Education Resource) [15] เข้าถึงได้ง่าย กับการศึกษายุคใหม่ (Next Generation Education) ที่ต้องเน้นแสวงหา เรียนรู้ได้เอง อย่างท้าทาย สร้างสรรค์ความรู้ใหม่ ต่อยอดความรู้เดิม คิดและประยุกต์ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ได้ เหมาะกับตนเอง สังคมตามสถานการณ์ เป็นการจัดการศึกษาที่ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันบนไซเบอร์ โดยใช้ขีดความสามารถของระบบเชื่อมโยงทางฟิสิคัลกับไซเบอร์ ที่มีอุปกรณ์สมาร์ทสมัยใหม่ช่วย เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเบล็ต ฯลฯ รู้จักใช้เครื่องมือสมัยใหม่ ที่เรียนรู้ได้เร็ว (Learning curve) เพื่อการแสวงหาเรียนรู้จากความรู้อันมหึมาบนคลาวด์ (cloud) โดยการใช้เครื่องมือที่สมาร์ท ไอที ที่ทันสมัยเชื่อมโยงสิ่งต่างๆเข้าด้วยกัน

โดยมีปัจจัยหลักเพียง 3 ปัจจัย [16] คือ (1) Internet เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการค้นหาความรู้ ดังนั้นทางสถาบันการศึกษาต้องสนับสนุนให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาเข้าถึงInternet ได้ง่าย มากกว่ามอง Internet เป็นผู้ร้ายแล้วกลัวว่านักเรียน นิสิต นักศึกษาจะใช้ Internet ไปในทางที่ไม่ดีเลยไม่สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ในสถาบัน (2) ความคิดสร้างสรรค์ หลายๆท่านอาจคิดว่าเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เป็นพรสวรรค์ไม่ใช่พรแสวงเรียนรู้กันไม่ได้ เพราะคิดกันแบบนี้เราถึงไม่สามารถสร้างอะไรใหม่ขึ้นมาได้ หลักสูตรการเรียนการสอนควรจะเปิดโอกาส ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา กล้าที่จะคิดนอกกรอบหรือต่อยอดจากตำรา (3) การปฏิสัมพันธ์กับสังคม เพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมและทำงานร่วมกันในสังคมได้ สถานศึกษาควรมีกิจกรรมให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาได้เข้าร่วมเป็นประจำ มีการสนับสนุนการทำงานเป็นกลุ่มมากกว่างานเดี่ยว

ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่บรรดานักการศึกษาทุกคนทราบไว้ เพียงแต่อาจติดที่การนำมาสาธยายแยกแยะ ปัญหาการนำเสนอ การเผยแพร่ รวมไปถึงเวทีในการแสดงข้อคิดเห็น เพื่อ “การปฏิรูปการศึกษาที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ” หวังว่าข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ต่อนักการศึกษาท้องถิ่นบ้าง



[1]Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม 2560 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23397 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ &หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 35 วันศุกร์ที่ 12 – วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม 2560, หน้า 66

[2]ดู พระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553, https://www.mwit.ac.th/~person/01-Statutes/NationalEducation.pdf

มาตรา 41 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการศึกษาในระดับใดระดับหนึ่งหรือทุกระดับตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่น

มาตรา 58 ให้มีการระดมทรัพยากรและการลงทุนด้านงบประมาณ การเงิน และทรัพย์สินทั้งจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชนเอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ สถาบันสังคมอื่น และต่างประเทศมาใช้จัดการศึกษาดังนี้

(1) ให้รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา โดยอาจจัดเก็บภาษี เพื่อการศึกษาได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

(2) ให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา โดยเป็นผู้จัดและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา บริจาคทรัพย์สินและทรัพยากรอื่นให้แก่สถานศึกษา และมีส่วนร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาตามความเหมาะสมและความจำเป็น

ทั้งนี้ให้รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมและให้แรงจูงใจในการระดมทรัพยากรดังกล่าว โดยการสนับสนุน การอุดหนุนและใช้มาตรการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี ตามความเหมาะสมและความจำเป็น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

[3]ปัญหาการศึกษา, ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กไทยในยุคปัจจุบัน, 4 มกราคม 2560, http://aitenso.org/tag/ปัญหาการศึกษา/

[4]ดร.ประทีป วีรพัฒนนิรันดร์, มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน, [email protected], 16 กุมภาพันธ์ 2552, https://sites.google.com/site/banrainarao/column/education_02

[5]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 261 ในการปฏิรูปตามมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา ให้มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระคณะหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป

ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และให้คณะกรรมการดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง

[6]เกวลิน มะลิ , ทุนมนุษย์ (Human Capital), OKnation, 1 พฤษภาคม 2558, http://oknation.nationtv.tv/blog/srcecon/2015/05/01/entry-1

& ทุนมนุษย์, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/ทุนมนุษย์

ทุนมนุษย์ หมายถึง ความรู้ ความสามารถ ตลอดจนทักษะหรือความชำนาญรวมถึงประสบการณ์ของแต่ละคนที่สั่งสมอยู่ในตัวเอง และสามารถจะนำสิ่งเหล่านี้มารวมกันเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นศักยภาพขององค์กร หรือเป็นทรัพยากรที่สำคัญและมีคุณค่าซึ่งจะทำให้องค์กรนั้นมีความสามารถสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งขัน

[7]พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 15 การจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ คือ (1) การศึกษาในระบบ (Formal Education) (2) การศึกษานอกระบบ (Non-formal Education ) (3) การศึกษาตามอัธยาศัย (In-formal education)

[8]พระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553, https://www.mwit.ac.th/~person/01-Statutes/Nationa...

มาตรา 41 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการศึกษาในระดับใดระดับหนึ่งหรือทุกระดับตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่น

& ดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่งเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย

รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตและจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และการดำเนินการและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย

การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

ในการดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาตามวรรคสอง หรือให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามวรรคสาม รัฐต้องดำเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัดของตน

ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษีรวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้การบริหารจัดการกองทุนเป็นอิสระและกำหนดให้มีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

[9]นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัย (0-5ปี)ระยะยาว พ.ศ.2550-2559, เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550, http://www.onec.go.th/index.php/book/BookView/421

& ดูใน วารสารการศึกษาปฐมวัย ปีที่ 3 ฉบับที่ 3 เมษายน 2542 หน้าที่ 17-24 โดย ผศ.ดร. กุลยา ตันติผลาชีวะ, สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

การศึกษาปฐมวัยเป็นการศึกษาที่ครอบคลุมการดูแล และการศึกษาที่จัดให้กับเด็กแรกเกิดถึงอายุ 8 ปี การศึกษาอนุบาลเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาปฐมวัย

& ลำดวน คัฒมารศรี, ความหมายและความสำคัญของเด็กปฐมวัย กลับหน้าเครือข่าย, ศูนย์การเรียนรู้ทางการศึกษาปฐมวัย วิทยาลัยฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, 21 เมษายน 2559, http://www.e-child-edu.com/youthcenter/forum/post_detail/269

[10]พรบ.ประถมศึกษา พ.ศ. 2523 มาตรา 6 ให้ผู้ปกครองของเด็กที่มีอายุย่างเข้าปีที่แปด ส่งเด็กนั้นเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาจนกว่าจะมีอายุย่างเข้าปีที่สิบห้าเว้นแต่เป็นผู้สอบได้ชั้นประถมปีทีหกตามหลักสูตร หรือหลักสูตรอื่นที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

[11]ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล “รับเด็กกี่ขวบ” โดย ดร.สุวรรณ, 6 กุมภาพันธ์ 2560, http://www.thailocalmeet.com/index.php?topic=63807...

กลุ่มอายุเด็กสองช่วง คือ (1) เด็กแรกเกิด - 2 ปี และ (2) เด็กปฐมวัย 3 - 5 ปี

ผศ.ดร. กุลยา ตันติผลาชีวะ, สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (2542) แบ่งการจัดบริการจำแนกตามอายุได้ 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มเด็กทารก (อายุ 2 ขวบแรก) (2) กลุ่มเด็กเล็ก (อายุ 2-4 ขวบ) (3) กลุ่มเด็กอนุบาลและประถมต้น (อายุ 5-8 ขวบ)

[12]แนวทางการพัฒนาเด็กปฐมวัย, สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, 2559, http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/special/download/article/article_20140528151819.pdf

& สุริยา ฆ้องเสนาะ, การศึกษาของเด็กปฐมวัย หัวใจสำคัญของการศึกษา, วิทยากรชำนาญการกลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ, 2558, http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliamen...

[13]การศึกษาในยุค Thailand 4.0, By akkaravit rabin, 21 พฤศจิกายน 2559, http://www.chiangmainews.co.th/page/archives/540274

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า “การศึกษาในยุค Thailand 4.0” มีความหมายมากกว่าการเตรียมความพร้อมของคนหรือให้ความรู้กับคนเท่านั้น แต่เป็นการเตรียมมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ กล่าวคือ นอกจากให้ความรู้แล้ว ต้องทำให้เขาเป็นคนที่รักที่จะเรียน มีคุณธรรม และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วย นั่นก็คือการสร้างคนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยเน้นทักษะในการคิดวิเคราะห์เป็นหลัก ในขณะเดียวกัน Thailand 4.0 คือ การพัฒนาประเทศให้มีความทันสมัย มีรายได้มากขึ้น และก้าวพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง โดยจะต้องผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาประเทศ และต้องสามารถติดต่อค้าขายกับนานาประเทศได้ด้วย

& Thailand 4.0 อะไร...อะไร...ก็ 4.0, 9EXPERT CORPORATION, 2559, http://www.9experttraining.com/articles/thailand-4.0

Thailand 4.0 หรือ “ประเทศไทย 4.0” หรือ “ไทยแลนด์ 4.0” เป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่เป็น Value-based Economy นั้น ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 5 อุตสาหกรรมหลักได้แก่ (1) Food, Agriculture & Bio-tech (2) Health, Wellness & Bio-Medical (3) Smart Devices, Robotics & electronics (4) Digital & Embedded Technology (5) Creative, Culture & High Value Service

Industry 4.0 มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศเยอรมนี ที่ต้องการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก

Education 4.0 เกิดขึ้นจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดตัวการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “การศึกษาระบบ Chula Engineering Education 4.0” อย่างเป็นทางการไปเมื่อปี 2557 ในช่วงที่ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ดำรงตำแหน่งคณบดี เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนไปสู่นักสร้างนวัตกรรม

การศึกษาระบบ 1.0 เป็นการศึกษาที่เน้นการบรรยายและการจดจำความรู้ ส่วนการศึกษาระบบ 2.0 เป็นการศึกษาที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลาง การศึกษาระบบ 3.0 เป็นการศึกษาในปัจจุบันที่เป็นสังคมแห่งความรู้ ผู้เรียนต้องมีทักษะในการเรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ทำงานสร้างสรรค์ที่ไม่ซ้ำเดิม รวมถึงสามารถทำงานเป็นทีมได้ ในขณะที่การศึกษาระบบ 4.0 เป็นการศึกษาสู่อนาคต ที่เน้นการผลิตคนไปสร้างสรรค์นวัตกรรม

ดังนั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้พัฒนารูปแบบการเรียนรู้โดยผ่านกระบวนการศาสตร์การคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking กลายเป็นการศึกษาระบบ 4.0 ขึ้นมา โดยมีการริเริ่มรายวิชา Creative Design for Community ซึ่งผู้เรียนจะได้พัฒนาโครงงานจริงไปแก้ปัญหาให้กับองค์การจริง และมีผู้เชี่ยวชาญด้าน Design Thinking มาร่วมสอนและให้คำแนะนำ

[14]การศึกษาไทย 4.0 ในบริบทการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, 30 สิงหาคม 2559, http://www.kruthai.info/495/

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เรื่อง “การศึกษาไทย 4.0 ในบริบทการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในการประชุมทางวิชาการของคุรุสภา ประจำปี 2559 หัวข้อการวิจัยนวัตกรรมการเรียนรู้และการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2559

& ขับเคลื่อนการศึกษาไทยสู่ ไทยแลนด์ 4.0โดย saowalak pisitpaiboon, หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, , 14 ตุลาคม 2559, http://www.thaihealth.or.th/Content/33499-ขับเคลื่อนการศึกษาไทยสู่%20ไทยแลนด์%204.0.html

[15]แหล่งรวมสื่อการเรียนรู้แบบเปิด Open Educational Resources, by Boonlert Aroonpiboon, 5 มีนาคม 2556, http://www.thailibrary.in.th/2013/03/05/oer/

จุดเริ่มต้นของ Open Education Resources มาจากการพัฒนาซอฟต์แวร์ฟรี (free software) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือสถาบัน MIT (The Massachusetts Institutes of Technology) ในปี 1997

OER : Open Educational Resources หรือ “แหล่งทรัพยากรด้านการศึกษาแบบเปิด” มีจุดเริ่มต้นมาจากโครงการขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ที่ร่วมมือกับ MIT สถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยพัฒนา รวบรวมสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แบบเปิด (Open Courseware) เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์

ความหมายโดยทั่วไปที่เข้าใจ คือ เป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านการศึกษาที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือค่าธรรมเนียมการใช้ (license free) เป็นแหล่งทรัพยากรด้านการศึกษาแบบเปิด ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือสนับสนุนโดยมีเป้าหมายการใช้เพื่อการศึกษาไม่ใช่เพื่อการค้า ผู้นำไปใช้อาจจะเป็นการเรียนรู้เพื่อตนเอง เป็นเอกสารอ้างอิง เป็นส่วนหนึ่งของสื่อการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น เช่น ตำราเรียน, วีดีโอบรรยาย การประเมินผลและสื่อมัลติมีเดียใหม่ๆ

[16]วิรัช ปัณฑ์ศิริโรจน์, Education 4.0, 3 สิงหาคม 2559, http://www.applicadthai.com/articles/education-4-0/

& Education 4.0, 2 กันยายน 2559, http://jenwit112.blogspot.com/2016/09/education-4.html

& ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์, แนวโน้มเทคโนโลยีสารสนเทศในยุค Education4.0, https://sites.google.com/a/msu.ac.th/rangsima_/education4-0

หมายเลขบันทึก: 628386เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2017 01:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2017 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I think we need to have "public conversation" (or public discussions) on early childhood education. I mean we must generate "talks" among people and provide good basic facts for the talks to ensure that talks are healthy and useful. Policies from "the top" can push things along but swell from the ground up will produce more useful outcome for society.

List of references and research overseas are good for the first steps when starting off. But when in striding ahead "talks and conviction from the people" are real driving force.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท