​พลเมืองใหม่กับความยิ่งใหญ่ของประเทศ


นโยบายประชากร/พลเมือง เป็นเรื่องใหญ่ด้านหนึ่งเพื่อการพัฒนาสู่ประเทศไทย ๔.๐

พลเมืองใหม่กับความยิ่งใหญ่ของประเทศ

บทความเรื่อง To Be Great Again, America Needs Immigrants กระตุ้นให้ผมเขียนบทความนี้ ตอนตีห้าที่โรงแรมของเมืองตากอากาศของสวิส ... โลคาร์โน

ยุคนี้เป็นยุคคนเกิดน้อย พลเมืองกลับมาเป็นปัจจัยหลักของความมั่นคงและความรุ่งเรืองของประเทศ เหมือนสมัยโบราณ ที่ในดินแดนสุวรรณภูมิของเรา แผ่นดินมีมาก พลเมืองมีน้อย เวลารบกัน เป้าหมายหลักอยู่ที่คน ไม่ใช่แผ่นดิน เมื่อผมโตขึ้น และจบการศึกษา เราถูกชวนให้พัฒนาประเทศโดยการ ลดอัตราเกิดของคน เพราะคนเกิดมากไป เป็นภาระ ซึ่งเราก็ทำได้ผล

จนเวลานี้ในเรื่องอัตราการเจริญพันธุ์ เราเข้าไปอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับประเทศร่ำรวย คือคนไม่ชอบมีลูก จึงมีคนเกิดใหม่น้อย คนสูงอายุ (อย่างผม) ก็ตายช้า เราจึงกลายเป็นสังคมสูงอายุ

ในขณะเดียวกัน ความยากจนของประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเทียบกับไทย และความต้องการแรงงานไร้ฝีมือในประเทศไทย จึงมีคนอพยพเข้าเมืองในประเทศไทยหลายล้านคน

เราจึงมีพลเมืองใหม่ประเภททำงานไร้ฝีมือมากมาย ในท่ามกลางนโยบายประเทศไทย ๔.๐ ซึ่งต้องการพลเมืองที่ทำงานเน้นใช้สมองและการเรียนรู้ เพื่อทำมาหากินผ่านการรังสรรค์นวัตกรรม

เมื่อผมเรียนจบแพทย์ สมัยสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกาใช้นโยบายดึงหมอเข้าประเทศ เพราะหมอที่เขาผลิตเองไม่พอความต้องการ เพราะส่งหมอไปสงครามจำนวนมาก ต่อมาเมื่อสงครามสงบ และเขาผลิตหมอเองเพียงพอต่อความต้องการ เขาก็เปลี่ยนกติกา ให้เฉพาะหมอเก่งๆ เท่านั้นสมัครไปฝึกเป็นแพทย์เฉพาะทางในประเทศของเขาได้

เขาเน้นใช้นโยบายเปิดช่องให้คนดีมีคุณภาพเท่านั้นอพยพเข้าเมือง ไปทดสอบการเป็นพลเมืองถาวร ของประเทศ แต่ไทยเน้นเปิดช่องให้คนไร้ฝีมือ เพราะต้องการแรงงานราคาถูก

แรงขับดันความต้องการแรงงานไร้ฝีมือราคาถูก เป็นแรงขับดันที่ไปในทางตรงกันข้ามกับเป้าหมาย ประเทศไทย ๔.๐ ดังนั้นนโยบายประชากรของไทยจึงต้องการการศึกษาทำความเข้าใจ เพื่อให้เป็นนโยบายที่ส่งเสริมเส้นทางสู่ประเทศไทย ๔.๐ ไม่ใช่เป็นแรงต้านอย่างในปัจจุบัน

นโยบายประชากร/พลเมือง เป็นเรื่องใหญ่ด้านหนึ่งเพื่อการพัฒนาสู่ประเทศไทย ๔.๐

การเมืองเรื่องประชากร/พลเมือง/ผู้อพยพเข้าเมือง ของอเมริกากับของไทย มีทั้งส่วนที่เหมือน และส่วนที่ต่าง เราต้องทำความเข้าใจบริบทของเราให้ลึกและเชื่อมโยงมากกว่านี้

วิจารณ์ พานิช

๗ พ.ค. ๖๐

ห้อง ๓๓๒ โรงแรม Rio Garni, Locarno, Switzerland

หมายเลขบันทึก: 628323เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2017 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2017 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

จากบทความด้านบนของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ตรงกับสิ่งที่มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ได้ดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหาให้กับคนไทย ที่นับวันจะยิ่งลำบากมากขึ้น นโยบายของรัฐบาลทุกสมัยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้สังคมไทยหลงผิด และเกิดปัญหาสังคมอ่อนแอ หลงในสิ่งผิดๆ ไม่มีรัฐบาลใดสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ถ้าเราไม่เปลี่ยนความคิดของสังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทางมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ได้วางแผนและสร้างรูปแบบไว้เป็นอย่างดี ใช้เวลาในการปรับและแก้ไขจากการปฏิบัติจริง เป็นเวลามากกว่า 20 ปี ท่านใดสนใจและต้องการเข้ามามีส่วนร่วม สามารถ เข้าไปศึกษาได้จากเอกสาร ihdc's Profile & Road Mad ได้ใน www.thaiihdc.org ในหน้า Home ในหัวข้อด้านซ้ายมือ หรือติดต่อ ได้ที่ [email protected] หรือโทร 089-1381950

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

8 พฤษภาคม 2560

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท